“ พระรอดพิมพ์ใหญ่เนื้อดินเผา ของกรุวัดมหาวันลำพูน”
โดย สำราญกาญจนคูหา โทร . 086-9184300 . 053-530148 .

“อันความรู้ รู้กระจ่าง เพียงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิด จะเกิดผล”

“พระรอด”กรุวัดมหาวันลำพูนนั้น คือยอดพระเครื่อง ที่ถูกจัดให้เข้าเป็นหนึ่งในพระ”ชุดเบญจภาคี อันมีชื่อเสียงระบือลือลั่นไปทั่ววงการของนักนิยมสะสมพระเครื่องทั่วฟ้าเมืองไทย การที่จะได้พบเห็น “พระรอด”ที่เป็นของแท้ในปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่ยากแสนยากไปแล้ว ส่วนใหญ่ที่พบเห็นกันนั้นมักจะเป็นพระรอดที่ทำปลอมกันขึ้นมา เพื่อหลอกขายกับผู้ที่ไม่เข้าใจและเรียนรู้กันอย่างถูกต้อง มีการโฆษณาว่าขุดพบพระรอดจากกรุโน้นกรุนี้กันให้วุ่น เป็นการสร้างภาพให้หลงผิดคิดว่าเป็นจริง ซึ่งพระรอดแท้ๆนั้นจะพบเห็นได้เพียงกรุเดียวเท่านั้น ก็คือกรุวัดมหาวันอำเภอเมืองลำพูน เท่านั้น และพระรอดจากกรุนี้ก็คงงวดลงไม่เหลือให้ได้พบเห็นกันอีกแล้ว เนื่องจากในบริเวณของวัดถูกขุดจนปรุไปจนหมด ไม่เหลือที่จะให้ได้ขุดอีกเลย หากพระรอดแท้ๆจะมีหลงเหลืออยู่ ส่วนใหญ่นั้นก็จะเป็น พระรอดเก่าเก็บ ของบรรดานักสะสมรุ่นเก่าแก่รุ่นแรกๆ ที่ได้เก็บสะสมไว้ และบรรดาลูกหลานไม่ได้สนใจจะเก็บรักษาไว้ให้ดี โดยที่ไม่รู้คุณค่า ต่างพากันเอาออกมาขายกันแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวกัน หรือไม่ก็จะอยู่ในรังใหญ่ของผู้มีอันจะกิน ที่ไม่จำเป็นในเรื่องเงินทอง

ผู้เขียนเป็นคนเมืองลำพูนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งปัจจุบัน ได้พบเห็นการขุดหาพระกรุต่างๆ ในหลายที่หลายแห่ง ได้รู้จักมือขุดทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่มากหน้าหลายตา ที่เป็นชาวบ้านธรรมดาๆทั้งคนแก่คนหนุ่ม และมีความสนใจในการศึกษาและแสวงหาพระกรุต่างๆมาพอสมควร จึงได้ติดตามเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระเครื่องในชุดสกุลลำพูนต่างๆ และได้เก็บสะสมไว้ มากพอสมควร ได้เรียนรู้และเก็บเล็กผสมน้อยในเกล็ดข้อมูลต่างๆไว้ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ในการที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังและเป็นการเผยแพร่เอาไว้ให้อยู่ยั้งยืนยงสืบต่อๆไป เรื่องราวของ”พระรอด”ของกรุวัดมหาวันลำพูนนั้นเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าติดตาม มีคำกล่าวของผู้ที่นิยมสะสมพระกรุในชุดสกุลลำพูนที่เป็นคนเมืองอื่น ไม่ใช่เป็นคนเมืองลำพูนแท้ๆ ได้กล่าวไว้ว่า “พระกรุของชุดสกุลลำพูน”ทั้งหมดนั้น “ ไม่มีพระเนื้อโลหะอยู่เลย “ ในฐานะผู้เขียนเป็นคนเมืองลำพูนนี้มาตั้งแต่เกิด และได้มีความสนใจศึกษา และติดตามเรื่องราวของพระกรุชนิดต่างๆของเมืองเก่าแก่โบราณแห่งนี้มาโดยตลอด ได้พบเห็นและเก็บสะสมพระกรุในชุดสกุลลำพูน ทุกชนิด ทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะ รวมทั้งพระที่ทำขึ้นใหม่ มากมายหลายอย่างเพื่อเป็นกรณ์ศึกษาว่า จริง แท้นั้นเป็นอย่างไร มีความเหมือนและแตกต่างกันเช่นไร จนได้ความรู้และตีบทแตกพอสมควร ได้พบเห็นพระกรุแท้ๆของพระชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะแทบจะทุกชนิด จึงกล้ายืนยันได้อย่างเต็มปากว่า”พระกรุของพระชุดสกุลลำพูน”นั้น มีทั้งที่เป็นพระเนื้อดินและเนื้อโลหะอย่างจริงแท้แน่นอน และมีตัวอย่างของแท้ให้ได้เห็นและสามารถชี้ชัดได้ว่าคือของแท้แน่นอน หากท่านผู้ที่สนใจใคร่รู้ก็จงได้ติดตามเรียนรู้และศึกษากันได้ต่อไป

สำหรับเรื่องของพระพุทธคุณนั้น ผู้เขียนก็ได้ทดลองและได้ให้ผู้ที่เชี่ยวชาญลองพิสูจน์ในเรื่องพลังพุทธคุณ ปรากฎว่าเป็นเฉกเช่นเดียวกันกับพระกรุเนื้อดินอย่างไม่ผิดเพี้ยนและเหมือนกันทุกประการ ซึ่งสิ่งที่กล่าวอ้างมานี้มิได้เป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่ลองเราก็ไม่รู้ และไม่เชื่อเราก็ไม่ควรจะลบหลู่ เพราะเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากที่เราจะคาดคิดได้ เกริ่นกล่าวกันมาพอสมควร เราจะมาพูดถึงเรื่องราวของพระรอดกรุวัดมหาวันลำพูนกันต่อ พระรอดกรุวัดมหาวันที่ขุดพบนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ บางพิมพ์ทั้งๆที่เป็นพระกรุแท้ๆ แต่ก็ไม่นิยมและยอมรับกัน เนื่องจากไม่เป็นที่รู้จัก หรือไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะของแท้นั้นก็คือของแท้ที่จะแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ พระรอดที่วงการพระเครื่องให้การยอมรับนั้น มีอยู่หกพิมพ์ คือพระรอดพิมพ์ใหญ่ พระรอดพิมพ์กลาง พระรอดพิมพ์เล็ก พระรอดพิมพ์ต้อ พระรอดพิมพ์ตื้น พระรอดพิมพ์แขนติ่ง ในพระรอดแต่ละพิมพ์นั้น ก็จะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างผิดเพี้ยนกันไปบ้าง เพราะการทำพระจำนวนมากนั้นต้องมีแม่พิมพ์หลายพิมพ์ ซึ่งก็จะมีความแตกต่างผิดเพี้ยนกันไปบ้าง แต่สัญญลักษณ์ของพิมพ์ทรงแต่ละพิมพ์ก็จะต้องคงเอาไว้ มีกฎเกณฑ์ของการกำหนดจุดต่างๆให้เป็นที่สังเกตและจดจำกันได้ว่าเป็นพิมพ์นั้นๆ เช่นพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้น จะต้องมีเส้นพิมพ์แตกทางด้านข้าของหูด้านซ้ายและมีเส้นน้ำตกใต้แขนซ้ายย้อยลงไปยังฐาน

พิมพ์กลางนั้นต้องงมีเส้นพิมพ์แตกตรงส่วนใต้คางย้อยลงมายังยอดอก และฐานประทับต้องเป็นฐานสามชั้น พิมพ์เล็กจะต้องมีเส้นเอ็นคอที่เป็นขีดโค้งตรงใต้คางด้านซ้าย ก้นฐานประทับจะต้องเป็นจีบทั้งสองข้างขึ้นไป พระรอดพิมพ์ต้อรูปลักษณ์จะต้องล่ำต้อเศียรใหญ่ และมีโพธิ์คู่ทางด้านบนขวาของงเศียรเพียงคู่เดียว ส่วนโพธิ์ประดับส่วนอื่นเป็นโพธิ์เดี่ยว พระรอดพิมพ์ตื้น นั้นจะมีทุกส่วนขององค์ที่ดูตื้นไม่มีส่วนของความลึกปรากฎ และโพธิ์ประดับนั้นจะมีเพียงโพธิ์แถวเดียว ไม่มีโพธิ์คู่และมีพิมพ์แตกทางด้านข้างของหูซ้ายปรากฎให้เห็นเป็นสองและสามขยัก พระรอดแขนติ่งนั้นเป็นพระรอดที่มีศิลปะทวารวดีผสมอยู่ คาดเดาว่าจะเป็นพระรอดต้นแบบแรกสุดก่อนที่จะพัฒนาเป็นพระรอดพิมพ์ต่างๆ เป็นศิลปะที่ที่ไม่เหมือนจริง ที่เรียกว่าแบบ”แอ๊ปแสตร็ก”ให้ลองสังเกตดูก็จะเห็นเค้าลางอย่างที่ว่าไว้ ตรงส่วนแขนขวาใกล้กับหัวไหล่ขวาจะมีติ่งนูนปรากฎให้เป็นที่สังเกตอันเป็นที่มาของการเรียกชื่อของพระรอดแขนติ่งนี้ สำหรับพระรอดชนิดอื่นเช่น “พระรอดครูบากองแก้ว” พระรอดกรุน้ำต้น”นั้นเป็นพระรอดที่สร้างขึ้นมาตอนหลัง มีอายุไม่เกินร้อยปี แต่มีการผสมมวลสารและดินเก่าของพระกรุต่างๆที่แตกหักเสียหาย มาบดผสมลงไปและสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็มีพุทธคุณปรากฎอยู่เป็นที่นิยมกันพอสมควร.

