“สุดยอดของพระชุดเบญจภาคีชุดใหญ่ รวม 9 ชุด”

โดย สำราญกาญจนคูหา โทร 053-530148 086-9184300

“พระชุดเบญจภาคี”

พระชุดเบญจภาคี เป็นเหมือนดังดวงมณีอันมีค่า สุดบูชาของปวงชนคนทั้งหลาย
พระทั้ง ห้า คือสุดยอด นิรันตราย ท่านมุ่งหมาย สร้างไว้ คุ้มภัยชน
พระสมเด็จวัดระฆัง ท่านขลังนัก ให้รู้เห็นเป็นประจักษ์อย่างเป็นผล
สมเด็จโตสร้างไว้แจกผู้คน ช่วยส่งผลปลอดภัยพ้นภัยพาล
พระซุ้มกอ ลาย กนก วัดพิกุล ช่วยเพิ่มพูนโภคทรัพย์มหาศาล
มีกูแล้ว มึงไม่จน ตามตำนาน เสียงเขาลือ เล่าขานกันมาน่านิยม
ผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ ช่างแน่นัก เมตตาจักคุ้มครองโลกหายขื่นขม
นางพญาพิษณุโลกช่างน่าชม ความนิยมเพิ่มพูนความสุนทรีย์
องค์พระรอดพิมพ์ใหญ่ได้ใจนัก เป็นของรัก มีท่านไว้ใจสุขขี
เป็นพระกรุ สร้างขึ้นในยุค”จามเทวี” ผู้ใดมี คุ้มกัน ให้ ปลอดภัยจริง.


เมื่อพูดกันถึงพระชุดเบญจภาคีขึ้นมานั้น ผู้ที่นิยมสะสมพระเครื่องย่อมจะก็รู้จักกันดี ทุกวันนี้พระในชุดเบญจภาคีนั้นเปรียบเสมือนพระในฝันไปแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากพระแต่ละองค์ ในพระชุดดังกล่าว มีราคาสูงลิบ นับเป็นหลักแสน หลักล้าน เลยทีเดียว ในครั้งนี้ผู้เขียนได้รวบรวมเอาพระชุดเบญจภาคี ที่เป็นสมบัติส่วนตัวของผู้เขียน นำมาให้ท่านผู้ที่สนใจได้ชมและศึกษากันไปพลางๆ อย่างเต็มอิ่ม ว่าเป็นเช่นใด โดยผู้เขียนได้คัดเลือกเอาพระแต่ละองค์ที่งดงามและสมบูรณ์แบบ เป็นพระแท้ ทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรง เป็นพระที่ดูง่าย เคยผ่านงานประกวดและได้ประกาศณียบัตรรับรองมาแล้ว บางพิมพ์บางองค์ท่านก็ไม่เคยได้พบเห็น และคงไม่นึกว่าจะมีพระที่งดงามและสมบูรณ์ขนาดนี้ โดยเฉพาะ “พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่นิยมของวัดพิกุล” จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพระพิมพ์พิเศษแกะด้วยหินชนวนสีเขียวนวลคล้ายสีเขียวมรกต เป็นพระพิมพ์นิยมที่เป็นเสมือนพ่อพิมพ์ของพระซุ้มกอองค์อื่นๆ พระซุ้มกอ องค์นี้ถูกค้นพบในกรุของวัดพิกุลและมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น องค์พระแกะด้วยหินชนวน ด้านหลังมีจารเป็นตัวอักษรโบราณความว่า “กูถือซุ้มกอ ใครมีกูไว้จะไม่จนนาน”ซึ่งเป็นเรื่องแปลกและน่าทึ่งมากเลยทีเดียว พระซุ้มกอองค์นี้ถือได้ว่าเป็นพระซุ้มกอที่เป็นหนึ่งเดียว ในเวลานี้ก็ว่าได้ ที่มาที่ไปของพระชุดเบญจภาคีนั้นเกิดจากนักนิยมพระอาวุโส คือ “ตรียัมปวาย”ซึ่งเป็นนามปากกาของ “พันเอก ประจญ กิตติประวัติ” ได้รวบรวมและได้คัดเลือกเอาสุดยอดของพระเครื่องที่เป็นพระกรุโบราณเก่าแก่ทั่วฟ้าเมืองไทยมาบรรจงจัดแบ่ง เพื่อให้เป็นชุด อันง่ายแก่การจดจำและยึดถือกันว่า พระพิมพ์ทั้งห้าองค์นี้เป็นสุดยอดของพระกรุที่สำคัญ มีความเก่าแก่และงดงามด้วยพุทธศิลป์อย่างแท้จริง พระพิมพ์ที่สำคัญห้าองค์ดังกล่าวประกอบด้วย

1 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่พิมพ์พระประธาน กรุงเทพฯ.
2 พระลีลาเม็ดขนุน หรือที่เรียกกันว่า พระกำแพงเขย่ง ตอนหลังพระลีลาเม็ดขนุนออกจะหายาก จึงได้เลือกเอาพระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีลาย กนกวัดพิกุล จังหวัดกำแพงเพชรขึ้นมาแทน
3 พระกรุเนื้อดินของจังหวัดพิษณุโลกคือ พระนางพญา ซึ่งมีกันอยู่หลายพิมพ์ โดยได้คัดเลือกเอาพระนางพญาวัดนางพญาเข่าโค้งเป็นหนึ่งในพระทั้งห้า เป็นสำคัญ
4 พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี
5 พระรอดพิมพ์ใหญ่ของกรุวัดมหาวันจังหวัดลำพูน ที่มีอายุเก่าแก่กว่า พันสามร้อยปี

ในปัจจุบันนี้ถือกันว่า ผู้ใดมีพระชุดเบญจภาคีครบชุด อย่างครบเครื่องถือได้ว่าเป็นสุดยอดของนักสะสมพระเครื่องแห่งฟ้าเมืองไทย นับได้ว่า ผู้นั้นได้ก้าวขึ้นไปถึง “จุดสุดยอด” ของนักสะสม พระเครื่องที่เป็นพระกรุโบราณได้อย่างเต็มภาคภูมิโดยแท้จริง เรามาศึกษาและชมกับพระชุดเบญจภาคีในชุดแรกกันดีกว่า

ชุดที่ 1 .

เบญจภาคี เลิศล้ำ เกินใด
ทั้งสามภพแดนไตร แซร่ซร้อง
พุทธคุณ สุดหาไหน เทียมเท่า
ยอดพระกรุเหนือคำเล่า เก้าชุด ชวนชม.

ภาพที่ 1 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ที่งามสมบูรณ์ งามพร้อม ทั้งด้านหน้าด้านหลัง พระสมเด็จองค์นี้ เป็นพระกรุเก่า ลงรักปิดทองทาชาดสีแดงตามความนิยมของคนในสมัยก่อนเพื่อเป็นการป้องกันผิวพระไม่ให้สึกหรอไปง่ายๆ
ด้วยความเก่าของอายุ ชาดสีแดงและทองที่ปิดได้หลุดร่อนออกเป็นที่ๆทำให้มองเห็นเนื้อด้านในขององค์พระที่แท้ว่าเป็นเช่นใด เนื้อด้านในที่ปรากฎเป็นเนื้อที่นวลเนียนหนึกนุ่มตา มีมวลสารที่ประกอบครบถ้วน อีกทั้งพิมพ์ทรงก็ถูกต้องตามขบวนการของพระสมเด็จในทุกประการ พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่องค์นี้จัดได้ว่าเป็นพระที่งามสมบูรณ์พร้อมองค์หนึ่ง เมื่อใชกล้องส่องดูจะเห็นมวลสารที่เป็นเนื้อแท้ขององค์พระปรากฎ ทั้งมีรอยแตกของเนื้อรวมทั้งรอยปริแตกของชาดและทองเก่าที่ปิดอยู่ทำให้พระสมเด็จองค์นี้มีเสน่ห์เพิ่มขึ้นอย่างน่าชื่นชมและน่าตื่นใจยิ่ง
ด้านหลังเรียบเป็นหน้ากระดาน มองเห็นชาดสีแดงที่เก่าคร่ำคร่า ติดอยู่อย่างชัดเจนแม้จะถูกกระเทาะออกไปจน มองเห็นเนื้อในขององค์พระที่มีสีเข้ม เพราะถูกน้ำมันในตัวคนและเหงื่อไ คลพอกพูนสะสมอยู่นานนับสิบๆปี ขนาดองค์พระกว้าง 2 1/2 ซ.ม หนา 1/2 ซ.ม สูง 3 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 2 พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่พิมพ์นิยมองค์ประธานมีลายกนกของวัดพิกุล จังหวัดกำแพงเพชร พระซุ้มกอองค์นี้มีลักษณะที่พิเศษกว่าพระซุ้มกอ องค์ใดๆ ถือเป็นเสมือน พระพ่อพิมพ์ของพระซุ้มกอเลยทีเดียว เนื้อหาของพระซุ้มกอ องค์นี้แกะขึ้นมาด้วยหินชนวนสีเขียวเข้ม มีความงดงามและสมบูรณ์ของหน้าตาและลายกนกโดยรอบองค์พระอย่างบริบูรณ์ โดยเฉพาะความพิเศษที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ที่ทางด้านหลังมีอักษรโบราณที่จารไว้ว่า “กูถือซุ้มกอ ใครมีกูไว้ จะไม่จนนาน” อันเป็นนิยามคำกล่าวที่เล่าขานกันต่อๆมาในวงการ พระซุ้มกอพิมพ์พิเศษองค์นี้ แต่เดิมทีเป็นของนายตำรวจใหญ่ ที่ท่านมีความสนิทชิดชอบกับผู้เขียน ท่านได้มอบให้ไว้ และบอกว่าท่านได้มาจาก ภายในกรุของวัดโบราณเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งในกรุนั้นมีพระซุ้มกอองค์นี้อยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น จึงได้เก็บรักษาเอาไว้อย่างดี ต่อมาภายหลัง ท่านก็ได้มอบให้แก่ผู้เขียนเมื่อหลายๆปีก่อนโน้น พุทธคุณของพระซุ้มกอมีพุทธคุณที่ดีทางการค้าขาย ความมีโชคมีลาภ ความก้าวหน้าในกิจการงานหน้าที่และแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ขนาดกว้าง 3 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. นัก 10 กรัม.

