“พระพิมพ์กรุเมืองสุพรรณบุรี” ตอนที่ 2 โดยสำราญกาญจนคูหา
โทร 053 – 530148 086 – 9184300
(หอศิลปะพระเครื่องเมืองลำพูน. )

ทำดีรักดี ย่อมมีผลดีไปทั่ว ก่อกรรมทำชั่วได้ชั่วตอบแทนทุกคน
ทำดีรักดีโชคดีมีผล ทำชั่วได้ชั่วทุกคน ไม่พ้นผลกรรมซ้ำเติม.

ในตอนที่ 1 ของพระพิมพ์กรุเมืองสุพรรณบุรีนั้น ได้กล่าวถึงพระขุนแผนบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ สุพรรณบุรีกันไปแล้ว ในครั้งนี้จะมาเล่าถึงพระชุดสำคัญที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อนเก่า นานแสนนาน และเกือบจะลืมเลือนกันไปในยุคปัจจุบัน พระพิมพ์ชุดสำคัญดังกล่าวนี้คือ”พระชุดกิมตึ๊ง” ที่เป็นพระเนื้อดินเผาอันได้รับความนิยมอย่างสูงสุด สืบเนื่องจากพุทธคุณอันเข้มขลัง และมีประสบการณ์อันสูงส่ง จนเป็นที่กล่าวขวัญและเสาะแสวงหากันไปทั่ว ในยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 ในยุคสมัยของพระองค์ท่านนั้นได้มีการสะสมของใช้ต่างๆที่เป็นถ้วยโถโอชาม และชุดเบญจรงค์อันงดงามที่ได้สั่งจากต่างประเทศ เช่นจากประเทศจีน หรือจากประเทศในแถบยุโรป และได้มีการสะสมโต๊ะประดับมุกต่างๆหลายรูปแบบ เช่นโต๊ะหมู่บูชา โต๊ะรับแขก โต๊ะกินข้าว โต๊ะนานาประสงค์ ซึ่งแต่ละอย่างจะประดับด้วยมุกกันอย่างสวยงาม มีการประกวด การตั้งโต๊ะหมู่บูชา ในพระราชพิธี มหาสมณุตตมาภิเศก สถาปนาสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ ณวัดบวรนิเวศ เมือปี พ.ศ. 2436 ที่ถือว่าเป็นการประกวดครั้งยิ่งใหญ่ ที่สุดแห่งยุคเลยทีเดียว

มีผู้ส่งเข้าประกวดกันอย่างมากมายรายรอบบริเวณวัดบวรนิเวศกันอย่างแน่นหนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.5 เสด็จทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง และทรงพระราชทานรางวัลแก่บรรดาพ่อค้าวานิช ที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายเป็นพุทธบูชา มีโต๊ะหมู่บูชาชนิดหนึ่งเป็นโต๊ะหมู่บูชาขนาดกลางประดับมุกอย่างสวยงามเรียกกันว่า “แบบกิมตึ๊ง” ได้รับรางวัลพิเศษและได้รับพระราชทานเหรียญตั้งโต๊ะลักษณะแบบเงินอีแปะจีนแต่เป็นภาษาไทยออกแบบคล้ายอักษรจีน ความงดงามในรูปแบบของการตั้งโต๊ะ และการประดับลวดลายของสกุลช่างที่ติดมุกงดงามมากในชุดกิมตึ๊ง อันเป็นชุดพิเศษที่พระยาโชดึกราชเศรษฐี สั่งเข้ามาในประเทสสยามในอดีต ชุดกิมตึ๊งได้รับความนิยมกันมากและกลายเป็นชุดที่ฝังจิตฝังใจของนักนิยมสะสมของสวยของงามในเวลานั้นเป็นที่ยิ่ง คำว่า “ชุดกิมตึ๊ง” จึงโด่งดังมากในยุคนั้น ใครๆก็ปรารถนาจะได้เป็นเจ้าของโต๊ะมุกชุดกิมตึ๊ง และนี่คือที่มาของคำว่า “กิมตึ๊ง” อันเกิดขึ้นในสมัยของรัชกาลที่ 5 ในเวลานั้น


