“พระเปิม”กรุเจดีย์”ปทุมวดี”วัดพระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชยลำพูน”
โดย.สำราญ กาญจนคูหา .โทร. 086 -9184300.


“จะสุขหรือทุกข์อย่างไร ก็มีผลเท่ากัน สำคัญอยู่ที่ใจของท่านเท่านั้น “

“พระเปิม” เป็นพระกรุในพระชุดสกุลลำพูนที่สำคัญ มีชื่อเสียงทางด้านข่ามคง คงกระพันชาตรี และแคล้วคลาดเป็นพระกรุที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เหมาะที่จะเป็นพระ องค์ประธานกลางสร้อยที่ร้อยเรียงกับพระชนิดอื่นๆ พระเปิมถูกพบมากในที่หลายแห่ง เช่นวัดดอนแก้ว ตำบลเวียงยองลำพูน วัดจามเทวีอำเภอเมืองลำพูน และกรุวัดพระธาตุเจ้าหริภุญไชย ลำพูน นอกจากนี้ยังขุดพบพระเปิมอีกพิมพ์หนึ่งที่เจดีย์เก่าของวัดบ้านก้องตำบลสบทาอำเภอป่าซาง แต่พิจารณาดูแล้วสรุปได้ว่าเป็นพระเปิมที่สร้างขึ้นในยุคหลังที่มีความงามและความปราณีตที่ด้อยกว่า

ในครั้งนี้จะขอนำท่านให้ได้รู้จักกับพระเปิมของกรุวัดพระธาตุโดยเฉพาะ ในสภาพที่งดงามมีความคมชัดของพิมพ์ทรงในทุกสัดส่วน เท่าที่ได้พบเห็นภาพของพระเปิมในหนังสือพระต่างๆส่วนใหญ่จะเป็นภาพของพระเปิมของกรุวัดดอนแก้ว กรุวัดจามเทวี ที่มีความแตกต่างในพิมพ์ทรง จะพบหาพระเปิมกรุวัดพระธาตุที่แท้จริงนั้นแทบจะไม่มีให้เห็น หากจะมีก็เป็นพระที่ถูกห้อยจนสึกแทบจะไม่มีความงดงามหลงเหลืออยู่เลย พระเปิมกรุวัดพระธาตุแตกกรุออกมาเพียงไม่กี่ครั้ง จำนวนพระที่ออกมามีจำนวนพอประมาณ มีการเปิดกรุครั้งแรกในปีพ.ศ 2473 พระครูบาธรรมชัย ผู้ทรงวิทยาคม เจ้าอาวาสวัดประตูป่าอำเภอเมืองลำพูนในขณะนั้น เป็นผู้นำในการเปิดกรุภายในเจดีย์ปทุมวดี ได้พระเปิมออกมาในจำนวนหลายพันองค์ เพื่อให้สาธุชนชาวเมือง เช่าบูชาเพื่อนำเงินสมทบทุนบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชย

ครั้งที่สอง ได้ทำการเปิดกรุอีกในปี พ.ศ .2484 โดยเจ้าจักรคำขจรศักดิ์เจ้าหลวงผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย
ร่วมกับครูบาธรรมชัย ทำการเปิดกรุเจดีย์ปทุมวดี โดยได้ขุดตรงส่วนฐานของเจดีย์ลึกลงไปเป็นอุโมงค์ ได้พระเปิมออกมาเป็นจำนวนมากหลายพันองค์ เวลานั้นเป็นช่วงเวลาของสงครามมหาเอเซียบูรพา มีเหล่าทหารจากหน่วยรบต่างๆ ขึ้นมาประจำการในจังหวัดลำพูนหลายหน่วย พระเปิมที่ได้ขึ้นมาถูกนำออกแจกจ่ายให้บรรดาเหล่าทหารและข้าราชการต่างๆเพื่อเป็นขวัญกำลังใจป้องกันตัวในยามศึกสงคราม เนื่องจากเป็นที่ทราบถึงพุทธคุณของพระเปิม อันเป็นที่เลื่องลือในด้านคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดจนเป็นที่กล่าวขวัญถึง กันไปทั่ว ครั้งที่สาม ในช่วงปลายเดือนมีนา คมของปีพ.ศ. 2496 ขณะนั้นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเจ้าหริภุญไชยไม่อยู่ ท่านได้เดินทางไปประชุมคณะสงฆ์ที่กรุงเทพฯ มีกลุ่มชายฉกรรจ์ห้าคน ได้ร่วมกันลักลอบขุดตรงฐานของเจดีย์ปทุมวดี

