พระรอดวัดมหาวันพิมพ์กลาง
โดย สำราญ กาญจนคูหา . ( 1 - 9 - 2558 ).
โทร. 086 - 9184300 , 053-530148 .
คิดดี ทำดี กันไว้ก่อน โดยไม่หวั่นไหว ต่อคำว่าร้ายหรือนินทาว่ากล่าวใดๆ คือสิ่งที่ถูกต้องเป็นที่สุด
พระรอดพิมพ์กลาง ของกรุวัดมหาวันลำพูน เป็นหนึ่งในหกพิมพ์ของพระรอดที่เป็นพระกรุชั้นยอด และมีอายุการสร้างที่เก่าแก่ถึงกว่าพันสามร้อยปี ปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นพระในฝันสำหรับผู้ที่นิยมและต้องการสะสมไว้ไปเสียแล้ว แต่ก็ไม่แน่นัก บางทีก็อาจจะมีหลุดเข้ามาให้ได้พบเห็นกันบ้าง ว่าแต่ว่า ผู้ใดจะพบเห็นและมีวาสนาพอที่จะได้มีไว้ในความครอบครองเท่านั้น แต่ก่อนที่จะได้พบเห็น พระรอดแท้ที่อาจจะมีหลงเหลืออยู่ก็ได้นั้น เราก็จะต้องมีความรู้และเข้าใจในรูปลักษณะและความเป็นมาของพระรอดพิมพ์กลาง ว่ามีลักษณะและองค์ประกอบ รวมทั้งรายละเอียดบนองค์พระว่าเป็นอย่างไร เนื้อหา คราบกรุ ขี้กรุของพระกรุแท้ๆนั้นจะเป็นเช่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแม่นทั้งพิมพ์ทรง แม่นทั้งเนื้อหา ซึ่งผู้ที่สนใจจะต้องทำการเรียนรู้และศึกษากันอย่างถูกต้องและเจาะลึกในรายละเอียดต่างๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงจะได้ไม่พลาดหวังไปกันในที่สุด.
พระรอดทุกพิมพ์ที่เป็นพระกรุแท้ๆนั้นจะขุดพบได้เฉพาะที่วัดมหาวันลำพูนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ไม่มีการขุดพบในที่แหล่งแห่งอื่นใดเลย หากจะมี ก็เป็นการกล่าวอ้างที่หวังผลประโยชน์จากผู้ที่ไม่รู้เท่านั้น ดังนั้นการจะเช่าหา พึงควรระมัดระวังให้จงดี อย่าเชื่อเพียงคำกล่าวอ้างเท่านั้น ต้องคิดและครวญใคร่กันให้จงดี.
เกริ่นกล่าวกันมาพอสมควร เราจะมาพูดถึงเรื่องราวของพระรอดพิมพ์กลางของกรุวัดมหาวันลำพูนว่าจะมีรูปลักษณะพิมพ์ทรง และรายละเอียดต่างๆบนองค์พระว่าเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการเรียนรู้และศึกษากันอย่างถูกต้อง จะได้ไม่หลงทางกัน.
พระรอดพิมพ์กลางนั้นเป็นพระรอดที่ดูยากและมีรายละเอียดของพิมพ์ทรงรวมทั้งเส้นสายรายละเอียดต่างๆ ที่แตกต่างจากพระรอดพิมพ์อื่นเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน แต่หากเราจะมาทำความเข้าใจให้ดี และเรียนรู้กันอย่างถูกต้องก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยากเกินไปนัก
พุทธลักษณะทั่วไปของพระรอดพิมพ์กลาง
พุทธลักษณะของพระรอดพิมพ์กลาง พระรอดพิมพ์กลางเป็นพระรอดเนื้อดินเผา มีหลากหลายสีเช่น สีดำ สีเขียวหินครกที่ถูกไฟเผาแกร่ง สีแดงอิฐมอญ สีพิกุล สีขาว สีเทา สีผ่านคือมีสีสองสีในองค์เดียวกันเป็นต้น เนื้อดินของพระรอดนั้นจะมีความละเอียด นวลเนียนและดูหนึกนุ่มตา เป็นเพราะเนื้อดินนั้นได้รับการกรองให้ละเอียดรวมทั้งการหมักและนวดดินเป็นอย่างดี ทั้งนี้เป็นเพราะ พระรอดที่จะทำการปั้นนั้นมีขนาดเล็กเท่าปลายก้อย จึงต้องทำการเตรียมดินอย่างพิถีพิถันเพื่อไม่ให้มีการแตกหัก หรือร้าวลานได้โดยง่ายในการเผาต่อไป
ลักษณะทั่วไปของพระรอดพิมพ์กลางนั้นคือ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานประทับที่เป็นฐานเขียงหน้ากระดานสามชั้น ภายใต้โพธิบัลลังก์ ที่ทำเป็นลวดลายของลายกระจังที่มีลักษณะเป็นแท่งๆโดยรอบทั้งสองข้างขององค์พระ
ฐานประทับทั้งสามชั้นนั้น ชั้นบนสุดจะเป็นฐานขนาดกลาง ถัดลงไปเป็นฐานชั้นที่สองที่มีขนาดย่อมกว่าฐานชั้นแรก และเป็นฐานที่มีขนาดเล็กที่สุด ฐานชั้นที่สามจะอยู่ล่างสุดและเป็นฐานที่มีขนาดใหญ่และหนากว่าฐานชั้นแรกและชั้นที่สอง ตรงก้นฐานชั้นที่สามนี้ บางองค์จะมีก้นยื่นออกไป เรียกกันว่าฐานดาก หรือฐานแบบก้นแมงสาป ที่ฝีมือเชิงช่างมีเจตนาที่จะทำให้เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของพระรอดพิมพ์กลางนี้โดยเฉพาะ ฐานประทับทั้งสามชั้นดังกล่าวนี้จะเรียงกันได้อย่างมีจังหวะ ดูงดงามและเรียบร้อยในทีอย่างลงตัวและพอดี อาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า ฐานประทับทั้งสามของพระรอดพิมพ์กลางนี้ จะดูหนาเทอะทะกว่าฐานของพระรอดทุกพิมพ์
บนเหนือฐานชั้นแรกบริเวณใต้ขาทั้งสองข้างที่ประสานกัน จะมีเส้นผ้าปูหรือที่เรียกกันว่า เส้นนิสีทนะ หรือเส้นแซมเล็กๆสั้นๆปรากฎให้เห็น เส้นนี้เป็นจุดสำคัญที่จะต้องมีในพระรอดพิมพ์กลางทุกองค์ เป็นเส้นเล็กๆเท่าเส้นผมและมีความเป็นธรรมชาติไม่แข็งทื่อ บางองค์อาจจะลบเลือนไปบ้างแต่ก็อาจจะมีให้เห็นรำไร ต้องใช้ความสังเกตดูให้ดี รูปลักษณะและลำพระองค์ ของพระรอดพิมพ์กลางนี้จะดูล่ำสัน คล้ายกับพระพุทธรูปสมัยยเชียงแสนและพระรอดพิมพ์ต้อ แต่พระรอดพิมพ์กลางนี้จะมีความสง่างามมากกว่า เค้าหน้าดูใหญ่เป็นแบบเม็ดพริกไทย มีรูปทรงคล้ายทรงหม้อตาลที่คว่ำลง ตรงส่วนคางจะเป็นแบบคางเหลี่ยม พื้นผนังโพธิ์ประดับโดยรอบองค์ นั้นจะดูเรียบร้อย กลุ่มโพธิ์ประดับจะติดเต็มทั้งสองข้าง ซึ่งวางเรียงลงมาอย่างมีจังหวะ และดูเสมอกันทั้งสองข้าง ให้ท่านลองพิจารณาดูกันให้ถ้วนถี่ ก็จะเห็นว่าเป็นจริงดังกล่าว
รายละเอียดทางพิมพ์ทรง
1 . พระเกศมาลา หรือผม จะมีลักษณะเป็นเกศแบบเกศตุ้ม หรือเกศแบบดอกบัวตูม ตรงส่วนปลายของเกศจะลากทอดขึ้นไปสู่ผนังโพธิ์ ค่อนข้างสั้น และตวัดเข้าหาปลายของก้านโพธิ์บนสุด ที่แบ่งกลุ่มโพธิ์ออกเป็นกลุ่มโพธิ์สองข้าง แต่ไม่ติดกัน ปลายของก้านโพธิ์แบ่งนี้ จะเบนไปทางขวาขององค์พระ ซึ่งเป็นจุดสังเกตุสำคัญจุดหนึ่งที่จะต้องจำและดูให้ดี .