สำหรับพระพิมพ์ก็เป็นของที่นิยมสะสมกันอย่างหนึ่ง และพระพิมพ์ที่เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมากกันในยุคนั้นก็คือ “พระขุนแผนไข่ผ่า” อันเป็นพระพิมพ์ที่ขุดพบได้ที่วัดพระรูปที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนทางทิศตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี พระขุนแผนไข่ผ่านี้บางคนเขาก็เรียกว่า “พระขุนแผนแบบแตงผ่าซีก” แต่ที่ติดปากกันนั้นก็คือ”พระขุนแผนไข่ผ่า”ซึ่งปัจจุบันนี้ยังเป็นที่นิยมสะสมกันอยู่เนื่องจากมีพุทธคุณสูงทางมหาเสน่ห์ เมตตามหานิยมและแคล้วคลาด เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของ โดยแท้ เวลานั้นพระผงสุพรรณยังไม่ได้รับความนิยมเท่า และเป็นไปอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นเพชรเม็ดงามในยุคนั้นก็คือ “พระขุนแผนไข่ผ่า” ในเวลาเดียวกันก็มีการขุดพบพระที่สำคัญจากกรุวัดพระรูป วัดพลายชุมพล เป็นพระพิมพ์ที่มีขนาดย่อมกว่า เนื่องจากพระพิมพ์ขนาดเล็กที่ขุดพบนี้ มีเป็นชุด และเวลานั้นชาวเมืองสุพรรณบุรีต่างก็มีความนิยมกันในทางบทกลอนต่างๆเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะบทกลอนที่เป็นเรื่องราวของเรื่อง”ขุนช้างขุนแผน” อันเป็นนิทานพื้นบ้านที่เล่าสืบต่อกันมาและเป็นนิทานประจำถิ่นของเมืองสุพรรณบุรี เมื่อชาวบ้านชาวเมืองต่างหายใจกันเป็นบทกลอน พระพิมพ์ทั้งสี่ที่เป็นชุดจึงถูกเรียกชื่อกันอย่างคล้องจองต้องกันอย่างไพเราะว่า “สี่กร” มอญแปลง “ ปรกชุมพล” ประคำรอบ” ถือกันว่าเป็นพระชุดเดียวในเมืองไทย ที่ถูกเรียกชื่อกันอย่างคล้องจองอย่างไพเราะเป็น ตับโคลงกลอนที่ต้องจดจำกันไว้ เป็นเวลาเดียวกันกับที่ทางเมืองกรุงนั้นกำลังนิยมโต๊ะหมู่บูชาประดับมุก ที่ได้รับรางวัลและเรียกกันว่า “ชุดกิมตึ้ง พระพิมพ์ทั้งสี่ที่เป็นพระยอดนิยมชุดนี้จึงพลอยถูกเรียกกันว่า “พระชุดกิมตึ๊ง”ตามไปด้วยจนถึงปัจจุบันนี้. สำหรับพระชุดกิมตึ๊งอันประกอบไปด้วย “พระสี่กร”นั้นมีพุทธศิลป์ที่มองเผินๆจะเห็นกรหรือแขนนั้นเป็นสี่กร แต่ความจริงแล้วเป็นคล้ายกับว่าแม่พิมพ์นั้นเคลื่อน หรือจะจงใจทำให้เป็นลักษณะนั้น ก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้

“พระมอญแปลง” มีพุทธศิลป์ที่เป็นลักษณะของมุ่นมวยผมที่มองดูคล้ายกับคนชาวมอญโพกผ้า อันตรงกับวรรณคดีขุนช้างขุนแผนตอนพลายชุมพลปลอมตัวเป็นมอญใหม่ “พระประคำรอบ”มีพุทธศิลป์และลวดลายประดับเป็นเม็ดบัวกลมเป็นเม็ดเล็กๆล้อมรอบองค์พระเหมือนกับซุ้มรัศมี เป็นเส้นสายคล้ายสายของลูกประคำ จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อกันดังว่า “พระปรกชุมพล”นี้คือพระนาคปรกนั่นเองแต่เพื่อให้เข้ากันกับพระอีกสามองค์เพื่อให้สอดคล้องกันตามวรรณคดีที่กล่าวถึงหนุ่มน้อยรูปงามผู้เป็นลูกชายของขุนแผนกับนางวันทองคือพลายชุมพล จึง เรียกชื่อว่าดังนั้น การเล่นสะสมของเก่านั้นต้องถือค่านิยมที่ยึดถือกันมาแต่โบราณกาลเป็นเรื่องสำคัญ จึงจะเกิดคุณค่าและความภาคภูมิใจและมีความขลังอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นความรู้สึกอันทำให้เกิดความอิ่มเอมใจ อันเป็นโอสถวิเศษที่หาไม่ได้ในโลกธรรมดากัน เป็นที่น่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่ได้ลืมเลือนสิ่งเหล่านี้จนเกือบจะไม่หลงเหลือให้ได้เห็นกันอีกแล้วในปัจจุบัน เรามาชมภาพของพระเนื้อดินอันมีชื่อเสียงลือลั่นกันในอดีตคือพระชุดกิมตึ๊งกันดีกว่า