การขุดได้กระทำในช่วงของเวลากลางคืนประมาณ 2 ทุ่ม ในขณะนั้นองค์เจดีย์ปทุมวดียังไม่ได้มีการบูรณะให้แข็งแรงและแน่นหนาดังเช่นปัจจุบัน ผู้ขุดใช้ชะแลงเล็กๆเป็นเครื่องมือในการขุด ผู้ขุดมีความชำนาญในการขุดมาก เริ่มขุดจากจุดของฐานตรงกลางทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ ขุดเป็นหลุมกว้างประมาณ 1 เมตร ลึกลงไปประมาณเมตรครึ่ง พื้นดินตรงส่วนนี้ร่วนซุยสะดวกต่อการขุดเป็นอย่างดี ผู้ขุดโกยเอาดินที่ร่วนซุยนั้นขึ้นไปข้างบนแล้วเทลงบนเสื่อลำแพน มีพระเปิมปนอยู่กับดินที่ร่วนซุยนั้นเป็นจำนวนมาก ผู้ขุดได้ลองขุดชอนขึ้นไปด้านบน ได้พระเปิมที่ยึดติดกับแผ่นอิฐ โดยมีปูนขาวที่มีส่วนผสมของน้ำอ้อยและน้ำหนังสัตว์เป็นตัวประสานในการก่ออิฐตามสูตรของคนโบราณ พระเปิมนี้เรียงกันเป็นตับๆ ตับละหลายสิบองค์ บ้างก็วางสลับเรียงกันไปมา กลับหัวกลับท้ายหรือวางตะแคงข้างอยู่ก็มี พระเปิมจะมีปรากฎให้เห็นมากในระดับความลึกประมาณ เมตรครึ่ง
ลึกลงไปมากกว่านั้นจะไม่พบเห็นเลย

โดยผู้ขุดได้ทดลองขุดลึกลงไปถึง 2 เมตร จึงได้เปลี่ยนทิศทาง ผู้ขุดมุ่งตรงเข้าหาศูนย์กลางขององค์เจดีย์ การขุดได้ดำเนินการไปเรื่อยๆ พบแผ่นอิฐโบราณขนาดใหญ่ กว่าอิฐธรรมดาวางซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ และทำการรื้อ ออกได้อย่างง่ายดาย เพราะปูนที่สอนั้นหมดอายุจึงผุกร่อนโดยธรรมชาติอันยาวนาน พวกเขาค่อยๆรื้อและดึงแผ่นอิฐก้อนใหญ่ออกจนปรากฎว่าลึกลงไปใต้ฐานเจดีย์นั้นเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ดำมืด ที่มีความเย็นยะเยือกของภายในลอยขึ้นมา เขาลองใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 3 เมตรทดลองหยั่งลงไปภายในอุโมงค์นั้นจนสุดปลายไม้ ก็ยังไม่กระทบตรงส่วนใดของพื้น ทำให้เข้าใจว่าอุโมงค์ภายในเจดีย์นั้นลึกมากจนสุดจะหยั่งถึงได้ แต่ก็ยังอดคิดไปไม่ได้ว่าภายในอุโมงค์นั้นคงจะเต็มไปด้วยพระเปิม พระพุทธรูปบูชาและของอย่างอื่นๆที่เป็นสมบัติของพระนางปทุมวดี พระมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราชผู้สร้างพระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชยได้อุทิศไว้เป็นพระพุทธบูชา ฉับพลันทันใดก็บังเกิดความกลัวขึ้นมาอย่างจับจิต การขุดค้นหาพระเปิมก็เป็นอันยุติลงเพียงเท่านั้น อีกทั้งเป็นเพราะเห็นว่าใกล้สว่างเห็นทีจะพอกันได้แล้ว ทุกคนจึงช่วยกันกลบหลุมเกลี่ยดินและกลบเกลื่อนร่องรอยต่างๆที่ปรากฎให้เรียบร้อย เพื่อมิให้เป็นพิรุธและเป็นที่สังเกตุของคนทั่วไป พวกเขาได้ทำการเรียงแผ่นอิฐที่รื้อออกมา ให้เข้าที่เดิมอย่างแนบเนียนและเป็นระเบียบเรียบร้อยและเหมือนเดิมทุกอย่าง ซึ่งก็ไม่มีผู้ใดสงสัยหรือทราบว่ามีการลักลอบทำการขุดเจาะเจดีย์เหลี่ยมในครั้งนั้นเลย