ภาพที่ 3 พระกรุเนื้อดินอันมีชื่อเสียงอันเกริกไกรของกรุวัดนางพญาของจังหวัดพิษณุโลก คือพระนางพญาเข่าตรง พระนางพญาองค์นี้ มีเนื้อเป็นสีแดงที่เรียกกันว่าเนื้อจัด ในองค์มองเห็นเม็ดแร่แพรวพราวเกือบทั่วทั้งองค์อันถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระพิมพ์จากกรุนี้ เนื้อหามีความเก่าแก่สมอายุของพระกรุโบราณโดยแท้ พระนางพญาประทับนั่งในรูปแบบของพระเจ้านั่งดิน เป็นพระของสมัยอยุธยาแต่มีศิลปะ คล้ายกํบศิลปะพะเยา เพราะองค์พระประทับนั่งโดยไม่มีฐานรองรับ แบบเดียวกับพระเจ้านั่งดินของ วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา จึงดูผิดแปลกไปจากพระของกรุอื่นๆให้ลองสังเกตดุ ศิลปะในองค์พระเป็นแบบที่เรียบง่ายไม่ปรากฎลวดลายอื่นใดผสม มีความงามและมีเสน่ห์ที่เนื้อหา และพุทธคุณทางด้านเมตตาแคล้วคลาดปลอดภัยรอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1 1/2 ซ.ม. สูง 3 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 4 พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่กรุวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณ บุรี พระองค์นีมีสีเทาดำเข้ม เป็นพระที่มีเนื้อจัด เนื้อหาจะมีความละเอียด พระองค์นี้แต่เดิมมีคราบกรุติดอยู่อย่างแน่นหนาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ล้างไม่ออก ผู้เขียนได้พยายามเอาคราบกรุออกโดยใช้ไม้ ไผ่เสี้ยมปลายให้แหลมแล้วค่อยๆเขี่ยเอาคราบกรุออก ต้องใช้ความพยายามอยู่หลายวันจึงได้เห็นสภาพของเนื้อในที่แท้จริงขององค์พระมีสภาพดังที่เห็น จัดได้ว่าเป็นพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ ที่มีความงดงามสมบูรณ์อย่างมากองค์หนึ่ง ด้านหลังมีลายนิ้วมือปรากฎอยู่อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของพระผงสุพรรณทั้งหลายทั้งปวง ขนาดกว้าง 2 ซ.ม หนา 3/4 ซ.ม สูง 3 ซ.ม


ภาพที่ 5 พระรอดพิมพ์ใหญ่วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้เป็นพระรอดพิมพ์นิยมที่ถือเป็นมาตรฐานสากล เป็นพระรอดที่มีเนื้อเป็นสีชมพูอมแดงที่มีรักเก่าดำๆติดอยู่ตรงบริเวณเหนือเศียร มุมซ้าย และตรงปลายเท้าข้างซ้ายมองเห็นอย่างชัดเจน พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้มีปีกหรือเนื้อเกินที่มีความบางม้วนตัวมาทางด้านหน้าอันเป็นลักษณะของพระรอดกรุวัดมหาวันโดยแท้ ตรงด้านขวาขององค์เช่นกันก็มีเนื้อเกินออกมามองเห็นชัดเจน ก้นฐานของพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้นจะเป็นแบบก้นพับมาทางด้านหน้า ฐานที่ประทับเป็นฐานสี่ชั้น มีเส้นน้ำตก ตรงใต้ แข้งซ้ายขององค์พระ ลงมายังใต้ฐาน ที่ 1 และใต้ฐานที่ 2 ส่วนเส้นบนช่องว่างบนฐานประทับ ชั้นแรก ตรงช่องว่างของหน้าแข้งที่ประสานกัน มีเส้นเล็กๆสั้นๆมีขนาดเท่ากับเส้นผม ปรากฎอยู่ เส้นนี้เรียกกันว่า เส้นใต้ฐานถือเป็นจุดสำคัญที่สุดของพระรอดพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์อื่นๆที่จะขาดเส้นนี้ไปไม่ได้ เส้นที่ว่านี้จะเป็นเส้นเล็กๆไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไป เรียกว่ามีความพอดีอย่างเลงตัว มองดูไม่ขัดตา ตรงส่วนบนข้างหูซ้ายขององค์พระจะมีเส้นพิมพ์แตกที่มีลักษณะคล้ายรากไม้ เป็นเส้นขยุกขยิกอย่างเป็นธรรมชาติ โค้งตัวลงมาทางด้านข้างจนถึงลวดลายของใบโพธิ์ ห่างจากหูซ้ายออกมาเล็กน้อย จะเห็นเม็ดกลมเป็นติ่งบนเส้นพิมพ์แตก ที่ถือเป็นจุดสำคัญยิ่งจุดหนึ่งของพระรอดพิมพ์ใหญ่ลองสังเกตุดู หูทั้งสองข้างยาวเสมอเกือบถึงไหล่ตรงส่วนของปลายหูจะมีลักษณะเป็นตะขอคล้ายเงี่ยงเบ็ด ที่แหลมหักพับขึ้น ปลายหูทางซ้ายหักเข้าหาองค์พระ ปลาบหูด้านขวาหักออกจากองค์พระ ภาพโดยรวมถือได้ว่ามีความงดงามและสมบูรณ์แบบ งามยิ่ง เป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่ของแท้แน่นอน สำหรับด้านหลังของพระรอดองค์นี้ราบเรียบ มีคราบของดินกรุที่ติดมาแต่เดิมเหลือเอาไว้ดูเล่นเพลินๆ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.

“พระชุดเบญจภาคี”ชุดที่ 2.

สุดยอด “เบญจ”ล้ำเหนือใคร
เป็นที่ พึ่งทางใจ แน่แท้
ประทับไว้ในดวงใจ คงมั่นยิ่งนา
สุดจะหาใดเรี่ยมแล้ เทียบได้เปรียบปาน

ภาพและคำอธิบายพระชุดเบญจภาคี ชุดแรกได้ผ่านไป เพื่อให้ท่านได้ศึกษา พิมพ์ทรงเนื้อหาของพระแต่ละองค์และให้ทำความเข้าใจว่ามีความเป็นมาอย่างไร เผื่อจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของได้ในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งใครจะไปรู้ได้ เชิญติดตามพระชุดเบญจภาคีชุดที่สองได้ต่อไป

ภาพที่1/2 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ที่เนื้อขององค์พระแตกลายงาทั้งองค์ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่องค์นี้มีเนื้อที่หนึกนุ่ม มีมวลสาร สีดำ สีเขียว สีน้ำตาล สีแดงและเม็ดพระธาตุปรากฎให้เห็น ลายงาที่แตกลายไปทั่ว ดูงดงามคล้ายกับลายงาของเครื่องสังคโลกหรือเครื่องถ้วยชามเคลือบของคนจีนที่นิยมสะสมกัน ของนักนิยมสะสมของเก่า เมื่อใช้กล้องส่องดูจะเกิดความรู้สึกมันส์ในอารมณ์ พระสมเด็จองค์นี้งามเรียบร้อยไม่หักบิ่นในส่วนใด มีความสมบูรณ์แบบยิ่ง ซุ้มครอบแก้ว เส้นกรอบกระจก เส้นบังคับมีเรียบร้อยลองพิจารณาดูให้ดี เป็นพระเก่าเก็บที่รักษาสภาพเดิมๆไว้ได้ ดีเยี่ยม สำหรับพุทธคุณนั้นถือกันว่าดีเยี่ยมในทางโภคทรัพย์อันบริบูรณ์ รวมทั้งทางเมตตามหานิยม จึงได้รับความนิยมอย่างสูงสุด ของวงการ จนถึงทุกวันนี้ ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1/4 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม.

ภาพที่ 2/2 พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มีลายกนก กรุวัดพิกุลกำแพงเพชร เนื้อของพระซุ้มกอองค์นี้จัดอยู่ในประเภทเนื้อจัดมาก มีหน้าตาครบถ้วนงามบริบูรณ์ในทุกจุด มีความเก่าและความเหี่ยวย่นของเนื้อ อย่างหาที่ติมิได้ คราบสีขาวเทาๆอันวลตาที่ติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆนั้นคือคราบกรุที่เป็นปูนขาวอันเก่าแก่ เกาะติดอยู่ทำให้ดูมีความขลังเพิ่มความเชื่อมั่นในพุทธคุณอันลือลั่นขององค์พระให้มากยิ่งขึ้น ว่านดอกมะขามสีแดงอันเป็นเนื้อในที่ออกมาจากในเนื้อนั้น ยิ่งเพิ่มความงามขององค์พระบวกกับเนื้อพระ ที่เหี่ยวย่นบ่งบอกอายุอันยาวนาน ยิ่งเพิ่มความมีเสน่ห์ให้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้คลาย ด้านหลังค่อนข้างจะหนา มีรอยเสี้ยนหยาบๆที่เรียกกันว่ารอยกาบหมากปรากฎให้เห็น อีกทั้งมีราดำติดอยู่เป็นที่ ๆ ท่านลองขยายภาพพิศดูอย่างเต็มที่ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ก็จะเห็นความเก่าของเนื้ออย่างจะแจ้ง ขนาดกว้าง 2 1/4 ซ.ม หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 3/2 พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ของจังหวัดสุพรรณบุรี พระผงสุพรรณ องค์นี้มีสีสันที่ดำเข้มดูขลังอย่างมีพลังเป็นอย่างมาก ความงดงามและสมบูรณ์นั้นเป็นพระที่มีหน้าตาหูปากจมูกและจุดลับจุดสังเกตุเด่นชัดอย่างบริบูรณ์ เนื้อหานั้นมีความละเอียดหนึกนุ่ม พระผงสุพรรณมีความคล้ายและเหมือนกับพระรอดของวัดมหาวันลำพูน ก็ตรงที่เนื้อดินขององค์พระนั่นแหล่ะมีความละเอียดพอกัน สำหรับพุทธคุณนั้นดีไปทางเมตตามหานิยมคลาดแคล้วอยู่รอดปลอดภัย คราบกรุที่ติดมากับองค์พระ ผู้เขียนไม่เอาออก ปล่อยให้อยู่ในสภาพเดิมๆซึ่งจะดูดีกว่า เพราะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นความเก่าแก่ขององค์พระได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องเสียเวลามาถกเถียงกัน ด้านหลังจะเห็นลายนิ้วมือขนาดใหญ่กดประทับลง บนเนื้อพระชัดเจนเป็นสัญญลักษณ์เฉพาะของพระผงสุพรรณ พุทธศิลป์โดยรวมมองดูเรียบง่าย จะแสดงออกที่ตรงใบหน้าที่ให้ความรู้สึกอย่างประหลาดที่มีความนัยซ่อนอยู่ใน
ใบหน้านั้น ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 4/2 พระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ สีดำอันเข้มขลังของกรุวัดนางพญาจังหวัดพิษณุโลก เป็นพระที่งามสมบูรณ์เรียบร้อยในทุกอย่าง ไม่บิ่นหรือกระเทาะในส่วนใด ตำหนิพิมพ์และหน้าตาชัดเจนดีเป็นพระที่ผ่านการประกวดมาแล้ว เนื้อดินของพระนางพญาองค์นี้มีความละเอียดมากพอๆกับพระผงสุพรรณหรือพระรอดเลยทีเดียว คราบกรุเดิมๆที่ติดมากับองค์พระติดมาบางๆเป็นคราบสีเทา ผู้ เขียนได้คงสภาพเดิมๆไว้เพื่อให้เห็นเนื้อขององค์พระว่าเป็นเช่นใด ด้านหลังขององค์พระมีลายนิ้วมือปรากฎให้เห็น จัดได้ว่าพระนางพญาองค์นี้มีเสน่ห็อย่างน่านิยมยิ่ง
พระนางพญาองค์น้มีขนาดกระทัดรัด สีสันขององค์มองดูเข้มขลังสมกับเป็นพระกรุที่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง ขนาดมีความพอดีที่จะเอาเข้าคู่กับพระรอดพิมพ์ใหญ่ของกรุวัดมหาวันลำพูนได้อย่างเหมาะสม ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 5/2 พระรอดพิมพ์ใหญ่พิมพ์นิยมกรุวัดมหาวันลำพูน พระรอดองค์นี้เป็นพระที่มีเนื้อแกร่ง เพราะถูกเผาด้วยไฟที่มีอุณหภูมิสูง จึงมีสีสันและเนื้อที่แข็งแกร่งอย่างยอดเยี่ยมอันเป็นที่นิยมของวงการ ความแกร่งของเนื้อพระทำ ให้ หน้าตาหูปากจมูกและลวดลายต่างๆบนองค์พระคงสภาพไว้ได้อย่างสมบูรณ์ไม่สึกหรอหรือขาดหายไป พระรอดที่มีเนื้อแบบนี้ เขามีบทนิยามที่กล่าวกันว่า “มีเนื้อที่แข็งแกร่งจนสามารถขีดกระจกให้เป็นรอยได้” ว่าแต่จะมีใครกล้าหาญลองเอาพระดีๆ ที่มีความสมบูรณ์แบบและมีความงดงามทุกประการ อีกทั้งเป็นพระที่มีราคาแพงแสนแพง มาขีดกระจกเล่น ด้านหลังขององค์พระอูมอิ่มเล็กน้อย สังเกตุดูจะเห็นความเนียนของเนื้อ จะมีความละเอียดหนึกนุ่มสมกับคำกล่าวไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ตรงก้นฐานเป็นแบบก้นพับมาทางด้านหน้า ซึ่งเป็นลักษณะของพระรอดพิมพ์ใหญ่แท้ๆ เป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งที่พึงจดจำไว้ให้ดี พระรอดองค์นี้ไม่มีปีกยื่นออกมาทางด้านข้าง จึงจับต้องได้อย่างเนียนมือ ขนาดขององค์พระ กว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.