2 . เส้นซุ้มประภามลฑล เส้นนี้เป็นเส้นที่เรียวเล็ก บางและคม ขนาดเท่ากับเส้นผม เป็นเส้นที่วาดจากแนวระดับใบหูด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระ ทั้งสองข้าง เส้นนี้บางองค์จะติดพิมพ์ทั้งสองข้าง แต่ที่ติดชัดเจนที่สุดมักจะติดทางด้านซ้าย โดยวาดจากแนวเหนือใบหูซ้ายเล็กน้อยแล้วลากขึ้นไป เกือบจรดกับ เกศ ส่วนทางด้านขวา องค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนนั้นเส้นนี้จะเริ่มจากเหนือใบหูขวาขึ้นไปหาปลายก้านโพธิ์แบ่ง.
3 . ไรพระศก หรือไรผม เป็นเส้นที่ขีดลงไปพาดผ่านบนใบหน้า ทำเป็นเส้นสำหรับแบ่งกรอบของใบหน้าและพระเศียร เริ่มจากตรงเหนือใบหูซ้าย โค้งมนขึ้นไปจนจรดกับตอนบนของใบหูขวา ทำให้มองเห็นตรงส่วนพระเศียรนั้นมีลักษณะเหมือนรูปฝาชีครอบอยู่ทางด้านบน โดยเฉพาะตรงกึ่งกลางของพระเศียรนั้นจะโหนกนูนขึ้นมาที่เรียกว่า อุษณีย์ษะ อันเป็นหนึ่งในลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการ
4 . พระเศียรและพระพักตร์ หรือ หัวและใบหน้า จะมีรูปลักษณะคล้ายหม้อตาลหรือบาตรคว่ำ มีไรพระศกเป็น กรอบบนของใบหน้า เส้นไรพระศกนี้จะมีลักษณะของเส้นเป็นแอ่งแบบตกท้องช้าง ไม่ใช่เป็นขีดหรือร่องที่เป็นเหลี่ยมเหมือนกับของปลอม ใบหน้าจะดูสั้น ดูจะเป็นเหลี่ยมคล้ายๆกับใบหน้าของพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง องค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจน จะเห็นตา หู ปาก จมูก ดูงดงามและน่าทึ่งในฝีมือเชิงช่างอย่างน่านิยมยิ่ง.
5 . พระเนตร หรือดวงตา มีลักษณะเป็นเม็ดยาวรีคล้ายๆกับเม็ดงา วางขวางอยู่ตรงแนวระดับหูส่วนบน หางตาแหลม ตาทางด้านซ้ายขององค์พระจะเป็นเม็ดค่อนข้างเขื่อง ใหญ่กว่าทางด้านด้านขวาเล็กน้อย ซึ่งเป็นลักษณะของพระรอดพิมพ์กลางนี้ ตรงเหนือดวงตาทั้งสองข้างมีโหนกคิ้วให้เห็นทั้งสองข้าง ต่อจากดั้งจมูก .
6 . พระนาสิกหรือจมูก จมูกของพระรอดพิมพ์กลางนี้ จะดูบานใหญ่ ต่อลงมาจากโหนกคิ้วทั้งสองข้าง ดูงดงามและลงตัวดี
7 . พระโอษฐ์ หรือปาก ปากจะเป็นปื้นคล้ายเดือนเสี้ยวที่หงายขึ้น ปากของพระบางองค์จะมีลักษณะนูนจะเหมือนปากปลากัด รูปปากจะรับกับจมูกพอดี.
8 . พระหนุ หรือคาง ทรงของคางนั้นจะเป็นป้านทรงเหลี่ยม แต่หากดูให้ถ้วนถี่ก็จะเห็นว่าตรงส่วนปลายจะดูแหลมนิดๆ และจะมีเส้นนูนเล็กๆที่เรียกว่า เส้นเอ็นคอ ลากต่อลงมาจากใต้คาง ยาวลงมาจนเกือบจะถึงเส้นจีวรขององค์พระ ถือกันว่าเป็นจุดสำคัญที่จะต้องมีในพระรอดพิมพ์กลางทุกองค์ เป็นตำหนิพิมพ์ ของพิมพ์กลางนี้ ที่จะต้องจำเอาไว้ให้ดี .
9 . พระกรรณ หรือใบหู ใบหูของพระรอดพิมพ์กลางนี้ดูจะหนาและดูสั้น กว่าใบหูของพระรอดทุกพิมพ์ เนื่องมาจากรูปทรงของใบหน้าที่เป็นลักษณะของทรงหม้อตาลหรือบาตรคว่ำ ใบหูด้านซ้ายขององค์พระ ตรงส่วน ปลายมีติ่งหู เหมือนกับใบ หูของคนจริง ๆ ส่วนทางด้านขวาขององค์พระนั้น ตรงส่วนปลายจะเป็นคล้ายหนามกุหลาบหรือตะขอแหลมหักเข้าด้านใน หากมองด้านหน้าตรงจะเห็นเป็นขีดตรงวาดลงมา รายละเอียดของใบหูจะดูเหมือนกับใบหูของพระพุทธรูปบูชาหรือใบหูของคนจริงๆ .
10 . พระศอ . หรือลำคอ จะมองเห็นเป็นลำค่อนข้างใหญ่ ที่สำคัญนั้นจะมีเส้นเอ็นคอเป็นเส้นตรงเส้นเล็กๆเท่ากับเส้นผม ลากจากปลายคางลงสู่บนหน้าอกเกือบชนกับเส้นจีวร เส้นนี้เป็นจุดสังเกตที่จะต้องมีในพระรอดพิมพ์กลางทุกๆองค์ ไม่มีไม่ได้ ถือเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่ง.ที่จะต้องจดจำเอาไว้ให้ดี.