พระทั้งหมดที่ขุดได้จากเจดีย์ปทุมวดีนั้นเป็นพระเปิมล้วนๆ มากมายหลายสีเป็นพระเปิมเนื้อจัดที่สมบูรณ์แบบเป็นที่สุด มีคราบกรุติดอยู่แต่ทำความสะอาดได้ง่าย ในตอนหลังๆผู้ที่ลักลอบขุดเห็นว่าเรื่องทั้งหมดเงียบ ไม่เป็นที่ทราบของคนทั่วไปจึงได้ค่อยๆนำพระเปิมออกมาจำหน่ายจ่ายแจกให้บรรดาผู้คนทั่วไป ทั้งที่เป็นญาติมิตรสหาย แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนมากนัก แม้ว่าจะขายในราคาถูกแสนถูกเพียงแค่องค์ละ 2 ถึง 5 บาทในขณะนั้นก็ตาม ในเวลานั้นราคาทองคำตกอยู่บาทละ 350 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ .50 สตางค์ นับแต่นั้นเป็นต้นมากรุพระเปิมของวัดพระธาตุเจ้าหริภุญไชยก็ถูกปิดตายลง เพราะได้มีการพัฒนาปรับปรุง ซ่อมแซมองค์เจดีย์และบริเวณวัดทั้งหมด เจดีย์ปทุมวดีก็ได้รับการบูรณะตกแต่งและมีการเทปูนทับทั่วบริเวณรอบๆเจดีย์อย่างแข็งแรง จึงไม่มีพระเปิมจากกรุนี้ให้ได้เห็น นอกจากของเก่าที่หลุดเหลือมาแต่เดิมเท่านั้น
พุทธลักษณะของพระเปิมกรุวัดพระธาตุนั้น องค์พระจะดูอวบอ้วนนูนเด่นเป็นสง่า ประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชรบนฐานบัลลังก์ที่ประดับด้วยบัวลูกแก้วเม็ดกลม ใต้ฐานที่ประทับเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ภายในครึ่งวงกลมนี้มีขีดเล็กๆอยู่ 7 ขีด การห่มจีวรเป็นแบบห่มคลุมแบบเดียวกับการห่มจีวรของพระคงและพระบาง