เราจะมาพูดถึงพระรอดกรุวัดมหาวันพิมพ์ใหญ่ของกรุวัดมหาวัน ที่เป็นพิมพ์ยอดนิยมและมีคุณค่าราคาสูงสุด พระรอดกรุวัดมหาวันทุกพิมพ์ทุกเนื้อนั้น เป็นพระกรุที่มีอายุเก่าแก่นับพันๆปี มีเนื้อหาที่หนึกนุ่มนวลเนียนตา สีสันต่างๆนั้นมีอยู่หลากหลายสี เช่นสีเนื้อ สีแดงแบบอิฐมอญ สีดำ สีเทา สีพิกุล สีเขียวหินครก สีผ่านที่มีเนื้อสองสีในองค์เดียวกัน สีน้ำตาล สีขาวนวล สีขาวขุ่น หลักใหญ่ที่ใช้ในการพิจารณา พระรอดพิมพ์ใหญ่นั้น ต้องดูพุทธลักษณะพิมพ์ทรงก่อน ว่าถูกต้องหรือไม่ ลวดลายของใบโพธิ์ กลุ่มโพธิ์นั้นจะต้องใช้ความสังเกต พิจารณาดูให้ดี การแบ่งกลุ่มโพธิ์แบ่งกลุ่มกันอย่างไร รูปทรงเค้าหน้า พระเกศ หน้าตา หู ปากจมูก องค์พระ การประทับนั่ง ด้านหลัง ก้นฐานและปีกข้างหรือเนื้อเกินว่าเป็นอย่างไร มีความเก่าแก่และเป็นธรรมชาติหรือไม่

พุทธลักษณะทั่วไปของพระรอดพิมพ์ใหญ่ องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร บนฐานบัลลังก์สี่ชั้น มีซุ้มของลวดลายประดับโดยรอบองค์พระ ที่ถือกันว่าเป็นลวดลายของแท่ง เป็นใบโพธิ์ก้านโพธิ์ ซึ่งเรียกกันให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจ ไม่ยุ่งยากจนมากไป ฐานที่ประทับนั่งชั้นแรกนั้น จะเป็นฐานที่มีขนาดกว้างใหญ่กว่าฐานชั้นอื่นๆ เหนือบนฐานชั้นแรก ตรงส่วนใต้หน้าตักที่ประทับนั่งมีขีดเล็กเท่าเส้นผม ขีดสั้นๆ เส้นนี้เรียกกันว่าเส้นผ้าปูนั่ง เส้นนี้เป็นจุดสังเกตที่จะต้องจดจำไว้ให้ดี ต้องเป็นเส้นที่มีขนาดเล็กเท่ากับเส้นผม มีความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริงและจะเป็นเส้นสั้นๆพอจะให้สังเกตได้เท่านั้น หากยาวไปจนเกินที่ก็ไม่ถูกต้อง ถัดลงไปจากฐานชั้นแรกนั้น ก็จะเป็นร่อง ระหว่างฐานชั้นแรกกับฐานชั้นที่สอง ในร่องนี้จะมีเส็นเล็กๆคมๆ ลากยาวเกือบตลอดแนว เส้นนี้เรียกกันว่า”เส้นแซม” เส้นนี้จะมีความเป็นธรรมชาติ ที่ไม่ตรงดิกเหมือนกับเส้นที่ขีดด้วยไม้บรรทัด บางทีจะสูงๆต่ำๆ หรือขาดๆเกินๆให้เห็น นี่คือข้องสังเกตที่ควรจะจดจำไว้ ฐานชั้นที่สองนี้จะทิ้งห่างจากฐานชั้นแรกกเนื่องจากมีเส้นแซมอยู่ในร่องฐานดังกล่าว ถัดจากฐานชั้นที่สองก็จะเป็นฐานชั้นที่สามและฐานชั้นที่สี่ ฐานสองชั้นนี้ จะติดกันพอให้เห็นเป็นแนวว่าเป็นฐานอีกสองชั้น ไม่ถูกแบ่งออกจากกัน จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือริมฐานทั้งสี่นี้จะมีส่วนปลายทั้งสองข้างมนรับกับฐานดากที่เป็นเนื้อยื่นลงไปตรงก้นฐาน ซึ่งฐานดากนี้จะมีเฉพาะในพระรอดพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลางและพิมพ์ตื้นเท่านั้น

ก้นฐานของพระรอดดังกล่าวทั้งสามพิมพ์นี้ เขาจะเรียกกันว่า”ก้นพับ” หรือ”ฐานก้นแมงสาป” ตรงส่วนฐานด้านซ้ายของพระรอดพิมพ์ใหญ่นี้ให้สัเกตให้ดี จะมีเส้นเล็กๆที่เรียกกันว่า”เส้นน้ำตก” ที่มีลักษณะเหมือนกับรากไม้ที่เป็นเส้นหงิกงออย่างเป็นธรรมชาติ เส้นนี้จะลากลงมาจากลำแขนใกล้กับข้อศอกซ้ายลงมายังปลายเท้าขวา จากนั้นด้วยฝีมือเชิงช่างของช่างชาวหริภุญไชยชั้นสูงได้สอดเส้นน้ำตกนี้ลงมาหน้าแข้งขององค์พระอย่างแนบเนียนให้เห็นเป็นเส้นน้ำตกที่ส่วนปลายเป็นสองแฉก มีลักษณะ คล้าย กับตัว”วาย”ของอักษรในภาษาอังกฤษที่คว่ำลง หรือแก้วแชมเปญที่คว่ำลง เส้นน้ำตกเส้นนี้จะอยู่บนฐานประทับชั้นแรกจากนั้นเส้นนี้ ก็จะสอดแทรกลงมายังบนฐานชั้นที่สองในแนวเดียวกัน และแตกออกเป็นเส้นสามเส้น บางท่านเรียกกันว่า “เส้นสามซ่า” เส้นสามเส้นนี้จะดีดตัวถ่างออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด และจะดีดเฉียงออกไปยังทางซ้ายขององค์พระ ไม่ได้เป็นเส้นที่ดูทื่อหรือตั้งตรงลงมา เป็นจุดสังเกตอันสำคัญอีจุดหนึ่งที่จะต้องดูอย่าง ละเอียด

และจงอย่าลืมความเป็นธรรมชาติของเส้นที่เป็นองค์ประกอบของพุทธศิลป์ที่มีความพริ้วไหวอันแท้อย่างมิได้จงใจหรือเสแสร้ง สัญญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้น จะมีปรากฎให้เห็นเป็นที่สังเกตอันสำคัญยิ่งก็คือ ตรงกลุ่มโพธิ์ด้านซ้ายมือขององค์พระตรงข้างหูซ้ายนั้น จะมีกิ่งโพธิ์ที่แตกขยุกขยิกคล้ายกับรากไม้ ที่มีส่วนปลายพุ่งลงมายังขอบใบโพธิ์ประดับ ตรงส่วนของโคนเส้นพิมพ์แตกที่อยู่ใกล้กับใบหูซ้ายนี้ จะมีโพธิ์ติ่งเป็นเม็ดนูนเด่นให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นจุดสังเกตอีกจุดหนึ่ง เท่าที่กล่าวมาในตอนนี้คงพอจะทำให้เข้าใจได้ว่าพระรอดพิมพ์ใหญ่ของกรุวัดมหาวันที่เป็นพระกรุแท้ๆนั้นมีพุทธศิลป์เป็นอย่างใด

รายละเอียดพิมพ์ทรงของพระรอดพิมพ์ใหญ่ของพระรอดกรุวัดมหาวันนั้น เราจะพูดถึง รูปลักษณะของเศียรกันก่อน พระรอดนั้นจะมีเศียรที่ดูค่อนข้าใหญ่ มีเกศที่จิ่มแหลม คล้ายกับหางเปียแขก ที่ลากจากเบื้องหลังท้ายทอยขึ้นไปสู่ผนังโพธิ์ ส่วนของปลายเกศนั้นจะอยู่เยื้องกับ ก้านโพธิ์ที่เป็นก้านแบ่งกลุ่มโพธิ์ ก้านโพธิ์นี้จะเป็นแท่งลงมา ปลายของก้านโพธิ์นี้จะหลบปลายเกศไปทางขวาขององค์พระ และจะมีลักษณะแตกปลายคล้ายหางของนกแซงแซว ส่วนปลายเกศนี้จะสั้นไม่ยาวมาก
ไรพระศก เป็นเส้นของกรอบหน้า ที่ยาวพาดผ่าน บริเวณหน้าผากจากเหนือใบหูขวาขององค์พระไปจรด ตรงเหนือหูซ้าย เป็นเส้นวาดที่มีความลึกพองาม ลักษณะดูเป็นธรรมชาติ มีจุดสังเกตคือเส้นไรพระศกนี้จะเป็นลักษณะตกท้องช้าง มีจุดวงกลมเล็กๆบุ๋มลงไปตรงกลาง จุดนี้คืออุณาโลม รายละเอียดเล็กๆน้อยๆนี้จะต้องพิจารณากันอย่างละเอียด และต้องจดจำไว้ให้ดี

รูปลักษณ์ของเศียรและวงหน้า รูปลักษณ์ของวงหน้ามีลักษณะเหมือนผลมะตูม หรือหน้ารูปไข่ อันเป็นลักษณะเฉพาะ ของพุทธศิลป์ของศิลปะหริภุญไชย ตรงส่วนคางจะดูสอบเข้าเล็กน้อย องค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนนั้น จะมีตา หู ปากจมูกให้เห็น สังเกตให้ดี ตาของพระรอดนี้จะเป็นลักษณะของตาเนื้อไม่ใช่เป็นตาแกะ มีความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ดวงตานั้นมีลักษณะเหมือนกับเม็ดงาวางขวางอยู่ ตรงระดับของใบหูทั้งสองข้าง หางตายาวเกือบจรดใบหู จมูกจะดูบาน เนื่องจากเป็นส่วนที่โด่งนูนสูง เวลากดพิมพ์จึงถูกทำให้แฟบลงเล็กน้อย ส่วนบนของจมูกนี้อยู่ต่อจากโหนกคิ้วทั้งสองด้านลงมา จุดสังเกตที่สำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือเมื่อพลิกดูตรงส่วนจมูกนี้จะเห็นรูจมูกเล็กๆสองรูอย่างชัดเจน นี่คือภูมิปัญญาของเชิงช่างชาวหริภุญไชยโบราณที่มีความละเอียดละออในผลงานที่รังสรรค์ขึ้นมาได้อย่างน่ายกย่องสรรเสริญยิ่ง ตรงส่วนของปากจะเห็นเป็นปื้นคล้ายรูปของเดือนเสี้ยวที่หงายขึ้น บางองค์จะเห็นรูปปากที่นูนจู๋เหมือนปากปลากัด ส่วนคางของพระรอดนั้น จะดูงามเรียบร้อยอย่างลงตัวแต่ก็มีบ้างที่จะเสียเพราะถูกครูดในตอนที่ยกออกจากพิมพ์ สำหรับองค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจน ส่วนปลายคางจะยื่นออกเล็กน้อยเหมือนคางของคนจริงๆ ตรงส่วนกรามจะเป็นเหลี่ยมอย่างสมจริง

ใบหูของพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้น เมื่อดูแบบหน้าตรงจะเห็นเป็นเส้นเรียวบางเหมือนคมมีด ขีดลงมาเกือบจรดบ่า เมื่อดูจากด้านข้างนั้นจะเห็นเป็นลักษณะคล้ายกับใบหูของพระพุทธรูป ตรงส่วนปลายของใบหูทั้งซ้ายและขวานั้น มีจุดสังเกตคือ ปลายใบหูซ้ายจะมีเส้นหักแหลมคล้ายตะขอเป็นเงี่ยงแหลมชี้เข้าหาตรงกรามซ้าย ส่วนปลายของใบหูด้านขวาขององค์พระก็จะมีลักษณะเหมือนกับส่วนปลายของใบหูทางด้านซ้าย แต่เงี่ยงแหลมนี้จะชี้ออกไปจากกราม สำหรับใบหูส่วนบนนั้นจะเห็นเป็นใบค่อนข้างใหญ่ ส่วนปลายจะเรียวเล็กได้อย่างเหมาะสมยิ่ง

ลำคอของพระรอดนั้นมีลักษณะที่กลมกลืนกับพื้นผนัง ที่นูนขึ้นมารับกันกับอกและไหล่ทั้งสองข้างขององค์พระ ที่เป็นความสามารถในฝีมือเชิงช่างที่สามารถรังสรรค์ออกมาได้อย่างลงตัว
อกของพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้น มีความอูมอิ่มที่พอดีพองามอย่างลงตัว ไม่อ้วนหรือผอมบางจนเกินไป การห่มจีวรขององค์พระนั้นเป็นการห่มจีวรแบบห่มดอง จึงไม่ได้แสดงรายละเอียดของหน้าอกมากนัก จะเห็นเพียงเส้นแบ่งของจีวรที่พาดผ่านจากใต้รักแร้ด้านขวาพาดผ่านขึ้นไปยังบนบ่าขวาขององค์พระ เป็นเส้นแบ่งส่วนหน้าอกที่บุบวาดชนิดเป็นร่องลึกพองาม ในร่องนั้นมีลักษณะตกท้องช้างไม่ใช่เป็นแบบขีดด้วยเของแหลม ซึ่งมักจะเห็นในพระฝีมือที่ทำกันขึ้นมา เส้นแบ่งของจีวรที่พาดผ่านนั้นจะมีลักษณะที่ดูโค้งอ่อนช้อยงดงามอย่างลงตัวไม่ขัดนัยน์ตาเลย ช่วงของรูปทรงองค์เอวของหน้าอกถึงท้องนั้น ยาวพองาม ดูเป็นรูปตัววี และกลืนหายไปตรงแนวสะดือ ไม่ยาวลงไปจนถึงด้านล่างต่ำกว่าสะดือ สะดือของพระรอดนั้นจะกลมลึกคล้ายกับเบ้าขนมครก แต่ไม่ลึกมากจนเกินงาม องค์ที่ติดพิมพ์ชัดจะเห็นมีขอบเป็นวงแหวนโดยรอบ เป็นจุดสังเกตที่ควรจำไว้สำหรับการพิจารณาดู

ลำแขนของพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้นจะมีลำแขนที่ดูใหญ่ หากเทียบกับลำตัว การประทับนั่งของพระรอดทุกพิมพ์นั้นเป็นแบบปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร แขนขวาจะเป็นลำมนลงมาจากไหล่อย่างมีจังหวะ ลำแขนแสดงกล้ามเนื้อแบบเป็นธรรมชาติคล้ายลำแขนของคนจริงๆ ให้สังเกตการทอดลำแขนลงมา จะเป็นจังหวะสามจังหวะ คือส่วนบนคือโคนแขนถึงข้อศอก จากข้อศอกถึงข้อมือ จากข้อมือลงมาถึงฝ่ามือ ที่วางลงบนหัวเข่าขวา ปลายนิ้วมือนั้นจรดกับพื้นฐาน ส่วนแขนซ้ายนั้นวางลงมาเป็นสามจังหวะเช่นกันคือจากหัวไหล่ เป็นโคนแขนที่แสดงให้เห็นกล้ามเนื้อชัดแจ้งกว่าทางแขนขวา จากนั้นก็เป็นข้อศอกที่หักเข้าหาลำตัวพาดผ่านลงบนหน้าตัก และข้อมือที่มีฝ่ามือวางหงายบนหน้าตักอย่างลงตัวและพอดี

ข้อมือและฝ่ามือของพระรอดพิมพ์ใหญ่ มือซ้ายของพระรอดพิมพ์ใหญ่นี้จะดูยาวมาก เป็นมือที่วางพาดลงบนหน้าตักองค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนจะมองเห็นนิ้วหัวแม่มือจีบชัดรวมกับนิ้วอีกสี่นิ้วจีบรวมกัน หากมองตรงๆจะเห็นเป็นติดกันเป็นพืดยาวเป็นเส้นเดียวกัน ส่วนมือขวาที่วางทิ้งดิ่งลงมากุมบนหัวเข่าขวานั้นปลายนิ้วมือวางจรดกับพื้นฐาน ปลายนิ้วติดกันเป็นพืดรวมห้านิ้ว นิ้วหัวแม่มือแยกออกไปต่างหากอีกหนึ่งนิ้ว รวมเป็นนิ้วมือด้านขวามือนี้เป็นหกนิ้ว จุดสังเกตปลายนิ้วหัวแม่มือนี้มีรอยตัดแต่ไม่ขาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ติดอยู่ตรงหน้าโคนขาขวาที่พาดขึ้นไปทางด้านซ้าย ซึ่งเป็นจุดที่จะต้องมีในพระรอดพิมพ์ใหญ่ทุกองค์

หน้าตักของพระรอดพิมพ์ใหญ่ พระรอดทุกพิมพ์นั้นประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร เท้าขวาทับเท้าซ้ายเห็นหัวเข่า น่อง หน้าแข้งและปลายเท้าที่วางพาดบนเท้าซ้ายอย่างชัดเจน ส่วนขาซ้ายนั้น ถูกเท้าขวาวางทับมองเห็นหัวเข่าและหน้าแข้ง ส่วนปลายเท้าซ้ายนั้นไปโผล่ตรงเหนือฝ่ามือขวาที่วางลงมา มีลักษณะที่มองเห็นเป็นรูปคล้ายหยดน้ำ หรือคล้ายกับหัวปลาช่อนอ้าปาก ใต้ฝ่ามือซ้ายลงมา บนฐานประทับชั้นแรกตรงค่อนไปทางจุดกึ่งกลาง จะเป็นช่องว่างระหว่างหน้าแข้งกับฐานชั้นแรก จะเป็นแอ่งลักษณะคล้ายท้องกระทะอย่างเป็นธรรมชาติและลงตัว จะเห็นเส้นผ้าปูรองนั่ง เป็นเส้นขนาดเล็กเท่าเส้นผม ขีดอยู่เหนือบนฐานเล็กน้อย เส้นเล็กๆสั้นๆนี้จะอยู่ค่อนไปทางซ้ายนิดๆ เป็นจุดสังเกตสำคัญจุดหนึ่งที่ควรจดจำไว้ให้ดี
ฐานประทับหรือจะเรียกว่าอาสนะก็ได้ พระรอดพิมพ์ใหญ่นี้มีฐานประทับสี่ชั้น ชั้นแรกจะเป็นฐานที่มีส่วนหนาที่สุด ฐานทุกชั้นจะมีส่วนเว้าเข้า รับกับหน้าตักขององค์พระ ถัดจากฐานชั้นแรกเป็นแอ่งช่องว่าง ก่อนจะถึงฐานชั้นที่สอง ในร่องของช่องว่างนี้จะมีเส้นแซมขนาดเล็กเท่าเส้นผม ยาวโดยตลอด ให้สังเกตเส้นแซมนี้จะเป็นเส้นเล็กๆที่ไม่แข็งทื่อ ไม่เป็นแบบเส้นตรงที่ขีดโดยไม้บรรทัด มีความเป็นไปแบบธรรมชาติ ฐานชั้นที่สองนี้เป็นเส้นที่เล็กที่สุดในจำนวนฐานทั้งสี่ อยู่ถัดลงมาจากฐานชั้นบนลงมาโดยมีเส้นแซมคั่นอยู่