ภาพที่ 1 เป็นภาพของ”พระสี่กร”ที่เป็นพระเนื้อดินสีพิกุลที่มีเนื้อดินที่ดูละเอียด มีความหนึกนุ่มนวลตา อยู่ในเนื้อพระอย่างน่านิยมยิ่ง องค์พระประทับนั่งปางสมาธิราบบนฐานราบ ที่ยาวออกไปทางด้านข้าง ฐานราบนี้ตั้งอยู่บนโคนหรือบนตอ พุทธศิลป์นั้น มีส่วนคล้ายกันกับพระขุนแผนใบพุทราวัดใหญ่ชัยมงคลอยุธยา เพียงแต่ว่าองค์ประกอบโดยรวมของพื้นผนังของพระสี่กรนี้ จะเรียวยาวเหมือนกับใบไม้อย่างอื่นไป. ด้านหลังอูมนูนสวยพองาม หากพิจารณาดูจะมีเค้าเป็นลักษณะของพระขุนแผนอย่างใกล้เคียงมาก การขุดพบนั้นขุดได้ที่กรุวัดพระรูปจังหวัดสุพรรณบุรี ขนาดกว้าง 2 1/4 ซม. หนา 1 ซม. สูง 3 1/2 ซม.

ภาพที่ 2 เป็นภาพของ”พระมอญแปลง “ เนื้อดินสีแดงอมชมพู องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ที่แตกต่างจากการประทับของพระพิมพ์สี่กรที่เป็นแบบมารวิชัยขัดสมาธิราบ รูปลักษณ์มีลักษณะคล้ายไข่ผ่าซีก ประทับนั่งบนฐานราบสามชั้น โดยรอบขององค์พระจะมีเส้นซุ้มคล้ายเส้นลวดหนา มีหักมุมสองขยัก และส่วนปลายของส่วนบนสุดจะชนกันตรงส่วนที่ถือว่าเป็นส่วนบนที่ดูเรียวแต่ปลายมน มีขอบนอกอีกชั้นหนึ่ง ที่เป็นเนื้อนูนหนาขึ้นมารองรับ ด้านหลังอูมนูน แต่ส่วนล่างสุดเป็นแผ่นแบนราบ วางราบกับพื้นได้อย่างไม่โครงเครง องค์พระห่มจีวรแบบห่มคลุม กว้าง 2 1/4 ซม. หนา 1/2 ซม. สูง 3 3/4 ซม. ขุดได้ที่กรุวัดพลายชุมพลจังหวัดสุพรรณบุรี

ภาพที่ 3 “พระประคำรอบ” กรุวัดพลายชุมพล จ.สุพรรณบุรี เป็นพระกรุที่มีเนื้อจัด ที่ดูเข้าตาอย่างเข้มขลังเต็มไปด้วยพลังเต็มเปี่ยม มีคราบกรุและขี้กรุติดอยู่ทั่วองค์พระ เนื้อขององค์พระมีความเนียน หนึกนุ่ม มีความเก่าแก่ของเนื้อพระที่ฟ้องออกมาให้ได้เห็นอย่างน่านิยมเป็นที่ยิ่ง ลักษณะโดยรวมจะเป็นรูปกลมแบนคล้ายกับใบพุทราที่ไม่มีก้านใบ องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ รอบๆองค์พระนั้นมีเส้นซุ้มรัศมีล้อมโดยรอบ ตรงส่วนของนอกกรอบของเส้นซุ้มรัศมี มีเม็ดกลมของบัวเม็ดเรียงรายเป็นเส้นสาย คล้ายสายลูกประคำ โดยรอบอีกชั้นหนึ่ง อันเป็นที่มาของชื่อ “พระประคำรอบ นอกกรอบของลูกประคำรอบนั้นเป็นขอบที่กว้างออกไปพองาม ตรงส่วนที่เป็นฐานประทับนั้น ทำเป็นกลีบบัวประดับสลับกันไปมาอย่างน่าดูทั้งด้านล่างและด้านบน อย่างมีศิลป์ดูงดงามไปอีกแบบหนึ่ง พระประคำรอบองค์นี้มีขนาดกว้าง 3 ซม. หนา 1/2 ซม. สูง 4 ซม. ขุดพบที่กรุวัดพลายชุมพล จ.สุพรรณบุรี.

ภาพที่ 4 “ พระปรกชุมพล”กรุวัดพลายชุมพลจังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อพระมีความหนึกนุ่มนวลตา เป็นเนื้อพระขนาดปานกลางคือไม่หยาบหรือละเอียดมาก อันเป็นแบบฉบับของเนื้อพระของกรุวัดทางภาคกลางที่จะมีเอกลักษณ์เป็นไปในลักษณะนี้ องค์พระประทับนั่งปางขัดสมาธิราบบนฐานสามชั้น มีพญานาคเจ็ดเศียรแผ่พังพานปกป้ององค์พระ การห่มจีวรเป็นการห่มแบบห่มคลุมซึ่งเป็นอิทธิพลของศิ ลปะทวารวดี ด้านหลังอูมนูนพองาม พระปรกชุมพลองค์นี้มีความสมบูรณ์แบบทุกส่วนไม่หักหรือบิ่นในส่วนใดเลย ขนาดกว้าง 2 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 3 1/2 ซม.