พื้นผนังเป็นลวดลายที่ประดับไปด้วยกิ่งก้านและใบโพธิ์ที่มีความถี่เต็มพื้นที่ สังเกตุดูใบโพธ์จะเป็นคล้ายหัวลูกศรที่มีส่วนปลายที่แหลมเต็มไปหมด ใบโพธิ์ทั้งหมดนับได้ 86ใบ และมีกิ่งโพธิ์ 10 กิ่ง ทำให้พระเปิมของกรุพระธาตุนี้ดูเด่นสวยสง่าเป็นที่สุด ถือได้ว่าเป็นพระเปิมที่มีความงดงามขั้นสุดยอดมากกว่าพระเปิมของกรุอื่นใดเมื่อนำมาเทียบกันองค์ต่อองค์ ต่อไปนี้ขอให้ท่านได้ชื่นชมกับพระเปิมของกรุวัดพระธาตุที่แท้จริงและขอให้จดจำพิมพ์ทรงเนื้อหาไว้ให้แม่นจะได้พิจารณากันต่อไปได้อย่างถูกต้อง เป็นพระเปิมกรุวัดพระธาตุที่แท้จริงซึ่งผู้เขียนได้คัดสรรมาเพื่อการเรียนรู้โดยเฉพาะ

วิธีดูจุดลับ

 

ภาพที่ 1 พระเปิมสีเขียวหินครก เป็นพระเผาแกร่งเนื้อพระจึงแข็งไม่สึกง่าย ซึ่งพระที่มีสีเข้มขลังเช่นนี้ จะเป็นที่ปรารถนาและต้องการของนักสะสมทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง ด้านหลัง เป็นหลังปาดงามเรียบร้อย คราบกรุมีให้เห็นบางๆ ลวดลายต่างๆขององค์พระชัดเจน ดีมาก ฐานล่างสุดมีลวดลายของบัวสลับฟันปลา เป็นเส้นแหลมคมที่มีเม็ดบัวแก้วกลมๆอยู่ภายใน
เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่จะต้องมีในองค์พระเปิมกรุวัดพระธาตุลำพูนทุกองค์และจะต้องเป็นเส้นคมชัดในลักษณะนี้
พระเปิมองค์นี้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี จึงมีความงดงามและสมบูรณ์อย่างที่เห็น ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม.

ภาพที่ 2 พระเปิมกรุวัดพระธาตุสีพิกุลที่งามเรียบร้อยในทุกส่วน ดวงตาที่นูนโปนเด่น คิ้วเป็นรูปปีกกา บนหน้าอกมองเห็นหัวนมเป็นตุ่มเล็กๆทั้งสองข้าง ท่านลองขยายภาพให้ใหญ่เต็มที่ก็จะมองเห็นเนื้อพระที่มีความเก่าแก่อยู่ในตัวมองดูงามซึ้งตลอดจนลวดลายที่มีความคมชัดและอ่อนช้อย กิ่งและก้านใบเป็นเส้นคมบ่งบอกถึงฝีมือเชิงช่างหริภุญไชยอันเป็นสุดยอด สะดือเป็นหลุมเบ้าลึกลงไปพองาม คราบกรุที่ติดอยู่ทำให้ลวดลายมีความเด่นชัดเพิ่มขึ้น ด้านหลังอูมนูนพอดีดูเรียบร้อย พระเปิมองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม.

ภาพที่ 3 พระเปิมกรุวัดพระธาตุสีผ่านสองสี คือเป็นสีเทาอ่อนและสีพิกุลรวมอยู่ในองค์เดียวกันให้ท่านพิจารณาดูตามรูปทั้งด้านหน้าด้านหลังที่ได้แสดงไว้ องค์พระมีความงามและสมบูรณ์แบบ ไม่บิ่นหรือเกิดชำรุดในส่วนใด มีความอูมนูนหนาของเนื้อที่จับต้องดูแบบมีน้ำหนักที่เหมาะมือ ขนาดกว้าง 3 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม.

ภาพที่ 4 พระเปิมกรุวัดพระธาตุสีพิกุลเข้ม ที่มีพื้นผนังของโพธิ์ประดับที่มีคราบกรุเป็นตัวช่วยเน้นให้เกิดความคมชัดของลวดลายประดับทำให้มองดูเด่น ลวดลายของกิ่ง ก้านใบโพธิ์ เต็มพื้นที่แทบจะไม่มีช่องว่างให้ได้เห็น องค์พระมีหน้า ตา หูปากจมูกครบถ้วน ดูงามสง่าและนิ่งเฉย การห่มจีวรเป็นแบบห่มคลุม จีวรแนบเนื้อทำให้เห็นหัวนมชัดเจน ด้านหลังอูมหนามีรอยปาดทางด้านข้างซ้ายขององค์พระ ขนาดกว้าง 3 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.