ส่วนเส้นที่สามกับเส้นที่สี่นั้นจะติดกันโดยมีร่องเล็กๆตื้นๆเป็นตัวคั่นไว้ให้เห็นว่าเป็นฐานอีกสองชั้น ฐานชั้นที่สี่นั้นจะมนรับกับก้นพับข้างล่างสุด ที่เรียกว่า ก้นพับ หรือฐานดากของพระรอดพิมพ์ใหญ่ ฐานทั้งสี่วางเรียงตัวกันอย่างมีจังหวะจะโคนที่ลงตัวอย่างสมบูรณ์งดงามมาก ทางด้านซ้ายของฐานของพระรอดพิมพ์ใหญ่จะมีเส้นเล็กๆ ที่เรียกกันว่าเส้นน้ำตกซึ่งเป็นจุดสำคัญหรือจุดตายของพระรอดพิมพ์ใหญ่ เส้นนี้เป็นเส้นเล็กๆคมชัดเหมือนเส้นเลือดฝอย หรือรากไม้ฝอย เป็นหัวใจของการชี้ชัดว่าพระรอดที่เราดูนั้นเป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่ที่แท้จริงหรือไม่ เส้นที่ว่านี้จะเริ่มจากข้อพับของแขนซ้ายขององค์พระ เป็นเส้นเดี่ยวลากลงมา ยังฝ่าเท้าขวา แล้วกลืนหายไปโผล่ที่ใต้หน้าแข้งซ้าย ลงมาบนฐานชั้นแรก ตรงส่วนนี้ เส้นจะแตกออกเป็นสองแฉก มองดูคล้ายรูปของตัววายที่คว่ำลง หรือแก้วแชมเปญที่คว่ำลงเช่นกัน ให้ท่านลองพิจารณาดู จากนั้นเส้นนี้จะไปโผล่ที่ใต้ฐานของฐานชั้นแรก และแตกออกเป็นสามแฉกที่เรียกกันว่า “สามซ่า” เส้นสามซ่านี้จะเฉียงออกไปทางด้านซ้ายขององค์พระ ไม่ได้เป็นเส้นที่ตั้งตรง แนวของเส้นน้ำตกทั้งหมด จากข้างบนลงมาดังกล่าวนี้ จะเป็นเส้นตั้งฉากเป็นแนวเดียวกัน มองดูงดงามและซึ้งตาเป็นที่ยิ่ง เป็นเส้นเล็กนิดเดียวที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการล้าง หากต้องการความชัดเจน ให้จงดี เพราะอาจจะเสียหายหรือลบเลือนได้ จะทำให้เสียความรู้สึกไปโดยเปล่าประโยชน์ พระรอดเป็นพระกรุเนื้อดินขนาดเล็กเท่าปลายนิ้ว
แต่ได้ให้รายละเอียดและความรู้สึกต่างๆที่เป็นศิลปะชั้นสูงได้อย่างน่านิยมยกย่องในความคิดของผู้รังสรรค์ผลงานอันน่าประทับใจได้อย่างสุดยอดเลยทีเดียว พระรอดของกรุวัดมหาวันนั้นได้ชื่อว่ามีองค์ประกอบทางศิลปะได้อย่างลงตัว ทุกองค์ประกอบลงตัวได้อย่างน่าทึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา ทรวดทรงองค์เอว ลำแขน มือทั้งสองข้าง ประทับนั่งอย่างสง่างามราวกับองค์ประธานในวิหารที่งามเด่นอย่างน่านิยมยิ่ง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพระชนิดต่างๆของกรุอื่นๆ จะมองเห็นความแตกต่างนั้นอย่างชัดเจนว่าเป็นเช่นไร
เรามาดูกลุ่มโพธิ์ของพระรอดพิมพ์ใหญ่กันดีกว่า พระรอดพิมพ์ใหญ่แบ่งกลุ่มโพธิ์ออกเป็นสองด้าน คือด้านขวามือขององค์พระและด้านซ้ายมือ โดยมีก้านโพธิ์แบ่งอยู่ตรงเหนือเศียร ก้านโพธิ์ก้านนี้จะมีส่วนปลายที่แตกออกคล้ายปลายดาบบ้างหรือปลายหางของนกแซงแซวบ้าง ปลายก้านนี้จะเบี่ยงไปทางด้านขวาของเกศเล็กน้อย นี่เป็นจุดสังเกตจุดหนึ่งที่จะต้องดูให้รู้แจ้งและจดจำเอาไว้ กลุ่มโพธิ์ทั้งหมดนั้นมีรวมกันหกกลุ่ม กลุ่มโพธิ์ด้านขวาแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มโพธิ์ทางซ้ายสามกลุ่ม โดยมีก้านโพธิ์ที่เป็นแท่งยาวเป็นตัวคั่นออกเป็นกลุ่ม ๆ ในแต่ละกลุ่มนั้นจะมีลวดลายที่เรียกว่าใบโพธิ์ประดับ ลีลาของก้านและใบโพธิ์แต่ละกลุ่มนั้นจะไม่เหมือนกัน มีโพธิ์ติ่งให้เป็นจุดสังเกตสามจุดคือ กลุ่มโพธ์ที่สองทางขวา กลุ่มโพธิ์กลุ่มที่หนึ่งทางซ้าย และกลุ่มโพธิ์ที่สองทางซ้ายตรงเส้นพิมพ์แตกข้างหูซ้าย ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่ควรจดจำไว้ให้ดี

ใบโพธิ์และก้านโพธิ์นั้นจะมีความเป็นธรรมชาติไม่แข็งกระด้างมีทั้งความลึกความตื้นให้ได้เห็นตามสภาพที่เป็นจริง กรอบนอกของกลุ่มโพธิ์นั้นก็เป็นจุดที่จะต้องดูเพราะกรอบนอกของพระรอดแท้นั้นค่อนข้างบางและคม การกดพิมพ์พระนั้นกดด้านหลังค่อนข้างแบน และบางตรงส่วนปลายดังนั้นส่วนปลายมักจะหักชำรุดได้

นอกจากพิมพ์ทรงและจุดสังเกตต่างๆขององค์พระรอดที่เราจะต้องดูและศึกษากันอย่างละเอียดแล้ว ความเก่าแก่ คราบกรุ ขี้กรุรวมทั้งเนื้อหาขององค์พระนั้น จะต้องพิจารณากันอย่างละเอียดและทำความเข้าใจให้ดี เพราะเนื้อพระรอดที่แท้นั้นจะมีความละเอียดหนึกนุ่มตามากกว่าพระชนิดอื่นเป็นอย่างมาก ดังนั้นการเรียนรู้และศึกษาอย่างละเอียด และการได้เห็นพระรอดที่เป็นของแท้บ่อยๆจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนรู้เรื่องราวของพระกรุที่มีอายุอันเก่าแก่ชนิดนี้ได้อย่างถ่องแท้
เรามาดูพระรอดพิมพ์ใหญ่ของบผู้เขียนทั้งหมด ที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดีเพื่อให้เป็นการเรียนรู้และศึกษากันอย่างถูกต้องกันดีกว่า

ภาพที่ 1 เป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่สีดำอันเข้มขลัง มีเนื้อหาที่แกร่งแข็งอย่างเนื้อหิน พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้มีขนาดเล็กกระทัดรัดเนื่องจากเนื้อหาขององค์พระนั้นเป็นชนิดที่ถูกไฟเผาจนเป็นเนื้อแกร่ง ความคมชัดและติดพิมพ์ขององค์พระนั้นติดพิมพ์อย่างชัดเจน พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้เสียตรงจุดที่เป็นปาก และตรงหัวไหล่ขวาเป็นการชำรุดในพิมพ์และขณะที่ถูกไฟเผา จึงคงสภาพเดิมๆให้ได้เห็น เพื่อให้รู้ กันว่า พระรอดแท้ๆนั้นมีทั้งชำรุดและสมบูรณ์ เป็นไปตามธรรมชาติของมัน อย่างธรรมดา ขนาดนั้นจะเล็กกว่าพระสีพิกุล สีแดงอิฐมอญ เพราะเป็นการถูกเผาไฟที่ร้อนแรงกว่า จึงมีการหดตัวเป็นอย่างมาก ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 2 1/4 ซม. ด้านหลังมีลายนิ้วมือปรากฎให้เห็นและเป็นหลังที่ อูมนูนแบนกว้างพองาม ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 2 เป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่เนื้อสีพิกุล ที่มีเนื้อในแข็งแกร่ง ติดพิมพ์ชัดเจน มีหน้าตาหูปากจมูกให้เห็นอย่างเด่นชัด ให้ท่านลองพิจารณาตามจุดสังเกตต่างๆที่ให้ข้อมูลไว้เบื้องต้น ไล่ไปทีละอย่างสองอย่างก็จะทำให้เข้าใจกันมากขึ้น พระรอดองค์นี้ มีรูปลักษณ์พิมพ์ทรงที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ไม่บินหักหรือลบเลือนในส่วนใด ลวดลายบนองค์พระติดพิมพ์ให้เห็นชัดเจน ก้นฐานเป็นแบบก้นพับไปทางด้านหน้า ตามแบบฉบับของพระรอดพิมพ์ใหญ่อันถูกต้อง ด้านหลังกลมกลึงอูมนูนพองามไม่มีจีบอะไรให้เห็น มีคราบกรุสีน้ำตาลตรงส่วนล่าง เป็นคราบกรุเดิมๆที่ติดอย่างแน่นหนาไม่เอาออก เพราะต้องการให้เห็นว่าคราบกรุที่ติดอยู่กับ องค์พระเดิมๆนั้นเป็นอย่างไร ขุดได้ในบริเวณวัดมหาวันลำพูน กว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 3/4 ซม. หนา 1 ซม.

ภาพที่ 3 พระรอดพิมพ์ใหญ่สีน้ำตาลออกดำ อันเข้มขลัง ที่มีคราบของราดำติดอยู่ตรงส่วนท้อง บริเวณหน้าตัก ราดำที่ เป็นธรรมชาติที่ติดอยู่กับพระเนื้อดินเผานั้นต้องมีลักษณะอย่างนี้ ทางด้านหลังที่อูมนูนพองามไม่มีจีบหรือบิดเบี้ยวไปมานั้นก็มีราดำให้เห็นประปราย ทั่วด้านหลัง ความงดงามขององค์พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้เต็มร้อยในทุดจุด มีหน้าตาหูปากจมูกที่ติดพิมพ์อย่างชัดแจ้ง จุดสังเกตต่างๆมีพร้อมและถูกต้องทุกประการ ก้นฐานเป็นก้นฐานที่ถูกขยุ้มเป็นรอยเว้าขึ้นไป คล้ายก้นฐานของพระรอดพิมพ์เล็ก ซึ่งก็เป็นธรรมดาของการพิมพ์พระเนื้อดิน ที่จะมีความผิดแปลกแตกต่างกันไปบ้าง ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 1 ซม. สูง 2 3/4 ซม. ขุดพบในบริเวณวัดมหาวันลำพูน นานแสนนานมาแล้ว.

ภาพที่ 4 พระรอดพิมพ์ใหญ่สีพิกุลอมชมพู ที่มีปีกข้างยื่นออกมาทางด้านข้างของทางด้านขวา ตอนล่างขององค์พระ ปีกข้างหรือเนื้อเกินนี้ค่อนข้างจะบางและคม ม้วนตัวไปทางด้านหน้าขององค์พระ ทางด้านซ้ายมีปีกข้างปรากฎให้ได้เห็นเพียงน้อยนิด เป็นขอบเรียบตลอดแนว องค์พระดูชลูด แต่ก็มีความสง่างาม ราวกับพระประธานในวิหารดูน่าเคารพและน่านิยมยิ่ง หน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์ให้เห็นอย่างงดงาม ประกอบกับเนื้อหาที่ดูหนึกนุ่มนวลเนียนตา ยิ่งเพิ่มความขลังในองค์พระอย่างมีพลังอันประหลาดเหลือล้น ซึ่งเป็นเสน่ห์ของพระกรุที่มีอายุยาวนานกว่าพันปี เป็นที่ยอมรับของวงการนักนิยมพระกรุทั้งหลายทั้งมวล พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ให้สังเกตตรงส่วนด้านบนริมขอบ ที่เป็นกลุ่มโพธิ์จะเห็นว่ามีเนื้อพระที่เป็นสีอันเข้มขลังกว่าบริเวณส่วนอื่น ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกไฟเผาแรง จึงทำให้มีสีสันเช่นนี้ เนื้อพระโดยรวมนั้นเป็นเนื้อแกร่ง ด้านหลังอูมนูนพองาม ไม่เป็นรอยจีบเหมือนกับพระรอดที่ทำปลอม มีคราบกรุให้เห็นพอประมาณ ก้นฐานม้วนตัวไปทางด้านหน้าที่เรียกกันว่าก้นพับ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 1 ซม. สูง 2 3/4 ซม. ขุดได้ในบริเวณวัดมหาวันลำพูน.

ภาพที่ 5 พระรอดพิมพ์ใหญ่เนื้อสีดำอันละเอียดอ่อน ที่นวลเนียนหนึกนุ่มตา และนวลเนียนมือเป็นที่ยิ่ง เป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่สีดำที่งดงามเต็มร้อย คราบกรุติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆให้ได้เห็นเป็นสีน้ำตาลอมแดง เพิ่มความเข้มขลังให้กับองค์พระ อย่างน่านิยม พระรอดพิมพ์ใหญ่สีดำนี้จะหาพบได้ยากกว่าพระรอดสีอื่นๆ และมีจำนวนพบเห็นที่น้อย จึงนำมาให้ท่านได้ชมกันอย่างเต็มตาเพื่อให้รู้และทราบว่าพระรอดแท้ๆของกรุวัดมหาวันลำพูนพิมพ์ต่างๆนั้นก็มีสีดำปรากฎให้ได้เห็นกันอย่างแท้จริง พระรอดพิมพ์ใหญ่สีดำองค์นี้มีหน้าตาหูปากจมูกครบถ้วน ติดพิมพ์อย่างชัดเจน คราบกรุติดตามซอกมุมต่างๆให้เป็นที่สังเกตถึงความเป็นพระกรุของแท้ต่างจากพระพิมพ์ที่ทำขึ้นมาใหม่ เส้นสายลวดลายต่างๆที่เป็นองค์ประกอบของพระรอดนั้นถูกต้องด้วยประการทั้งปวง ให้ท่านลองพิจารณาเปรียบเทียบดูกัน ว่าพระรอดพิมพ์ใหญ่ที่นำมาให้ได้ชมกันนี้มีความเหมือนและต่างกันเช่นใด อันจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้น ด้านหลังอูมนูนเล็กน้อยพองาม มีลายนิ้วมือและคราบกรุติดอยู่ให้เห็นด้วย ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 2 1/2 ซม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.

ภาพที่ 6 เป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่สีพิกุลอมแดงที่เป็นพระกรุเก่า ผ่านการห้อยใช้มาพอควร แต่ก็ยังคงความสมบูรณ์งดงามเรียบร้อยในทุกประการให้ได้เห็น ไม่บิ่นหรือแตกหักสึกหรอในส่วนใด สืบเนื่องจากพระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้เป็นพระรอดเนื้อแกร่ง จึงคงสภาพเดิมๆไว้ได้เป็นอย่างดี พระรอดองค์นี้มีปีกข้างทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ทางด้านขวานั้นมีปีกยาวตลอดแนวส่วนทางด้านขวาขององค์พระนั้นมีปีกยื่นออกมา ติดอยู่ตรงหัวไหล่ลงมาถึงริมฐานประทับล่างสุด ด้านหลังอูมนูนพอประมาณและบานกว้างอันสืบเนื่องจากปีกทั้งสองข้าง แต่ก็ดูไม่น่าเกลียดมีความเหมาะสมและลงตัวทุกประการ ก้นฐานเป็นก้นพับ คราบกรุและขี้กรุถูกล้างออกเพราะเต็มไปด้วยคราบไคลของผู้ที่ห้อยใช้ดูไม่งามตา จึงทำการล้างออกให้ได้เห็นเนื้อในอันแท้จริง ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 2 3/4 ซม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.

ภาพที่ 7 พระรอดพิมพ์ใหญ่เนื้อสีดำ เข้มขลังอย่างมีพลังอันน่านิยมยิ่ง ของ กรุวัดมหาวันลำพูน ที่ขนาดขององค์พระหดเล็กลงมาอย่างได้ใจ เป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่สีดำเนื้อแกร่งเป็นหิน ซึ่งไม่ค่อยได้พบเห็นกัน และน้อยนักที่จะมีปรากฎให้ได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นในที่แห่งใด เป็นพระกรุเก่าที่ถูกห้อยใช้กันมาพอควรแก่การ ที่เขาเรียกกันว่า “พระกรุเก่า” เนื้อหาด้านหลังมีความเนียนนวลตาเป็นอย่างยิ่ง มีลายนิ้วมือปรากฎให้เห็นอยู่ตรงบริเวณใกล้กับฐาน เนื้อหาที่นวลเนียนหนึกนุ่มเช่นนี้ ตรงตามคำกล่าวกันที่ว่าเนื้อหาของพระรอดนั้นจะต้องมีความละเอียด มากกว่าพระชนิดอื่นใดนั้น เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องโดยแท้ จากการที่ได้เห็นพระรอดพิมพ์ใหญ่สีดำองค์นี้ ให้ท่านจดจำเอาไว้เป็นแนวทางของการดูเนื้อแท้ของพระรอดแท้ๆว่าจะต้องมีความเนียนและละเอียดเช่นนี้ ด้านหน้านั้นมีความงดงามมีหน้าตาที่ติดพิมพ์รวมทั้งลวดลายของกิ่งก้านใบโพธิ์ ที่เป็นลวดลายประดับให้เห็นได้อย่างชัดเจน คงความสมบูรณ์ได้อย่างเต็มร้อยทุกประการ ก้นฐานนั้นเป็นแบบก้นพับ ที่ถูกยกขึ้น ขนาดกว้าง 1 1/4 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 2 1/2 ซม.

ภาพที่ 8 พระรอดสีพิกุลอมชมพูค่อนไปทางสีแดง เป็นพระกรุเก่าที่มีเนื้อหาละเอียดดูมีเสน่ห์และงามตา เนื้อหามีความสะอาดและหนึกนุ่มตา มีปีกข้างซ้ายที่ตัดชิดขอบข้างที่พอดีพองาม ส่วนปีกทางด้านขวนั้นยื่นออกมาเล็กน้อยมีรอยปริแตกของขอบข้างให้เห็นเนื่องจากมีความบางมาก ง่ายต่อการแตกชำรุด แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ทำให้ได้เห็นเนื้อในอย่างเป็นธรรมชาติ พระสกุลลำพูนส่วนใหญ่จะมีปีกของขอบข้าง ไม่ตัดปีกเหมือนกับพระกรุอื่นๆทางภาคกลาง การกดพิมพ์กดแล้วกดเลยไม่มีความยุ่งยาก ในการที่จะมาตัดขอบข้างให้เสียเวลา เป็นภูมิปัญญาของเชิงช่างชาวหริภุญไชยอย่างแท้จริง ความเรียบร้อยทุกอย่างบนองค์พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ ถูกต้องตามหลักสากลนิยมโดยแท้ ขอย้ำเตือนกันอีกครั้งว่า พระรอดที่เป็นพระกรุที่ได้รับ ความนิยมสูงสุดนั้นคือพระรอดกรุวัดมหาวันลำพูนที่แท้จริงที่เดียวเท่านั้น พระรอดที่พบกันในกรุอื่น หรือในที่แห่งอื่นใดนอกเหนือจากพระรอดของกรุวัดมหาวันลำพูนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นพระรอดที่อุปโลกน์กันขึ้นมา เพื่อการค้าเป็นพุทธพาณิชย์เท่านั้น ให้ท่านระวังไว้ให้จงดี ด้านหลังของพระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้อูมนูนพองาม ก้นฐานเป็นก้นพับไปทางด้านหน้า ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 2 3/4 ซม. ขุดพบที่วัดมหาวัน ลำพูน.

ภาพที่ 9 พระรอดสีน้ำตาลอมดำพิมพ์ใหญ่อีกองค์หนึ่ง ที่มีความงดงามและติดพิมพ์อย่างคมชัด มีหน้าตาหูปากจมูกให้ เห็นอย่างถูกต้อง ตามมาตรฐานสากล ที่เป็นที่ยอมรับกัน ความสมบูรณ์ของพิมพ์ทรงและเนื้อหานั้นเต็มร้อย มีราดำที่แท้จริงปรากฎให้เห็นเป็นจุดเด่นตรงซอกแขนขวา และตรงบริเวณใต้ฐานประทับด้านล่างสุดตรงจุดของเส้นน้ำตกสามซ่า ราดำนี้เป็นรา ดำที่เกิดตาม ธรรมชาติอย่างแท้จริง ให้จำไว้เป็นตัวอย่างอันถูกต้องว่าจะต้องมีลักษณะเช่นนี้ วัดมหาวันลำพูน กรุของพระรอดนั้นเป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณในเมือง ดังนั้นคราบกรุและขี้กรุที่ติดอยู่ในองค์พระทุกองค์นั้นจะเป็นแบบธรรมชาติ ตามลักษณะของภูมิประเทศ ไม่มีคราบกรุที่เป็นสนิมเหล็กหรือเป็นหินศิลาแลงติดแน่นกับองค์พระ อย่างที่พระปลอมมีกัน ถ้าพระรอดองค์ใดมีคราบกรุเป็นสนิมเหล็กหรือแบบศิลาแลงที่แข็งแคะออกยากให้สงสัยไว้ก่อนว่าไม่ใช่พระรอดของกรุวัดมหาวันอันแท้จริง เพราะในวัดมหาวันหรือบริเวณโดยรอบ ไม่มีชั้นหินหรือชั้นดินดังกล่าวปรากฎอยู่เลย คราบกรุจะเป็นดินดำหรือคราบของปูนก่อปูนฉาบโบราณที่ละลายน้ำเกาะติดอยู่หรือเป็นราดำที่เกิดจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นคราบกรุที่ถูกต้อง จึงต้องทำความเข้าใจให้รู้เรื่องของ ลักษณะของคราบกรุที่ถูกต้องที่ติดอยู่กับองค์พระให้ได้รู้กัน เป็นข้อสังเกตอันหนึ่งที่จะต้องจำไว้ให้ดี ด้านหลังของพระรอดพิมพ์ ใหญ่สีน้ำตาลอมดำองค์นี้อูมนูนพองาม และดูเรียบร้อย มีราดำธรรมชาติติดอยู่ให้เห็นเ ป็นความเก่าของเนื้อหาติดอยู่ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 2 1/2 ซม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.

ภาพที่ 10 พระรอดพิมพ์ใหญ่สีพิกุลที่มีขอบข้างทางขวาขององค์พระเป็นแบบตัดชิด มีปีกทางด้านขวาขององค์พระให้เห็นเพียงเล็กน้อย องค์พระดูชลูดยาว เนื่องจากมีก้นพับที่ยื่นออกไปยังส่วนก้นฐานมาก เรียกกันว่าฐานดาก ก้นฐานนั้นจะพับไปทางด้านหน้า บางทีก็จะเรียกกันว่าเป็นแบบฐานก้นแมงสาป องค์ประกอบต่างๆบนส่นด้านหน้าขององค์พระงดงามและสมบูรณ์แบบด้วยประการทั้งปวง มีหน้าตาหูปากจมูกที่ติดพิมพ์ให้เห็นอย่างชัดแจ้ง โพธิ์ประดับที่เป็นลวดลายประดับทั้งสองข้างนั้นติดพิมพ์อย่างเรียบร้อยทุกช่องจังหวะ เส้นพิมพ์แตกและเส้นน้ำตกนั้นจะแจ้งชัดเจนรวมทั้งโพธิ์ติ่งอันเป็นจุดสำคัญในการดูว่า ถูกต้องหรือไม่ เนื้อหานั้นดูเนียนตาและนวลเนียนหนึกนุ่มตามลักษณะเนื้อดินของพระรอดของกรุวัดมหาวันลำพูนอันแท้จริง ด้านหลังของพระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ ดูแอ่นเล็กน้อยมีเนื้ออูมนูนหนาพองาม มีคราบกรุสีน้ำตาลติดอยู่พอประมาณ ขุดพบที่วัด มหาวันลำพูน กว้าง 1 1/2 ซม. หนา 1 ซม. สูง 3 ซม.

ภาพที่ 11 พระรอดพิมพ์ใหญ่สีดำอันเข้มขลังมีพลังอย่างต็มเปี่ยมในองค์พระอย่างพร้อมมูล เป็นพระสีดำที่งดงามเรียบร้อยในทุกสัดส่วนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เนื้อหามีความละเอียดของเนื้อที่ไม่มีเม็ดกรวดทรายปะปนให้เห็น มีความหนึกนุ่มนวลตาของเนื้ออย่างแท้จริง พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้มีดวงตาที่ใหญ่นุนโปนดูน่าเกรงขามยิ่ง คิ้วเป็นรูปปีกกา ไรพระศกนั้นทอดตัวจากบริเวณเหนือใบหูขวาผ่านกลางหน้าผาก ไปจรดยังเหนือใบหูซ้าย ให้สังเกตตรงกลางของเส้นไรพระศกจะเห็นแอ่งเล็กๆกลมๆอยู่ จุดนี้คือ”อุณาโลม”อันเป็นลักษณะหนึ่งของมหาบุรุษ จุดนี้จะมองเห็นในพระรอดพิมพ์ที่ติดชัดเจนเท่านั้น ตรงส่วนจมูกนั้นหากสังเกตให้ดีจะเห็นมีรูจมูกทั้งสองที่คั่นกลางด้วยดั้งจมูก ซึ่งจุดนี้ไม่มีผู้ใดตั้งข้อสังเกตไว้ จึงนำมาขยายความบอกกล่าวเล่าให้ได้รู้กันไว้ เส้นผ้าปูหรือเส้นใต้ฐานประทับนั้นเป็นเส้นเล็กขนาดเท่าเส้นผม เป็นเส้นสั้นๆนิดเดียว จะติดอยู่เหนือบนฐานชั้นแรกนิดเดียวและจะติดค่อนไปทางด้านซ้ายขององค์พระ ถือเป็นจุดสังเกตสำคัญอีกจุดหนึ่งที่จะต้องดูกันให้ดี ด้านหลังอูมนูนพองามไม่นูนหนามากจนเกินไป มีลายนิ้วมือและคราบกรุรวมทั้งความเก่าแก่ปรากฎให้เห็นว่าเป็นพระกรุที่มีความเก่าแก่ถึงยุคอย่างจริงแท้แน่นอน ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 2 3/4 ซม.

ภาพที่ 12 พระรอดพิมพ์ใหญ่สีพิกุล ที่ตัดขอบข้างค่อนข้างชิด ให้สังเกตทางด้านซ้ายมือขององค์พระริมขอบกินเข้ามาถึงกลุ่มโพธิ์เลยทีเดียว ส่วนทางด้านขวาก็เป็นเช่นกัน จึงทำให้พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ดูค่อนข้างมีเนื้อที่ออกจะบางเบาและชลูดแหลมตรงส่วนปลายบน นำมาแสดงให้ท่านได้เห็นกันในหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการเรียนรู้กันอย่างถูกต้อง องค์ประกอบส่วนอื่นนั้นงามพร้อมด้วยประการทั้งปวง มีหน้าตาหูปากจมูกที่ติดพิมพ์อย่างชัดเจน รวมทั้งลวดลายของกิ่งก้านใบโพธิ์ทุกใบ องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยอย่างสง่างามไม่สึกหรอหรือหักบิ่นในส่วนใดเลย ก้นฐานนั้นเป็นก้นพับไปทางด้านหน้าถูกต้องด้วยประการทั้งปวง ด้านหลังอูมนูนเด่นพอสมควรไม่แบนราบเหมือนกับพระรอดองค์อื่นๆ เนื้อหามีความเก่าแก่และละเอียดสมอายุของพระรอดที่เป็นพระกรุอย่างแท้จริง ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 2 3/4 ซม.

ภาพที่ 13 พระรอดพิมพ์ใหญ่สีเทาดำ ที่มีความงดงามและความเก่าแก่ที่ฟ้องให้เห็นในเนื้อพระและพิมพ์ทรงอันถูกต้องทุกอย่าง เป็นพระที่มีเนื้อที่ไม่แข็ง แกร่งนัก แต่ก็ยังคงสภาพที่สมบูรณ์ไม่หักหรือบิ่นในส่วนใดเลย หน้าตาหูปากจมูกรวมทั้งลวดลายต่างๆนั้นมีอยู่และถูกต้องทุกอย่าง ให้มองเห็นอย่างชัดแจ้งว่าพระรอดที่เป็นพระกรุของวัดมหาวันที่แท้จริงต้องมีเนื้อหาพิมพ์ทรงเป็นลักษณะนี้เท่านั้น คราบกรุติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆติดอยู่พอประมาณ ด้านหลังงามเรียบร้อย มีลายนิ้วมือของผู้กดพิมพ์ให้ได้เห็นอย่างชัดเจน องค์พระดูล่ำสันบึกบึน มีหน้าตาที่ดูเข้มขลัง ดวงตาเห็นชัดทั้งสองข้าง ส่วนจมูกจะดูบานเพราะเป็น ส่วนที่นูนสุงที่สุด จึงถูกครูดในตอนยกขึ้นออกจากพิมพ์พระ ปากเป็นปื้นคล้ายเดือนเสี้ยวที่หงายขึ้น หูทั้งสองข้างเห็นตะขอตรงส่วนปลายแหลมเป็นเงี่ยงเบ็ด ด้ายซ้ายชี้เข้าหากราม ด้านขวาชี้ออกจากองค์พระ อกด้านขวาอูมนูนให้เห็นเป็นนมโดยมีเส้นสังฆาฏิเป็นเส้นแบ่ง และเส้นสังฆาฏินี้จะโค้งเป็นลักษณะตกท้องช้างไม่เป็นเส้นแข็งทื่อ มีความอ่อนช้อยงดงามยิ่งพาดขึ้นไปยังเหนือบ่าซ้าย ลำองค์จะเป็นลักษณะของรูปตัว”วี” ลงมาแล้วกลืนหายไปตรงสะดือ สะดือของพระรอดนั้น จะมีลักษณะเป็นเบ้าตื้นคล้ายหลุมเบ้าขนมครก บางองค์จะเห็นรอบๆขอบของสะดือเป็นวงขอบเล็กๆอย่างน่าตื่นใจในฝีมือเชิงช่างยิ่ง องค์ประกอบต่างๆนั้นลงตัวอย่างสมบูรณ์และถูกต้อง ดูไม่ขัดตาเลย ให้ท่านลองพิจารณาตามที่กล่าวมานี้ เพื่อให้ได้รู้กันอย่างลึกซึ้งและเข้าใจกัน ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 2 3/4 ซม. ขุดพบที่วัดมหาวันลำพูน.

ภาพที่ 14 พระรอดพิมพ์ใหญ่สีพิกุลอมชมพู ที่มีเนื้อหานวลเนียนตาเป็นที่ยิ่ง ที่มีเนื้อเกินเกือบโดยรอบขององค์พระโดยเฉพาะด้านล่างทางเบื้องขวาขององค์พระที่มีเนื้อเกินเป็นก้อนหนา พับเข้าหาฐานทาง ด้านขวานี้ นอกจากนี้โดยรอบของด้านข้างนั้นก็มีเนื้อเกินที่เป็นปีกยื่นออกมาให้ได้เห็น ดูก็แปลกตาอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในพระรอดองค์อื่นๆ แต่ทว่า พระรอดที่มีเนื้อเกินแบบนี้กลับเป็นที่นิยมชื่นชอบของนักเลงพระรุ่นคุณปู่ในสมัยก่อน เพราะถือกันว่ามีพระที่เป็นลักษณะนี้นั้นจะนำความมีโชคลาภมาให้ได้ติดตามตลอดเวลาอย่างชนิดที่ กินหรือใช้ไม่หมด ที่ภาษาถิ่นเขาเรียกกันว่า “กิ๋นบ่ะเสี๊ยง”เลยทีเดียว แต่นี่ เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อของแต่ละบุคคลซึ่งเราก็ไม่ว่ากัน พุทธศิลป์ของพระรอดกรุวัดมหาวันลำพูนนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นพุทธศิลป์ชั้นสูงที่มีความงดงามและความลึกซึ้งในทางศิลปะอย่างแท้จริง องค์พระเป็นองค์ขนาดเล็กเท่าปลายนิ้วก้อย แต่สามารถบรรจุรายละเอียดทุกๆอย่างที่มีความหมายให้ได้อ่านและเรียนรู้กัน ได้อย่างลึกซึ้งและประหลาดล้ำไม่ว่าจะเกี่ยวพันทั้งในเรื่องตำนาน ประวัติศาสตร์ ศิลปะของพุทธศิลป์ รวมทั้งเรื่องราวของศาสนาได้อย่างลึกซึ้ง ที่ยากจะมีในองค์พระชนิดอื่นใด นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับผู้ที่นิยมสะสมโดยแท้ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 1/2 ซม. หนา 1 ซม. ขุดได้ในบริเวณวัดมหาวันลำพูนนานมาแล้ว.

ภาพที่ 15 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์กลางสีดำอมน้ำตาลที่มีเนื้อหาอันละเอียดหนึกนุ่มเช่นเดียวกับพระรอดพิมพ์ใหญ่ ที่ได้ผ่านหูผ่านตากันไปแล้วถึง 14 องค์ ให้ท่านลองเปรียบเทียบกันดู ว่าจะมีความเหมือนและแตกต่างกันเช่นใด พระรอดพิมพ์กลางนั้นเป็นพระรอดที่หาดูยาก ไม่มีปรากฎให้พบเห็นกันมากนัก พุทธลักษณะเป็นพระประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชรตามลักษณะของพุทธศิลป์หริภุญไชย รูปร่างอวบอ้วนค่อนข้างจะเจ้าเนื้อ ลวดลายที่เป็นโพธิ์ประดับรอบๆองค์พระนั้นจะเต็มทั้งสองข้าง เรียกได้ว่าติดพิมพ์อย่างสมบูรณ์แบบ เศียรพระค่อนข้างจะใหญ่อันเป็นอิทธิพลของพุทธศิลป์ทวารวดีที่มีอิทธิพลแฝงอยู่ ก้านโพธิ์ที่แบ่ง กลุ่มโพธิ์ก้านบนสุดนั้นจะเบี่ยงหลบเกศไปทางขวาขององค์พระเล็กน้อย องค์พระประทับนั่งบนฐานสามชั้น ฐานชั้นบนสุดนั้นจะหนากว่าฐานชั้นอื่นๆ ฐานชั้นกลางจะเล็กสุด ฐานชั้นล่างจะเป็นฐานขนาดกลาง ตรงส่วนของก้นฐานนั้นจะเป็นก้นยื่นหรือเรียกกันว่าฐานดาก หรือฐานแบบก้นแมงสาป ซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของพระรอดพิมพ์กลางที่ถูกต้อง ตรงกึ่งกลางของบริเวณใต้คาง จะเห็นเป็นเส้นนูนลากลงมาจนถึงส่วนบนของหน้าอก เรียกกันว่าเส้นเอ็นคอ เป็นจุดสำคัญที่ใช้เป็นจุดสังเกตที่จะต้องจำเอาไว้ ตรงซอกแขนขวาขององค์พระใต้รักแร้ที่เชื่อมต่อกับส่วนปลายของเส้นสังฆาฏิ จะมีเนื้อเกินเป็นขีดสองขีดจรดกับลำแขนขวา นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นจุดสังเกตในการดูพระรอดพิมพ์กลาง ด้านหลัง อูมนูนเด่นพองามดูเรียบร้อย อย่างน่านิยม มีราดำธรรมชาติเกาะติดอยู่ทั่งทั้งด้านหลังเป็นหย่อมๆ ก้นฐานยื่นลงไปด้านล่าง เป็นพรรอดพิมพ์กลางที่งามสมบูรณ์อย่างที่สุด ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 1 ซม. สูง 2 3/4 ซม. ขุดพบในบริเวณวัดมหาวันลำพูน.

ภาพที่ 16 พระรอดพิมพ์กลาง ที่งามสุดๆเท่าที่ได้พบเห็นกันมา เป็นสุดยอดของพระรอดพิมพ์กลางของพระรอดกรุวัดมหาวันลำพูนโดยแท้ ที่มีองค์ประกอบในทุกสัดส่วนขององค์พระที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบเป็นที่สุด ซึ่งจะหาพบในที่แห่งใดไม่มีอีกแล้ว หน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์อย่างชัดเจน มีความคมชัด ทำให้เกิดจินตภาพว่าช่างในสมัยโบราณเก่าก่อนนั้นช่างมีอารมณ์อันสุนทรีย์ในการสรรสร้างองค์พระองค์เล็กเท่าปลายนิ้วก้อย ให้ออกมาให้เห็นอย่างสมบูรณ์แบบเป็นที่สุด ทั้งๆที่เครื่องไม้เครื่องมือในการรังสรรค์ผลงานนั้นไม่มีพร้อมอย่างเช่นในปัจจุบัน แต่ผลงานที่ปรากฎออกมานั้นเรียกได้ว่าสุดยอดอย่างน่าประทับใจยิ่ง องค์พระประทับนั่งอย่างสง่างาม ดวงตาที่นูนโตเหลือบมองต่ำ จมูกบานเล็กน้อย ปากเป็นปื้นคล้ายจันทร์เสี้ยวที่หงายขึ้นอย่างได้ อารมณ์ เส้นสายรายละเอียดต่างๆรวมทั้งเนื้อหาบ่งบอกถึงความเก่าแก่ของอายุเนื้อดิน คราบกรุสีขาวขุ่นติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆอย่างเบาบาง ทำให้องค์พระมีความซึ้งตาซึ้งใจเกิดขึ้นอย่างประหลาด พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้มีสีสันเป็นสีพิกุลออกแดง ด้านหลังราบเรียบ ไม่มีรอยบิ่นหรือแตกหักหรือสึกหรอในส่วนใดเป็นพระรอดที่งดงามอย่างสมบูรณ์เต็มร้อย ก้นฐานเป็นก้นยื่นพับไปทางด้านหน้า ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 3 ซม. หนา 3/4 ซม.

ภาพที่ 17 พระรอดพิมพ์เล็กสีดำอันเข้มขลัง เต็มไปด้วยพลังอันแฝงอยู่อย่างลึกลับ ชวนมองและชวนติดตาตรึงใจเป็นที่ยิ่ง พระรอดพิมพ์เล็กของกรุวัดมหาวันลำพูนสีดำที่งามพร้อม ดังเช่นองค์ที่ท่านกำลังชมอยู่นี้พบเห็นได้อย่างยากเย็นแสนเข็ญ ไม่มีให้ได้เห็นในที่แห่งใดเลย องค์ประกอบต่างๆในองค์พระมีอยู่อย่างสมบูรณ์แบบเป็นที่สุด ทั้งหน้าตาหูปากจมูกรวมทั้งเนื้อหาที่นวลเนียนตาหนึกนุ่มเป็นที่สุดของเนื้อพระ ดวงตานูนโปนออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด จมูกบานพองามปากเป็นปื้นนูนเด่นขึ้นมา พระรอดพิมพ์เล็กมีจุดสังเกตตรงใต้คางตรงใต้กรามซ้ายจะปรากฎเป็นเส้นเล็กๆเรียกว่าเส้นเอ็นคอ เป็นจุดสังเกตจุดหนึ่งที่ควรจดจำไว้ ตรงปลายเกศทางด้านซ้ายมีโพธิ์ติ่งเป็นเม็ดติดอยู่ ตรงข้างหูทางด้านซ้ายจะมีโพธิ์ติ่งอีกเม็ดหนึ่งปรากฎให้เห็นเป็นจุดสังเกต ฐานของพระรอดพิมพ์เล็กนี้จะมีความแตกต่างกับพระรอดพิมพ์อื่นอย่างสิ้นเชิง คือฐานด้านล่างจะขยุ้มตรงกลางขึ้น ทำให้ฐานทั้งสองข้างเป็นจีบ ก้นฐานจะเป็นก้นพับ บนฐานประทับชั้นแรกจะมีเส้นผ้าปูนั่งเป็นเส้นเล็กๆเท่าเส้นผมเป็นเส้นสั้นๆไม่ยาวนัก ที่เรียกกันว่าผ้าปูนั่ง ทุกๆอย่างในองค์พระรอดพิมพ์เล็กองค์นี้มีความสมบูรณ์เต็มร้อย ด้านหลังงามเรียบร้อยมีรอยนิ้วมือและคราบกรุเดิมๆปรากฎให้เห็น เป็นความซึ้งตาซึ้งใจในความเป็นพระกรุแท้ๆให้ได้เห็นอย่างเต็มตา ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 1ซม. สูง 2 3/4 ซม. ขุดพบได้ที่วัดมหาวันลำพูนนานแสนนานมาแล้ว.