11 . พระอังสกุฎ หรือไหล่ จะมีลักษณะมนกว้างอย่างได้สัดส่วนและงดงามไม่ห่อไหล่ มีความผึ่งผายในตัวอย่างน่านิยมยิ่ง ไหล่ทั้งสองข้างรับกับพระเศียรและใบหน้า รวมทั้งได้สัดส่วนกลมกลืนกับลำแขนและหน้าอก.
12 . พระอุระ หรือหน้าอก พระรอดทุกพิมพ์นั้นมีหน้าอกที่มองดูเอิบอิ่มและผึ่งผายได้สัดส่วนดี แต่ไม่ได้แสดงรายละเอียดของเต้านม เป็นกล้ามเนื้อแบบนักกล้าม สังเกตได้จากเส้นจีวรที่ลากเป็นเส้นโค้งแบบตกท้องช้าง แบ่งเป็นเต้านมมองเห็นเป็นรอยนูน จนเห็นเป็นกล้ามเนื้อหน้าอกข้างขวาขององค์พระ ส่วนทางด้านซ้ายมองดูเป็นปื้นสังฆาฏิสั้นๆอย่างลงตัวดี รูปทรงของส่วนท้องที่ต่อจากหน้าอกเกือบเป็นทรงกระบอก ช่วงบนดูใหญ่ คล้ายรูปตัววี มองดูองอาจและผึ่งผายยิ่ง.
13 . พระอุทร หรือส่วนท้อง เป็นลำเกือบจะเป็นทรงกระบอก ด้านบนใหญ่และเรียวเล็กลงมา มองดูคล้ายรูปตัววี ส่วนตรงกลางแสดงร่องของสะดือที่เป็นเบ้ากลม หน้าท้องนั้นแบนราบหายไปกับพื้นโดยรอบ.
14 . พระนาภี หรือสะดือ เป็นเบ้ากลมเหมือนเต้าของหลุมขนมครก องค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนนั้น จะสังเกตเห็นขอบโดยรอบ .
15 . พระพาหา หรือลำแขน มีลักษณะด้านข้างมน แต่ด้านในที่เป็นร่องติดกับลำองค์ จะมองดูเป็นเหลี่ยม มีขอบคมทั้งสองข้าง ลำแขนทั้งสองมีขนาดพอๆกันมองดูไม่ขัดตาเหมือนกับพระรอดปลอม ประทับนั่งปางมารวิชัย .
16 . แขนขวา วางลงมาจากไหล่ขวา ทอดตัวลงมาเป็นแนวดิ่ง หักตรงส่วนข้อพับเล็กน้อยแล้ววางทอดตัวลงมาสบายๆ จนถึงฝ่ามือที่ค่อนข้างใหญ่ พาดจับหัวเข่าขวาในปางมารวิชัย หัวเข่าขวาจะโผล่ออกมาให้ได้เห็นอย่างชัดเจน ฝ่ามือดูจะค่อนข้างใหญ่ ปลายนิ้วแตะกับพื้นฐานประทับด้านบน นับนิ้วมือทั้งหมดได้ 6 นิ้ว เป็นจุดสังเกตที่จะต้องจดจำไว้อีกจุดหนึ่ง.
17 . แขนซ้าย วางทอดลงมาเป็นสามจังหวะ จากแนวไหล่ลงมาเป็นแนวดิ่งของต้นแขน ลำแขนด้านนี้จะกางออกกว่าทางด้านขวาเล็กน้อย ทำมุมประมาณ 45 องศา จากนั้นเป็นลำแขนหักศอก วาดเฉียงลงมา วางพาดบนหน้าตัก ตรงส่วนฝ่ามือด้านซ้ายนั้นจะดูยาวเกือบจรด ลำแขนขวา ตรงเหนือข้อมือขวา ด้านสะดุ้งมาร ให้สังเกตว่าเป็นฝ่ามือที่ดูยาวมาก.
18 . พระหัตถ์ขวา หรือมือขวาจะวางพาดลงบนเข่าขวา มองดูค่อนข้างใหญ่ ปรากฎนิ้วมือให้เห็นและนับได้ 6 นิ้วและจะเป็นไปในลักษณะนี้ของพระรอดทุกพิมพ์ ปลายนิ้วมือจะมีรอยตัดบากเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ วางอยู่ตรงมุมขาขวาตรงสันหน้าแข้งพอดี .
19 . พระหัตถ์ซ้าย หรือมือซ้าย เป็นส่วนที่วางพาดลงบนหน้าตัก เริ่มจากตรงมุมข้อศอกซ้ายลากโค้งเป็นแนวยาว ไปจนเกือบจรดมือขวาที่วางทิ้งดิ่งลงมา เหลือช่องว่างให้เห็นพองาม องค์ที่ติดพิมพ์ชัดนั้นจะมองเห็นฝ่ามือที่ติดกัน เป็นแนวโค้งหงายขึ้น อย่างลงตัวและพอดี.
20 . พระเพลา หรือหน้าตัก องค์พระประทับนั่งปางขัดสมาธิเพชร ขาขวาทับขาซ้าย ขาขวาเริ่มจากหัวเข่าขวาที่โผล่ออกมาจากฝ่ามือที่วางลงบนเข่าขวา วางพาดขึ้นไปทำมุม 45 องศา จากฐานชั้นแรก มองเห็นหน้าแข้งและน่องขวาอย่างชัดเจน และจะแบนตรงส่วนปลายเป็นฝ่าเท้าตรงแนวตัดกันกับขาซ้ายที่สอดรับ ตรงส่วนปลายของฝ่าเท้า จะมีเส้นจีวรหรือเส้นน้ำตก ลากลงมาจากข้อมือซ้าย ลงมาจรดตรงส่วนของปลายฝ่าเท้า ฝ่าเท้าขวานั้นจะทำเป็นลอนยาวเป็นพืดที่แสด งให้เห็นเป็นนิ้วเท้า ยาวและติดกันเป็นพืด ส่วนขาซ้ายจะแสดงให้เห็นเป็นปมของหัวเข่า วางพาดขึ้นไปตัดกับขาขวาและกลืนหายเข้าไปภายใต้ขาขวาขององค์พระ และปรากฎให้เห็นเป็นรอยจีบของจีวรตรงส่วนนี้สองสามขีดแผ่วๆต้องสังเกตจึงจะมองเห็น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขาขวาทับขาซ้าย เป็นลักษณะของการขัดสมาธิเพชร ต่อจากนั้นจะมีปลายฝ่าเท้าซ้าย โผล่ขึ้นมาทับอยู่บนหน้าตักขององค์พระใต้ฝ่ามือซ้าย ความยาวของฝ่าเท้าซ้ายนี้จะไปชนกับตรงส่วนง่ามมือของนิ้วหัวแม่มือขวาพอดี
21 . เส้นผ้าปูนั่ง หรือเส้นนิสีทนะ เป็นเส้นแซมใต้ขาพระที่มีขนาดเล็กๆสั้นๆ ขีดอยู่ตรงเหนือฐานชั้นแรกเล็กน้อยไม่อยู่สูงจนเกินไป ถ้าอยู่สูงและเป็นขีดยาวให้ระวังไว้ จะเป็นจุดที่บ่งบอกให้ทราบว่าเป็นพระปลอม และต้องสังเกตให้ดี ตรงส่วนของร่องระหว่าง ฐานชั้นแรกและขาพระที่นั่งสมาธิเพชรนี้ จะเป็นแอ่งท้องกระทะที่ลึกพองาม ไม่ตื้นหรือลึกจนเกินไป เส้นแซมดังกล่าวนั้นต้องอยู่ติดลงมาตรงส่วนบนของฐานชั้นแรกและจะอยู่ค่อนไปทางซ้ายขององค์พระมากกว่าทางขวา.เป็นจุดสังเกตสำคัญจุดหนึ่งที่จะต้องจดจำไว้ให้แม่น.
22 . อาสนะ หรือฐานประทับนั่ง พระรอดพิมพ์กลางนี้มีฐาน 3 ชั้น ตรงส่วนล่างสุดนั้นมีฐานดากที่ยาวกว่าพระรอดทุกพิมพ์ บางทีเขาจะเรียกฐานของพระรอดพิมพ์กลางนี้กันว่า ฐานก้นแมงสาป ซึ่งจะเป็นไปในลักษณะนี้เกือบทุกองค์.
23 . ฐานชั้นแรก คือฐานตรงส่วนบนสุด เป็นหน้ากระดานที่ไม่ใหญ่นัก ยาวเกือบติดเข่าทั้งสองด้าน ตรง ส่วนปลายจะมีลักษณะมนรับกับหัวเข่า ดูมีมิติและลงตัวอย่างสบายตา.
24 . ฐานชั้นที่สอง เป็นฐานชั้นที่มีขนาดเล็กที่สุด มีระยะห่างลงมาจากฐานชั้นบนพองาม ตรงส่วนช่องว่างระหว่างฐานชั้นแรกและฐานชั้นนี้ จะมีเส้นแซมเป็นเส้นเล็กๆเท่าเส้นผม เป็นลักษณะของส้นประที่ขาดๆเกินๆไม่สม่ำเสมอที่เป็นธรรมชาติไม่แข็งทือ ให้สังเกตและจดจำเอาไว้ให้ดี.
25 . ฐานชั้นที่สาม ฐานชั้นนี้จะดูหนาที่สุด เป็นจุดสำคัญที่บ่งบอกให้ได้รู้ว่านี่คือพระรอดพิมพ์กลางอย่างถูกต้องและแท้จริง ตรงส่วนล่างสุดของฐานชั้นนี้จะค่อยๆโค้งลาดเข้าหาฐานดาก ซึ่งอยู่ถัดลงไป ตรงส่วนของฐานดากนี้ ในบางองค์นั้นจะมีลักษณะกลมใหญ่ยื่นลงไป มีความแตกต่างจากฐานของพระรอดทุกพิมพ์ นักสะสมรุ่นเก่าเรียกฐานชนิดนี้ว่า ฐานก้นแมงสาป เป็นจุดสำคัญที่จะต้องจดจำกันไว้ให้ดีเพื่อเป็นการแยกพิมพ์ให้ได้ง่ายยิ่งขึ้น.
การดูและศึกษาเกี่ยวกับการแยกกลุ่มโพธิ์ ของพระรอดพิมพ์กลาง
กลุ่มโพธิ์ของพระรอดพิมพ์กลางนี้จะดูลึก มีความคมชัดอวบอิ่ม และมีครบถ้วนทั้งสองข้างขององค์พระ กลุ่มโพธิ์นั้นเป็นสองชั้นคล้ายกับกลุ่มโพธิ์ของพระรอดพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก แบ่งได้เป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือด้านซ้าย 3 กลุ่ม ด้านขวา 3 กลุ่ม โดยมีก้านใบที่เป็นแท่งยาวเป็นตัวแบ่งกลุ่ม ในกลุ่มโพธิ์แต่ละกลุ่มนั้นมีข้อสังเกตที่พอจะแยกออกมาได้ดังนี้
เราจะนับจากก้านบนสุดเหนือเศียรเป็นตัวแบ่งกลุ่มโพธิ์ออกเป็นสองข้างคือ ด้านซ้ายและด้านขวา ด้านละ 3 กลุ่ม ในทางด้านขวาขององค์พระกลุ่มที่ 1 จะมีใบโพธิ์นับได้สี่ใบเท่ากับกลุ่มโพธิ์แรกทางด้านซ้ายขององค์พระ มีโพธิ์คู่ 1 คู่ และโพธิ์เดี่ยวสองใบเหมือนกัน ถัดลงมาเป็นกลุ่มโพธิ์กลุ่มที่ 2 จะมีใบโพธิ์เป็นสี่ใบเช่นกันทั้งสองด้าน สำหรับกลุ่มโพธิ์ทางด้านขวานั้น ใบโพธิ์ใบที่สองในกลุ่มนี้จะมีลักษณะเหมือนกับเต้านมของหญิงสาว ตรงส่วนปลายใบจะมีติ่งเล็กๆเป็นเม็ดติดอยู่ เป็นจุดสังเกตจุดหนึ่งที่จะต้องจำเอาไว้ สำหรับทางด้านซ้ายขององค์พระ ปลายใบของใบโพธิ์ที่สองนั้น จะมีเม็ดกลมๆที่เรียกว่าโพธิ์ติ่งให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นจุดสังเกตสำคัญที่จะต้องมีในพระรอดพิมพ์กลางทุกองค์ กลุ่มที่ 3 ล่างสุด ทางด้านขวาขององค์พระนั้น โพธิ์เหลี่ยมใบที่สองนับจากบนลงมา จะวางเป็นเหลี่ยมที่ขัดกัน กล่าวคือใบที่สองนี้จะวางแบบตั้งขึ้น ผิดแปลกไปจากโพธิ์เหลี่ยมใบที่สามและสี่ สำหรับกลุ่มโพธิ์ทางด้านซ้ายขององค์พระนั้นโพธิ์แท่งจะวางเฉียง ลงมาเ หมือนกันทั้งหมดนับจำนวนโพธิ์แท่งได้ 5ใบ เท่าๆกันกับทางด้านขวาขององค์พระ.การวางตำแหน่งของใบโพธิ์ในแต่ละกลุ่มแต่ละช่องต้องจดจำเอาไว้ และต้องสังเกตความเป็นธรรมชาติของใบโพธิ์แต่ละใบที่ไม่แข็งทื่อ มีความลงตัวอย่างมีมิติและงดงาม ด้วยศิลปะของเชิงช่างอย่างแท้จริง.
การพิจารณาเนื้อหาขององค์พระ
พระรอดของกรุวัดมหาวันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อดินเผาที่มีหลากหลายสี เช่น สีเขียวหินครก สีดำ สีพิกุล สีแดงอมชมพู สีเทา สีเขียวคราบแดง สีเขียวคราบเหลือง สีขาวแบบสีดินสอพอง สีผ่านคือสีสองสีในพระองค์เดียวกันเป็นต้น เนื่องจากพระรอดเป็นพระกรุที่มีอายุเก่าแก่และยืนยาวมากว่าพันสี่ร้อยปี เนื้อหาขององค์พระนั้นย่อมจะมีความเก่าแก่สมอายุที่ผ่านวันเวลาอันยาวนาน รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัดมหาวันในกาลก่อนนั้นอยู่ในที่ลุ่ม สายน้ำตื้น บริเวณวัดเป็นหลุมเป็นบ่อ จึงมีการมีการนำเอาเศษอิฐกากปูนจากองค์เจดีย์เก่าแก่ ที่ปลักหักพังลงมา ไปทำการถมหลุมบ่อ ตามที่ลุ่มต่างๆ อันมีอยู่อย่างมากมายทั่วบริเวณวัด พระรอดที่มีอยู่ในองค์เจดีย์ที่ปลักหักพังลงก็ได้ปะปนติดไปด้วย จึงเป็นสาเหตุในการขุดพบพระรอดแท้ๆไปทั่วบริเวณวัด เมื่อพระรอดไปตกอยู่ในที่ลุ่ม ที่มีน้ำ ใต้ดินที่มีอยู่ม่ลึกนัก จึงได้รับความชื้นจากน้ำ ใต้ดิน ซึ่งบางครั้งแห้ง บางครั้งชื้น องค์พระที่มีอยู่ในดินนั้นจึงเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์เล็กๆ เกิดตายอยู่บนองค์พระทำให้กลายเป็นรอยด่างดำเกิดขึ้น ที่เรียกกันว่าราดำติดอยู่ ส่วน คราบกรุที่ติดอยู่บนเนื้อหาของพระรอดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคราบหินปูนสีขาวขุ่น ที่เป็นปูนสอขององค์เจดีย์เก่าที่ละลายติดอยู่ บางองค์ก็เป็นขี้กรุของดินดำ สำหรับที่เป็นพระรอดเนื้อธรรมดานั้นส่วนใหญ่เนื้อหาไม่แกร่งนัก คราบกรุล้างออกยาก องค์พระมีเนื้อที่ผุ สึกกร่อนง่าย ดังนั้นการล้างเอาคราบกรุ ขี้กรุออกจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก จึงจะได้พระรอด ที่เป็นพระที่สวยสมบูรณ์และงามพร้อมขึ้นมาได้อย่างสมใจ ส่วนพระที่มีเนื้อแกร่งเช่นเนื้อเขียวหินครกหรือพระเนื้อผ่านสองสี จะเป็นพระที่ล้างขี้กรุออกง่ายและมีรายละเอียดต่างๆคมชัด เพราะมีเนื้อหาที่แข็งแกร่งและติดพิมพ์อย่างคมชัด จึงไม่เป็นปัญหาในการล้างหรือทำความสะอาดแต่อย่างใด ปัจจุบันนี้ ทั่วบริเวณของวัดมหาวันลำพูน ถูกขุดไปจนปรุไปจนเกือบจะหมดแล้ว เพราะทำการขุดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน ดังนั้น พระรอดของกรุวัดมหาวันจึงเป็นพระที่หายากแสนยากกันไปแล้ว นอกจากว่าใครผู้นั้นจะมีบารมีและได้เป็นเจ้าของจริงๆ จึงจะได้พระรอดกรุวัดมหาวันลำพูนแท้ๆไว้ในการครอบครอง.
ท่านได้ทราบเรื่องราวและรายละเอียดของพระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผาของกรุวัดมหาวันลำพูน มาพอสมควรแล้ว ต่อจากนี้ไป เรามาชมพระรอดพิมพ์กลางที่เป็นพระรอดแท้ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเสนอให้ท่านได้ชมกันอย่างเต็มอิ่ม เพื่อเป็นความรู้และวิทยาทานกัน พร้อมคำอธิบายพระรอดในแต่ละองค์ เพื่อเป็นการเรียนรู้และเข้าใจให้ลึกซึ้งกันยิ่งๆขึ้นไปกันดีกว่าครับ.
ภาพที่ 1 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อสีพิกุลเข้ม ของกรุวัดมหาวันลำพูน ที่งดงามเรียบร้อย ทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรง มีหน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์อย่างงดงาม ด้านหน้าขององค์พระนั้นมีคราบกรุติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆให้เห็น ช่วยเน้นทำให้องค์พระมีความคมชัดอย่างน่าสนใจยิ่ง จุดสังเกตต่างๆและเส้นสายรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งกิ่งก้านของลวดลายของโพธิ์ประดับมีความเป็นธรรมชาติของพระแท้ ไม่แข็งกระด้าง มองดูแล้วมีมิติที่ทำให้เราเกิดความศรัทธาและเชื่อมั่นเต็มร้อย เส้นสายต่างๆที่เป็นจุดสังเกต เช่นเส้นใต้ฐานหรือผ้าปูนั่งและเส้นจีวรที่ติดในซอกแขนข้างขวาขององค์พระติดอย่างชัดเจนและถูกต้องตามหลักสากลนิยมทุกประการ ฐานประทับเป็นฐานสามชั้น มีฐานดากหรือก้นยื่นออกไปด้านล่าง ด้านหลังดูเรียบร้อยและแสดงให้เห็นเนื้อพระอันมีความละเอียด นวลเนียน หนึกนุ่มตา ตามลักษณะของเนื้อพระรอดอันแท้จริง ขนาด กว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.. ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน
ภาพที่ 2 พระรอดพิมพ์กลาง เนื้อดินเผาของกรุวัดมหาวันลำพูน เป็นพระรอดพิมพ์กลางอีกองค์หนึ่งที่มีความงดงามและสมบูรณ์เป็นเลิศ งามทั้งเนื้อหาที่มีความละเอียด นวลเนียนหนึกนุ่มตาอย่างแท้จริง ติดพิมพ์อย่างจะแจ้งและชัดเจนไปในทุกสัดส่วน เป็นพระรอดพิมพ์กลางที่งดงามมากองค์หนึ่งที่หาพบได้ยากในปัจจุบัน ตำแหน่งทุกตำแหน่งของกิ่งก้านใบโพธิ์ที่ประดับเป็นลวดลายบนองค์พระนั้นถูกต้องในทุกจุด พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้ ก้นยื่นใต้ฐานไม่ยาวยื่นออกไปมากนัก เรียกได้ว่ามีความพอดีอย่างเหมาะเจาะเลยทีเดียว ด้านหน้ามีคราบกรุที่เป็นคราบสีขาวของน้ำปูนขาวเดิมๆเกาะติดอยู่ รวมทั้งด้านหลังด้วย ทำให้ดูแล้วเกิดความขลังขึ้นมาอย่างประหลาด และช่วยเน้นองค์พระให้ดูเด่นชัดงดงามมากยิ่งขึ้น ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 3 พระรอดพิมพ์กลาง เนื้อดินเผา ของกรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระที่ถูกไฟเผาแกร่ง และด้านหลังค่อนข้างจะบางและแบนราบ ไม่อูมนูนเหมือนกับสององค์แรก มองเห็นรอยนิ้วมือที่กดทับอย่างชัดเจน ด้วยความแกร่งและแข็งของเนื้อหา จึงทำให้บริเวณตรงส่วนของใบหน้าขององค์พระนั้นมีสีที่ค่อนข้างจะเข้มไปทางสีเขียวหินครกหรือสีดำ ผุดออกมาให้เห็นนอกเนื้อ ท่านลองสังเกตและพิจารณาดูก็จะเห็นว่าเป็นสีเข้มจริง ความงดงามและสมบูรณ์นั้นเต็มร้อยในทุกสัดส่วน ไม่มีลบเลือนหรือบิ่นหักในส่วนใดให้ได้เห็นเลย ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนาซ.ม. สูง 2 ? ซ. ม ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 4 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผาของกรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระเนื้อเขียวหินครก และเป็นพระกรุเก่าที่ผ่านการห้อยใช้มาพอสมควร สังเกตได้จากด้านหลังจะราบเรียบและมีคราบไคลของผู้ที่ห้อยใช้ติดอยู่เป็นรอย เนื้อหามีความแกร่งและมีเนื้อที่เขียวใน ก้นฐานเป็นลักษณะก้นพับก้นฐานไม่ยื่นออกไปมาก ทำให้มองดูมีความเล็กกระทัดรัดอย่างน่านิยม มีหน้าตา หู ปาก จมูกติดพิมพ์และกิ่งก้านของโพธิ์ประดับ รวมทั้งเส้นสายรายละเอียดต่างๆของทุกจุดติดพิมพ์อย่างพร้อมมูลด้วยประการทั้งปวง สามารถนำไปเป็นตัวอย่างขององค์ครูได้อย่างสบาย ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 5 พระรอดพิมพ์กลาง เนื้อดินเผา ของกรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระรอดที่ไม่ผ่านการล้างหรือจับต้องกันมากนัก อยู่ในสภาพเดิมๆ และถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเยี่ยม คราบกรุและขี้กรุที่ติดอยู่นั้นช่วยทำให้องค์พระเกิดคุณค่าในความเก่าแก่อย่างแท้จริง สีสันขององค์พระนั้นเป็นสีพิกุลเข้ม ด้านหลังราบเรียบมีรอยนิ้วมือที่กดทับให้เห็นพองาม ก้นฐานยื่นออกไปไม่มากนัก ความเก่าแก่ของเนื้อหาและคราบกรุถูกฟ้องออกมาให้เห็นอย่างน่านิยม เป็นพระรอดที่ดูง่ายองค์หนึ่ง ปัจจุบันพระรอดแท้ที่มีสภาพเช่นนี้หาพบไม่ได้ง่ายๆแล้ว ให้ท่านพิจารณษและจดจำไว้ให้ดี ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบได้ที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 6 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผา กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระรอดเนื้อเขียวคราบแดงที่เรียกกันว่า เนื้อผ่าน คือมีสีสันสองสีในองค์เดียว ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะความร้อนแรงของเปลวไฟที่แผดเผาอย่างแรงกล้า ได้ลามเลียเอาผิวพระให้มีลักษณะกลายเป็นเช่นนี้ ทำให้เกิดความเข้มขลังของสีผิวขององค์พระเกิดขึ้นมาอย่างน่านิยมยิ่งแบบหนึ่ง องค์ประกอบต่างๆขององค์พระนั้นมีความสมบูรณ์ในทุกจุด ให้ท่านลองไล่เรียงดูในแต่ละส่วนในแต่ละจุด ตามคำอธิบายที่ให้ไว้ข้างต้น ก็จะได้ความรู้ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น โดยไม่เสียเวลาอะไรมาก ความงดงามและสมบูรณ์ขององค์พระองค์นี้เต็มร้อย ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน
ภาพที่ 7 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผา กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระที่ผ่านการห้อยใช้มาพอสมควร ที่นิยมเรียกกันว่า พระกรุเก่า เป็นพระเนื้อเขียวหินครกที่สีสันประทุออกมาให้ได้เห็นความแข็งแกร่งที่ออกมานอกเนื้อ ซึ่งสีสันและเนื้อหาแบบนี้เป็นที่นิยมกันยิ่งของบรรดานักสะสมและนิยมพระกรุเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าหน้าตาจะติดพิมพ์ไม่ค่อยจะชัดเจน แต่ความเข้มขลังอย่างมีพลังยิ่งของเนื้อหานั้น จัดได้ว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดตาและใจให้หลงไหลและคลั่งไคล้ ไหลหลงได้อย่างน่านิยม นี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุที่มีอายุนับพันๆปี อันทำให้เป็นที่ต้องการและเสาะแสวงหาของบรรดานักนิยมพระกรุกัน ด้านหลังของพระรอดองค์นี้ราบเรียบ ความงดงามและสมบูรณ์นั้นเต็มร้อย ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 8 พระรอดพิมพ์กลาง เนื้อดินเผากรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้ ดูเข้มขลังและมีรูปลักษณ์ที่อวบอ้วนบึกบึน ยิ่งมีคราบกรุและขี้กรุเดิมๆติดอยู่ในซอกมุมต่างๆขององค์พระและลวดลายประดับ ยิ่งทำให้องค์พระดูมีมิติดูเด่นตาขึ้นมาอย่างน่านิยมยิ่ง หูซ้ายขององค์พระห้อยย้อยลงมาอย่างชัดเจน รวมทั้งเส้นผ้าปูนั่งใต้ฐานประทับนั่งที่ไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไป วางอยู่ในตำแหน่งที่พอดี องค์พระประทับนั่งอย่างสง่างามบนฐานบัลลังก์สามชั้นที่ลงตัวอย่างไม่ขัดนัยน์ตา มีความเก่าแก่และเหี่ยวย่นของเนื้อให้ได้มองเห็นอย่างเด่นชัด ด้านหลังงามเรียบร้อย มีคราบกรุติดพอเหมาะพองาม ก้นฐานไม่ยื่นยาวออกไปนัก มีความพอดีพองามอย่างเหมาสมและลงตัวอย่างน่านิยม ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน .
ภาพที่ 9 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผากรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้มีรอยแตกตรงใบหน้าพาดยาวลงมา แต่ก็ไม่เสียหายอะไรมากนัก เพราะพระกรุที่มีอายุยาวนานกว่าพันปีนั้นมีสภาพเช่นนี้ก็ถือว่ายอดเยี่ยมอย่างเต็มที่แล้ว ในส่วนอื่นๆนั้นมีความงดงามและสมบูรณ์ทุกประการ ในซอกมุมลึกๆของใต้ฐานประทับจะเห็นเป็นราดำเกาะติดอยู่ องค์พระประทับนั่งอย่างสง่างาม ด้านหลังมีรอยลายนิ้วมือให้ได้เห็นพองาม มีคราบกรุติดอยู่ให้เห็น ก้นฐานไม่ยื่นยาวออกไปมาก พอเหมาะพองามอย่างลงตัว ปัจจุบันจะหาพระรอดแท้ที่มีสภาพเช่นนี้ เป็นเรื่องยากแสนยากไปแล้ว ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบได้ที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 10 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผา กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้มีสีสันเป็นสีเนื้อค่อนข้างจะคล้ำ จะเรียกว่าสีโกโก้ก็คงไม่ผิดนัก มีปีกหรือเนื้อเกินออกมาทั้งสองข้างให้ได้เห็น มีก้นยื่นหรือเนื้อเกินของส่วนใต้ฐานที่เรียกกันว่า ฐานก้นแมงสาป ยื่นยาวออกมาให้เห็นชัดเจน เป็นพระกรุเก่าที่ผ่านการห้อยใช้กันมาพอสมควร เป็นพระที่มีประสพการณ์สูงเยี่ยม เนื้อหามีความเก่าแก่ที่ฟ้องออกมาจากนอกเนื้อได้อย่างเต็มตา คราบกรุและขี้กรุถูกกลืนหายเข้าไปในเนื้อจนเป็นเนื้อเดียวกัน ยิ่งทำให้เนื้อหาขององค์พระเพิ่มความขลังขึ้นมาอย่างน่านิยม ด้านหลังอูมนูนพองาม มีลายนิ้วมือของผู้กดพิมพ์ปรากฎให้เห็น ความสมบูรณ์และงดงามเรียบร้อยขององค์พระนั้น หาที่ติมิได้เลย ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 11 พระรอดพิมพ์กลาง กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้มีสีสันเป็นสีพิกุล ความเก่าแก่และนวลเนียนหนึกนุ่มของเนื้อหาให้ได้เห็นอย่างน่าชวนมองยิ่ง เป็นพระกรุเก่าที่ผ่านการห้อยใช้มาพอสมควร จึงยิ่งทำให้เนื้อหามีความมันวะวับจับตาเกิดขึ้นอย่างน่านิยม ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุเก่าที่มีประสพการญ์ผ่านการห้อยใช้มาอย่างยาวนาน องค์ประกอบในส่วนต่างๆขององค์พระมีอยู่อย่างสมบูรณ์ในทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นโพธิ์ประดับหรือเส้นสายรายละเอียดต่างๆ มีความเป็นธรรมชาติไม่แข็งกระด้างเหมือนกับพระรอดที่ทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันมากและจะเห็นได้ชัดเจน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน จงอย่าหลงเชื่อว่า พระรอดนั้นมีพบในกรุที่เป็นแหล่งแห่งอื่น พระรอดแท้ๆนั้นจะมีพบที่วัดมหาวันลำพูนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ไม่มีพบในที่อื่นใดทั้งสิ้น ก่อนที่จะเช่านั้นควรจะพิจารณาดูกันให้ละเอียด เพราะในเวลานี้ พระปลอมที่ทำขึ้นมาฝีมือพอจะเข้าขั้นที่อาจจะทำให้ท่านหลงเข้าใจกันผิดๆไปก็ได้ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 12 พระรอดพิมพ์กลาง เนื้อดินเผา กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระที่ถูกไฟเผาแกร่ง เนื้อเขียวหินครก มีความเข้มขลังของเนื้อหาที่เปล่งประกายออกมาอย่างน่านิยม เนื้อหาของพระรอดแบบนี้เป็นที่ต้องการและนิยมของนักสะสมกันเป็นที่ยิ่ง ด้วยเนื้อหาอันแข็งแกร่งไม่สึกหรอหรือถูกทำลายลงไปอย่างง่ายดาย จึงยังคงความคมชัดของพิมพ์ทรงไว้ได้อย่าเหนียวแน่น พระรอดที่มีเนื้อหาแบบนี้คราบกรุและขี้กรุจะติดไม่แน่น ทำการล้างเอาออกได้อย่างง่ายดาย และทำให้เห็นความคมชัดในรายละเอียดต่างๆได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามยังมีคราบกรุที่เป็นสีเหลืองติดอยู่ให้ได้เห็นกัน ซึ่งปรากฎออกมาทางด้านหลังขององค์พระอย่างชัดเจน ซึ่งผิวพระแบบนี้จะเรียกกันว่า เนื้อเขียวคราบเหลือง พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระที่ไม่ผ่านการใช้หรือถูกจับต้องมากนัก สภาพนั้นยังคงเป็นสภาพเดิมๆ ความเข้มขลังของเนื้อหามองดูแล้วติดตาตรึงใจเป็นอย่างยิ่ง ตรงก้นฐานมีก้นยื่นปรากฎออกมาให้เห็น ด้านข้างไม่มีเนื้อเกินหรือปีกข้าง จึงทำให้มองเห็นภาพโดยรวมขององค์พระดูชลูดและยาวไปหน่อย ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหา ขอให้เป็นพระกรุอันแท้จริงก็พอใจกันแล้ว ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. ขุดพบได้ที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 13 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผา กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระรอดเนื้อเขียวหินครกอีกองค์หนึ่ง ที่อยู่ในสภาพเดิมๆ เป็นพระที่ไม่ผ่านการจับต้องมากนัก มีคราบกรุที่เป็นปูนขาวอันเก่าแก่ติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆขององค์พระทางด้านหน้าให้เห็นอย่างชัดเจน มีปีกข้างพรือเนื้อเกินที่มีรอยแหว่งเว้าตามธรรมชาติของพระกรุที่มีอายุอันเก่าแก่ยืนยาวนานกว่าพันปี เป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่าเนื้อของพระกรุแท้ๆนั้นจะต้องเป็นไปในลักษณะนี้ ด้านหลังนั้นอูมนูนและกลมกลึง มีริ้วรอยของคราบกรุและความเก่าแก่ติดอยู่ให้เห็น ก้นฐานนั้นเป็นแบบก้นพับ องค์ประกอบของพุทธศิลป์นั้นมีอยู่ในองค์พระอย่างสมบูรณ์ในทุกประการ เป็นพระรอดที่มีเนื้อหาที่งดงามและตรึงตาตรึงใจเมื่อยามพิศมองดูโดยแท้ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ขุดพบได้ที่วัดมหาวันลำพูน
ภาพที่ 14 พระรอดพิมพ์กลาง เนื้อดินเผากรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้ มีสันเป็นสีพิกุลหรือสีเนื้ออมชมพู เป็นพระกรุเก่าที่ผ่านการห้อยใช้มาพอสมควร สังเกตได้จากรอยคราบไคล ที่เป็นรอยด่างดำที่ติดอยู่ตรงใบหน้าและทางด้านหลัง ด้านหน้าติดพิมพ์คมชัดในทุกส่วน เส้นสายรายละเอียดต่างๆมีอยุ่อย่างพร้อมมูล ไม่มีปีกหรือเนื้อเกินทางด้านข้าง มีความพอดีและลงตัวอย่างเหมาะเจาะ ด้านหลังแบนราบ มีรอยนิ้วมือของผู้ที่กดพิมพ์ให้เห็น ก้นฐานไม่เป็นแบบก้นยื่น เป็นก้นพับที่ยื่นออกไปเพียงเล็กน้อย ท่านนักสะสมพระมือใหม่โปรดได้ทราบว่า อันพระรอดที่แท้จริงของกรุวัดมหาวันทุกพิมพ์นั้น จะเป็นพระปางมารวิชัยเพียงปางเดียวเท่านั้น ไม่มีปางอื่นใดที่นอกเหนือจากปางมารวิชัยดังที่ได้แสดงให้เห็นกันเลย หากจะมีปางอื่นใด ก็เป็นพระที่ทำขึ้นมาใหม่ หรือที่เรียกกันว่าพระปลอมออกมาแหกตาผู้ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจกันเท่านั้น ให้ท่านจดจำและพิจารณากันให้จงดี ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 15 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผา กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระรอดที่มีสีสันเป็นสีพิกุลอมส้ม ตรงส่วนปลายด้านบนสุดของด้านหลัง ถูกเปลวไฟลามเลียจึงทำให้เป็นสีออกมาอย่างที่ได้เห็นกัน ด้านหลังราบเรียบและแสดงให้เห็นเนื้อหาอันแท้จริงของความละเอียด นวลเนียนหนึกนุ่มออกมาอย่างจะแจ้ง ด้านหน้าติดพิมพ์อย่างชัดเจน มีคราบกรุสีขาวนวลของคราบปูนอันเก่าแก่ติดอยู่ ตามซอกมุมต่างๆ ทำให้เห็นความเก่าแก่ของเนื้อหาและลวดลายต่างๆบนองค์พระงามอย่างน่าประทับใจ เป็นพระที่มีเสน่ห์ดึงดูดตาได้อย่างน่าประทับใจองค์หนึ่ง ฐานประทับมีความพอดีและลงตัวอย่างเหมาะเจาะ ไม่มีก้นยื่นออกมา จึงทำให้องค์พระมีความกระทัดรัดลงตัวพอดีพองาม ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 16 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผา กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้ เป็นพระเนื้อแกร่ง ที่มีเนื้อเขียวใน ติดพิมพ์คมชัด มีหน้าตา หู ปากจมูก รวมทั้งลวดลายประดับ เส้นสายรายละเอียดต่างๆที่งดงามและเป็นธรรมชาติไม่แข็งทือ เป็นความงดงามของศิลปะเชิงช่างที่ได้สรรค์สร้าง พระองค์เล็กๆขนาดเท่าปลายก้อยออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา เป็นที่ยอมรับกันในวงการศิลปะโดยแท้ ซึ่งเป็นเรื่องอันน่าทึ่งของภูมิปัญญาของช่างในสมัยโบราณที่เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆมีไม่พร้อม แต่ด้วยฝีมือเชิงช่างอันมีความสามารถเป็นยอด จึงสามารถรังสรรค์ผลงานออกมาได้อย่าน่าประทับใจเช่นนี้ ให้ได้เห็นกัน ให้ท่านพิจารณาและดูกันให้ละเอียด และจดจำกันเอาไว้ ว่าพระรอดของกรุวัดมหาวันลำพูนที่แท้จริงนั้นต้องมีลักษณะเป็นแบบนี้ จะได้ไม่พลาดและตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ประสงค์ร้ายกันต่อไป ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบได้ที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 17 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผา กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระรอดพิมพ์กลางที่มีเนื้อหาเป็นสีพิกุลอมชมพู มีความคมชัดและงดงามในทุกสัดส่วนไม่ว่าจะเป็นหู ปาก จมูก หรือลวดลายของโพธิ์ประดับ รวมทั้งเส้นสายรายละเอียดต่างๆที่มีความเป็นธรรมชาติ ไม่แข็งทื่อเหมือนกับพระที่ทำขึ้นมาใหม่หลอกขายชาวบ้านให้เชื่อถือกันอย่างผิดๆ เนื้อหาของพระรอดกรุวัดมหาวันทุกๆพิมพ์นั้นจะต้องมีความละเอียดและดูหนึกนุ่ม นวลเนียนเป็นเช่นดังพระรอดทุกองค์ ที่นำมาให้ได้ชมกันนี้ทุกประการ ให้ท่านได้จดจำเนื้อหา พิมพ์ทรงและรายละเอียดต่างๆขององค์พระไว้ให้ดี ค่อยๆศึกษาและเรียนรู้กันอย่างถูกต้อง ไม่ช้าไม่นาน ท่านก็จะมีพระรอดแท้ได้สมใจนึกกัน ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 18 พระรอดพิมพ์กลาง เนื้อดินเผา กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นพระรอดเนื้อแกร่ง ที่มีเนื้อในเขียว จะสังเกตเห็นได้จากตรงริมด้านข้างและส่วนด้านหลัง เนื้อเขียวประทุออกมา ความงดงามและติดพิมพ์นั้นครบถ้วนในทุกจุด งามเรียบร้อยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ก้นฐานเป็นแบบก้นพับ มีความพอเหมาะพอดีที่ลงตัว ด้านหลังแบนราบ มีรอยนิ้วมือของผู้กดพิมพ์ให้เห็นลางๆ จัดได้ว่าเป็นพระรอดพิมพ์กลางที่งดงามมากองค์หนึ่งได้อย่างเต็มภาคภูมิ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 19 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผากรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้มีสีสันเป็นสีพิกุลเข้ม มีคราบกรุและขี้กรุเดิมๆติดอยูกับองค์พระ ในซอกมุมต่างๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่ได้ล้างออก องค์พระมีความองอาจสง่างามอย่างน่านิยม มีหน้าตาหูปากจมูก คมชัด ติดพิมพ์ อย่างงดงาม ก้นฐานนั้นเป็นแบบก้นพับ แต่ก็ยังเห็นร่องรอยที่ยื่นออกไปตามลักษณะของก้นยื่นของพระรอดพิมพ์กลางอย่างแท้จริง เนื้อหามีความเก่าแก่ที่ฟ้องออกมาให้ได้รู้ว่าเป็นเนื้อที่มีความเก่าแก่จริงๆ เป็นพระรอดที่ดูง่ายองค์หนึ่งาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
ภาพที่ 20 พระรอดพิมพ์กลาง เนื้อดินเผา กรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้มีเนื้อเป็นสีพิกุลอมชมพู องค์ประกอบต่างๆขององค์พระนั้น จัดว่าอยู่ในขั้นสมบูรณ์แบบในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือพิมพ์ทรง มีคราบกรุและขี้กรุติดอยู่ทางด้านหน้า ตามซอกมุมต่างๆขององค์พระพอประมาณ ไม่เกาะติดหรือมีมากจนเกินพอดี ความคมชัดของกิ่งก้านโพธิ์ประดับ รวมทั้งเส้นสายรายละเอียดต่างๆ ติดอยู่ในที่ถูกต้องทุกจุด ด้านหลังงามเรียบร้อย เป็นพระกรุเก่าที่ผ่านการห้อยใช้มาพอประมาณ ความงดงามเรียบร้อยนั้นจัดอยู่ในแถวหน้า ไม่เป็นรองพระรอดองค์อื่นใดเลย ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.
พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผาของกรุวัดมหาวันลำพูน ทั้งหมดที่ท่านได้ชมและเรียนรู้ศึกษากันในครั้งนี้ รวมกันทั้งหมด 20 องค์ มีทั้งชนิดที่สวยกริ๊บและงดงามพอประมาณสันฐาน ทั้งหมดเป็นพระรอดที่แท้จริงของผู้เขียน ที่ได้เก็บสะสมไว้เป็นเวลายาวนานนับสิบๆปีขึ้นไป ไม่ได้หยิบยืมใครมาทั้งสิ้น จึงสามารถได้ทำการคัดสรรมาให้ได้ชมกันอย่างเต็มอิ่ม พร้อมทั้งให้คำอธิบาย รายละเอียดต่างๆ ทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรง หากจะมีข้อผิดพลาดหรือตกหล่นประการใด โปรดได้กรุณาชี้แนะให้ทราบด้วย จะขอบพระคุณอย่างสูง และหวังว่าข้อคิดข้อเขียนนี้จะยังประโยชน์ให้แก่ผู้ที่สนใจในเรื่องราวของ พระรอดกรุวัดมหาวันลำพูน และพระกรุของพระชุดสกุลลำพูนอันทรงคุณค่าและมีอายุอันเก่าแก่ยิ่งกว่าพระกรุในที่อื่นใด ไม่มากก็น้อยครับ แล้วเราคงจะได้พบกันอีก ในโอกาสต่อๆไป สวัสดีครับ .