ภาพที่ 5 พระเปิมที่มีเนื้อแกร่ง สีเข้มที่เหมือนกับสีของยาอมโบตัน ความงดงามและสมบูรณ์เต็มร้อย พระเนื้อดินเผาที่มีสีสันแบบนี้เป็นที่นิยมชมชอบของบรรดานักสะสมทั่วไป เพราะถิอกันว่ามีความเข้มขลังที่สูงเยี่ยม และมีสนนราคาเช่ากันค่อนข้างสูง เป็นสีที่หายาก อีกทั้งมีความคมชัดของลวดลายต่างๆที่สึกหรอได้ยาก ลวดลายต่างๆของพระเปิมองค์นี้งดงามและชัดเจนดีเยี่ยม ด้านหลังอูมนูนหนาเรียบร้อย ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม สูง 3 1/2 ซ.ม หนา 3/4 ซ.ม องค์พระจะมีขนาดย่อมลงมานิดหน่อย ซึ่งเป็นธรรมดาของพระกรุเนื้อ ที่ถูกไฟเผาแกร่ง

ภาพที่ 6. พระเปิมกรุวัดพระธาตุ สีเนื้อ แต่มีคราบกรุสีเทาดำติดอยู่ทั่วทั้งองค์พระ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังอย่างแน่นหนา เป็นคราบที่ติดอยู่เดิมๆ ผู้เขียนไม่ยอมล้างเอาออก เพราะต้องการให้เห็นสภาพที่แท้จริงว่าเป็นเช่นไร ความสมบูรณ์และความชัดเจนของลวดลายและจุดสังเกตุต่างๆมีพร้อมอยู่ในองค์พระทุกอย่างไม่ผิดเพี้ยน การรักษาสภาพพระให้อยู่ในสภาพเดิมๆนี้มีคุณค่าแก่การเรียนรู้และศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ขนาดองค์พระ กว้าง 3 ซ.ม. สูง 4 1/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. ด้านหลังอูมนูนหนาพองาม

ภาพที่ 7 พระเปิมองค์นี้มีสีเนื้อ ทางด้านหน้า แต่ทางด้านหลังซึ่งอูมนูนหนาเป็นสีเขียวที่ถูกไฟเผาแกร่ง เป็นพระเปิมที่มีความงามของลวดลายที่ดูเด่นเนื่องจากมีคราบกรุบนพื้นผิวผนังโพธิ์เป็นตัวช่วยขับความคมชัดให้เกิดขึ้น มองเห็นหัวนมสองข้างเป็นเม็ดนูน องค์พระประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานที่มีเม็ดบัวลูกแก้วกลมประดับอยู่อย่างสง่าและนิ่งสงบ ขนาดกว้าง 3 ซ.ม. สูง 4 1/4 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม.

ภาพที่ 8 เป็นภาพพระเปิมกรุวัดพระธาตุ เนื้อแกร่ง สีเทาเข้มที่งามเรียบร้อย เป็นพระเปิมอีกองค์หนึ่งที่สีของผิวทั้งด้านหน้าและด้านหลังต่างกันเพราะการเผา ด้านหลังเป็นแบบสองสีคิอสีเทาและสีเนื้อ ด้านหลังนูนงามเรียบร้อย ด้านหน้าเป็นสีเทาคล้ายสีสวาด สีเดียวตลอด คราบกรุติดอย่างบางเบา จึงทำให้มองดูผิวสะอาดตา องค์พระอยู่ในสภาพเดิมๆไม่มีคราบไคลที่ผู้ใดจับต้อง กว้าง 3 ซ.ม. สูง 4 1/4 ซ.ม. หนา 1ซ.ม.