ภาพที่ 18 พระรอดพิมพ์กลางสีพิกุลอีกองค์หนึ่งที่มีหน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์ชัดเจน เป้นพระรอดเนื้อดินที่มีสีสันสว่างกระจ่างแจ้ง มีความเหี่ยวย่นของเนื้อพระให้เห็นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง องค์ประกอบในทุกสัดส่วนนั้นมีอยู่อย่าง พร้อมมูล องค์พระมีความสง่างามมาก สามารถนำไปเป็นตัวอย่างและแม่แบบของการแสวงหาพระรอดพิมพ์กลางกันได้อย่างถูกต้อง ด้านหลังอูมนูนพอประมาณ มีสีสันของเนื้อว่านที่เป็นสีดอกมะขามให้เห็นตรงกลางที่เป็นรอยสึกชัดเจน มีคราบกรุสีดำติดอยู่บนรอยลายนิ้วมือที่ปรากฎ แสดงถึงความเก่าแก่ของเนื้อหาที่ถึงยุคอย่างแท้จริง ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 3 ซม. หนา 3/4 ซม. ขุดได้ในบริเวณวัดมหาวันลำพูน.

ภาพที่ 19 พระรอดพิมพ์ตื้นสีดำกรุวัดมหาวันลำพูน ที่มีเนื้อหาละเอียดอ่อนดูหนึกนุ่มตาเป็นที่สุด ตามที่กล่าวกันมาแล้วว่าพระรอดสีดำนั้นเป็นพระรอดสีที่มีน้อยและหายากมากที่สุด ในวันนี้จึงได้นำมาให้ท่านได้ชมกันอย่างเต็มอิ่มทุกพิมพ์ เพื่อเป็นการเรียนรู้และให้ได้ทราบกันว่าพระรอดสีดำนั้นมีจริงและเป็นของแท้แน่นอน สามารถพิสูจน์และชี้ชัดได้อย่างถูกต้องด้วยเหตุและผลที่มีอยู่อย่างพร้อมมูลทุกประการ เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่ไม่เคยได้รู้และเข้าใจ จะได้เข้าใจกันอย่างถูกต้องต่อไป พระรอดพิมพ์ตื้นนั้นทุกสัดส่วนและทุกจุดในรูปลักษณ์ขององค์พระจะตื้นไปทั้งหมด ส่วนที่พอจะติดพิมพ์ชัดมากกว่าเพื่อนก็คือตรงส่วนใบหน้า นอกนั้นจะดูตื้นกันไปหมด ลวดลายของโพธิ์ประดับนั้น จะเป็นโพธิ์ประดับที่เป็นโพธิ์ประดับแถวเดียว ไม่มีโพธิ์คู่อยู่เลย ให้ท่านลองพิจารณาดูตามนี้ก็จะเข้าใจดี ฐานประทับจะเป็นแบบเดียวกันกับพระรอดพิมพ์ใหญ่ แต่ติดไม่ชัดเจนเท่ากับพระรอดพิมพ์ใหญ่ บางคนเขาจะเรียกพระรอดพิมพ์นี้ว่า “พระรอดพิมพ์ใหญ่ตื้น” ซึ่งก็พอจะสมจริงดังที่เรียกกันดังกล่าว พระรอดพิมพ์ตื้นแบ่งออกเป็นสองบล๊อก สำหรับพระรอดพิมพ์ตื้นสีดำองค์นี้เป็นบล๊อกที่มีพิมพ์แตกเป็นตัวหนอนสองขยักตรงส่วนเหนือหูซ้ายขององค์พระ ส่วนอีกพิมพ์หนึ่งมีตัวหนอนแตกออกเป็นสามขยักในแนวเดียวกัน เป็นจุดสังเกตที่ทำให้ได้ทราบว่าเป็นพิมพ์ของบล๊อกไหน เส้นผ้าปูนั่งหรือเส้นใต้ฐานและสะดือติดอย่างลางเลือนจนเกือบมองไม่เห็น สมกับได้ชื่อว่าพิมพ์ตื้นจริงๆ ด้านหลังงามเรียบร้อยไม่มีจีบหรือเป็นคลื่น หรือรอยหยักอย่างไรมีคราบกรุและลายนิ้วมือปรากฎให้เห็น ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 3/4 ซม. หนา 3/4 ซม. ขุดได้ในบริเวณวัดมหาวันลำพูน.

ภาพที่ 20 พระรอดพิมพ์กลางอีกองค์หนึ่งที่มีความงดงาม มีหน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์อย่างจะแจ้งชัดเจน สีสันดูสดใสมองเห็นทุกจุดขององค์พระที่มีองค์ประกอบของพุทธศิลป์อย่าง จริงแท้แน่นอน หูทั้งสองติดพิมพ์ ดวงตาที่นูนเหมือนดังเม็ดงาวางอยู่ มีกระจังหน้าวิ่งตามกรอบของใบหน้าแบ่งให้เห็นส่วนของเศียรที่เหมือนฝาชีครอบบนเศียร องค์พระประทับนั่งงามสง่าราวกับพระองค์ประธานในวิหารใหญ่ บนฐานประทับสามชั้น มีผ้าปูนั่งเป็นเส้นเล็กสั้นๆที่เป็นจุดสังเกตอันสำคัญให้จดจำแหล่งที่ตั้งวางไว้อย่างลงตัว พระรอดพิมพ์กลางองคืนี้มีความสะอาดเรียบร้อย ไม่มีคราบกรุหรือขี้กรุติดให้เห็น เป็นพระเนื้อแกร่งที่ถูกล้างเอาคราบกรุขี้กรุออกจนหมดสิ้น ด้านหลังงามเรียบร้อยและแบนราบมีลายนิ้วมือปรากฎให้เห็นพองาม ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 1 ซม. สูง 2 3/4 ซม. ขุดพบในบริเวณวัดมหาวันลำพูนนานแสนนานมาแล้ว.

ภาพที่ 21 เป็นพระรอดพิมพ์ต้อกรุวัดมหาวันลำพูนที่มีสีสันเป็นสีดำอันเข้มขลัง งดงามเป็นที่ยิ่ง ทุกสัดส่วนขององค์พระสมบูรณ์อย่างเรียบร้อยไม่มีหักบิ่นหรือเสียหายในส่วนใด พระรอดพิมพ์ต้อเป็นพระรอดพิมพ์ที่ได้รับความนิยมของบรรดานักเลงพระในสมัยก่อน เพราะถือกันว่ามีเศียรที่ใหญ่โต ป้อมเหมือนกับพระสมัยทวารวดี พุทธศิลป์ขององค์พระรอดพิมพ์ต้อนี้สังเกตให้ดีจะมีอิทธิพลของศิลปะทวารวดีผสมปนเปอยู่ในองค์พระอย่างจริงแท้ โดยสังเกตได้จากเศียรที่ค่อนข้างใหญ่ ลำตัวจะล่ำ สันล่ำต้อ ดูบึกบึนเช่นเดียวกับพระพุทธรูปของศิลปะทวารวดี การห่มจีวรนั้นก็จะเป็นแบบรัดรูปจนเห็นเป็นการห่มแบบแนบเนื้อ มือเท้าจะดูใหญ่เกินตัว ซึ่งสิ่งดังกล่าวมีอยู่ในองค์พระศิลปะทวารวดีอย่างจริงแท้ ให้ท่านลองพิจารณาดูดังที่กล่าวไว้ พระรอดพิมพ์ต้อสีดำนั้นเป็นพระรอดที่หายากกว่าสีอื่นใด ความงดงามของพระรอดพิมพ์ต้อองค์นี้เต็มร้อยทั้งเนื้อหาพิมพ์ทรงและจุดสังเกตต่างๆอย่างสมบูรณ์ เนื้อหานั้นละเอียด นวลเนียนหนึกนุ่มตามแบบฉบับของพระรอดกรุวัดมหาวันทุกพิมพ์ ลวดลายของกลุ่มโพธิ์ประดับนั้นจะมีโพธิ์คู่อยู่เพียงคู่เดียวตรงด้านบนขวาขององค์พระเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นโพธิ์เดี่ยวทั้งหมด ด้านหลังงามเรียบร้อยมีลายนิ้วมือปรากฎให้เห็นและมีความเหี่ยวย่นของเนื้อหาอันมีอายุเก่าแก่นับพันๆปี ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 1/4 ซม. หนา 3/4 ซม. ขุดพบได้ที่วัดมหาวันลำพูน.

ท่านได้ชมพระรอดพิมพ์ใหญ่และพระรอดพิมพ์ต่างๆของกรุวัดมหาวันลำพูนอันแท้จริง พร้อมทั้งคำอธิบายในพระทุกองค์ที่นำมาแสดงให้ท่านได้เรียนรู้กัน เพื่อความเข้าใจกันอย่างถูกต้อง ซึ่งพระรอดที่นำมาแสดงทั้งหมดดังกล่าวเป็นของผู้เขียน ซึ่งได้เก็บสะสมและทำการศึกษามาเป็นเวลานนานแสนนาน ไม่ได้หยิบยืมมาจากผู้ใดทั้งสิ้น โดยผู้เขียนซึ่งเป็นคนเมืองลำพูนโดยกำเนิด ได้ทำการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ที่ถูกต้องเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระกรุต่างๆของพระชุดสกุลลำพูนอีกมากมายที่ไม่ได้รับการเผยแพร่กันมาก่อน ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเผยแพร่ต่อไป โปรดคอยติดตามได้ในหน้าเว็บนี้ ได้ต่อไป จนกว่าจะพบกันอีก สวัสดี.