พระชุด”เบญจภาคี”ชุดที่ 3 .

เบญจภาคี เลิศล้ำ พุทธคุณ
สุดยอด ทรงคุณ วิเศษแท้
ศิลปะ งามล้ำ จริงแน่ แท้นา
สมเป็น ยอดปรารถนา ผองชน ทั่วไทย.

ผ่านไปแล้วสำหรับพระชุดเบญจภาคีชุดที่ 2 เชิญติดตาม พระชุดเบญจภาคี ชุดที่ 3 ได้ครับ

ภาพที่ 1/3 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่พิมพ์พระประธานกรุเก่า ที่ลงรักปิดทองอย่างแน่นหนา จะมองเห็นรักที่มีสีดำตามขอบด้านข้าง และตรงส่วนฐานล่างสุด ด้วยความเก่าของกาลเวลา จึงทำให้รักที่ลงไว้นั้นปริแตกออกมาเป็นเกล็ด จนเห็นเนื้อในขององค์พระ ส่วนเนื้อทองที่ปิดในองค์พระนั้นจะมีสีซีด ตรงส่วนที่ติดตรงใบหน้า หน้าอก ส่วนขา และตรงส่วนฐานล่างสุด จะเห็นรอยปริแตกของรักชัดเจน ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งสำหรับพระกรุเก่าที่ผ่านการใช้มาอย่างโชกโชน พระสมเด็จองค์นี้หากมองดูเผินๆธรรมดา ดูไม่งามนัก แต่หากใช้กล้องส่องดูจะเห็นความซึ้งของเนื้อที่มีความงามของรังสีแห่งองค์พระสมเด็จ ฉายแสงออกมาให้เห็นอย่างประหลาด ด้านหลังขององค์พระนั้น รักที่ลงไว้เกาะติดค่อนข้างหนา และติดเกือบเต็มพื้นที่ ทำให้มองเห็นเนื้อในเป็นเพียงบางส่วน แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่เข้มขลังในพลังแห่งองค์พระสมเด็จได้เป็นอย่างดี ขนาดกว้าง 2 ? ซ.ม หนา 1/2 ซ.ม สูง 4 ซ.ม.

ภาพที่ 2/3 พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มีลายกนกวัดพิกุล จังหวัดกำแพงเพชร แรกๆพระซุ้มกอองค์นี้ถูกหุ้มด้วยดินขี้กรุที่มีทั้งผงปูนขาวและดินดำ จนแทบจะมองไม่เห็นองค์พระ ผู้เขียนได้พยายามเอาคราบกรุดังกล่าวออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จึงได้เห็นว่าเป็นพระซุ้มกอที่มีความสมบูรณ์และมีความงดงามมากองค์หนึ่ง เนื้อหาขององค์นั้นเป็นแบบเนื้อจัดดูเข้มขลัง มีความเก่าแก่ของอายุออกมาอย่างเต็มที่ เป็นพระที่ดูง่าย ลวดลายในองค์พระรวมทั้งหน้าตามีครบถ้วนบริบูรณ์ ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 3/3 พระนางพญากรุวัดนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง จังหวัดพิษณุโลก พระนางพญาพิมพ์เข่าโค้งองค์นี้มีเนื้อจัด เป็นพระที่ถูกจับต้องมากพอสมควร ทำให้เนื้อพระมีความหนึกนุ่ม สีสันแจ่มจ้าอย่างติดตา เป็นพระที่มีสีเป็นสีแดง การจับต้ององค์พระหรือองค์พระถูกถุกับเนื้อตัว เป็นความเชื่อถือของคนโบราณที่ถือกันว่าเวลาห้อยพระให้เนื้อพระถูกต้องกับเนื้อตัวนั้น จะทำให้เกิดความขลังเพราะองค์พระอยู่ใกล้ชิดติดกับตัว แต่ในที่สุดองค์พระที่งามสมบูรณ์พร้อมต้องสึกหรอไปอย่างน่าเสียดาย อันเป็นความเข้าใจที่ผิด พระที่มีเนื้อแบบนี้เขาจะเรียกว่าพระกรุเก่า ความงามและความสมบูรณ์ของพรองค์นี้เต็มร้อย ด้านหลังมีรอยนิ้วมือเป็นรอยบุ๋ม ที่เป็นการกดพิมพ์ พุทธคุณของ พระนางพญานั้นเป็นแบบเมตตามหานิยมแคล้วคลาดเป็นที่นิยมสำหรับคุณผู้หญิงในชื่อของนางพญา ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 4 /3 พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ จังหวัดสุพรรณบุรี พระผงสุพรรณองค์นี้ มีความงดงามสมบูรณ์ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ทรงและเนื้อหา มีหน้าตา หูปากจมูกให้เห็นอย่างชัดเจน ด้านหลังงามเรียบร้อย มีรอยนิ้วมือปรากฎ ตามแบบฉบับของพระผงสุพรรณ เนื้อและสีสันขององค์พระนั้นดูเนียนหนึกนุ่ม เป็นพระเก่าเก็บ ไม่ถูกจับต้องกันมาก คงสภาพเดิมๆไว้ให้ได้ดูอย่างตื่นใจ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 5 /3 พระรอดพิมพ์ใหญ่เนื้อสีแดงของกรุวัดมหาวันจังหวัดลำพูน พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้มีลักษณะล่ำต้อ เศียรใหญ่ คล้ายเศียรบาตร รูปร่างล่ำสัน ตาโปน ปากหนา จมูกบาน อันเป็นลักษณะของพุทธศิลป์แบบทวารวดีที่มี อิทธิพลต่อพุทธศิลป์ของหริภุญไชยตั้งแต่ในยุค ตอนแรก ลวดลายต่างๆในองค์พระรวมทั้งจุดสังเกตุต่างๆมีพร้อมครบถ้วน ด้านข้างมีปีกบางๆทางด้านซ้าย ตรงส่วนล่างขององค์พระลองสังเกตุดู พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ ดูจะกว้าง ป้าน ออกทางด้านข้าง ไม่ชะลูดเหมือนกับองค์อื่น เป็นลักษณะเฉพาะตัวของพระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ ที่เป็นอีกบล๊อกหนึ่ง ด้วยฝีมือเชิงช่างที่มีหลายคน พระรอดวัดมหาวันตามคำกล่าวของท่านเจ้าคุณพระญาณมงคล ท่านเจ้าคณะจังหวัดลำพูน อดีตเจ้าอาวาสของวัดมหาวัน ท่านเคยบอกไว้ว่าพระรอดนั้นมีถึง 32 พิมพ์ ด้านหลังของพระรอดองค์นี้งามเรียบร้อย เป็นพระที่ดูสะอาดตาเพราะไม่มีคราบกรุปรากฎทำให้มองเห็นเนื้อที่เป็นสีแดงที่มีความเนียนหนึกนุ่มอย่างเต็มตา ขนาดองค์พระ กว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 3 /4 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.

พระชุด “เบญจภาคี ชุดที่ 4 .

เบญจ งามเหนือล้ำ คำชม
องค์พระช่างงามสม คำ อ้าง
เป็นพระยอดนิยม ของไทยเรานา
ยากแสนยากสุดจะหา พระอื่นใดมาเทียม

ติดตามพระชุดเบญจภาคี ในชุดที่ 4


ภาพที่ 1/4 ภาพพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่พิมพ์พระประธานแบบเกศทะลุซุ้มมีเนื้อหาที่แก่ปูนขาว พระสมเด็จองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บ รอบๆองค์พระปิดทองบางๆ มีความคมชัดในทุกประการ รูปทรงสัณฐานต่างๆ งามบริบูรณ์ ไม่แตกหักหรือบิ่นในส่วนใด การประทับนั่งในซุ้มครอบแก้ว ขององค์พระตลอดจนกรอบกระจก เส้นบังคับต่างๆถูกต้อง ด้วยเนื้อหาที่แก่ปูนขาว จึงทำให้มีความแกร่งของเนื้อเป็นที่แปลกตายิ่ง เนื้อขององค์พระมีความแกร่งแต่ก็เห็นความหนึกนุ่มในที เป็นพระสมเด็จที่มีเสน่ห์ที่ดึงดูดสายตาได้เป็นอย่างดี ด้านหลังแบนราบเรียบร้อย มีรูพลุนต่างๆ เนื่องจากการขยายตัวหดตัวของเนื้อพระที่มีอายุนับร้อยปี จึงทำให้ผิวพระเป็นไปโดยธรรมชาติ ขนาดกว้าง 2 1/2 สูง 4 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 2/4 พระซุ้มกอพิมพ์นิยมกรุวัดพิกุล จังหวัดกำแพงเพชร พระซุ้มกอองค์นี้ งามมีหูตาปากจมูกติดพิมพ์ชัดเจนดี มีความคมชัดและงามอย่างไม่มีที่ติ คราบกรุในซอกมุมต่างๆ ช่วยทำให้องค์พระดูเด่นเป็นสง่า อย่างน่าชื่นชม เส้นสายรายละเอียดต่างๆ ตลอดจนเนื้อหาขององค์พระดูประกอบเข้า ด้วยกันอย่างลงตัว โดยเฉพาะเนื้อพระที่งามนวลเนียนหนึกนุ่ม เห็นเม็ด ว่านในเนื้อ ที่เป็นสีดำ สีแดงเมื่อใช้กล้องส่องดู ส่วนด้านหลังเป็นแอ่งของรอยกดพิมพ์ และมีราดำปรากฎอยู่ให้เห็นเป็นจุดๆ ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 3 /4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 3/4 พระนางพญาวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พิมพ์อกนูนใหญ่ ที่มีเนื้อจัดผิวสีแดงเข้ม พระนางพญาองค์นี้มีหน้าตา ติดอย่างชัดเจน มีเนื้อที่หนึกนุ่ม นวลเนียน สมกับเป็นพระกรุที่มีอายุเก่าแก่ ความงดงามและสมบูรณ์เต็มร้อย พระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่ที่มีหน้าตานั้นออกจะหายาก ไม่ค่อยมีปรากฎให้เห็นกันบ่อยนัก ในโอกาสนี้จึงได้นำมาให้ได้ชมกัน ด้านหลังจะเห็นเม็ดแร่เป็นเม็ดๆปรากฎ ทำให้เพิ่มความเข้มขลังขององค์พระมา ก ขึ้น พระนางพญา กรุวัดนางพญาจังหวัดพิษณุโลกนี้ เป็นพระเนื้อดินเผาเป็นศิลปะแบบอยุธยา สร้างขึ้นในสมัยของ พระมหาธรรมราชา โดยพระวิสุทธิกษัตรีย์พระมเหสี ทรงบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ของวัดนางพญา เวลาผ่านไปจนในปี พ.ศ. 2444 ครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก ทางกรมการเมืองได้จัดเตรียมรับเสด็จ ได้ทำการตัดถนน ผ่านระหว่างวัดราชบูรณะ กับวัดนางพญา และตั้งปะรำพิธี โดยได้เกณท์ชาวบ้านขุดดินจากลานวัดตรง หน้าองค์เจดีย์ เพื่อถมดินยกขึ้นเป็นถนน สำหรับการเสด็จ ปรากฎว่า พบพระพิมพ์ต่างๆมากมายอยู่กลาดเกลื่อนทั่วทั้งบริเวณนั้น ยิ่งบริเวณที่อยู่ใกล้กับองค์เจดีย์ยิ่งมีมาก คณะกรมการเมืองจึงได้รวบรวมและทำการคัดแยกองค์พระที่มีความงดงามและสมบูรณ์เพื่อถวายแก่พระพุทธเจ้าหลวง พระพุทธเจ้าหลวง ได้พระราชทานแก่ ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ ส่วนหนึ่งก็ทรงนำกลับพระนคร พระนางพญาอกนูนใหญ่องค์นี้มี ขนาดกว้าง 2 ซ.ม หนา 1 ซ.ม สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 4/4 พระผงสุพรรณ ยอดโถ เป็นพระผงสุพรรณเนื้อโลหะที่ลือลั่นของกรุวัด พระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี พระผงสุพรรณยอดโถองค์นี้เป็นเนื้อชินเงินพิมพ์หน้าแก่ มีหน้าตา หูปากจมูกติดพิมพ์อย่างชัดแจ้งไร้ปัญหา เป็นพระที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ไม่ได้ถูกจับต้องมาก จึงคงสภาพเดิมๆไว้ได้ มีเนื้อที่เก่าและมีคราบกรุติดอยู่อย่างแน่นหนา รอยปริแตกของเนื้อโลหะมีให้เห็นฟ้องอยู่ในตัว ผู้เขียนนำมาเข้าชุดในพระชุดเบญจภาคีครั้งนี้ เพื่อให้ท่านได้รู้ว่าแม้กระทั่ง พระผงสุพรรณอันลือลั่นยังมี พระที่เป็นเนื้อโลหะ ตามที่ได้แสดงไว้ ดังนั้นพระกรุต่างๆที่คนโบราณทำการสร้างขึ้นมา ย่อมจะสร้างขึ้นทั้งพระทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะคละเคล้า ปะปนกัน เพียงแค่ว่าพระเนื้อดินนั้นทำได้ง่ายกว่า กรรมวิธีก็ไม่ยุ่งยาก วัตถุดิบมีอยู่ในทุกแห่งและหาได้ง่าย มีต้นทุนในการทำที่ถูก สามารถทำการสร้างขึ้นมาทีละมากๆได้ ขนาดขององค์พระ กว้าง 2 ซ.ม สูง 3 ซ.ม หนา 1 /4 ซ.ม.

ภาพที่ 5/4 พระรอดพิมพ์ใหญ่กรุวัดมหาวันจังหวัดลำพูน พระรอดองค์พิมพ์ใหญ่องค์นี้ เป็นพระรอดเนื้อเขียว เนื้อจัด ที่เรียกกันว่าเนื้อเขียวหินครก ความสมบูรณ์งดงามแทบจะไม่ต้องกล่าวถึง เป็นพระรอดที่งามเต็มร้อย ทั้งเนื้อหา พิมพ์ทรง จุดลับ จุดสังเกตุรวมทั้งหน้าตา หู ปากจมูกที่ติดอย่างครบครัน ท่านลองขยายภาพดูก็จะรู้ได้อย่างแน่ชัดว่า เป็นจริงอย่างที่ผู้เขียนบอกไว้ไม่ผิดเลย หน้าตาของพระรอดองค์นี้เป็นแบบของศิลปะหริภุญไชยแท้ๆ ให้จดจำเอาไว้ใช้เป็นหลักเกณท์ของการดูพระรอดแท้ๆได้อย่างดี พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้เคยเป็นของเซียนใหญ่รุ่นโบราณของเมืองลำพูน ภายหลังท่านได้เสียชีวิต พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้จึง ตกมาเป็นของผู้เขียน ที่มาที่ไปของพระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ ผู้เขียนจึงรู้ดีว่ามีความเป็นมาอย่างไร จึงได้ติดตามเอามาเป็นเจ้าของจนได้ ในที่สุด ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.

พระชุด “เบญจภาคี”ชุดที่ 5.

สมเด็จวัดระฆัง ท่านขลังนัก
ได้ประจักษ์ พระซุ้มกอ คนเล่าขาน
ผงสุพรรณคือพระกรุในตำนาน
นางพญาองค์ท่านนั้นแสนดี
พระรอดพิมพ์ใหญ่มหาวัน
อายุท่านเก่าแก่อย่างเต็มที่
เป็นสุดยอดพระเมืองเก่า จามเทวี
ห้าองค์นี้ คือ “เบญจภาคี” ฟ้าเมืองไทย

พระชุดเบญจภาคี ชุดที่ 5.

ภาพที่ 1/5 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ไหญ่พิมพ์เกศทะลุซุ้ม พระสมเด็จวัดระฆังองค์นี้มีเนื้อหาค่อนข้างจัด มีความหนึกนุ่ม คล้ายกับเนื้อขนมหวานสังขยา มีหูให้เห็นอย่างรำไร เป็นพระพิมพ์ใหญ่พิมพ์พระประธาน ที่สง่างามยามเพ่งพิศดูนานๆและถ้วนถี่ พระสมเด็จองค์นี้จัดได้ว่าเป็นพระที่สมบูรณ์แบบองค์หนึ่ง พิมพ์ทรงนั้นไม่มีปัญหาในการตัดสิน เรียกได้ว่ากินขาดอย่างแน่แท้เลยทีเดียว ทางด้านหลังนั้นมีรอยของเนื้อที่ย่อย่นเป็นแนวยาวคล้ายกับลายของการพาดไว้กับช่องไม้หน้ากระดาน มีรอยเป็นหลุมบ่อให้เห็นระยะที่ ห่างกัน พอประมาณสองรอย ดูแปลกตา เรื่องของมวลสารต่างๆของพระสมเด็จนั้น เป็นพระเนื้อผงปูนปั้น มีเนื้อปูนเป็นหลักประมาณ 80 เปอร์เซนต์ ปูนที่นำมาเป็นมวลสารนั้นเป็นปูนเปลือกหอยธรรมชาติ นำมาตำจนแหลกละเอียด แล้วนำไปผสมคลุกเคล้า กับผงมวลสารต่างๆ ที่บดคำจนแหลกละเอียดเจนเข้ากันดีเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมีน้ำมันตังอิ้วเป็นตัว ประสานเนื้อให้เกิดความเหนียว จากนั้นจึงไปกดในแม่พิมพ์ พิมพ์เป็นองค์พระออกมา มวรสารที่สำคัญประกอบไปด้วย 1. ผงปูนขาว ที่ได้จาการป่นของปูนเปลือกหอยตามธรรมชาติ 2 . ข้าวสุกที่ท่านเหลือจาการฉัน
3 .กล้วยน้ำว้าที่สุกเหลือง 4 . ผงวิเศษ อันเกิดจากการเขียนอักขระยันต์ ที่ใช้ดินสอพองเขียน แล้วลบออก ถือว่าเป็นผงอันวิเศษยิ่ง 5 . น้ำมันตังอิ้วที่ใช้สำหรับป็นตัวประสาน เพราะมีความหนืดเหนียว เมือเปนองคืพระแล้วทำให้เกิดความนุ่มเนียนของเนื้อที่มีแสงเงาได้อย่างลงตัว 6 .ผงต่างๆอันเกิดจากผงเกสร ดอกไม้แห้ง ก้านธูปที่จุดบูชาองค์พระปฏิมาอันศักดิ์สิทธิ์ เศษจีวรที่เป็นเครื่องห่อหุ้มร่างกายของอริยสงฆ์อันชำรุดไม่ใช้แล้ว นอกจากนี้ยังมีผงวิเศษอันเป็นพระเนื้อดินที่ชำรุดเสียหายของกรุวัดทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร ที่องค์สมเด็จท่านได้เดินทางไปเยี่ยมญาติของท่าน และได้นำติดตัวมาด้วย มวลสารดังกล่าวทั้งหมดนี้ท่านได้นำมาทำการบดตำอย่างละเอียดแล้วนำมาคลุกเคล้าผสมให้เข้ากันเป็นอย่าดี แล้วจึงนำไปกดพิมพ์เป็นองค์พระสมเด็จสำเร็จ ออกมาดังที่ปรากฎ พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้มองค์นี้มี ขนาดกว้าง 2 1 /2 ซ.ม หนา 1/2 ซ.ม สูง 4 ซ.ม.

ภาพที่ 2/5 เป็นภาพของพระซุ้มกอพิมพ์มีลายกนก วัดพิกุล จังหวัดกำแพงเพชร พระซุ้มกอพิมพ์นิยมองค์นี้มีเนื้อหาที่ดูจัดจ้าน สีสันขององค์พระเป็นสีแดงที่มีความมัน และความเก่าแก่ของเนื้อ สมกับเป็นพระกรุเก่าแก่มีอายุ พิศดู มีความเข้มขลังอยู่ในองค์อย่างน่านิยม เพิ่มความเชื่อมั่นในพุทธคุณและความขลังอย่างแท้จริง ยิ่งพระซุ้มกอองค์นี้มีหน้าตาที่ดุดัน มีความชัดเจนของพิมพ์ที่ถูกต้องรวมทั้งลายกนกที่งามเก๋ย์ ยิ่งเพิ่มความมั่นใจอย่างมีเสน่ห์ที่หาดูได้ยากในพระองค์อื่น ด้านหลังขององค์พระราบเรียบมีความเก่าที่ฟ้องให้รู้เห็นในตัว ว่าเป็นพระแท้ที่ดูง่ายองค์หนึ่งเลยทีเดียว ขนาดกว้าง 2 ซ.ม หนา 1 /2 ซ.ม สูง 3 ซ.ม.


ภาพที่ 3/5 พระนางพญาพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เข่าโค้งวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พระนางพญาองค์นี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ พิมพ์ทรงขององค์พระดูชลูด มีความสมบูรณ์เต็มร้อย ไม่หักบิ่นในส่วนใด จัดได้ว่าเป็นพระนางพญาที่งดงาม สมบูรณ์แบบได้องค์หนึ่ง อย่างไม่มีที่ติ เนื้อหาขององค์พระเป็นสีแดงสีค่อนข้างสด ดูมีความเก่าแก่สมอายุเป็นพระที่มี เนื้อหยาบมีเม็ดแร่ปรากฎอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตามแบบฉบับของเนื้อหาของพระกรุทางภาคกลาง พระองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บ ที่ไม่ได้ถูกใช้ จึงคงสภาพเดิมๆไว้เป็นอย่างดี ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 4/5 พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ กรุวัดพระศรีรัตน มหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี พระผงสุพรรณองค์นี้เป็นพระที่มีเนื้อเข้ม ที่เรียกกันว่า สีมะขามเปียก ความสมบูรณ์และงดงามนั้น เรียกได้อย่างเต็มปากว่าเต็มร้อย ไม่มีชำรุดหรือหักบิ่นตรงส่วนใด เป็นพระที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ไม่มีปรากฎให้พบเห็นในที่แห่งใดมาก่อน
ด้านหลังมีลายนิ้วมือหัวแม่โป้งขนาดใหญ่ปรากฎตามแบบฉบับของพระผงสุพรรณที่แท้ พระผงสุพรรณนั้นพบครั้งแรก เมื่อครั้ง ปี 2456 ภายในพระปรางค์องค์ประธานของวัด พระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดใหญ่ จังหวัดสุพรรณบุรี วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอู่ทองตอนปลาย ได้ถูกทิ้งร้างให้เป็นป่ารกพงหนามอยู่เป็นเวลานานแสนนาน จนกระทั่งมีชาวจีนเข้าไปอยู่อาศัย ทำการปลูกผักในบริเวณนี้ ต่อมาชาวจีนนั้นได้ลักลอบขุดองค์พระปรางค์ขนเอาเครื่องทองโบราณที่มีอยู่ในพระปรางค์หนีหายไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากนั้นก็มีมือดีลัก เข้าไปขุดหาสมบัติที่หลงเหลืออยู่ในองค์พระปรางค์รวมทั้งพระพิมพ์ต่างๆทั้งที่เป็นเนื้อดินและเนื้อโลหะได้ไปอย่างมากมาย รวมทั้งจารึกแผ่นลานทองอันสำคัญ ได้ถูกนำไปหลอมเสียหายไปทำให้หลักฐานอันสำคัญต้องสูญสิ้นไปอย่างน่าเสียดาย ภายหลังข่าวกรุแตก ความทราบไปถึง พระยาสุนทรบุรี ศรีพิชัย (กรรณ สูตร) เจ้าเมืองสพรรณบุรีขณะนั้น เห็นว่า หากปล่อยให้เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ สมบัติของชาติต้องสูญหายมลายสิ้นไปหมด จึงได้ตั้งคณะกรรมการ ให้จัดการดูแลและทำการขุดค้นโบราณวัตถุต่างๆภายในกรุ นำไปเก็บรักษาไว้ที่จวนของท่าน ต่อมาพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเสด็จประพาสจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านเจ้าเมืองจึงนำพระพิมพ์ต่างๆทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะรวมทั้งสิ่งของโบราณที่ขุดได้ ทูลเกล้าถวาย ทรงรับไว้แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน แก่ เสือป่า ลูกเสือ ทหาร และตำรวจ ตลอดจนข้าราชบริพารที่ติดตามเสพด็จอย่างทั่วถึง นี่คือเรื่องราวที่มาของพระผงสุพรรณพระกรุอันเก่าแก่ ซึ่งเป็นที่เสาะแสวงหาของบรรดาผู้ที่นิยมสะสมพระกรุอันสำคัญ พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่องค์นี้มี ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา
3/4 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 5/5 พระรอดพิมพ์ใหญ่ตื้นวัดมหาวัน จังหวัดลำพูนสีพิกุลอ่อนค่อนไปทางสีขาวนวล พระรอดพิมพ์ใหญ่ตื้นองค์นี้ มีเนื้อที่มีความเหี่ยวย่นของความเก่าแก่ปรากฎให้เห็นอย่าจะแจ้ง สมกับอายุของพระรอดที่มีอายุมากกว่าพันปี เนื้อพระดูแห้งมีคราบกรุเดิมๆติดอยู่บางๆ มีหน้าตาและองค์ประกอบต่างๆ ของศิลปะหริภุญไชยอย่างครบครัน เป็นเสน่ห์ของพระกรุของเมืองโบราณแห่งนี้ ที่เป็นพระกรุขนาดเล็กเท่าปลายนิ้ว แต่มีหน้า ตาและองค์ประกอบแห่งศิลปะอยู่อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งยากยิ่งที่จะมีพระกรุอื่นใดมาเทียบเท่าเสมอเหมือน พระรอดพิมพ์ใหญ่ตื้นนั้น มีความแตกต่างกับพระรอดพิมพ์ใหญ่ พิมพ์นิยม กล่าวคือ องค์พระนั้นจะมองดูตื้นกว่า ใบโพธิ์ที่เป็นลวดลายประดับรอบๆองค์พระนั้นจะเป็นใบโพธิ์ ที่มีเพียงแถวเดียว ต่างจากพระรอดพิมพ์อื่น การประทับนั่ง ประทับบนฐานสี่ชั้นเช่นเดียวกับพระรอดพิมพ์ใหญ่พิมพ์นิยม แต่ไม่มีเส้นน้ำตก ที่ลงมาจากหน้าแข้งดิ่งตรง ลงมายังใต้ฐานชั้นแรกและชั้นที่สอง เหมือนกับ พิมพ์ใหญ่พิมพ์นิยม พิมพ์แตกทาง ด้านซ้ายขององค์พระก็มีเช่นกัน พิมพ์แตกของพระรอดพิมพ์ใหญ่นิยมนั้น จะแตกลงมาจากทางข้างหูซ้าย รูปลักษณ์เป็นเสมือนเส้นรากไม้ขยุกขยิก เพียงเส้นเดียว ส่วนเส้นพิมพ์แตกของพระรอดพิมพ์ใหญ่ตื้นนี้ จะเป็นลักษณะของตัวสระ “ อา” ที่ขอเรียกง่ายๆว่าเป็นคล้าย ตะขอ
คือมีลักษณะเป็นตะขอ ลงมา มีชนิดพิมพ์แตก สามตะขอ และพิมพ์แตกสองตะขอ ทั้งหมดนี้เป็นคำอธิบายอย่างง่ายๆให้เข้าใจกันอย่างสบายๆไม่ต้องเคร่งเครียดกัน ให้ท่านลองใช้ความสังเกตุดูก็จะเข้าใจได้ดี ว่ามีความแตกต่างกันกับพิมพ์ใหญ่พิมพ์นิยม เช่นใด ขนาดขององค์ก็มีขนาดเท่าๆกับพระรอดพิมพ์ใหญ่พิมพ์นิยม คือมีขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 3 /4 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.

พระชูด”เบญจภาคี”ชุดที่ 6.

พระอื่นใดจักเทียบเท่า “เบญจภาคี”
พุทธคุณ ท่านดี แน่แท้
สุด ยอด มิผันแปร คงมั่น
เปรียบประหนึ่ง พระในฝัน ของปวงชน.

พระชุดเบญจภาคีชุดที่ 6

ภาพที่ 1/6 พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์นิยม พิมพ์7ชั้น วัดเกศไชโย จังหวัด อ่างทอง สมเด็จเกศไชโยนั้นสร้างขึ้นใน ราวปีพ.ศ 2406 โดยสมเด็จพุฒาจารย์โต ได้นำพระพิมพ์ที่แตกต่างออกไปจากพระสมเด็จพิมพ์นิยม เข้าบรรจุไว้ในช่องลับ ใน”องค์หลวงพ่อโตหรือพระมหาพุทธพิมพ์ “ ที่ท่านได้สร้าง ขึ้นกลางลานวัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง ต่อมาพระที่ท่านดำเนินการ องค์นี้ได้พังลงมาเนื่องจากฐานรากไม่แน่นหนาพอซึ่งได้พังลง ถึงสองครั้ง จนกระทั่ง เจ้าพระยารัตนบดินทร์ ได้ทำการสร้าง”พระมหาพุทธพิมพ์”องค์ใหม่ขึ้นมาทดแทน”พระหลวงพ่อโต”องค์เดิม และ ได้นำพระพิมพ์ต่างๆทั้งมวลที่ได้มาจากการแตกกรุ ครั้งก่อน ที่มีอย่างมากมาย เอาเข้าบรรจุไว้ใน”องค์หลวงพ่อโต”พระมหาพุทธพิมพ์”ตามเดิม ตามเจตนาของสมเด็จโต ต่อมามีการค้นพบพระพิมพ์สมเด็จอีกมากมาย ในภายหลังที่มีการปฏิสังขรณ์ องค์พระหลวงพ่อโตวัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง จึงเป็นที่มาของการแตกกรุ ครั้งใหญ่ของพระสมเด็จวัดเกศไชโย ลักษณะของพระสมเด็จเกศไชโยนั้นมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกับพระสมเด็จวัดระฆัง หรือพระสมเด็จบางขุนพรหม คือมีรูปลักษณะเป็นแบบมีหูที่กางออกมา เรียกกันว่า “หูบายศรี” ตรงส่วนหน้าอกก็ทำเป็นร่อง เรียกกันว่า” อกร่องหูกาง “ องค์พระเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกรอบกระจกโดยรอบ
พิมพ์ทรงนั้นจะเน้นในเส้นสายรายละเอียด ทำเป็นเส้นนูน เรียวเล็กเป็นพุทธศิลป์ที่งามแปลกไปอีกรูปแบบหนึ่งแตกต่างจากพิมพ์ของพระสมเด็จวัดระฆังและบางขุนพรหมอย่างสิ้นเชิง สำหรับพระสมเด็จเกศไชโยองค์ที่นำมาให้ชมนี้เป็นพระสมเด็จเกศไชโยพิมพ์นิยม พิมพ์ 7 ชั้น เรียกกันว่า”พิมพ์ใหญ่” มีกรอบกระจก ชัดเจนดีมาก มีความสมบูรณ์เต็มร้อย เป็นพระที่ผ่านการประกวดมาแล้ว จึงได้คัดสรรมาให้ท่านได้ชม พุทธลักษณะประทับนั่ง ปางสมาธิราบ บนฐาน 7 ชั้น ภายในซุ้มครอบแก้ว พระเคียรยาวแหลมคล้ายปลีกล้วย มีพระเกศเรียวยาว หูกางออก เป็นแบบหูบายศรี หน้าอกยกนูนสูงขึ้นข้างบนแบบอกไก่ และแยกออกเป็นร่องตรงส่วนท้อง เรียกกันว่าอกร่อง เส้นหน้าตักไม่ปรากฎรายละเอียดของเท้าหรือหน้าแข้ง เป็นแบบแท่งยาวไปเลย พระพิมพ์เกศไชโยนี้ผู้ออกแบบแม่พิมพ์นั้นจงใจนำเอาพุทธลํกษณะของปางบำเพ็ญทุกขกิริยา มาประยุกต์ ใช้เป็นพิมพ์พระโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นสัญญลักษณ์ ของการเตือนใจเตือนตน ว่า การกระทำสิ่งใดก็ตามนั้น ควรจะเดินทางสายกลาง ไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป ทุกอย่างจึงจะประสบกับความสำเร็จในที่สุด ขนาดขององค์พระ กว้าง 2 3 /4 ซ.ม หนา 3/4 ซ.ม สูง 4 ซ.ม.

ภาพที่ 2/6 พระซุ้มกอลายกนกวัดพิกุลพิมพ์ใหญ่นิยม จังหวัดกำแพงเพชร เนื้อหาของพระซุ้มกอ องค์นี้เป็นพระเนื้อจัดสีเข้มขลัง มีเนื้อที่เนียนหนึกนุ่ม มีมวลสารในองค์พระอย่างจะแจ้ง ดูเต็มไปด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพ พิมพ์ทรงขององค์มีความถูกต้องในทุกประการ ปัจจุบันนี้พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ลายกนกที่เป็นพระกรุแท้ๆนั้นเป็นพระที่ออกจะหาพบยาก ซึ่งเป็นธรรมดาของพระกรุที่มีจำนวนจำกัด ย่อมจะร่อยหรอหมดไปในที่สุด ที่ผู้เขียนได้นำมาแสดงให้ชมได้ก็เพราะเก็บสะสมไว้ มาเป็นเวลานานซึ่งสมัยก่อนพระกรุโบราณยังพอจะหาได้ ไม่ยากนัก ด้านหลังขององค์พระที่เป็นรอยขรุขระดูเข้มขลังดีนั้น ปลายส่วนบนมนเรียบรอยขรุขระนั้น คงเป็นเพราะตอนที่นำพระออกจากแม่พิมพ์หมาดๆเนื้อดินขององค์พระยังอ่อน ถูกนำไปวางบนแผ่นหินที่เป็นรอยขรุขระ ด้านหลังจึงเกิดป็นรูปรอยอย่างที่เห็นกัน ขนาดกว้าง 2 ซ.ฒ หนา 1 ซ.ม สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 3/6 พระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระนางพญาที่มีเนื้อค่อนไปทางเนื้อที่มีความละเอียด สีสันสีแดง เป็นพระเนื้อจัดที่งดงามมาก พระนางพญามีพุทธคุณทางด้านแคล้วคลาด อยู่รอดปลอดภัย นางพญาพิมพ์สังฆาฏินี้ เป็นพระขนาดพอดี ทีไม่ใหญ่และเล็กจนเกินไป เข้าชุดในพระเบญจภาคีที่เป็นคู่เคียงกับ พระรอดวัดมหาวันลำพูนได้อย่างเหมาะยิ่ง ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม. สูง 3 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 4/6 พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี พระผงสุพรรณองค์นี้มีสีของเนื้อพระเป็นสีเขียวหินครกที่ไม่ค่อยมีปรากฎให้ได้เห็น เป็นพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ที่งามสง่าอย่างเป็นที่สุด ยากยิ่งที่จะหาพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ องค์อื่นใดมาเทียมเทียบเท่าได้ ความงามและสมบูรณ์เต็มร้อย เส้นสายรายละเอียด หน้าตา หูปาก จมูก งามอย่างเกินคาดว่าจะมีพระผงสุพรรณที่งามสง่าอย่างนี้ให้ได้เห็น ด้านหลังนั้นมีลายนิ้วมือประทับตามอย่างเอกลักษณ์ของพระผงสุพรรณทุกพิมพ์ ตรงส่วนปลายของส่วนบนเป็นแบบปลายตัดของรูปสามเหลี่ยมมุมป้าน ที่ดูแล้วให้ความรู้สึกขลังอย่างน่านิยมยิ่ง คราบกรุติดกับองค์พระ พอประมาณให้ได้เห็นเนื้อในอันแท้ ด้านหลังมีลายนิ้วมือขนาดใหญ่ประทับอยู่อย่างชัดเจน มี ขนาดกว้าง 2 ซ.ม หนา 3 /4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 5/6 พระรอดกรุวัดมหาวันพิมพ์ใหญ่ พิมพ์นิยม พระรอดองค์นี้มีสีสัน ที่เรียกว่าเนื้อเขียวจัดที่เกือบจะเป็นเนื้อแบบหินครก เนื้อขององค์พระเป็นเนื้อที่ละเอียด หนึกนุ่มตาเมื่อใช้กล้องส่องดู เป็นพระที่ถูกเผาด้วยอุณหภูมิสูง จึงเป็นพระที่มีเนื้อที่แกร่ง ด้วยความแกร่งของเนื้อพระ จึงทำให้องค์พระคงสภาพและมีความชัดเจนของทุกอย่างได้อย่างครบถ้วน มีความพิเศษของพระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ไว้ให้เป็นข้อสังเกตุคือองค์พระจะมีผิวเนื้อเป็นสองสีที่เรียกกันว่า เป็นแบบเนื้อผ่าน หรือก่านในภาษาท้องถิ่น คือ ทางด้านหน้าขององค์พระนั้นมีเนื้อเกือบจะดำเข้ม ไปทั้งหมด แต่มีส่วนล่างตรงฐานฃ้างขวา จะมองเห็นเป็นสีเหลืองส้มรำไร ตรงส่วนด้านหลังก็เช่นกัน คือด้านบนเป็นสีเขียวหินครกเกือบดำ ด้านล่างเป็นสีเหลืองออกส้ม ดูก็งามไปอีกแบบหนึ่ง ก้นฐานจะพับมาทางด้านหน้าอันเป็นลักษณะของพระรอดพิมพ์ใหญ่โดยทั่วไป มีขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 3 /4 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

พระชุด”เบญจภาคี ชุดที่ 7 .

พระห้าองค์นั้น ตรึงตา
เป็นสุดยอด สุดบูชา แน่แท้
พุทธคุณยากจะหา ใดมาเปรียบได้
ยอดพระกรุเก่าท่านไท้ มาแต่โบราณ

พระชุดเบญจภาคี ชุดที่ 7

ภาพที่ 1/7 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่องค์นี้ เป็นพระกรุเก่าที่มี เนื้อค่อนข้างไปทางเนื้อจัด เพราะถูกจับต้องและผ่านการใช้มาอย่างเต็มที่ ทำให้มวลสารในองค์พระปรากฎออกมาให้เห็นอย่างจะแจ้ง รอยหนอนด้น รอยปูไต่ รอยปริ รอยแตกร้าว รวมทั้งมวลสารต่างๆ มีให้มองเห็นอย่างซึ้งตาซึ้งใจ มองดูแล้วให้เห็นความชุ่มฉ่ำของเนื้อที่สู้แว่น เมื่อลองส่องกล้องดู ทำให้เกิดความนิยมชมชอบขึ้นมาอย่างน่าประหลาด ด้านหลังราบเรียบ มีความ สึกของผิวอยู่บ้าง สีสันจะดูเข้มขลัง ให้ความรู้สึกที่ขลังและมีพลังออกมา จึงเป็นส่วนดีส่วนหนึ่งของพระกรุเก่าที่บางคนบางท่านมีความนิยมชมชอบ พระกรุในลักษณะเช่นนี้อันเป็นความชอบส่วนตัว ที่ไม่สามารถกำหนดกฎเกณท์ขึ้นมาได้ สำหรับพิมพ์ทรงขององค์พระมีความถูกต้องและมีเสน่หที่ดึงดูดสายตาได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม สูง 4 ซ.ม หนา 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 2/7 ภาพของพระซุ้มกอพิมพ์นิยมมีลายกนก ของวัดพิกุล จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพระซุ้มกอที่งามสมบูรณ์แบบองค์หนึ่ง ปรากฎหน้าตา หูปาก จมูกชัดเจนดี เนื้อหาเป็นสีแดงจัด มีความหนึกนุ่ม และมีมวลสารที่ประกอบในองค์พระอย่างจะแจ้ง เป็นพระกรุเก่าที่ผ่านการใช้มาพอควร แต่คงสภาพเดิมๆได้ไว้เป็นอย่างดีเยี่ยม มีคราบกรุติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆของลายกนกและขององค์พระ มองดูแล้วทำให้เกิดความซึ้งในภาพลักษณ์ของพระกรุแท้ๆได้เป็นอย่างดี ด้านข้างนั้นค่อนข้างหนา จับต้องดูมีน้ำหนักเหมาะมือ เนื้อว่านและคราบกรุที่เป็นรา ดำ ปรากฎให้เห็น ทางด้านหลังเป็นคราบกรุแท้ๆที่ติดมากับองค์พระ ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 3/7 พระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พิมพ์เข่าโค้ง พระนางพญาองค์นี้มีเนื้อที่ดูเก่าและหนึกนุ่มตา สีสันเป็นสีพิกุล มีหน้าตาปรากฎชัด ธรรมดาของพระนางพญานั้น ไม่ค่อยจะปรากฎว่ามีหน้าตาให้เห็น
พระนางพญาองค์นี้จึงเป็นพระที่มีความงดงามและสมบูรณ์พร้อม การประทับนั่งนั้นมีความสงบนิ่งสง่างามสมกับได้ชื่อว่าพระนางพญาอันแท้จริง หากสังเกตุให้ดี จะมองเห็นตรงส่วนเหนือหน้าผากขององค์พระขึ้นไปจะปรากฎเป็นเส้นๆ นูนขึ้นไป คล้ายกับ ช้องผม ดูแปลกตาและไม่มีให้เห็นในพระนางพญาองค์อื่นใด ด้านหลังราบเรียบ เป็นพระที่งามเรียบร้อยไม่มีแตกหรือบิ่นในส่วนใดเลย ขนาดองค์พระ กว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 4/7 เป็นภาพของพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อเขียวหินครกที่ดูแกร่งและเป็นเนื้อที่เนียนหนึกนุ่มอย่างน่านิยม เนื้อพระเมื่อนำ กล้องส่องดูจะเห็นเป็นเนื้อที่ดูแล้วเนียนตางดงามมาก ประกอบกับพิมพ์ทรงและหน้าตาที่ติดพิมพ์อย่างชัดเจน ทำให้พระผงสุพรรณองค์นี้มีเสน่ห์อย่างน่านิยม ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่แห่งยุคได้องค์หนึ่งเลยทีเดียว ตรงส่วนปลายข้างบนเหนือเศียรนั้นมีลักษณะเป็นแบบสามเหลี่ยมมุมป้าน ที่ให้ความรู้สึกขลัง อย่างวิเศษ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 5 /7 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์ใหญ่วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน ที่มีเนื้อจัด แกร่งและมีสีสันที่งามเป็นพิเศษ เป็นเนื้อเขียวคราบแดง ที่คนนิยมกันเป็นอย่างมาก พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ติดพิมพ์อย่างชัดเจน ทั้งหน้าตาหูปาก จมูก พิมพ์ทรงงามพร้อม เส้นสายรายละเอียดต่างๆมีในองค์พระอย่างครบครัน เส้นต่างๆนั้นเรียวเล็กดูไม่แข็งทื่อเหมือนกับพระที่ทำการสร้างขึ้นมาใหม่หรือทำเลียนแบบ เนื้อพระเป็นเนื้อที่เก่าดูง่าย มีคราบกรุติดแน่นตามซอกมุมต่างๆ เป็นคราบกรุของเดิมๆที่ติดมากับองค์พระ ล้างไม่ออก ความนวลเนียนขององค์พระบ่งบอกถึงความเป็นพระรอดแท้ของวัดมหาวันลำพูนอย่างแท้จริง ด้านหลังงามเรียบร้อย มีสีสองสีคือเนื้อเขียวและสีเหลืองส้ม มองดูเรียบร้อย ก้นฐานเป็นแบบก้นพับมาทาด้านหน้า เป็นพระรอดแท้ที่น่าชื่นชมองค์หนึ่งแห่งยุคได้อย่างเต็มที่เลยทีเดียว ขนาด กว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3 /4 ซ.ม.



พระชุด “เบญจภาคี ชุดที่ 8 .

ยอดพระเครื่อง ลือเลื่องไปทั่วทิศ
ตั้งดวงจิตมุ่งไว้ใส่สนอง
เล่าเรื่องไปอย่างสมใจตามครรลอง
เป็นเรื่องของ”เบญจภาคี”ที่มีมา

พระชุดเบญจภาคี ชุดที่ 8

ภาพที่ 1/8 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่พิมพ์นิยม เป็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศทะลุซุ้ม พระสมเด็จองค์นี้มีความงดงามและสมบูรณ์แบบ เต็มร้อย เนื้อหาเป็นเนื้อที่หนึกนุ่ม มองดูให้ดีจะเห็นใบหูอย่างรำไร โดยเฉพาะใบหูทางด้านซ้ายขององค์พระ เส้นครอบแก้วและเส้นบังคับกรอบซุ้มถูกต้องทุกอย่าง องค์พระประทับนั่งบนฐานบัลลังก์ปางสมาธิราบอย่างสงบนิ่งสง่างาม ด้านหลังขององค์พระราบเรียบดูเรียบร้อย มีรอยรูพลุนเล็กๆที่บ่งบอกให้เห็นการหดตัวของเนื้อพระที่มีอายุของกาลเวลาปรากฎอยู่ ถือได้ว่าเป็นพระที่งามสมบูรณ์แบบได้อย่างถูกต้องทุกประการ ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม หนา 1/2 ซ.ม. สูง 3 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 2/8 พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่วัดพิกุล จังหวัดกำแพงเพชร พิมพ์มีลายกนก พระซุ้มกอองค์นี้จัดได้ว่างามมากมีความคมชัดของพิมพ์อย่างบริบูรณ์ ไม่เฉพาะหน้าตาที่ติดพิมพ์อย่างชัดเจน ลายกนกอ่อนไหวไม่เป็นแบบแข็งกระด้าง เป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุโบราณที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของช่างฝีมือชั้นสุดยอดที่สามารถสร้างสรรองค์พระขนาดเล็กได้อย่างวิจิตร บรรจงมีชีวิตชีวา องค์พระ ประทับอย่างสง่างาม บนฐานที่เป็นแบบบัวเล็บช้าง เนื้อหามองเห็นคราบกรุติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ราดำติดอยู่เป็นที่ๆ หากลองใช้กล้องลองส่องดูยิ่งจะเห็นเนื้อท้ขององค์พระอย่างเต็มตา ทางด้านหลังเป็นรอยเหี่ยวย่นของเนื้อ มีความเก่าที่ฟ้องอยู่ในตัวว่าเป็นพระกรุที่แท้แน่นอน ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 3 /4 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 3/8 เป็นภาพของพระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง วัดนางพญาจังหวัดพิษณุโลก เนื้อหาและพิมพ์ทรงบ่งบอกถึงความเป็นพระกรุที่แท้แน่นอน พระนางพญาองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บ ไม่ได้ถูกนำติดตัวไปในที่ทั่วไป ผิวพระจึงไม่ถูกเปิดหรือมีคราบ ต่างๆติด เนื้อจะเป็นแบบเนื้อสีแดงอมชมพู ไม่มีหน้าตาปรากฎ ด้านหลังจะมองเห็นเม็ดแร่เป็นเม็ดตามผิวพระ มีลักษณะคล้ายกับเม็ดแร่ของพระขุนแผนกรุบ้านกร่าง ที่มีเนื้อใกล้เคียงกัน ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 4/8 พระผงสุพรรณกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี พิมพ์ หน้าหนุ่ม ในวงการของผู้ที่นิยมสะสมพระกรุไม่ค่อยมีพระผงสุพรรณหน้าหนุ่ม องค์ที่มีความงามสมบูรณ์ปรากฎให้เห็นกันบ่อยนัก พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าหนุ่มองค์นี้จัดได้ว่าเป็นพระที่งามบริบูรณ์ในทุกอย่างองค์หนึ่งของพิมพ์นี้ก็ว่าได้ พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าหนุ่มจะมีความแตกต่างกับพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ และ หน้ากลางอย่างเห็นได้ชัดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน องค์พระจะเป็นแบบยาวชลูด ในสมัยก่อนชาวเมืองสุพรรณบุรีเรียกพระผงสุพรรณพิมพ์นี้ว่า พิมพ์หน้าหนู หรือพิมพ์หน้านาง สมดังที่เรียกกันเช่นนี้ เมื่อพิจารณาดูจะมองเห็นรูปหน้าที่ดูแคบแต่เป็นเนื้อนูนขึ้นมา ปากกว้างอย่างเห็นได้ชัด ใบหูทอดยาวลงมาทั้งสองข้าง มีความยาวใกล้เคียงกัน มองเห็นลำคอเป็นลำ ไหล่และหน้าอกแคบ ตรงส่วนท้องอูมนูนขึ้นมา ส่วนท้องนี้จะหนากว่า ของพิมพ์หน้าแก่และหน้ากลาง สำหรับพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าหนุ่มนี้เป็นพิมพ์ที่ค่อนข้างจะหายาก และพบเห็นกันน้อย ด้วยความเป็นพระกรุที่มีความเก่าแก่ถึงยุค จึงได้นำมาเผยแพร่ให้ได้รู้จักไว้และนำมาเข้าในชุดเบญจภาคี เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ในการศึกษากันต่อไป เนื้อหาของพระองค์นี้เป็นพระเนื้อจัด เมื่อส่องกล้องดูจะมองเห็นความเก่าของเนื้อที่สู้แว่นคือทุกอย่างที่ปรากฎให้เห็น คือความลึกซึ้งตรึงในอารมณ์และ ความรู้สึกอย่างเข้มขลังในพุทธานุภาพที่มีอยู่ในองค์พระ ด้านหลังมีลายนิ้วมือปรากฎอยู่ตามแบบฉบับของพระผงสุพรรณ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 5/8 พระรอดพิมพ์ใหญ่กรุวัดมหาวันจังหวัดลำพูน พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้เป็นพระเนื้อแกร่งที่เรียกกันว่า เนื้อเขียวหินครก เป็นพระที่มีองค์ประกอบทุกอย่างที่จะแจ้งชัดเจน เส้นสายรายละเอียดทั้งพิมพ์ทรง หน้าตาปรากฎออกมาให้เห็นว่างามอย่างน่าทึ่ง ด้านหลังอูมนูนหนาพอประมาณ เป็นพระกรุเก่าที่งามด้วย สีสัน ความเก่าแก่ของเนื้อหา ที่เป็นเนื้อละเอียดเพิ่มความเชื่อมั่นในพุทธคุณที่เข้มขลังของพระรอดอันเป็นที่รู้และกล่าวขานกันมาโดยตลอด ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม.

 

พระชุด “เบญจภาคี ชุดที่ 9 .

พระพลังแผ่นดิน สมเด็จจิตรดา
สูงส่ง องค์ราชา สร้างไว้
สุดยอด เหนือสิ่งใด เทียมเท่า
จึงอัญเชิญ องค์เหนือเกล้าขึ้นเป็นองค์ประธาน

สุดยอดพระชุดเบญจภาคี ชุดที่ 9

ภาพที่ 1/9 พระสมเด็จ จิตรดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน คือสุดยอดของพระสมเด็จ ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างขึ้นมาด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์ เมื่อปี พ. ศ. 2509 โดยทรงนำเอามวลสาร อันเป็นมหามงคลยิ่งที่รวบรวมมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และปูชนีย์สถานเก่าแก่ อันเป็นที่สักการะบูชา ของพุทธศาสนิกชน ที่มีอยู่ทั่วประเทศ มารวมกัน ผสมกับเนื้อประสานตัว แล้วพิมพ์ออกมาเป็นองค์พระ ซึ่งมีพุทธลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขนาด 2 คูณ 3 ซ.ม เนื้อของค์พระเป็นสีน้ำตาล อมเขียวองค์พระประทับนั่งปางสมาธิราบ แขนขวาทับแขนซ้าย ประทับบนฐานของดอกบัวบาน ที่มีกลีบดอกบาน 9 กลีบ บนฐานประดับด้วยเม็ดบัวแก้วเป็นเม็ดกลม เรียงกันอย่างมีจังหวะเป็นระเบียบ นอกจากมวลสารอันศักดิ์ทั้งมวลแล้ว พระองค์ยังได้ ทรงนำเส้นพระเกศาเข้าไว้ในมวลสารที่ประกอบเป็นองค์พระด้วยด้วย ทรงพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร และข้าราชการต่างๆที่สนองคุณแผ่นดิน พร้อมทั้งมีใบพระราชทานกำกับ ทรงกำชับแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานว่า ให้ผู้ที่ได้รับนำทองคำเปลวปิดด้านหลังองค์พระ เพื่อเป็นการเตือนตนว่า “จงทำความดี ดุจการปิดทองหลังพระ”ถือเป็นมิ่งมงคลสุดยอด ที่ทรงได้ประทานพระและคำสอน สั่ง เพราะเหตุดังกล่าวทั้งหลายทั้งมวล ผู้เขียนจึงเห็นสมควรว่า สมควรเป็นที่สุดยิ่ง ที่จะน้อมอัญเชิญองค์ พระสมเด็จจิตรดาอันสูงส่ง ขึ้นเป็นองค์ประธาน ของพระชุดเบญจภาคีในชุดที่ 9 ดังที่ได้นำเสนอมานี้ ด้วยความเคารพ และเทอดทูนเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม อย่างสูงสุด ด้วยความเหมาะสมยิ่ง ขนาดองค์พระ กว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 2/9 พระซุ้มกอพิมพ์มีลายกนก วัดพิกุล จังหวัดกำแพงเพชร พระซุ้มกอ องค์นี้ ถือเป็นแบบ พระกรุเก่า
ที่ถูกห้อยจนสึก ทำให้มองเห็นเนื้อหามีความเก่าและฉ่ำ เป็นพระเนื้อจัดแ ม้ว่าจะสึกไปบ้าง แต่ลวดลายและพิมพ์ทรง ก็เรียบร้อยสมบูรณ์ ผู้เขียนต้องการให้ท่านได้เห็นพระที่นำมาเสนอในหลายๆสภาพ ทั้งชนิดที่สวยเยี่ยม และรองลงมา เพื่อเป็นการประกอบศึกษาให้ได้เห็นไว้ให้เจนตา จะได้เป็นไปอย่างถูกทาง อันพระกรุทุกอย่าง เนื้อขององค์พระเป็นอันดับหนึ่งที่จะต้องดูออกอย่างเข้าใจ จากนั้นก็ค่อยพิจารณาพิมพ์ทรง เส้นสายรายละเอียดต่างๆอย่างถี่ถ้วนและพินิจพิเคราะห์กันอย่างละเอียด ถึงจุดลับจุดสังเกตุ จึงจะสามารถตัดสินได้ว่าป็น พระกรุที่แท้ หรือไม่ใช่ ฟอร์ม หรือลักษณะของพิมพ์เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้เรื่องของเนื้อหา เพราะหาก ฟอร์มพระดี จะดึงดูดสายตาอย่างน่าสนใจ จึงค่อยศึกษาดูอย่างอื่นประกอบ ทุกๆอย่างเรียนรู้และศึกษากันได้ไม่ยาก พระซุ้มกอองค์นี้ไม่หนามาก มีขนาดที่พอดีพองาม ด้านหลังราบเรียบ ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 3/9 พระนางพญาพิมพ์ เข่าตรง วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระที่ลงรักปิดทองด้านหน้า มาแต่เดิม บางส่วน คราบที่หุ้มร่อนออกมองเห็นเนื้อของ องค์พระที่ดูหนึกนุ่มของความเก่า แก่ ทำให้ดูแล้ว เกิดความรู้สึกเข้มขลังอย่างถูกอัธยาสัย กับพระกรุโบราณอย่างแท้จริง ส่วนด้านหลังขององค์พระเปล่าเปลือยไม่ถูกปิดทอง จึงมองเห็นผิวพระประกอบไปด้วยเม็ดแร่พราวแพรวทั่วด้านหลัง พระกรุเก่าแบบนี้ เป็นที่นิยมชมชอบของเซียนพระรุ่นเก่า เพราะเชื่อว่ามีความเข้มขลังของพุทธคุณ ดี ขนาดกว้าง 2 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 4/9 พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี พระผงสุพรรณองค์นี้มีสีสันที่เรียกกันว่าสีมะขามเปียก ความงามในองค์พระทุกอย่างนั้นเกินร้อย เป็นพระกรุที่ดูง่าย ฟอร์มของพระผงสุพรรณหน้าแก่องค์นี้ดูเรียบง่ายมีความสมบูรณ์ในตัว มีความเก่าของเนื้อบ่งบอกให้เห็นว่าเป็นพระกรุแท้แน่นอน ด้านหลังมีลายนิ้วมือให้เห็นอย่างจะแจ้งตามแบบด้านหลังของพระผงสุพรรณทั่วไป ขนาด กว้าง 2 ซ.ม. หนา 3 /4 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 5/9 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์กลางที่มีความงดงามและชัดเจนในทุกสัดส่วนเป็นพระรอดพิมพ์กลางที่งามมากองค์หนึ่งเท่าที่เคยพบเห็น องค์ประกอบขององค์พระเป็นไปอย่างถูกค้อง กล่าวคือพระรอดพิมพ์กลางของวัดมหาวันนั้นจะมีก้นฐานค่อนข้างหนาและยื่นออกมาเรียกว่าฐานดาก หรือก้นฐานแมงสาป ฐานที่ประทับเป็นแบบฐานสามชั้น ฐานชั้นล่างสุดจะมีความหนากว่าฐานอีกสองชั้น พระรอดพิมพ์กลางนั้นมีฐานที่ประทับนั่งเพียงสามชั้นเท่านั้น ฐานชั้นที่สองคือฐานที่ประทับจะหนาเป็นรองฐานชั้นล่างสุด ส่วนฐานตรงกลางจะเป็นส่วนฐานที่เล็กที่สุด พระรอดพิมพ์นี้จะมีจุดสำคัญที่เป็นสัญญลักษณ์ คือใต้ลำคอลงมาจะมีเส้นที่เรียกกันว่าส้นเอ็นคอ ลากยาวย้อยลงมาเกือบจะถึงอก ตรงซอกแขนข้างขวาจะมีเส้นสังฆาฏิที่เป็นเหมือนเส้นเนื้อเกินขนาดเล็ก สั้น ๆ พาดไปจนจรดแขนขวาลวดลายของใบโพธิ์ประดับมีติดเต็มเสมอกันทั้งสองข้างองค์พระ ตรงหูข้างซ้ายจะมีโพธิ์ติ่งเป็นเม็ดนูนให้เห็น ซึ่งโพธิ์ติ่งนี้จะมีปรากฎ เกือบทูกพิมพ์ยกเว้นพิมพใหญ่ตื้น และพิมพ์ต้อเท่านั้น เนื้อขององค์พระจะมีความละเอียดหนึกนุ่มเหมือนกันทุกองค์ พระรอดที่มีเนื้อหยาบไม่มีให้พบเห็นเลย ด้านหลังของพระพิมพ์กลางองค์นี้จะดูยาวกว่า พระรอดทุกพิมพ์ นี่คือจุดสังเกตุที่สำคัญอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม พระรอดพิมพ์กลางองคืนี้มีใบหน้าที่เป็นสีค่อนข้างดำเข้ม ตัดกับผิวโดยองค์รวม ลองขยายดูก็จะเห็นเป็นเช่นที่ว่า หน้าตาหูปากจมูกติดอย่างครบครัน เป้นพระรอดหน้ายิ้ม ที่ยิ้มแย้ม ด้วยความเมตตาอย่างแท้จริง ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 3ซ.ม ตรงส่วนก้นฐานพับเข้ามาทางด้านหน้าตามแบบฉบับของพระรอดกรุวัดมหาวันลำพูน

ท่านผู้อ่านและผู้ชมทุกท่าน คงจะได้รับความรู้ จากเรื่องราวของพระชุดเบญจภาคี ทั้งหมดรวม 9 ชุด กันอย่างเต็มอิ่มและจุใจ เราคงจะได้พบกันอีกในโอกาสต่อไป ยังมีพระกรุของเมืองลำพูนอีกมากมายหลายอย่างที่ยังไม่ได้นำออกมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก ผู้เขียนจะพยายามรวบรวมนำมาสนอต่อท่านที่สนใจต่อไป ให้เป็นการก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคม จะเป็นการบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ของพระกรุเมืองหริภุญไชยอันเป็นที่รักของผู้เขียนมิให้ต้องตกหล่นเสียหาย เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินของบ้านเกิดเมืองนอนด้วยความจริงใจ เราคงจะได้พบกันอีกอย่างแน่นอน สวัสดีครับ. 30 / 7 /55 .โทร. 053 – 530 148 หรือ โทร. 086 -9184300 ลำพูน.