ภาพที่ 9 พระเปิมกรุวัดพระธาตุสีพิกุลเข้ม ที่มีความงามอย่างกลมกลืนในทุกสัดส่วนขององค์พระ ความชัดเจนของลวดลายประดับแทบจะไม่ต้องกล่าวถึง ด้วยเพราะคราบกรุที่ติดอยู่เป็นตัวช่วยให้องค์พระดูเด่นและงดงามอย่างน่านิยมยิ่ง รูปร่างที่อวบอ้วนประกอบกับ เนื้อดินที่อูมนูนหนา ทำให้มีความสง่าและน่านิยมเกิดขึ้น เป็นฝีมือเชิงช่างหริภุญไชยที่เยี่ยมยอดยากจะหาศิลปะในพระกรุของที่แห่งอื่นเข้ามาเทียบเทียมได้ หรือว่าไม่จริง
พระเปิมองค์นี้งามทั้งเนื้อหาและสีสันพิมพ์ทรงทุกอย่าง ขนาดกว้าง 3 ซ.ม. สูง 4 /4 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม.

ภาพที่ 10 พระเปิมสีเนื้ออ่อนกรุวัดพระธาตุ ความสมบูรณ์เต็มร้อย องค์พระมีคราบกรุติดอยู่เป็นแห่งๆเกือบทั้งองค์พระ คราบกรุมีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จะมีบางส่วนที่หลุดร่วงออกไปบ้าง เป็นคราบกรุในลักษณะของเดิมจากภายในของกรุ คราบกรุเป็นดินสีเทาดำที่แห้งและติดสนิท ด้านหลังเป็นลักษณะอูมนูน ขนาดกว้าง
2 3/4 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.

ภาพที่ 11 เป็นพระเปิมกรุวัดพระธาตุสีพิกุลอีกองค์หนึ่งที่มีความชัดเจนของลวดลายประดับ องค์พระงามเรียบร้อยน่านิยมยิ่ง ประทับนั่งบนฐานประทับปางมารวิชัยสมาธิราบ ใบหน้ามองดูเอิบอิ่มเต็มไปด้วยพระเมตตา คราบกรุติดบางๆพอมองเห็น สำหรับลวดลายของกิ่งก้านใบโพธิ์มีความคมชัดมีความแตกต่างกับพระเปิมกรุอื่นๆหากจะนำมาเปรียบเทียบกัน ขนาดกว้าง 3 ซ.ม. สูง 4 1/4 หนา 1ซ.ม.

ภาพที่ 12 พระเปิมกรุวัดพระธาตุเนื้อเขียวคราบเหลือง เป็นพระองค์งามที่ไม่ได้ถูกล้างหรือทำความสะอาดใดๆ เพื่อเป็นการคงสภาพเดิมๆเอาไว้ ให้ได้เห็นถึงความเก่าแก่ของอายุพระว่าจะต้องมีเนื้อและผิวแบบนี้ ถือได้ว่าเป็นมนตร์เสน่ห์อันสำคัญยิ่งในการเรียนรู้ให้ได้จดจำกันต่อไป ขนาดกว้าง 3 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1ซ.ม.

ภาพที่ 13 พระเปิมกรุวัดพระธาตุสีพิกุลเข้ม มีคราบกรุเป็นวงกลมขนาดพอประมาณติดอยู่ตรงข้างหูด้านขวา ทำให้เห็นลวดลาย ของกิ่งก้านใบโพธิ์ชัดเจนดี ในสนามพระหรือในที่แห่งอื่นใดจะหาดูพระเปิมที่งามสมบูรณ์และมีสภาพเดิมๆพร้อมทั้งคำอธิบายเช่นนี้ยากมาก จึงได้นำมาแสดงให้ท่านได้รู้เห็นเป็นแนวทางการศึกษาอันถูกต้อง
ต่อไป พระเปิมองค์นี้กว้าง 3 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.

ภาพที่ 14 พระเปิมกรุวัดพระธาตุเนื้อเขียวมอยที่เป็นสีอ่อนๆไม่เข้ม สำหรับตวามงดงามสมบูรณ์นั้นไม่เป็นรององค์ใดเลย ด้านหลังอูมนูนหนากลมกลึง มีคราบกรุสีอิฐติดอยู่ทางริมด้านขวา พระเปิมของกรุวัดพระธาตุโดยส่วนใหญ่จะเป็นพระที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และงามเรียบร้อย จะเสาะหาชนิดที่บิดเบี้ยวไม่งามนั้นไม่มี นับแต่ที่กรุถูกปิดตาย ก็ไม่มีพระเปิมกรุวัดพระธาตุปรากฎให้ได้เห็นอีกเลย นอกจากว่า จะเป็นพระเก่าเก็บที่ถูกลืมเป็นเวลานานแสนนานและเพิ่งจะนำออกมาเปิดเผยให้เห็นเท่านั้น ขนาดกว้าง 3 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม.


ภาพที่ 15 พระเปิมกรุวัดพระธาตุ องค์งามที่เป็นแบบเผาแกร่ง มีความเขียวเข้มขลังของเนื้อพระปรากฎออกมาให้เห็นทางด้านหลังที่อูมนูน เป็นพระเปิมอีกองค์หนึ่งที่งามพร้อมทุกอย่างแทบจะไม่มีที่ติ หากท่านเป็นนักสะสมที่แท้จริงนั้นควรจะแสวงหาพระกรุที่เต็มไปด้วยศาสตร์และศิลป์ในองค์พระ เราจะได้ความรู้ของประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่มาที่ไปขององค์พระเกี่ยวโยงไปถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ส่วนทางด้านศิลปะนั้น ในองค์พระมีอิทธิพลของศิลปะชนิดไหนมาเกี่ยวข้องด้วย พระกรุที่ได้ขึ้นมานั้นอยู่ในยุคใด มีความเหมือนและแตกต่างกันกับพระกรุอื่นๆเช่นไร มีพบในที่แหล่งใดบ้าง ความละเอียดอ่อนของลวดลายประดับในองค์พระงดงามและอ่อนช้อยหรือไม่ เพียงแค่เราได้พิจารณาดูในเรื่องดังกล่าวนั้นด้วยใจจดใจจ่อก็ทำให้เราเกิดสมาธิและมีความสุขเกิดขึ้น เป็นความสุขทางใจที่จะซื้อจะหาไม่ได้ง่ายๆในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้พระพุทธคุณขององค์พระนั้น ก็จะช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงให้พ้นไปจากตัวเรา ถ้าหากเรามีความเชื่อมั่นและยึดมั่นในสิ่งที่ดีงามอันเป็นของแถมที่ติดมากับองค์พระกรุต่างๆทุกองค์ ขนาดของพระเปิมองค์ที่ 15 นี้ กว้าง 3 ซ.ม. สูง 4 3/4ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.
ท่านได้ชมภาพและเรื่องราวของพระเปิมกรุวัดพระธาตุที่อยู่ภายในเจดีย์ปทุมวดี กันอย่างเต็มอิ่มคงจะเข้าใจว่าพระเปิมกรุนี้จะต้องมีพุทธศิลป์เป็นเช่นใด มีความแตกต่างจากพระเปิมกรุอื่นๆเช่นไรเมื่อนำมาเปรีบเทียบกันยังมีเรื่องราวต่างของศิลปะวัตถุ รวมทั้งพระพิมพ์ที่ขุดได้ในเมืองลำพูนแห่งนี้ อีกมากมายที่ท่านอยากรู้อยากเห็น ผู้เขียนจะได้นำมาเสนอแก่ท่านในโอกาสต่อไป ขอให้ติดตาม ..

“ประเพณีและวัฒนธรรมไทยป็นสิ่งที่ดีงาม เราคนไทยทุกคนควรจะรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป”