“ พระลบกรุหนองสะเหน้าลำพูน ” ตอนที่ 1.

โดยสำราญ กาญจนคูหา. โทร 086 -6721260

หอศิลปะพระเครื่องเมืองลำพูน โทร 053 530148 .

 

“ พระลบ ” นั้นสร้างขึ้นมาล้างอาถรรพ์ ที่สำคัญป้องกันได้ภัยคุณไสย

ลบให้สิ้น ไม่ถวิลและอาลัย บาปในใจที่ทำไว้ก่อนมีมา

เป็นเรื่องราวที่เล่าไว้ในตำนาน คำเล่าขานมีไว้ให้ศึกษา

“ จามเทวี วิลังคะ ” เกิดขึ้นมา มหากาพย์ท่านว่าน่าสนใจ

เขียนเล่าไว้ให้ถ้อยคำอย่างละเอียด ไม่ขึ้งเคียดได้ความรู้ อันมากหลาย

เป็นเรื่องราวสำคัญได้ผ่อนคลาย ความขยายในเรื่อง ” จามเทวี ”

“ พระลบ ” นั้นคือพระกรุแท้แต่โบราณ พุทธคุณท่านดีเด่นเป็นสักขี

ให้ได้เห็นเป็นประจักษ์ว่าของดี คงกระพันชาตรีแคล้วคลาดนั้นท่านรู้กัน

ทำน้ำมนต์ส่งผลให้เกิดสุข ลืมความทุกข์ความชั่วร้ายภัยหลีกหนี

ความเป็นศิริมงคลบังเกิดมี กันภูติผีแมงพิษร้ายมลายพลัน

มีเนื้อดินอีกทั้ง เนื้อโลหะ ศิลปะดูง่ายได้รังสรร

เนื้อสีแดงดูเข้มขลังพลังพระนั้น สูงเด่นล้ำ เลิศ ด้วย ” พุทธคุณ ” .

 

“ พระลบ ” ลำพูนนั้นเป็นพระกรุเนื้อดินเผาอันเก่าแก่ที่มีพุทธคุณสูงเยี่ยมในทุกๆอย่าง ในด้านของความเมตตามหานิยม แคล้วคลาดจาภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงที่เข้ามาแผ้วพาน “ พระลบ ” นั้น เป็นที่รู้จักกันในเมืองลำพูนมาก่อนว่า เป็นพระพิมพ์ที่มีพุทธคุณทางด้านข่ามคงหรือเป็นพระเหนียว ที่เรียกกันว่าคงกระพันชาตรีซึ่ง เป็นที่รู้กันมาเป็นเวลานานแสนนานมาแล้ว นอกจากนี้ “ พระลบ “ ยังมีชื่อเสียงในการใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความ เป็นศิริมงคล รวมทั้ง ใช้ป้องกันภัยร้ายต่างๆอันเกิดจากคุณไสย มนต์ดำ ใช้ป้องกันเรื่องผีปีศาจร้ายได้เป็นอย่างดี

ได้ชะงัดนัก ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยก่อนเก่าได้เล่ากันไว้สืบต่อกันมา นอกจากนี้พระลบยังมีความสำคัญสำหรับผู้ที่มีความเดือดเนื้อร้อนใจ มีคดีความต่างๆ ต้องถูกฟ้องร้อง ขึ้นโรงขึ้นศาล ผู้ที่มีพระลบเขาจะอาราธนา ขอพึ่งบารมีพระพุทธคุณของ องค์พระลบ ให้ช่วยผ่อนร้ายให้กลายเป็นดี ผ่อนหนักให้กลายเป็นเบา ซึ่งภายหลังก็เกิดเป็นผลสามารถทำให้โทษที่หนัก กลับกลายเป็นเบาลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ซึ่งมีตัวอย่างเล่าไว้ว่า ในปี พ.ศ .2514 เกิดคดีอื้อฉาวทางภาคเหนือ เกี่ยวกับการกล่าวหาช้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า มีความเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดให้โทษ คือเฮโรอิน ถึงกับต้องโทษจำคุกนานถึง 25 ปี พอดีมี ผู้ใหญ่ในเมืองลำพูนที่คุ้นเคยและให้ความเคารพนับถือ ในตัวข้าราชการที่เป็นคดีความคนนั้น ได้นำเอาพระพิมพ์ชนิดหนึ่ง ที่มองดูแล้วเป็นพระเนื้อดินสีแดงเข้ม มีลักษณะคล้ายก้อนอิฐธรรมดาองค์หนึ่ง ไปมอบให้ ในวันที่ได้เข้าไปเยี่ยมที่เรือนจำ พร้อมกับแนะนำว่า ให้อาราธนาขอกับองค์พระลบที่นำมาให้นี้ จงช่วยลบล้างคดีให้สูญสิ้น หรือให้ผ่อนจากโทษหนักให้กลับกลายเป็นเบาลง

ซึ่งก็มีเรื่องที่น่าอัศจรรย์เกิดขึ้น จะเป็นด้วยพระพุทธคุณขององค์พระลบ ที่มาช่วยลบล้าง บรรเทาคดีให้ผ่อนจากโทษหนักเป็นโทษเบาหรืออย่างไร ในที่สุดคงโทษจำคุกเหลือเพียง 2 ปี 8 เดือน แทนที่จะเป็น 25 ปี และทรัพย์สินบ้านช่องก็ไม่ถูกยึด นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนได้ฟัง จากคำบอกเล่าของบุคคลที่เชื่อถือได้เขาเล่ามา ในเรื่องของคงกระพันชาตรี หรือเรื่องของความเหนียวต่อคมอาวุธหรือเรื่องตีรันฟันแทง “ พระลบ ” ก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เลื่องลือและกล่าวขวัญกัน สมัยก่อนๆ นักมวยที่จะขึ้นชกมวย ก่อนจะขึ้นทำการชกบนเวทีมวย เขาได้อาราธนานำเอาองค์พระลบห่อมัดไว้ในผ้ายันต์ แล้วมัดไว้ที่แขน ซึ่งเมื่อทำการชกจะปรากฎว่า ไม่มีการแตกถึงเลือดตกยางออกให้ได้เห็น ทั้งๆที่โดนคู่ต่อสู้ ชกและฟันศอกเข้าที่บริเวณหน้า หรือโดนชกเข้าที่ปากและจมูก ซึ่งธรรมดานั้น นักมวยเมื่อโดนคู่ต่อสู้กระหน่ำอย่างเต็มที่และหนักๆก็เป็นอันได้เห็นเลือดกัน มีพวก นักเลงชนไก่ เขา จะนำเอาพระลบไปฝนกับน้ำ เพื่อทำเป็นน้ำมนต์โดยเชื่อว่า เป็น น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ แล้วใช้น้ำ มนต์นั้นทาและลูบไล้บนหน้าไก่ ชะโลมร่างไก่ที่เรียกว่าให้น้ำ

เขามีความเชื่อว่าพระลบนั้นจะช่วยให้ไก่ชนของ เขาอึดและเหนียว แน่น มีความอดทนในการต่อสู้และประสบกับชัยชนะได้ในที่สุด สำหรับในความเป็นศิริมงคลนั้น เมื่อถึงวันดี เช่นวันขึ้นบ้านใหม่ วันขึ้นปีใหม่ งานบุญต่างๆ งานวันสงกรานต์ ผู้ที่มีพระลบจะอาราธนานำเอาพระลบ ลงแช่ในน้ำ ขมิ้นส้มป่อย เจือด้วยน้ำปรุงน้ำหอมอันจรุงกลิ่น เพื่อทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์ จุดธูปเทียนแล้วกล่าว ถ้อยคำ อันเป็นมงคล น้อมคาระวะด้วยความเคารพ พร้อมกับอธิษฐาน ขอความเป็นศิริมงคล ให้บังเกิดแก่ตนเองและทุกคนในครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งก็เป็นผลอันทำให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ทุกคนได้เป็นอย่างดี จึงได้มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

“ พระลบ ” นั้นเป็นการเรียกชื่อของพระกรุองค์สำคัญยิ่งชนิดหนึ่งของคนเมืองลำพูน เป็นการเรียกชื่อเฉพาะ อันเป็นลักษณะนามของภาษาท้องถิ่น อีกทั้งประจวบเหมาะกับพระพุทธคุณอันเป็นการลบล้างอาถรรพ์สิ่งไม่ดีต่างๆให้ลบล้างสูญสิ้นไปที่ได้ผล ชื่อของ ” พระลบ ” นี้จึงมีความเหมาะสมยิ่ง ไม่ได้หมายความดังที่คนต่างถิ่นหรือผู้ที่นิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ เรียกชื่อพระกรุอันสำคัญชนิดนี้กันว่า ” พระรบ ” ซึ่งเป็นการเรียกไม่ถูกต้อง กับความเป็นจริง ลักษณะพุทธศิลป์ขององค์ ” พระลบ ” เนื่องมาจากรูปลักษณ์ขององค์พระลบนั้นเป็นพุทธศิลป์แบบง่ายๆ แต่ค่อนข้างจะดูยากในความคิดเห็น

พระลบมีรูปแบบของพุทธศิลป์ ที่ออกจะลบเลือน เหมือนหนึ่งอักษรภาพที่จะต้องดูให้แน่และตีความ ไม่เหมือนกับพระกรุชนิดอื่นใดในพระกรุชุดสกุลลำพูน หากจะเรียกกันในภาษาของศิลปะในสมัยปัจจุบัน ก็จะเรียกได้ว่าเป็น ” ศิลปะแบบแอ้ปสแตร็ก ” ที่มีความหมายว่าไม่เหมือนจริงร้อยเปอร์เซนต์ เป็นเสมือนองค์แทนหรือสัญญลักษณ์ที่ให้รู้ว่า นี่คือรูปเคารพองค์แทนของพระบรมศาสดา และให้รู้ว่าพระพิมพ์แบบนี้คือ ” พระลบ ” ของกรุหนองสะเหน้าลำพูน อันแท้จริง “ พระลบ ” มีหลากหลายพิมพ์และมีทั้งเนื้อดินเผาและเนื้อโลหะเช่นเดียวกันกับพระกรุในชุดสกุลลำพูนทั่วไป สีสันของพระลบนั้นก็มีหลายสีแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของพระเนื้อดินเผา แต่สีของพระลบที่พบเห็นกันมากและบ่อยก็คือสีแดงเลือดหมู สีอื่นที่มีน้อยก็คือ สีดำ สีเทาดำ สีพิกุล สีแดงอมชมพูเป็นต้น พระลบมีเนื้อดินที่ค่อนข้างหยาบกว่าพระคง พระบาง พระเปิม มีเม็ดแร่สีทับทิมออกม่วงปรากฎอยู่ให้เห็น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่ก็ไม่ทุกองค์ สำหรับ พระลบที่มีเนื้อสีแดงเข้มนั้นจะเป็นที่นิยมของนักสะสม เพราะเหตุว่าเมื่อเนื้อดินขององค์พระถูกจับต้อง และถูกเหงื่อไคลจากผู้ที่เป็นเจ้าของ หรือที่เรียกกันว่าโดนใช้ ก็จะมีสีสันที่ดูเข้มขลังงามตาและมีเนื้อหาที่ใช้แว่นส่องจะเห็นความเข้มขลังของเนื้อพระอันดึงดูดตาและดีงดูดใจให้ยอมรับ ตามคำของนักนิยมพระว่า “ เป็นเนื้อที่สู้แว่นอย่างน่าดูชมจริงๆ ”

ในบทนี้จะนำ ” พระลบ ” ที่เป็นเนื้อโลหะมาให้ท่านได้ชมและศึกษากันก่อน พระลบเนื้อโลหะนั้นมีหลายเนื้อคือ เนื้อโลหะทองคำผสม เนื้อโลหะตะกั่วอาบปรอท เนื้อตะกั่วสีเทาดำอันเข้มขลัง เนื้อตะกั่วสีเทา แผ่นลายดุนนูนที่เป็นเนื้อทองจังโกฏิ์ที่ตีแผ่เป็นแผ่นบางเหมือนกับทองแผ่นที่ใช้บุหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์ ซึ่งท่านจะได้ชมและศึกษากันไปพร้อมคำอธิบายในรายละเอียด ต่อไป.

ภาพที่ 1 เป็นภาพของพระลบเนื้อโลหะทองคำผสมที่อยู่ในสภาพเดิมๆ ยังไม่ได้รับการตัดแต่งให้เป็นองค์ๆอย่างเรียบร้อย ส่วนใหญ่ของพระเนื้อโลหะซึ่งเป็นพระในยุคแรกๆที่เทคนิคการหล่อหลอมโลหะยังเป็นแบบเก่า ดั้งเดิมยังไม่พัฒนา การหล่อหลอมเป็นกรรมวิธีแบบง่ายๆ โดยใช้แม่พิมพ์ทำเป็นแบบถาดขนมครก แล้วกดตัวพ่อพิมพ์ลงบนพิมพ์ให้เกิดเป็นแม่พิมพ์ก่อน นำแม่พิมพ์มาตกแต่งพิมพ์ให้เรียบร้อย แล้วนำไปเผาให้แม่พิมพ์มีความแข็งแกร่ง ทาแม่พิมพ์ด้วยขี้ผึ้ง แล้วนำเอาน้ำโลหะที่หลอมเหลวจนได้ที่ มาหยอดลงแบบแม่พิมพ์ ตามความ ต้องการ ทิ้งไว้จนเย็นลง ก็คว่ำเพื่อกระเทาะองค์พระออกจากแม่พิมพ์ การหล่อพระพิมพ์แบบใช้พิมพ์ถาดนี้บางที เนื้อโลหะอาจจะล้น และเกาะติดกันเป็นแพ ภายหลังหล่อพระเสร็จเรียบร้อยและทิ้งจนเย็นแล้วจึงค่อยนำเอาไป ตัดและตกแต่งให้เรียบร้อย สำหรับพระลบองค์ ที่เห็นนี้ยังตัดแต่งไม่เสร็จ ผู้เขียนคงสภาพเดิมๆให้ได้เห็นกันว่าสภาพของเดิมๆนั้นเป็นอย่างไร การทำนั้นยุ่งยากแค่ไหน แตกต่างจากการหล่อพระในสมัยปัจจุบันนี้อย่างไร ซึ่งเห็นว่าไม่ใช่ของง่ายเลย ในการทำพระโลหะในยุคนั้นในตอนเริ่มแรก ดังนั้นพระโลหะจึงเกิดขึ้นน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย พระลบองค์นี้มีน้ำหนัก 30 กรัม.

ภาพที่ 2 เป็นพระลบเนื้อโลหะทองคำผสมอีกองค์หนึ่งที่คงสภาพเดิมๆไว้ตามที่ได้มา เพิ่อให้เป็นหลักฐานแสดงว่าของเดิมเขาเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นเพียงแค่ตัดออกจาก พระลบที่ติดกันเป็นแพแล้วค่อยนำมาตกแต่งให้เข้ารูปในภายหลัง พระลบองค์นี้เป็นพระลบพิมพตุ๊กตาเล็ก เช่นเดียวกันกับพระลบองค์แรก ปัจจุบันหาไม่มีอีกแล้ว จึงต้องเก็บเอามาบันทึกไว้ให้เป็นหลักฐานเพื่อเป็นกรณีย์ศึกษากันในวันข้างหน้าต่อไป พระลบองค์นี้มีน้ำหนัก 40 กรัม เนื่องจากมีปีกที่เป็นเนื้อส่วนเกินมากกว่าองค์แรก

ภาพที่ 3เป็นภาพของพระลบพิมพ์นิยม ที่เป็นแผ่นลายดุนนูน หรือที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่าเป็นแบบหน้ากาก พระลบแบบนี้เขาจะนำเอาโลหะทองผสม นำมาตีแผ่ออกเป็นแผ่นบาง แล้วนำไปกดทับทาบกับองค์จริงที่เป็นพ่อพิมพ์ พร้อมกับ ใช้วิธีการ “ ต้อง “ หรือตี หรือกด ด้วยเครื่องมือเล็กๆ ที่ทำด้วยไม้ปลายมนด้วยความปราณีตและระมัดระวัง จนทำให้ลวดลายต่างๆบนองค์พระปรากฎ นูนเด่นบนแผ่นโลหะนั้นๆ เมื่อได้รูปลักษณ์ที่สวยงามตามความต้องการ ก็ทำการตัดแต่งให้เรียบร้อย ดังปรากฎเช่นในภาพที่ได้แสดงไว้ พระลบแผ่นลายดุนนูนองค์นี้มีน้ำหนัก 5 กรัม เท่าที่มีการขุดพบจะปรากฎ พระลบลายดุนนูนนี้จะเรียงซ้อนกันเป็นตับ ที่ผุพังไปกับกาลเวลาก็จะเปื่อยยุ่ยสลายเกลายเป็นเศษผงไป

ภาพที่ 4 เป็นพระลบพิมพ์ใหญ่พิมพ์นิยมเนื้อทองคำที่สมบูรณ์เรียบร้อยและงดงามอย่างที่สุด พระลบเนื้อทองคำองค์นี้มีการหล่อพิมพ์ที่ดูเรียบร้อย โดยไม่ต้องทำการตกแต่งในส่วนต่างๆแต่อย่างใด เป็นการพัฒนาขึ้นมาของการหล่อพระเนื้อโลหะที่ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง พระลบพิมพ์นี้ เป็นพระลบพิมพ์ที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะที่เป็นเนื้อดินสีแดงเข้มและสีอื่นๆ ลักษณะขององค์พระเป็นพระปางสมาธิ ที่ประทับนั่งบนฐานสามชั้น ภายในซุ้มโค้งมน ลวดลายต่างๆบนองค์พระรวมทั้งหน้าตา ไม่ปรากฎ แต่ก็เป็นพระพิมพ์ที่มีเสน่ห์ยามเมื่อเราได้พิจารณาดูให้ดี ด้านหลังราบเรียบ เป็นแอ่งบุ๋มตรงกลางเล็กน้อย มีขนาดพอเหมาะสำหรับการเข้ากรอบเพื่อการอาราธนาติดตัวไปได้อย่างเหมาะยิ่ง เนื้อพระเป็นมันดูวาววาม ไม่มีสนิมหรือสึกหรอในส่วนใดให้ปรากฎเห็น ยิ่งพระลบนี้มีคุณค่าของพุทธคุณอันโดดเด่น ยิ่งเพิ่มความมีคุณค่าสำหรับการเก็บสะสมไว้เป็นอย่างยิ่ง พระลบเนื้อทองคำองค์นี้มีน้ำหนัก 40 กรัม.

ภาพที่ 5 พระลบแผ่นลายดุนนูนอีกองค์หนึ่ง เป็นแผ่นโลหะทองผสม ที่เรียกกันว่าแผ่นทองจังโกฏิ์ คือแผ่นทองที่เป็นโลหะผสมหลากหลายชนิด ของผู้ที่มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นำมาหลอมเหลวคละเคล้าปะปนกัน เพื่อนำไปหล่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เล็กตามความศรัทธาของตน บางครั้งโลหะทองผสมนี้ก็จะนำมาตีแผ่ออกเป็นแผ่น ต่อๆกันโดยตอกหมุดตรึงเป็นผืน แล้วนำไปหุ้มองค์เจดีย์เพื่อให้เกิดความงดงามเพิ่มความศรัทธาให้บังเกิดอันถือว่าเป็นการทำบุญครั้งใหญ่สำหรับชีวิตของผู้คนที่เคารพนับถือในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง บางครั้งเมื่อมีวัสดุแผ่นทองเหลือใช้ก็จะนำไปสร้างเป็นพระพิมพ์แบบลายดุนนูนดังที่นำมาให้ชมกันเช่นนี้ ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่นว่าจะเป็นการต่ออายุของพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวยั่งยืนต่อไป เช่นเดียวกับความเชื่อและความศรัทธาของตน พระลบแผ่นทองลายดุนนูนองค์นี้หนัก 5 กรัม.

ภาพที่ 6 พระลบพิมพ์นิยมเนื้อทองคำ อีกองค์หนึ่งที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบไม่แพ้พระลบองค์แรก องค์พระจะดูบางเบากว่า พระลบองค์นี้มีการตกแต่งให้งามเรียบร้อย โดยตัดแต่งปีกส่วนเกินด้านข้างออกไปเพื่อให้เข้ารูปเหลือไว้พองาม คือตรงส่วนก้นฐานที่หล่อเต็ม ด้านหลังเป็นแอ่งท้องกระทะ ที่เกิดจากการหล่อแบบหยอดเนื้อโลหะลงบนแม่พิมพ์ น้ำหนักของโลหะจะเน้นล งบนแม่พิมพ์จึงทำให้ส่วนด้านหลังเกิดเป็นแอ่งตามความถ่วงจำเพาะของโลก ในส่วนเนื้อพระส่วนเกินนั้น เขาไม่ตัดออกเพราะมีความเชื่อกันว่าเนื้อเกินนี้คือของที่เป็นศิริมงคลโดยถือว่าเป็นการเหลือกินเหลือใช้ ดังภาษาถิ่นที่ว่า “ กิ๋นบ่ะเซี้ยง ” ซึ่งก็เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของเขา เราก็ไม่ว่ากัน พระลบเนื้อโลหะทองคำองค์นี้มีน้ำหนัก 20 กรัม

ภาพที่ 7 พระลบเนื้อทองผสม พระลบองค์นี้มีเนื้อหาของเนื้อโลหะในลักษณะเดิมๆ ไม่ได้ล้าง ขัดถู หรือทำความสะอาดแต่อย่างใด คราบขี้เบ้าของการหล่อพิมพ์ที่มีลักษณะดำๆ เทาๆกระดำกระด่างติดอยู่ ไม่มีการตกแต่งหรือตัดแต่งในส่วนใด คงสภาพที่ได้มาแต่แรกแตกออกจากกรุไว้ เพื่อเป็นกรณีย์ศึกษาว่าพระกรุที่แท้ลักษณะเดิมๆจะเป็นแบบพระลบองค์นี้ มีทั้งสวยงามและม่สวยซึ่งเป็นไปตามธรรมดาของการหล่อพระแบบโบราณที่ยังไม่มีการพัฒนาให้ดีพอ ด้านหลังไม่เรียบ ทำให้เห็นเนื้อโลหะที่หลอมเหลวรวมตัวกันอย่างไม่เข้าที่กันดี เนื่องจากเป็นพระที่เกิดจากการผสมผเสของโลหะต่างๆหลายอย่างหลายชนิด ที่เข้ากันได้ไม่ดีพอ พระลบเนื้อโลหะองค์นี้เป็นพระลบพิมพ์นิยมฐานสามชั้น น้ำหนัก 25 กรัม.

ภาพที่ 8 พระลบเนื้อทองผสมองค์นี้มีความหนาของเนื้อโลหะที่จับต้องแล้วมีความรู้สึกที่เหมาะมือ มีน้ำหนักที่พอดีพองาม มีการตกแต่งตัดขอบข้างออกพอดีพองามกับองค์พระได้อย่างเหมาะเจาะและลงตัว เป็นพระลบพิมพ์นิยมเนื้อแก่ทองที่งดงามองค์หนึ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง ด้านหลังมีผิวพระที่งามเรียบร้อยมีรอยบุ๋มเป็นแอ่งเล็กน้อยตรงกลาง เนื้อพระมีรูพรุนของความเก่าแก่ของเนื้อที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุที่เป็นเนื้อโลหะที่มีอายุเก่าแก่ถึงยุค พระลบองค์นี้มีน้ำหนัก 30 กรัม.

ภาพที่ 9 เป็นอีกองค์หนึ่งของพระลบพิมพ์นิยมเนื้อโลหะแก่ทองที่งามเรียบร้อย ที่มีความมันวาวของเนื้อสีทองอันเป็นประกายยามต้องแสงไฟ อย่างงามตายิ่ง ความเก่าแก่ของเนื้อที่มีรอยพรุน เป็นจุดเล็กเต็มไปหมดอันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระเนื้อโลหะผสม เมื่อยามใช้กล้องที่มีเลนส์ขยายสำหรับส่องเนื้อพระส่องดู ด้านหลังราบเรียบในส่วนด้านบน ส่วนด้านล่างตรงส่วนที่เป็นบริเวณด้านข้างส่วนฐานจะเป็นรอยของความเหี่ยวย่นของเนื้อโลหะที่ไม่ราบเรียบ เป็นขีดๆที่ดูยับๆอย่างชัดเจน เป็นการบ่งบอกถึงความเก่าแก่ได้อย่างหนึ่ง พระลบองค์นี้มีน้ำหนัก 25 กรัม.

ภาพที่ 10 พระลบเนื้อโลหะทองผสมองค์นี้ มีขนาดย่อมกว่าพระลบทั้งสิบพิมพ์ดังแสดงไว้ในข้างต้น เป็นพระลบอีกพิมพ์หนึ่งที่เรียกกันว่า “ พระลบพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก “ องค์พระนั้นดูล่ำสันและต้อสั้น เป็นพระปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานสองชั้นที่มีฐานชั้นล่างสุดติดกับขอบด้านล่าง พระลบพิมพ์ตุ๊กตาเล็กองค์นี้ตัดตกแต่งขอบข้างเพื่อให้งดงามดูเรียบร้อย ด้านหลังเป็นแอ่งบุ๋มลงไป มีรอยเหี่ยวย่นของพื้นผิวด้านหลังอย่างชัดเจน พระลบพิมพ์นี้มีรูปลักษณ์ที่ไม่ชัดเจนนัก แต่ก็มีเสน่ห์เก๋ย์ดีในสีสันและความเก่าแก่ขององค์พระ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ น้ำหนัก 10กรัม.

ภาพที่ 11 พระลบพิมพ์ตุ๊กตาเล็กอีกองค์หนึ่ง ที่มีเนื้อโลหะอันค่อนข้างบางเบากว่าพระลบองค์อื่นๆ แต่ความมันวาวและความเก่าแก่ของเนื้อโลหะ ก็ทำให้มีรู้สึกประทับใจในความซึ้งด้วยมิติเกิดขึ้น ด้านหลังเป็นแอ่ง มีความ เหี่ยวย่น ที่ดูยับๆย่นๆ อย่างประหลาดเพระการหล่อพิมพ์แบบหยอดน้ำโลหะลงบนแม่พิมพ์ อันแสดงถึงความจำกัด และเหลือน้อยของน้ำโลหะที่มีเหลืออยู่ น้ำหนักของพระลบพิมพ์ตุ๊กตาเล็กองคืนี้มีน้ำหนักเพียง 10 กรัมเท่านั้น.

ภาพที่ 12 นอกจากพระลบเนื้อโลหะ จะมีเนื้อแบบโลหะผสมแล้ว ยังมีพระลบเนื้อโลหะที่เป็นเนื้อตะกั่วอาบปรอท ดังเช่นพระลบองค์ที่ท่านได้เห็นในภาพ พระลบเนื้อตะกั่วอาบปรอทองค์นี้ค่อนข้างจะแบนและยาว เป็นการหล่อแบบวิธีการโบราณที่ใช้หยอดลงบนแม่พิมพ์ แต่ก็คงมีการเพิ่มความระมัดระวังและมีความพิถีพิถัน ในการทำ พระลบที่พิมพ์ออกมาจึงปรากฎว่ามีความงดงามและสมบูรณ์แบบมากขึ้น พระลบพิมพ์นิยมเนื้อตะกั่วอาบปรอทองค์นี้ มีความมันวาวของเนื้อปรอทสีขาว ที่อาบอยู่บนองค์พระ การที่มีเนื้อปรอทอาบอยู่เป็นความเชื่อของคนในยุคก่อน ที่เชื่อว่าปรอทนั้นเป็นธาตุกายสิทธิ์อย่างหนึ่งที่มีความรื่นไหลอย่างรวดเร็ว จึงได้นำเมาป็นส่วนประกอบเพื่อให้พุทธคุณในองค์พระเกิดความเข้มขลังเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้านหลังขององค์พระแบนราบเรียบมีน้ำหนัก 30 กรัม.

ภาพที่ 13 พระลบพิมพ์นิยมเนื้อโลหะตะกั่วสีดำที่มีความสมบูรณ์และงดงามมาก ผิวเนื้อของพระลบองค์นี้มีความเข้มขลังมีพลังแห่งพุทธคุณอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ส่วนใหญ่ของผู้ที่นิยมในพระกรุชุดสกุลลำพูนในสมัยก่อนนั้น มักจะนิยมพระกรุชนิดที่มีสีเข้ม โดยเชื่อกันว่าเป็นพระที่มีเนื้อหาที่แข็งแกร่ง ไม่สึกหรอหรือลบเลือนไปง่ายๆรวมทั้งมีพระพุทธคุณที่เต็มเปี่ยมมากกว่าพระกรุสีอื่นๆ ซึ่งก็เป็นความเชื่อของผู้คนในสมัยก่อนที่เข้าใจกันเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อเรามาพิจารณาดูพระลบเนื้อโลหะสีดำองค์นี้ ก้จะเห็นว่าเป็นความจริง สืบเนื่องด้วยความมันวาวและสีสันที่เข้มขลังดูหนึกนุ่มที่มองดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจเกิดขึ้นอย่างน่าประหลาด ซึ่งเป้นความเร้นลับอย่างหนึ่งที่มีปรากฎในพระกรุที่ผู้คนนิยมชมชอบและเชื่อถือกันมาแต่เก่าก่อน พระลบองค์นี้มีน้ำหนัก 25 กรัม.

ภาพที่ 14 เป็นพระลบพิมพ์นิยมเนื้อโลหะตะกั่วสีเทาดำที่สมบูรณ์และงดงามในสภาพเดิมๆ ไม่ถูกจับต้องและมีคราบไคลใดๆเกิดขึ้นบนองค์พระ เนื้อหาของเนื้อโลหะมีความเก่าแก่ปรากฎอยู่ให้ได้เห็นอย่างชัดเจน มีคราบกรุซึ่งเป็นดินสีขาวขุ่นที่เป็นคราบของ น้ำปูนขาวธรรมชาติอันเก่าแก่ติดอยู่ ทำให้องค์พระมีความเด่นงามซึ้งตาขึ้นมา อย่างน่านิยมยิ่ง พระลบเป็นพระที่ไม่มีลวดลายหรือองค์ประกอบต่างๆบนองค์พระมากนัก แต่ก้มีความงดงามอย่างมีมิติที่เมื่อเราพบเห็น ทำให้อดที่จะเก็บรักษาเอาไว้มิได้ สำหรับพระพุทธคุณขององค์พระลบนั้นมีอย่างล้นเหลือดังที่กล่าวมาข้างต้นของบทนำทุกประการ หากจะเปรียบเทียบพระกรุกับพระเกจิต่างๆที่มีการสร้างขึ้นในปัจจุบันในเรื่องความน่านิยมและเรื่องพระพุทธคุณกันแล้ว พระกรุที่มีอายุอันเก่าแก่นั้นมีความเหนือชั้นกว่าอย่างมากมาย และนับวันยิ่งจะมีคุณค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะพระกรุมีการสร้างขึ้นมาด้วยความจำกัดจำนวนไม่มีการสร้างขึ้นมาใหม่ เหมือนกับพระในยุคปัจจุบัน หากเป็นพระกรุของแท้ที่แน่นอน พระลบเนื้อโลหะสีเทาดำองคืนี้มีน้ำหนัก 20 กรัม.

ภาพที่ 15 เป็นพระลบเนื้อโลหะสีเทาดำพิมพ์เดียวกันกับองค์ข้างบน ความงดงามสมบูรณ์เต็มร้อย ทั้งคราบกรุขี้กรุที่ติดอยู่บนองค์พระ ความเก่าแก่ของเนื้อนั้นฟ้องให้เห็นอยู่ในตัวเป็นพระกรุที่ไม่ถูกจับต้องหรือทำการล้างหรือขัดถูให้ต้องเสียความงดงามและสภาพเดิมๆไป ยังคงสภาพเดิมๆที่เต็มไปด้วยความขลังที่มีพลังในองค์พระอย่างบริบูรณ์ ด้านหลังราบเรียบไม่อูมนูนหนาเหมือนกับพระลบเนื้อดินเผา มีรอยหลุมของการยุบตัวของเนื้อโลหะให้ได้เห็น รวมทั้งขี้กรุเดิมๆที่ติดอยู่ น้ำหนักของพระลบองค์นี้มีน้ำหนักหนัก 25 กรัม.

ภาพที่ 16 เป็นภาพของพระลบเนื้อโลหะตะกั่วสีเทาดำที่ไม่มีคราบกรุหรือขี้กรุติดอยู่บนองค์พระ พระลบที่เป็นเนื้อโลหะตะกั่ว ที่นำเอาคราบกรุและขี้กรุออก จะดูแตกต่างและผิดกันกับแบบที่มีคราบกรุและขี้กรุ ในความงามและความเข้มขลังขององค์พระอย่างน่าประหลาด จึงได้นำมาให้ได้เปรียบเทียบกันในความเหมือนและความต่างกันว่าเป็นเช่นใด เรื่องของคราบกรุนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญในการใช้เป็นประโยชน์ในการดู ว่าพระที่เราพบเห็นนั้นจะเป็นพระแท้หรือไม่ เพราะคราบกรุที่ติดมากับองค์พระกับคราบกรุหรือขี้กรุที่ทำขึ้นมา จะมีความแตกต่างกับคราบกรุแท้ๆที่ติดมากับองค์พระเดิมๆนั้นอย่างสิ้นเชิง เราสามารถนำมาชี้ชัดให้เป้นประโยชน์ในการตัดสิน ว่าพระนั้นเป็นพระจากกรุแท้ๆหรือไม่ พระลบเนื้อโลหะองค์นี้หนัก 20 กรัม.

เรื่องราวของพระลบเนื้อโลหะ ที่ในสมัยก่อนเก่าเขาได้เล่ากันว่าไม่มีปรากฎนั้น ก็ได้ปรากฎเป็นเรื่องราว ยาวถึง 16 องค์ ที่ได้นำมาแสดงไว้ท่านได้เห็น พร้อมกับคำอธิบายองค์พระแต่ละองค์ คงจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นกันว่า พระกรุของพระชุดสกุลลำพูนทุกๆอย่างนั้น มีทั้งเนื้อโลหะต่างๆและเนื้อดินที่หลากหลาย คละเคล้าอยู่ด้วยกัน ว่าแต่ว่า ผู้ใดจะได้พบเห็นและเป็นเจ้าของพระอย่างแท้จริง ที่จะให้ข้อมูลเรื่องนี้ได้อย่างเป็นจริงและถูกต้องมีเหตุและผลกันเท่านั้น เรื่องราวของพระกรุในชุดสกุลลำพูน ในเรื่องราวของพระลบยังไม่หมด โปรดติดตามเรื่องราวของพระลบพิมพ์ต่างๆ ที่เป็นเนื้อดินเผาอีกหลายพิมพ์ทรง ที่ไม่ค่อยปรากฎให้พบเห็นกันบ่อยนัก อีกมากมายหลายพิมพ์หลายแบบในตอนต่อไป ขอผู้ที่สนใจโปรดได้ติดตามในเร็ววันนี้ ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจและติดตามชมมา ณ โอกาสนี้ .