“สุดยอดพระคงพิมพ์ที่มี หน้าตาปากจมูกงามพร้อม ของวัดพระคงฤาษี ลำพูน”
โดย สำราญ กาญจนคูหา. โทร .086-9184300.

“บ้านเรา” แสนสุขใจ แม้จะอยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา”

ท่านผู้อ่านคงจะนึกแปลกใจ เมื่ออ่านหัวเรื่องข้างบนนี้ ถึงอย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ผู้เขียนมีความตั้งใจที่อยากจะให้ท่านได้ชื่นชมกับพระคงพิมพ์ที่สวยที่สุดและมีพุทธคุณสูงเยี่ยมที่สุดพิมพ์หนึ่งของวัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน ให้ท่านได้ดูและตัดสินว่าจะจริงดั่งผู้เขียนโอ่ไว้หรือไม่ ผู้เขียนได้ทำแผนผังแสดงจุดสังเกตุ ของพระคงชนิดที่เป็นพิมพ์มีหน้าตาชัดเจนให้ท่านได้เห็น บางส่วนอาจจะมีความแตกต่างผิดเพี้ยนไปจากพิมพ์ที่ไม่มีหน้าตาไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญนัก สิ่งสำคัญลำดับแรกที่ผู้ที่จะเป็นนักสะสมที่ไม่คุ้นกับพระพิมพ์ที่มีความงามและคมชัด จะต้องจำไว้ก็คือ เนื้อหา พิมพ์ทรงจะต้องถูกต้อง เนื้อพระจะต้องมีความเก่าที่แท้สมอายุ มีคราบกรุ ขี้กรุที่ติดมากับองค์พระในแบบเดิมๆให้เห็น ศิลปะขององค์พระและรายละเอียดต่างๆตลอดจนจุดสังเกตุ ก็เป็นสิ่งสำคัญมีความงามและดึงดูดสายตาเราให้รู้สึกว่า”ใช่ “ มีความนิยมชมชอบเกิดขึ้น จากนั้นจึงค่อยพิจารณาดูกันอย่างละเอียด ถี่ถ้วนอีกครั้ง ก็จะไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้

วิธีดูจุดลับ

ในสมัยก่อน เริ่มแรกของการเสาะแสวงหาพระเครื่องต่างๆเพื่อเก็บสะสมนั้น พระกรุในชุดสกุลลำพูนก็เป็นหนึ่งในบรรดาพระกรุอันเป็นที่หมายปองของบรรดานักสะสมต่างถิ่น ซึ่งเขาเหล่านั้นที่พยายามเสาะแสวงหากันอย่างเต็มที่ และจริงจัง บางท่านลงทุนเข้าไปปักหลักหาพระและข้อมูลต่างๆถึงในตัวเมืองลำพูน เป็นเวลาแรมเดือนแรมปีเลยทีเดียว แต่บรรดาข้อมูลที่ได้นั้นเป็นข้อมูลเพียงบางส่วน ซึ่งถูกบ้างผิดบ้างก็แล้วแต่ความเชื่อของผู้ที่ให้ข้อมูลนั้นๆ ในเวลานั้นพระกรุลำพูนที่งดงามและสมบูรณ์แบบชนิดที่หูตากระพริบยังไม่มีปรากฎออกมา จึงมีส่วนทำให้นักสะสมเหล่านั้น คิดว่าพระในชุดสกุลลำพูนมีเพียงแค่เท่าที่ปรากฎให้ตนได้พบเห็นเท่านั้น ต่อมาเมื่อได้มีการขุดค้นหาพระในสถานที่ต่างๆที่เป็นโบราณสถานสำคัญที่ปลักหักพังลง มีการพบพระกรุสกุลลำพูนต่างๆเป็นจำนวนมาก จึงมีพระกรุสกุลลำพูนที่งดงามและสมบูรณ์หลายอย่างที่เต็มไปด้วยศาสตร์และศิลป์ของหริภุญไชย อันเป็นแม่แบบของศิลปะในแหล่งต่างๆในภายหลังปรา กฎขึ้น แต่ก็ถูกเก็บงำซ่อนไว้ใม่ปรากฎโฉมออกมาให้เห็นกันง่ายๆแพราะผู้ที่เป็นเจ้าของเขาเกิดความหวงแหนขึ้นมา ซึ่งก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดและไขว้เขวไปว่าพระที่ได้มานั้น เป็นของจริงแท้หรือไม่ ถึงอย่างไรก็ตามผู้เขียนก็จะได้นำพระกรุชุดสกุลลำพูนที่งามสมบูรณ์อย่างเต็มที่ชนิดต่างๆที่ได้เก็บสะสมไว้มาให้ท่านได้ชมและตัดสินเอา เองว่าเป็นพระกรุที่แท้จริงหรือไม่ ขอให้ท่านได้ติดตามเรื่องราวและพิจารณาดูภาพทุกภาพอย่างละเอียดก็จะตัดสินได้ว่าเป็นเช่นไร

ภาพที่ 1 เป็นภาพของพระคงพิมพ์ใหญ่สีขาวซึ่งเป็นสีหายากสีหนึ่ง ที่มีความคมชัดในทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นกิ่งก้านสาขาของใบโพธิ์ รวมทั้ง หน้าตา หู ปาก จมูก โดยเฉพาะคิ้วที่เป็นรูปปีกกา อยู่เหนือดวงตาที่ใหญ่และนูนโปนประกอบกับจมูกที่โด่งงามเป็นสันเหนือปากที่มองเห็นเป็นปื้นคล้ายเสี้ยวจันทร์ องค์พระดูบึกบึนประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานบัลลังก์ที่เป็นฐานแบบหน้ากระดาน ประดับด้วยบัวแก้วเม็ดกลม สองชั้นอย่างสง่างาม องค์ประกอบต่างๆครบถ้วนทำให้ผู้ที่พบเห็นต่างวิจารณ์กันว่า มีพระคงที่สวยงามขนาดนี้จริงหรือ พระคงในชุดนี้เป็นพระคงที่มีเนื้อละเอียดดูหนึกนุ่ม มีความเก่า อยู่ในองค์พระ ด้วยคราบกรุบางๆ ด้านหลังเป็นแบบหลังคลึงงามเรียบร้อยคราบกรุติดแน่นหนามากกว่าด้านหน้า ใต้ฐานเป็นแบบก้นพับมีเดือยเป็นเนื้อนูนที่เรียกกันว่าตัวหนอนเป็นขีดชัดเจน อยู่ค่อนไปทางด้านซ้ายของใต้ฐาน เนื้อนูนที่เป็นขีดคล้ายตัวหนอนนี้มีอยู่ในพระคงทุกองค์และจะมีอยู่ในทิศทางเดียวกัน เป็นจุดสังเกตุที่สำคัญและควรจำไว้ให้แม่น ผู้เขียนได้ทำแผนภาพชี้จุดสังเกตุต่างๆให้ท่านได้ทราบอย่างละเอียด ให้ท่านดูและจดจำเอาไว้เป็นกรณีย์ศึกษาอย่างเต็มที่ พระคงสีขาวองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม หนา 1 1/4 ซ.ม. สูง 3 1/4 ซ.ม ขุดพบลึกลงไปในบริเวณใต้ฐานพระประธาน หรือที่เรียกกันในภาษาถิ่นว่า “แท่นแก้ว”ภายในวิหารของวัดพระคงเมื่อครั้งรื้อวิหารหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมเพื่อทำการสร้างขึ้นมาใหม่ เมื่อปี พ. ศ 2518

ภาพที่ 2 เป็นภาพของพระคงเนื้อเขียวหินครกที่เป็นเนื้อดินเผา ที่ถูกเผาด้วยไฟที่มีความร้อนสูง จนทำให้องค์พระมีเนื้อที่แข็งแกร่ง และหดตัวเล็กลง เป็นธรรมดาของการเผา ที่วัตถุใด อยู่ใกล้ความร้อนที่เป็นศูนย์กลาง ย่อมถูกความร้อนเผาไหม้อย่างเต็มที่ การถูกไฟที่ร้อนแรงเผาเป็นเวลานาน จะทำให้มีการหดตัวเล็กลง ส่วนใหญ่พระที่ถูกเผาจนแกร่งในลักษณะนี้จะมีความคมชัดของส่วนรายละเอียดต่างๆมาก ความแข็งแกร่งของเนื้อทำให้ไม่เกิดสึกหรอหรือถูกทำลายให้เสียหายไปง่ายๆ พระเนื้อแกร่งแบบนี้จึงเป็นที่นิยมของผู้ที่เก็บสะสมและมีสนนราคาในการเช่าหาที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง รายละเอียดต่างๆของพระคงเขียวองค์นี้ งามครบถ้วนบริบูรณ์ทุกประการคราบกรุติดอยู่บางๆทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม สูง 2 3/4 ซ.ม หนา 1/2 ซ.ม. ขุดพบที่ใต้ฐานพระประธาน ในวิหารวัดพระคงลำพูน


ภาพที่ 3 เป็นพระคงเนื้อดินเผาสีแดง ทีมีความงามและคมชัดมากองค์หนึ่งที่มีขนาดใหญ่ล่ำสันดูบึกบึนสมชื่อพระ คงลำพูน พระคงองค์ใหญ่แบบนี้เป็นพระคงที่ถูกเผาด้วยไฟธรรมดาที่เป็นเพียงการเผาสุก ด้วยความที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง ของการเผาไหม้ที่ร้อนแรง จึงทำให้องค์พระมีการหดตัวน้อยลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เนื้อพระลดความแกร่งลงไปสืบเนื่องจากการกรองเนื้อดินให้ละเอียดและหมักดินจนได้ที่ ดูตามสภาพแล้วพระคงองค์นี้มีเนื้อดินและผิวพื้นที่ละเอียด มีเนื้อที่แน่นในตัวโดยสมบูรณ์ จุดสังเกตุต่างๆรวมทั้งความคมชัดของเส้นสายรายละเอียดในทุกส่วนชัดเจนดี ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. หนา 1 1/2 ซ.ม. ด้านหลังนูนสูง มีคราบกรุติดอยู่ค่อนข้างหนา

ภาพที่ 4 เป็นพระคงเนื้อแกร่งที่เรียกกันว่าเนื้อเขียวหินครกที่งดงามและสมบูรณ์องค์หนึ่ง พระที่มีความงามพร้อมแบบนี้ไม่มีให้ได้พบในสนามไม่ว่าจะเป็นที่แห่งใด องค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีคราบกรุติดอยู่บางๆทำให้เพิ่มความมีเสน่ห์ในองค์พระมากยิ่งขึ้น พระคงสีนี้เขาจะเรียกกันว่า “พระคงสีเขียวคราบเหลือง” คำว่าสีเขียวในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสีเขียวใบไม้ แต่เป็นสีเขียวแบบเดียวกันกับสีของหินกระดานชนวนที่มีความแข็งแกร่งพอกัน ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.

ภาพที่ 5 เป็นภาพของพระคง เนื้อดินเผา สีพิกุลอมชมพูที่งามเรียบร้อยองค์หนึ่ง คราบกรุที่ติดอยู่ตามซอกต่างๆช่วยเน้นให้ส่วนรายละเอียดต่างๆดูเด่นชัดเจนยิ่งขึ้น มีคราบกรุติดอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังพอประมาณ ตรงส่วนก้นฐานเป็นแบบก้นหยัก คงเป็นเพราะตอนยกขึ้นออกจากพิมพ์ เนื้อแกร่งแบบธรรมดาทั่วไป หน้า ตามองดูชัดเจนดี ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม หนา 1 1/4 ซ.ม.

ภาพที่ 6 ภาพนี้เป็นภาพของพระคงสองสี คือด้านบนนับแต่ส่วนหน้าตักขึ้นไป จนถึงปลายบนสุดเป็นสีเขียวหินครก ส่วนล่างนับจากใต้ขาลงมาเป็นสีพิกุล สีแบบนี้เป็นความงามอีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเผา ทำให้องค์พระดูงามเด่นไปอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหาไม่พบโดยง่าย ส่วนด้านหลังเป็นสีเขียวคราบเหลือง ด้านหลังเป็นแบบนูนไม่มากไม่มีคราบกรุติดในส่วนใด สภาพเต็มร้อย ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.

ภาพที่ 7 เป็นพระคงสีขาวเนื้อนวลตา ที่งามมาก มีเนื้อละเอียดอ่อน ดูนุ่มนวลและหนึกนุ่ม ยิ่งเพ่งมองดูยิ่งซึ้ง เป็นพระคงองค์งามที่ดึงดูดสายตาองค์หนึ่ง พระคงสีขาวแบบนี้ค่อนข้างจะหายากโดยเฉพาะองค์พระที่มีความสมบูรณ์ไม่หักหรือบิ่นในส่วนใดๆเช่นนี้ ใบโพธิ์ประดับ ที่มีปลายใบเรียวแหลม ตรงกลางใบเป็นรอยบุ๋มเป็นแอ่งเล็กๆมองเห็นได้ชัด เป็นจุดสังเกตุจุดหนึ่งสำหรับพระคงพิมพ์ที่มีหน้าตาครบถ้วนชัดเจนดังเช่นที่เห็นพิมพ์นี้ ก้านใบจะเป็นเส้นเล็กๆติดกับตัวใบทุกใบ ตรงส่วนกิ่งนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่า กิ่งก้านใบโพธิ์ของพระคงพิมพ์นี้ดูชูชี้ปลิวไสวราวกับล้อลมเล่น หากท่านได้เห็นองค์จริง ก็จะมีความรู้สึกเช่นนั้น เป็นฝีมือเชิงช่างชั้นสูงของช่างศิลปะชาวหริภุญไชย ที่มากความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่วิเศษเช่นนี้ออกมา การประทับนั่งตลอดจนรูปลักษณ์ ที่แสดงออกในองค์พุทธปฏิมาองค์เล็กๆเช่นพระคงนี้ ให้ความรู้สึกที่เป็นมนตร์ขลัง รวมทั้งพระพุทธคุณอันเยี่ยมยอด ในทางข่ามคง เป็นที่เลื่องลือกันมาเป็นเวลายาวนาน ยิ่งทำให้องค์พระเพิ่มคุณค่าสูงยิ่งขึ้น พระคงองค์นี้มีขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.

ภาพที่ 8 เป็นพระคงสีเขียวหินครกที่งามสะอาดด้วยเนื้อแท้ ที่ไม่ผ่านการจับต้องหรือถูกคราบไคลจากมือผู้ใดนับแต่ขึ้นจากกรุ เป็นพระที่มีเนื้อแห้ง คราบกรุติดตามผิวพระอย่างบางเบา ด้านหน้าและด้านหลังงามเรียบร้อยในทุกประการ ส่วนรายละเอียดของลวดลายต่างๆบนองค์พระสมบูรณ์ องค์พระประทับบนฐานบัลลังก์ปางมารวิชัยสมาธิเพชรอย่างงามสง่า จุดสังเกตุต่างๆที่เป็นจุดตาย ว่าเป็นพระคงที่แท้จริงนั้นมีพร้อม เราจะค่อยๆศึกษาและค่อยๆพิจารณาจึงจะสามารถตัดสินว่าพระกรุองค์ใดแท้ องค์ไหนปลอม เริ่มแรกนั้นให้จำเนื้อดินขององค์พระไว้ให้ได้ก่อน ท่านลองขยายภาพดูและพิจารณาดูอย่างเต็มที่ พระกรุจะมีเนื้อที่เก่าแก่สมอายุการสร้างที่ยาวนานมานับเป็นพันปี ย่อมจะมีเนื้อแตกต่างจากพระเนื้อดินที่ทำการเผาขึ้นมาใหม่ ตลอดจนสี สันแม้กระทั่ง คราบกรุแท้ คราบกรุเทียม ดูให้ดีก็จะเห็นความแตกต่างกันเมื่อนำมาเปรียบเทียบ พระคงองค์เขียวนี้ กว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 9 พระคงสีพิกุลอมชมพูเนื้อละเอียด มีผิวที่มีขี้กรุติดอยู่ บางๆ ทำให้องค์พระดูเด่นมีมิติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้เห็นลวดลายประดับของกิ่งก้านใบโพธิ์ ดูงามอย่างไม่จืดตา คราบกรุทางด้านหลังเกาะติดมากกว่าทางด้านหน้า หลังเป็นแบบหลังปาดทางขวาขององค์พระ ส่วนรายละเอียดอื่นๆมีครบ ไม่หักหรือบิ่นในส่วนใดขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 10 พระคงเขียวคราบเหลืองที่มีความสมบูรณ์แบบ อีกทั้งมีสีสันเป็นที่นิยมของวงการสะสมพระเครื่อง เป็นพระที่มีเนื้อแกร่งแข็งไม่สึกง่ายๆ ผิวพระมีความเก่าของเนื้อสมอายุของพระกรุ ที่วงการให้การยอมรับ โดยแท้ ด้านหลังงามเรียบร้อย นูนหนานิดๆพองาม หน้าอกอูมนูนเด่น ห่มจีวรในลักษณะห่มคลุม บนอกใต้ลำคอลงมาเป็นเส้นจีวรเส้นเล็กๆที่เป็นเส้นครึ่งวงกลม 2 เส้น เส้นบนจะโค้งยาวตามรูปของส่วนคอ ส่วนเส้นล่างจะมีครึ่งเส้นเป็นจุดสังเกตุจุดหนึ่งของพระคงแท้ๆ เส้นที่ว่านี้เป็นเส้นที่มีขนาดเล็กมากเล็กเท่าเส้นผมเลยก็ว่าได้ให้ท่านลองพิจารณาดู ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม สูง 2 3/4 ซงม หนา 1 1/4 ซ.ม ถือเป็นขนาดมาตรฐานสำหรับพระคงลำพูน

ภาพที่ 11 เป็นพระคงเนื้อแกร่งสีเขียวคราบสีพิกุล คราบกรุอยู่ในลักษณะเดิมๆ มีไขขาวติดอยู่ในบางส่วน เนื้อพระดูเก่าแก่สมอายุ งามเรียบร้อยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ฝ่ามือซ้ายวางพาดบนหน้าตักส่วนของปลายนิ้วซ้ายจรดกับลำแขนขวาที่ทอดลงมาแตะยังพื้นของฐานบัลลังก์ที่ประทับนั่ง เป็นจุดสังเกตุอีกจุดหนึ่งที่จะต้องรู้ไว้ ฝ่ามือซ้ายวางเป็นแบบหงายขึ้น มองเห็นนิ้วหัวแม่มือกระดกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้านบนของนิ้วหัวแม่มือ จะเห็นสะดือเป็นเม็ดจุ่นนูนเหมือนกับเอาดินเหนียวมาแปะไว้ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระคงลำพูน ด้านหลังอูมนูนพองามเห็นผิวพระเป็นสีเข้มของเนื้อที่ถูกเผาแกร่งเกือบเป็นหิน งามซึ้งตาไปอีกแบบหนึ่ง ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม.

ภาพที่ 12 เป็นพระคงเนื้อแกร่งสีเขียวผ่าน พื้นผนังส่วนบนเป็นสีพิกุล ส่วนขององค์พระตั้งแต่เศียรลงมาจนถึงบริเวณส่วนล่างของฐานประทับเป็นสีเขียวหินครก ดูเข้มขลังเอาการ ด้านหลังก็เป็นเช่นกัน คราบกรุติดอยู่บางเบา มองเห็นความคมชัดในส่วนต่างๆขององค์พระได้อย่างสบาย ท่านลองขยายภาพดูก็จะมองเห็นดังที่ว่าไว้ ขนาดกว้าง 1 ? ซ.ม สูง 2 3/4 ซ.ม หนา 1 1/4 ซ.ม.

ภาพที่ 13 พระคงสีขาวงาช้างที่มีขนาดเขื่องกว่าพระคงเนื้อเขียวหินครก หรือพระคงเนื้อเขียวผ่าน แต่ก็ใช่ว่าจะมีเนื้อพระและความคมชัดที่ด้อยกว่า ตรงกันข้ามกลับเป็นลักษณะเด่น ของพระคงเนื้อนี้สีนี้ ที่มีความงดงามและสมบูรณ์พร้อม กลายเป็นพระที่ต้องการและเสาะแสวงหาของบรรดานักนิยมสะสม เพราะถือกันว่าพระคงสีขาวงาช้างที่งามบริสุทธิ์นั้น เป็นสีที่หายากมากของวงการ ให้ท่านพิจารณาดูเอาเถิด ด้านหน้าของพระคงสีขาวองค์นี้ติดพิมพ์ชัดเจนดีในทุกส่วน ด้านหลังก็งามเรียบร้อยสมบูรณ์ ปัจจุบันจะพบหาพระคงที่งดงามในลักษณะนี้ ไม่มีอีกแล้ว ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.

ภาพที่ 14 เป็นภาพของพระคงสีมอยหรือเรียกกันว่า” สีเทาดำ “ มีคราบกรุขาวพราวไปทั่วทั้งองค์พระ ทำให้มองดูงดงามอย่างน่าประหลาด ในทุกส่วนทั่วทั้งองค์นั้นมองเห็นเส้นสายลายประดับที่อ่อนช้อยราวกับจะพลิ้วไหว ให้รายละเอียดในทุกอย่างชัดเจนดีมาก พระคงองค์นี้มีสภาพเดิมๆที่ไม่ผ่านการจับต้อง มาก่อน องค์พระงามพร้อมในทุกสัดส่วนไม่แตกหรือบิ่นร้าวในที่ใด เป็นพระคงสีที่หายากสุดๆ ไม่ปรากฎให้พบเห็นบ่อยนัก หรือไม่มีให้พบเห็นกันเลย ด้านหลังเป็นเช่นเดียวกันกับด้านหน้า คือมีคราบกรุสีขาว หลังเป็นแบบหลังปาดทางด้านขวา ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 15 พระคง สีเขียวมอยผ่านพิกุล ท่านลองขยายภาพดูก็จะเห็นดังที่ว่า เป็นพระเนื้อแกร่งที่โดนเผาด้วยไฟที่มีอุณหภูมิสูง คราบกรุเป็นคราบของเนื้อดินเหนียวสีพิกุลแห้งติดอยู่ ไม่ได้ล้างออก เพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงของพระกรุในลักษณะเดิมๆไม่ได้ปรุงแต่งในส่วนใดๆ ซึ่งความเป็นจริงควรจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไว้ตลอดเพื่อเป็นข้อยืนยันถึงความเป็นพระกรุที่แท้จริง อันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เราจะมีความรู้สึกที่ภาคภูมิใจลึกๆที่เราสามารถอนุรักษ์พระกรุที่มีอายุนับพันปีไว้ได้อย่างสมบูรณ์เช่นนี้ ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 16 อีกองค์หนึ่งของพระคงสีเทาดำหรือพระคงสีมอยที่ผู้เขียนนำมาให้ท่านได้ชื่นชมกัน ซึ่งภาพพระคงที่มีความสมบูรณ์และงดงามเช่นนี้หาชมได้ไม่ง่ายนัก ท่านลองขยายภาพดูพระคงทุกองค์อย่างเต็มที่แล้วเปรียบเทียบกันดู ก็จะได้รู้เห็นเป็นประจักษ์ว่าพระคงที่เป็นพระกรุยุคโบราณที่มีอายุยาวนานถึงพันสามร้อยกว่าปีที่แท้นั้นมีเนื้อหา พิมพ์ทรงรวมทั้งเส้นสายรายละเอียดต่างๆ ที่งดงามพลิ้วไหวเต็มไปด้วยความหมายที่บ่งบอกอยู่ในตัวตลอดจนศาสตร์และศิลป์ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของหริภุญไชยที่ไม่มีที่ใดเสมอเหมือนนั้น เป็นความงดงามที่น่าประทับใจเช่นใด พระคงองค์นี้งามทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง3 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม.

ภาพที่ 17 เป็นพระคงสีเขียวคราบเหลืองที่เป็นพระคงเนื้อแกร่ง มีคราบกรุติดอยู่ทั่วทั้งองค์พระ ความงามและความสมบูรณ์เต็มร้อย ส่วนด้านหน้าคราบกรุติดหนามากกว่าด้านหลัง คงไว้ให้เห็นสภาพที่แท้จริง พระคงทั้งหมด 17องค์นี้เป็นพระคงพิมพ์เดียวกัน มีความต่างเพียงแค่สีสันและขนาด อันสืบเนื่องจากการเผาและเนื้อของดินในแต่ละองค์ รวมทั้งความร้อนแรงของไฟ เป็นการเผาแบบโบราณที่ทำให้อุณหภูมิของไฟไม่เท่ากัน แต่ก็สามารถทำให้มีพระกรุที่เห็นทั้งหมดนี้ เกิดความงดงามและสมบูรณ์แบบเป็นที่สุดมาให้ท่านได้ชื่นชมกันอย่างจุใจ ท่านได้ชมกันแล้วหากมีความคิดเห็นเป็นเช่นไร กรุณาแจ้งไปให้ผู้เขียนได้ทราบ เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่บกพร่อง เป็นการเติมเต็มข้อมูลทั้งหมดให้มีความสมบูรณ์ ยิ่งขึ้นสำหรับการเรียนรู้และการศึกษากันต่อไปในเบื้องหน้า พระคงองค์ที่ 17 นี้มีขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.


ท่านผู้อ่านทุกท่านคงได้ชมพระคงพิมพ์ที่งดงามด้วยองค์ประกอบต่างๆที่สมบูรณ์พร้อมในทุกประการทั้งด้านหน้าและด้านหลังกันอย่างเต็มอิ่ม สำหรับเรื่องของพระพุทธคุณในองค์พระนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสำหรับการเรียนรู้และทดสอบดูว่าองค์พระนั้นมีพระพุทธคุณที่สูงและมั่นคงเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้บางทีเราก็ไม่อาจที่จะมองข้ามไปได้ เพราะบางสิ่งบางอย่างสำหรับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ถ้าหากว่าเราไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่เป็นอันขาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง ผู้เขียนได้ให้ผู้ทรงคุณที่สามารถสำผัสจับพระพุทธคุณได้เป็นอย่างดีท่านหนึ่งลองทำการจับพุทธคุณพระคงพิมพ์นี้ดู โดยไม่บอกว่าเป็นพระพิมพ์ชนิดใด และได้ห่อกระดาษไว้อย่างแน่นหนาหลายชั้น ปรากฎว่าพุทธคุณที่แสดงออกมานั้นสูงส่งยิ่งมีพลังแรงอย่างมหาศาล ชนิดที่ผู้ทำการอาราธนาเอ่ยปากขอเปิดดูว่าในห่อนั้นเป็นพระพิมพ์ชนิดใด พระพุทธคุณจึงมีพลังสูงเยี่ยงนั้น ผู้เขียนจึงขอนำมาเล่าให้ท่านได้รับฟังกัน เพื่อเป็นเกล็ดของความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่นำมาบอกกล่าวไม่ได้


ยังมีพระคงพิมพ์ที่มีหน้าตาอีกหลายบล๊อกหลายแบบ ที่มีความงดงามและแตกต่างจากพิมพ์ที่ได้นำมาแสดงในเบื้องต้น เป็นพระกรุแท้แน่นอน เป็นพระคงต่างแบบต่างบล๊อก ที่ขุดได้ในแหล่งเดียวกันนี้ ซึ่งพระคงที่ว่าเหล่านั้นก็มีพบเห็นกันน้อย ไม่มีปรากฎให้พบเห็นในสนามพระ หากมีเวลาและโอกาสผู้เขียนจะทะยอยนำมาให้ท่านได้รู้จักต่อไป.

“ชีวิตนานา ล้วนอนิจจัง ชีวิตมีพลัง ความหวังยังมี”