ภาพที่ 5 “พระประคำรอบ” เป็นพระชุดกิมตึ๊งอีกองค์หนึ่งที่มีความงดงามเต็มร้อย ทั้งเนื้อหาพิมพ์ทรง ที่ดูนวลเนียนตาอย่างน่านิยมรวมทั้งความเก่าแก่ของเนื้อ ที่มีคราบกรุและขี้กรุเดิมๆให้เห็นเป็นประจักษ์แก่ตา ปัจจุบันจะหาพระกรุชนิดนี้ทั้งชุดนั้นเป็นเรื่องที่ยากแสนยากไปแล้ว และบรรดานักนิยมพระรุ่นใหม่ต่างก็ไม่รู้จักกัน เนื่องจากไม่ได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้และทราบกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากแสนยาก เนื่องด้วยผู้ที่รู้เรื่องและเป็นผู้ที่สันทัดกรณีย์ต่างก็ได้ละจากกันไป จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องนำพระที่มีคุณค่าและมีความเก่าแก่อัยผูกพันถึงเรื่องราวต่างๆอันเป็นตำนานของชาติมานำเสนอให้รู้กันไว้เพื่อจะได้เป็นประโยชน์กันในวันข้างหน้าต่อไป พระประคำรอบองค์นี้มีขนาดกว้าง 3 ซม. หนา 1/2 ซม. สูง 4 ซม. ขุดพบที่วัดพลายชุมพล สุพรรณบุรี.

ภาพที่ 6 “พระขุนแผนไข่ผ่าซีก” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า”พระขุนแผนแบบแตงกวาผ่าซีก” เป็นพระพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 จวบจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้ที่ต้องการ และแสวงหากันอย่างไม่เสื่อมคลาย ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของพระกรุอีกพิมพ์หนึ่ง ที่เป็นอมตะของพระกรุอันเข้มขลังที่เต็มไปด้วยพลังอันศักดิ์สิทธิ์โดยแท้จริง พระขุนแผนไข่ผ่านี้ขุดพบที่วัดพระรูปจังหวัดสุพรรณบุรีเมืองแห่งวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผนอันลือเลื่อง” ไปทั่วฟ้าเมืองไทย สำหรับพุทธคุณนั้นดีไปทางเมตตามหานิยมคล้วคลาด ผู้คนนิยมรักใคร่ องค์พระมีขนาดใหญ่พองามเหมาะสำหรับเป็นพระองค์ประธานของสร้อย พอดี พระขุนแผนไข่ผ่าองค์ที่ท่านกำลังชมอยู่นี้เป็นพระที่มีเนื้อสีแดงอันเข้มขลัง เนื้อหามีความเก่าแก่ที่ฟ้องออกมาให้เห็นอย่างเต็มตัว เป็นพระแท้ที่ดูง่ายและมีความสมบุรณ์แบบในทุกสัดส่วน องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานบัวชั้นเดียว ภายใต้ซุ้มที่มีบัวหัวเสาเป็นลายกนกรองรับ ขนาดกว้าง 3 ซม. หนา 1 ซม. สูง 5 1/2 ซม.

ภาพที่ 7 เป็นพระขุนแผนไข่ผ่าเนื้อดินเผาของกรุวัดพระรูป สุพรรณบุรีอีกองค์หนึ่งที่มีสีเป็นสีพิกุลออกสีเนื้อ เนื้อพระมีความเนียนหนึกนุ่มนวลตาอย่างน่าสนใจยิ่ง มีหน้าตาให้เห็นพองาม องค์พระถูกใช้จึงมีความเนียนของเนื้อหาเกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นพระกรุเก่าได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ด้านหลังอูมนูนมองเห็นนื้อพระที่เคยถูกต้องกับการสำผัส ทำให้เกิดความเนียนของเนื้อพระเกิดขึ้น ให้เป็นกรณีย์ศึกษากันอีกแบบหนึ่ง ว่าพระกรุอันแท้จริงนั้นจะต้องมีเนื้อหาเป็นแบบนี้ พระขุนแผนไข่ผ่าองค์นี้กว้าง 2 3/4 ซม. หนา 1 ซม. สูง 5 ซม.

ภาพที่ 8 เป็นภาพของ พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกเล็ก กรุวัดบ้านกร่าง เมืองสุพรรณบุรี อันมีความงดงามและสมบูรณ์เต็มร้อย มีหน้าตาหูปากจมูก รวมทั้งลวดลายประดับต่างๆบนองค์พระอย่างสมบุรณ์แบบงดงามมากในทุกประการ เรียกได้ว่าเป็นแม่แบบของพระขุนแผนบ้านกร่างได้อย่าสมบูรณ์และเต็มที่ คราบกรุที่เป็นไขขาวติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆอย่างพอดี บ่งบอกให้เห็นเป็นความเก่าแก่ที่แท้จริง และมีความงดงามอย่างมีมนต์ขลังอันเป็นที่เล่าลือกันมาโดยตลอด ว่าเป็นพระสุดยอดแห่งเสน่ห์และเมตตามหานิยมสมกับได้ชื่อว่า พระขุนแผนแสนเสน่ห์ แห่งเมืองสุพรรณบุรี ด้านข้างถูกตัดเป็นเหลี่ยม ด้านหลังราบเรียบราวกับหน้ากระดาน มีความเก่าแก่ของเนื้อหาให้มองเห็นอย่างเด่นชัด ขนาดกว้าง 3 ซม. หนา 1/2 ซม. สูง 4 ซม.

ภาพที่ 9 “พระปทุมมาศ”เนื้อดินเผา กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระกรุเดียวกันกับพระผงสุพรรณ หนึ่งในพระชุดเบญจภาคี ที่เป็นที่นิยมและรองรับกันอย่างสูงสุดในยุคปัจจุบันนี้ พระปทุมมาศเนื้อดินเผาองค์นี้มีเนื้อเป็นสีแดง ด้านหน้าลงรักปิดทอง อย่างเข้มขลัง ดูสวยงามและมีเสน่ห์อย่างน่านิยมยิ่ง มีความเก่าของเนื้อพระที่สมอายุ ด้านหลังราบเรียบ ด้านข้างตัดข้างเป็นเหลี่ยมตามแบบฉบับของพระกรุเมืองสุพรรณ พระปทุมมาศนี้เป็นพระที่มีน้อย เนื้อหาค่อนข้างหยาบกว่าพระผงสุพรรณ มีทั้งเนื้อชินและเนื้อดิน สำหรับพุทธคุณนั้นเป็นแบบเดียวกันกับพระผงสุพรรณ พระมเหศวร พระกำแพงศอก เพราะ ฤาษีขุดเดียวกันนี้สร้างขึ้นและบรรจุลงกรุพร้อมกัน ความแปลกในพุทธศิลป์นั้นช่วยดึงดูดสายตากันได้อย่างมีเสน่ห์ ให้เห็นเป็นที่น่านิยมเป็นอย่างดี เป็นพระกรุที่หาพบกันได้ยากแสนยากในปัจจุบัน ขนาดกว้าง 3 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 5 ซม.

ภาพที่ 10 “พระปทุมมาศ”เนื้อชิน ที่มีความงดงาม และเข้มขลังด้วยสนิมสีน้ำตาลและคราบกรุเดิมๆที่ติดอยุ่ตามผิวพระและซอกมุมต่างๆ เป็นพระกรุเก่าแก่ที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบ ไม่ผุกร่อนในส่วนใดเลย ด้านหน้าเป็นองค์พระที่ประทับนั่งปางขัดสมาธิราบ บนฐานที่ทำเป็นลวดลายของใบไม้ที่มีปลายแหลมเป็นแฉกๆรวมห้าแฉกด้วยกัน มีหน้าตาติดพิมพ์อย่างลางๆพอมองเห็น รอบๆขององค์พระเป็นซุ้มรัศมี และมีลวดลายของใบไม้ที่มีปลายใบแหลมขนาดใหญ่ ประดับอยู่ ด้านหลังแบนราบเรียบ มีคราบของความเก่าแก่ของเนื้อให้มองเห็นอย่างเด่นชัด พระปทุมมาศเนื้อชินนี้ไม่ค่อยพบเห็นหรือมีปรากฎในที่แห่งใด จะมีน้อยกว่าพระปทุมมาศที่เป็นเนื้อดิน สำหรับพุทธคุณนั้นดีเด่นทางแคล้วคลาด คงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยม ขนาดกว้าง 3 1/2 ซม. สูง 5 ซม. หนา 2 มิลลิเมตร ขุดพบที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี.

ภาพที่ 11 สุดยอดของพระกรุเนื้อดินเผากรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรีอีกองค์หนึ่ง ที่มีความงดงามและสมบูรณ์อันเข้มขลังด้วยพลังแห่งพุทธคุณชนิดครอบจักรวาล อันเป็นพระที่พบหากันได้น้อยป็นที่สุด ทั้งในยุคของอดีตและปัจจุบัน นั่นก็คือ พระปทุมมาศเนื้อดินเผาสีแดงอมน้ำตาลเข้ม เป็นพระที่มีความสมบูรณ์ไม่หักบิ่นหรือสึกหรอในส่วนใดๆ เป็นพระที่สมบูรณ์เต็มร้อย เนื้อพระมีความเก่าแก่ถึงยุคอย่างแน่นอน ด้านหลังราบเรียบ มีลายไม้ที่ใช้ไม้กระดานเป็นแผ่นกดทับให้ด้านหน้าติดพิมพ์ ให้ชัดเจนด้วยแรงกด เพราะขนาดขององค์พระเป็นขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงต้องใช้กรรมวิธีแบบนี้กดทับกัน ทำให้เกิดเป็นลายไม้ของด้านหลัง ซึ่งก็ดูงดงามไปอีกแบบหนึ่ง ขนาดกว้าง 3 1/2 ซม. สูง 5 ซม. หนา 1/2 ซม.

ภาพที่ 12 เป็น” พระปทุมมาศ”เนื้อโลหะชินเงินอีกองค์หนึ่งที่มีความงดงามสมบุรณ์ ในทุกประการ มีหน้าตา หูปากจมูกติดพิมพ์อย่างชัดเจน มีคราบกรุที่เป็นคราบของปูนสอสีขาวขุ่นติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ทำให้เกิดความซึ้งตาซึ้งใจ เมื่อยามเพ่งพิศดู ซึ่งคราบกรุและขี้กรุที่ติดอยู่กับองค์พระนี้เป็นตัวช่วยฟ้องความเก่าแก่ของอายุพระให้ได้เห็นอย่างแน่แท้และแน่นอน ด้านหลังมีความราบเรียบตามลักษณะของพระชนิดนี้ มีคราบกรุและสนิมในเนื้อให้ได้เห็น ดูมีมิติและเข้มขลังยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าเข้าตากรรมการอย่างจริงแท้แน่นอน ขนาดกว้าง 3 1/2 ซม. สูง 4 ซม. หนา 2 มิลลิเมตร .

ภาพที่ 13 ให้ชมกันอย่างเต็มอิ่มเป็นอีกองค์หนึ่งของ “พระปทุมมาศ”เนื้อดินเผา สีแดงอมน้ำตาล อันเข้มขลัง ที่งดงามและสมบูรณ์แบบด้วยพิมพ์ทรงและเนื้อหา และมีสีสันอันน่าประทับใจยิ่ง ซึ่งจะหาพบเห็นในที่อื่นใดไม่มีอีกแล้ว พระปทุมมาศเป็นพระกรุที่ถูกเก็บเข้ารังใหญ่ของนักสะสมกันไปหมดเสียแล้ว จึงยากที่จะมีปรากฎโฉมให้ได้พบเห็นกันได้อย่างง่ายๆ นำมาแสดงให้ท่านได้ชมกันเพื่อเป็นการเผยแพร่ว่าพระกรุต่างๆในหลายต่อหลายสถานที่นั้นมีความเหมือนและแตกต่างกันของพุทธศิลป์นั้นว่าเป็นอย่างไร อันเป็นความรู้อย่างหนึ่งที่ไม่มีในตำราให้ได้เรียนรู้กัน ขนาดของ “พระปทุมมาศ”เนื้อดินเผาองค์นี้มีขนาดกว้าง 4 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 5 ซม. เรื่องพุทธคุณขององค์พระนั้นมีความสุดยอดในทุกประการ ที่ควรค่าแก่การมีไว้สำหรับการเคารพบูชาและเก็บสะสมเพื่อความเป็นศิริมงคลเป็นอย่างยิ่งด้วยประการทั้งปวง.

ภาพที่ 14 เป็นภาพของยอดพระกรุ อีกพิมพ์หนึ่ง ที่มีชื่อเสียงอันโด่งดังคับวงการ เป็นพระกรุองค์สำคัญ ที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยเรา พระกรุชนิดนี้คือ”พระขุนแผนเคลือบ”พิมพ์อกใหญ่ ฐานสูงกรุวัดชัยมงคล จ.อยุธยา เป็นพระขุนแผนที่มีราคาเช่าหากันแพงที่สุดในบรรดาพระขุนแผนทั้งหลายทั้งปวง พระขุนแผนเคลือบนี้สร้างขึ้นโดย”สมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว” ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีสองพิมพ์คือพิมพ์อกใหญ่ที่ท่านกำลังชมอยู่นี้ อีกพิมพ์หนึ่งก็คือพิมพ์แขนอ่อน สำหรับพิมพ์อกใหญ่นั้นยังแยกออกไปอีกคือ พิมพ์อกใหญ่ฐานสูงและพิมพ์อกใหญ่ฐานเตี้ย การประทับนั่งเป็นการประทับแบบปางมารวิชัยสมาธิราบ ห่มจีวรแบบห่มดองมีสังฆาฏิพาดบ่าลงมา ประทับนั่งบนฐาน ชั้นเดียว ภายต็ซุ้มรัศมีที่ทำเป็นลวดลายของซุ้ม ที่ดูงามเรียบร้อยอย่างเข้มขลังมีพลังยิ่ง ความสำคัญอันยิ่งใหญ่ของพระขุนแผนเคลือบพิมพ์อกใหญ่นั้น นอกจากองค์พระผู้ทำการสร้างที่เป็นพระสังฆราชาแล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นพิเศษ ที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อันงดงามอลังการที่พระขุนแผนอื่นใดไม่มี นั่นก็คือ ที่ด้านหน้าขององค์พระมีน้ำยาเคลือบไว้อย่างงดงามอันเป็นฝีมือของเชิงช่างชั้นสูงที่มีความคิดสร้างสรรอย่างจริงแท้ น้ำเคลือบนี้มีเฉพาะด้านหน้าขององค์พระเท่านั้น ด้านหลังไม่ได้เคลือบเป็นเนื้อดินเผาธรรมดา บางองค์ก็จะทาด้วยรักสีดำก็มีปรากฎให้เห็น สำหรับองค์ที่ท่านได้ชมอยู่นี้มีสีสันที่เป็นเคลือบสีเหลืองทองอันงามผ่องอำไพ มีคราบกรุสีดำติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆเพิ่มความเข้มขลังอันเต็มไปด้วยพลังแห่งพุทธคุณอันสูงเยี่ยมที่เด่นทางคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ทั้งให้ความรุ่งโรจน์แก่ชีวิตให้ก้าวหน้าสูงส่งยิ่งๆขึ้นไปให้ได้เห็นกัน ด้านหลังมีการทารักสีดำเต็มทั้งแผ่น เป็นพระพิมพ์หนึ่งที่มีความงดงามสมบูรณ์แบบเต็มร้อยในทุกประการ ขนาดกว้าง 3 ซม. หนา 1/2 ซม. สูง 5 ซม.

ภาพที่ 15 อีกองค์หนึ่งของพระขุนแผน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ต้องการของนักสะสมกันอย่างแท้จริง ในสมัยเมือห้าหกสิบปีก่อน และเป็นพระที่ต้องการของบรรดาผู้ชายที่เป็นนักเที่ยว แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังนิยมใฝ่หากันอย่างไม่เสื่อมคลาย พระพิมพ์ดังกล่าวนี้ก็คือ “พระขุนแผนทรงพลใหญ่”กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี พระขุนแผนพิมพ์นี้เป็นพระเนื้อดินเผาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เหมาะที่จะแขวนเดี่ยว หรือให้เป็นพระองค์ประธานได้อย่างเหมาะยิ่ง รูปลักษณ์ขององค์พระประทับนั่ง บนฐานราบปางขัดสมาธิราบ ภายใต้ซุ้ม ที่ทำเป็นลวดลาย เป็นซุ้มขยักอันสวยงาม ห่มจีวรในลักษณะห่มดองมีสังฆาฏิพาดบ่าลงมา มีหูทั้งสองข้างกางออกคล้ายหูบายศรี มีหน้าตาติดพิมพ์พอประมาณประทับนั่งอย่างสง่างาม สมกับความเป็นยอดขุนพลของสมญานามขุนแผน องค์ที่ท่านกำลังชมอยู่นี้เป็นพระที่มีเนื้อเป็นสีแดงอันแจ่มจ้า มีเนื้อหาที่ดูหนึกนุ่มตา ผิดกับพระขุนแผนองค์อื่นๆ พุทธศิลป์เป็นแบบห้าเหลี่ยม ด้านข้างตัดอย่างเรียบร้อย ด้านหลังราบเรียบ มีความเรียบร้อยและงดงามของสีสันอันเป็นสีแดงที่ดูสดุดตาอย่างเหมาะสม ขนาดกว้าง 3 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 5 ซม.

ภาพที่ 16 สุดยอดของความสวยงามและสูงส่งของพระขุนแผนเนื้อว่านหน้าทอง ที่มีความงดงามอลังการและงามเรียบร้อยของแผ่นทองที่ดุนนูนออกมาได้อย่างวิจิตรบรรจง เป็นพระว่านหน้าทองพิมพ์ขุนแผนอกใหญ่ของกรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา กรุเดียวกันกับพระขุนแผนเคลือบอกใหญ่อันลือเลื่อง เป็นพระที่หาพบได้ยากแสนยากยิ่งกว่าพระขุนแผนแบบเนื้อดินธรรมดา ความเก่าแก่ของเนื้อสังเกตได้จากคราบกรุที่ติดอยู่บนแผ่นทองคำอันล้ำค่า องค์พระมีความชัดเจนทั้งหน้าตา รูปลักษณ์พิมพ์ทรงอันยากที่จะหาพระขุนแผนองค์อื่นใดมาเปรียบได้ ด้านหลังเป็นเนื้อว่านสีดำที่นำมาโปะไว้ให้องค์พระเกิดความแข็งแรง ประกอบกับเนื้อว่านนั้นมีพลังอันน่าอัศจรรย์ตามความเชื่อถือของบรรดาเกจิอาจารย์ผู้สร้าง จึงมีส่วนทำให้พระพิมพ์ดังกล่าวทรงคุณค่าและมีความเข้มขลังอย่างมีพลังเติมแต่งมากยิ่งขึ้น จึงนำพระขุนแผนว่านหน้าทองพิมพ์อกใหญ่พิมพ์นี้มาให้ท่านได้ชมเพิ่มอีกองค์หนึ่งเพื่อให้ได้เรียนรู้และศึกษากันอย่างเต็มอิ่ม ขนาดขององค์พระ กว้าง 2 1/2 ซม. สูง 4 1/2ซม. หนา 1/2 ซม.

ภาพที่ 17 “พระพุทธชินราช” จังหวัดพิษณุโลกได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดของพระประธาน ที่มีความศักดิ์สิทธ์และมีความงดงามเป็นเลิศ เป็นที่หนึ่งเหนือกว่าองค์พระประธานในที่แห่งอื่นใด จากความเป็นเลิศเช่นนี้จึงมีการจำลององค์พระพุทธชินราช สร้างกันเป็นพระพิมพ์ องค์พระหล่อด้วยโลหะต่างๆเพื่อเป็นองค์แทนแห่งองค์พระพุทธชินราชไว้สำหรับอาราธนาติดตัว เพื่อคุ้มครองกันภัยร้ายต่างๆ มากมายหลากหลายรูปแบบ เป็นต้นว่า “พระพุทธชินราชรูปหล่อรุ่นอินโดจีน” พระพุทธชินราชใบเสมา “ สำหรับพระพิมพ์ที่ท่านได้ชมกันองค์นี้ คือ”พระพุทธชินราช”พิมพ์ใบเสมาเนื้อว่านหน้าทองอันงดงามและหาพบได้ยากสุดๆ องค์พระมีความงดงามพร้อมทุกอย่าง ทั้งหน้าตา หูปากจมูก เม็ดพระศกและองค์ประกอบต่างๆที่มีอยู่ในองค์พระอย่างสมบูรณ์แบบเป็นที่สุด ให้ท่านลองพิจารณาดูกันเอาเองอย่างตั้งอกตั้งใจก็จะรู้ได้ว่าเป็นความจริง ทุกประการ สำหรับ พุทธคุณขององค์พระนั้นเป็นสุดยอดแห่งความเมตตามหานิยม แคล้วคลาดในภัยร้ายต่างๆ รวมทั้งมีความเจริญก้าวหน้าอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งมีประสบการณ์ให้ได้พบเห็นกันเป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนกันมาโดยตลอดอย่างจริงแท้และแน่นอน ด้านหลังนั้นเป็นเนื้อว่าน ที่มีดินคราบกรุที่เป็นสีเทาติดอยู่อย่างมั่นคงและแข็งแรง ขนาดกว้าง 2 1/2 ซม. หนา 1/2 ซม. สูง 5 ซม.

ภาพที่ 18 เป็นภาพของพระพุทธชินราชใบเสมาเนื้อว่านหน้าเงินพิมพ์ใหญ่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกที่มีความงดงามและมีสภาพสมบูรณ์เต็มร้อยในทุกสัดส่วน เป็นสุดยอดของพระกรุเนื้อโลหะ ที่มีหลายรูปแบบ เช่นเนื้อว่านหน้าทอง ว่านหน้าเงิน พระเนื้อชินเงิน เนื้อชินธรรมดา พระพุทธชินราชใบเสมานี้ สร้างขึ้นในรัชชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิปไตย เมื่อประมาณ เจ็ดร้อยปีก่อน พุทธคุณเยี่ยมยอดทางตบะเดชะ เป็นที่ยำเกรงของคนทั้งหลาย คุ้มครองป้องกันภัย และให้ความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองกว้างไกลไปทั่ว พระพุทธชินราชใบเสมาว่านหน้าเงิน องค์นี้มีความเรียบร้อยในทุกสัดส่วน มีหน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์อย่างชัดเจน ซุ้มประดับและฐานประดับงดงามมาก ด้านหลังเป็นเนื้อว่านสีเทาดำอันเข้มขลัง มีคราบขาวหรือไขขาวติดอยู่ให้เห็นให้ท่านลองพิจารณาดูกันเพื่อเป็นกรณีย์ศึกษากันอันจะเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จบต่อไป ขนาดกว้าง 2 1/2 ซม. หนา 1/2 ซม. สูง 4 1/2 ซม.

เรื่องราวต่างๆและคำอธิบายถึงเรื่องราวของพระกรุชุดกิมตึ๊ง ของกรุวัดพระรูปและวัดพลายชุมพล และพระขุนแผนกรุบ้านกร่าง รวมทั้งพระปทุมมาศกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุของจังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งพระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดอยุธยาและพระพุทธชินราชใบเสมาของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุจังหวัดพิษณุโลก กันมาพอสมควร จึงขอยุติลงเพียงแค่นี้ก่อน แล้วเราจะพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดี.