“พระพิมพ์กรุเมืองสุพรรณบุรี”ตอนที่ 1 โดยนายสำราญ กาญจนคูหา

เมื่อมั่นใจ จงตั้งใจทำไปเถิด จะบังเกิดผลเช่นใด ค่อยว่ากันเมื่อทำเสร็จเรียบร้อย ไม่อย่างนั้น ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน.

มาเปลี่ยนบรรยากาศ จากพระชุดสกุลลำพูน เป็นพระกรุแห่งอื่นกันบ้าง ในครั้งนี้ผู้เขียนขอนำเสนอพระพิมพ์ของกรุ เมืองสุพรรณบุรีที่มีความงดงามและมีชื่อเสียงในวงการพระเครื่องมาให้ท่านได้ชื่นชมกัน จะได้เปรียบเทียบพุทธศิลป์กับพระชุดสกุลลำพูน ว่ามีความงดงามแตกต่างกันเช่นไร

ในบรรดาพระกรุโบราณของเมืองสุพรรณบุรีนับตั้งแต่ พระผงสุพรรณ พระมเหศวร พระสุพรรณหลังผานของกรุวัดพระศรีมหาธาตุ โดยเฉพาะพระผงสุพรรณที่เป็นพระยอดนิยม หนึ่งในห้าของพระชุดเบญจภาคีอันมีชื่อเสียงเกริกไกรไปทั่ววงการพระเครื่องแล้ว ยังมีพระกรุพิมพ์ต่างๆอีกมากมายหลายอย่างที่มีพุทธคุณสูงเยี่ยมเป็นที่ต้องการของนักนิยมพระเครื่องทั้งหลายทั้งปวง หนึ่งในบรรดาพระพิมพ์เหล่านั้นที่จะกล่าวถึงก็คือ “พระขุนแผน”พระยอดนิยมของบรรดาชายหนุ่มทั้งหลายทั่วไปในยุคโบราณของกรุบ้านกร่าง สุพรรณบุรี ซึ่งมีพุทธคุณสูง มีมนต์ขลังทางด้านคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยมมีเสน่ห์ให้คนรักคนหลงได้อย่างชะงัด พระพิมพ์ชุดนืมีความงดงามของพุทธศิลป์ ที่ดูแปลกตาอย่างน่าดูชมยิ่ง มีความงดงามไปอีกรูปแบบหนึ่งต่างไปจากพระพิมพ์ชุดสกุลลำพูน จึงได้นำมาให้ท่านได้พิจารณาเปรียบเทียบดูว่าจะมีความแตกต่างกันเช่นใด

พระขุนแผนเมืองสุพรรณนั้นขุดพบที่วัดบ้านกร่างตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าแม่น้ำท่าจีนอยู่ตรงกันข้ามกับตัวตลาดเลยที่ว่าการ อำเภอศรีประจันต์ การแตกกรุของพระขุนแผนอันลือชื่อ เกิดจากเจดีย์เก่าแก่องค์ที่อยู่บริเวณด้านหลังวิหารเก่าเกิดพังทะลายลง เมื่อปีพ.ศ. 2440 ถึงพ.ศ. 2445 ในครั้งนั้นมีพระกรุขึ้นจากกรุมากมาย เป็นจำนวนหลายหมื่นองค์และมีพระพิมพ์ต่างๆมากมายหลากหลายพิมพ์ปรากฎออกมาให้ได้เห็นเป็นประจักษ์ และผู้คนในสมัยนั้นไม่ค่อยให้ความสนใจกันมากนัก

ในครั้งนี้ผู้เขียนจะได้นำพระขุนแผนพิมพ์ต่างๆโดยเฉพาะที่ผู้เขียนได้เก็บสะสมไว้เป็นเวลานาน นำมาให้ท่านได้ชื่นชมกัน พร้อมกับให้รายละเอียดพิมพ์ทรงต่างๆและขนาดขององค์พระว่าเป็นขนาดใดเพื่อประดับความรู้กันเล่นๆให้เย็นใจกัน ในยามที่อากาศอันร้อนอบอ้าวแผ่คลุมไปทั่ว พระขุนแผนบางพิมพ์เป็นพระที่หาดูชมได้ยากยิ่ง เช่นพิมพ์ซุ้มเถาวัลย์เลื้อย พิมพ์ประคำรอบ และพระพิมพ์ปทุมมาศที่ส่วนใหญ่ได้ยินแต่เพียงชื่อเท่านั้น เรามาติดตามดูภาพและเรื่องราวของพระชุดขุนแผนบ้านกร่าง และพระกรุอื่นๆของเมืองสุพรรณกันดีกว่า

ภาพที่ 1 เป็นภาพพระพิมพ์เนื้อดินเผา ของกรุวัดอรัญญิกจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีความงดงามในรายละเอียดต่างๆเป็นพระพิมพ์องค์ที่สมบูรณ์ที่สุดซึ่งหาดูไม่ได้ในที่ใดๆ พระพิมพ์นี้มีรูปลักษณ์คล้ายกับพระพิมพ์ซุ้มจิก ซุ้มคอระฆังของกรุวัดราชบูรณะ อยุธยา ที่เป็นเสมือนพระกรุต้นแบบ ศิลปะในองค์พระเป็นแบบศิลปะสุโขทัยที่มีความงดงามยิ่ง พิจารณาดูจะมีส่วนที่คล้ายกับศิลปะของพระพุทธชินราช รวมอยู่ในองค์พระพิมพ์นี้อย่างน่าประทับใจ มีหน้าตาหูปากจมูกที่เห็นชัดเจนดี องค์พระทรงจีวรแบบห่มดอง ประทับนั่งปางมารวิชัย บนแท่นหน้ากระดานที่มีเม็ดไข่ปลาเม็ดเล็กๆประดับอยู่ วางบนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงาย ขนาดขององค์พระกว้าง 3 ซ.ม. หนา 3 /4 ซ.ม. สูง 7 1/2 ซ.ม. นอกจากจะมีพระพิมพ์นี้ที่เป็นเนื้อดินแล้ว ผู้เขียนยังมีชนิดที่เป็นเนื้อชิน ที่งามสมบูรณ์แบบมีความคมชัดยิ่งอีกองค์อยู่ด้วย โอกาสต่อไปจะนำมาให้ท่านได้ชมกัน สำหรับเนื้อหาของพระพิมพ์องค์นี้นั้นเป็นพระที่มีเนื้อค่อนข้างหยาบตามลักษณะของเนื้อดินพระทางภาคกลางทั่วๆไป

ภาพที่ 2 เป็นพระขุนแผนซุ้มเถาวัลย์เลื้อย กรุวัดบ้านกร่างสุพรรณบุรี เป็นพระเนื้อดินสีแดงที่มีความสมบูรณ์แบบและงดงามมาก ไม่แตกหักหรือบิ่นเสียหายในส่วนใด แม้ว่าพระขุนแผนพิมพ์นี้จะมีเนื้อดินเผาที่ออกจะเป็นเนื้อหยาบ แต่ด้วยความเก่าแก่ของเนื้อที่ดูง่ายให้ความรู้สึกถึงความหนึกนุ่ม นวลเนียนตา ดูมีเสน่ห์ชวนให้จับกล้องขึ้นส่องมองดูอย่างชื่นชมและไหลหลง อันเป็นลักษณะเฉพาะของพระกรุโบราณ ที่มีคุณค่าควรแก่การเก็บสะสม คราบกรุติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆมองดูขลังมีพลังยิ่ง พระขุนแผนพิมพ์เถาวัลย์เลื้อยนี้ เป็นพระพิมพ์ที่หาดูยากในปัจจุบัน เพราะถูกเก็บเข้ารังใหญ่กันเกือบหมด ไม่ค่อยปรากฎให้เห็นทั่วไป ถือเป็นพิมพ์ที่นิยมกันพิมพ์หนึ่ง ด้านหลังแบนราบเรียบมีรอยปาดคล้ายลายไม้ ขอบข้างค่อนข้างหนาเป็นรอยตัดแบบเดียวกับพระสมเด็จ ทำให้มองเห็นความหยาบของเนื้อที่มีเม็ดแร่ชัดเจนยิ่งขึ้น เม็ดแร่นี้จะมีขึ้นพราวเต็มองค์พระ ซึ่งถือกันว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของพระกรุพิมพ์นี้ ขนาดขององค์พระ กว้าง 3 ซ.ม หนา 3/4 ซ.ม. สูง 7 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 3 พระขุนแผนพิมพ์ซุ้มเถาวัลย์เลื้อยกรุวัดบ้านกร่างสีแดงอีกองค์หนึ่งที่มีความคมชัดและงดงามของลวดลายประดับที่เป็นซุ้มเลี้ยวลดคดเคี้ยว รอบซุ้มรัศมีที่เป็นลวดลายหยักแหลมตรงส่วนปลายบน องค์พระห่มจีวรในแบบห่มดอง มองเห็นสังฆาฏิชัดเจน ประทับนั่งปางมารวิชัยสมาธิราบบนฐานกลีบบัวที่งามสง่า มีคราบกรุติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆ เป็นคราบกรุของเดิมที่ติดมากับองค์พระ มีเนื้อดินเผาที่มองดูหนึกนุ่มนวลเนียนตา เป็นพระที่งามสมบูรณ์ทุกประการ ด้านหลังแบนราบมีขอบข้างค่อนข้างหนาเป็นแบบขอบตัด มีรอยปาดอันเป็นลักษณะเหมือนลายไม้มองเห็นเม็ดแร่ปรากฎอยู่โดยทั่วไปขององค์พระ พุทธคุณของพระพิมพ์นี้มีทั้งคงกระพันชาตรีเมตตามหานิยม มีพร้อมในองค์พระ ขนาดกว้าง 3 1/2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 5 ซ.ม.

ภาพที่ 4 พระขุนแผนพิมพ์ซุ้มเถาวัลย์เลื้อยพิมพ์เล็ก มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมตรงส่วนมุมของฐานไม่ได้โค้งมนหลบมุมเหมือนกับพระพิมพ์ซุ้มเถาวัลย์ในภาพที่ 2 และที่ 3 ขนาดจะย่อมกว่าเล็กน้อย ดูเหมาะเจาะดี องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยสมาธิราบอย่างสง่างาม ลวดลายของซุ้มเถาวัลย์นั้นติดพิมพ์อย่างบางเบา แต่ก็แสดงให้ได้รู้ว่าเป็นพระพิมพ์เดียวกัน สีสันนั้นเป็นสีแดงอมชมพู ความสมบูรณ์เต็มร้อย หน้าตาติดพิมพ์ชัดเจนดีมีขนาดกว้าง 3 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 5 พระปทุมมาศเนื้อดินเผาของกรุวัดพระศรีมหาธาตุสุพรรณบุรี พระชนิดนี้พบเห็นกันน้อยไม่ค่อยปรากฎให้เห็นบ่อยนักโดยเฉพาะเนื้อดินเผา เป็นพระที่งดงามและสมบูรณ์มากๆ องค์พระประทับนั่งปางสมาธิราบเท้าซ้ายวางทับเท้าขวา แขนขามองดูผอมบาง ยาวเก้งก้าง มีลวดลายประดับที่เป็นใบไม้ที่ยาวแหลมเป็นแฉกๆดูประหลาดและงดงามแปลกตาดี พระปทุมมาศโดยส่วนใหญ่จะเป็นแบบเนื้อชินที่เป็นเนื้อดินเผาไม่ค่อยจะมีให้เห็น พุทธคุณดีทางเมตตามหานิยมและแคล้วคลาด คนรักคนชอบ เป็นพระที่ดีทางเสน่ห์ ด้านหลังแบนราบส่วนด้านข้างตัดขอบหนา เนื้อดินค่อนข้างหยาบแบบเดียวกับพระขุนแผนบ้านกร่างมีความเก่าแก่ให้เห็นอย่างง่ายๆว่าพระกรุแท้ๆนั้นจะต้องมีลักษณะของเนื้อและอายุเช่นนี้ ซึ่งใช้นำไปเป็นแม่แบบของการดูพระกรุอื่นๆได้อย่างหนึ่งที่ควรจะจำไว้ให้ดี ขนาดกว้าง 3 ซ.มหนา 3/4 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 6 พระปทุมมาศเนื้อโลหะ เป็นพระเนื้อชินเงินสีดำขลังเข้ม ดูเด่นเป็นสง่า มีคราบกรุที่เป็นไขขาวขึ้นพราวเต็มองค์ทั้งในซอกมุมต่างๆและรอบๆซุ้มประดับ ทำให้มองดูงดงามซึ้งตา มีมิติ ขับความเก่าแก่ให้โดดเด่นขึ้นมาเพิ่มคุณค่าขององค์ให้มากขึ้น เป็นพระกรุที่ดูง่าย ความงดงามและสมบูรณ์แบบแทบจะไม่ต้องกล่าวถึงเลย สำหรับพระปทุมมาศเนื้อโลหะนี้จะมีความบางกว่าพระเนื้อดินเผา ตรงส่วนล่างที่เป็นฐานประทับนั้นจะตัดเป็นแฉกๆเป็นห้าแฉก ดูแปลกตาจากฐานพระแบบอื่นๆโดยทั่วไป ด้านหลังเป็นแบบราบเรียบมีคราบกรุติดอยู่เต็มไปทั่ว เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเก่าแก่ขององค์พระได้เป็นอย่างดีว่าถึงยุคแน่นอน ขนาดกว้าง 3 1/2 ซ.ม. หนา 1/4 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม. หนัก 30 กรัม

ภาพที่ 7 พระขุนแผนกรุบ้านกร่างสุพรรณบุรี พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกเล็กสีพิกุล ความคมชัดในทุกส่วนเต็มร้อย องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยสมาธิราบในซุ้ม ความแตกต่างของพระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกเล็กนั้นแตกต่างกับพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ตรงส่วนเอวหน้าท้อง ถ้าเป็นพิมพ์อกใหญ่จะไม่มีผ้ารัดประคต และปลายมือของพิมพ์อกใหญ่จะมองเห็นนิ้วสามนิ้วกระดกขึ้นชัดเจน ส่วนพิมพ์อกเล็กตรงส่วนหน้าท้องจะมีรัดประคตหนาเป็นปื้นและตรงปลายมือนั้น จะเป็นนิ้วสองนิ้วที่กระดกขึ้น นี่คือความแตกต่างของพระพิมพ์ทั้งสองที่มีพุทธศิลป์ใกล้เคียงกันแต่เรียกพิมพ์กันไปคนละอย่าง ขนาดกว้าง 3 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 5 ซ.ม.

ภาพที่ 8 พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่กรุบ้านกร่างสุพรรณบุรี เป็นพระที่มีความสมบูรณ์และงามพร้อมในทุกส่วน ถือกันว่าเป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีราคาสูงด้วยพุทธคุณที่เข้มขลังประสบการณ์สูงเยี่ยม ท่านลองสังเกตุและเปรียบเทียบดูกับพิมพ์อกเล็กของภาพที่6 ตามที่ได้อธิบายให้ได้รู้ว่าทั้งสองพิมพ์นั้นว่ามีความแตกต่างกันเช่นใด พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่องค์น ี้เป็นพระกรุเก่าที่ผ่านการใช้มาจึงมองดูเนื้อเป็นแบบของเนื้อที่มีความเก่าแก่ เข้มขลังและหนึกนุ่มถูกตาถูกใจของผู้ที่นิยมพระแบบนี้ ซึ่งเนื้อลักษณะนี้จะมันวาวดูซึ้งตาไปอีกรูปแบบหนึ่ง ขนาดกว้าง 3 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 5 ซ.ม.

ภาพที่ 9 พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่สีพิกุลอ่อนอีกองค์หนึ่ง ที่มีคราบกรุเป็นสีดำติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆความคมชัดเป็นพระที่มีหน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์ดี ด้านหลังแบนราบเรียบตัดขอบข้างค่อนข้างหนาอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของพระพิมพ์จากกรุบ้านกร่างแห่งนี้ ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 10 พระขุนแผนแขนอ่อนกรุบ้านกร่างอีกพิมพ์หนึ่งที่มีรูปร่างอรชรอ้อนแอ้นดูบอบบางทั้งรูปลักษณ์โดยรวมดูงามแปลกตาดี องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยสมาธิราบ สังเกตุดูความแตกต่างระหว่างพระพิมพ์แหล่งนี้กับพระกรุเมืองลำพูนแล้วจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันทุกๆด้านไม่ว่าพิมพ์ทรง พุทธศิลป์ เนื้อดินรวมทั้งขนาดขององค์พระด้วย ซึ่งก็เป็นข้อเปรียบเทียบดูความแตกต่างว่าเป็นเช่นไรอันเป็นการขยายความรู้ให้กว้างออกไป ขนาดของพระองค์นี้มีขนาด กว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 11 พระขุนแผนกรุบ้านกร่างพิมพ์ห้าเหลี่ยมทรงพลเล็ก พระพิมพ์นี้จะมีความแตกต่างกับพระขุนแผนพิมพ์
ห้าเหลี่ยมทรงพลใหญ่คือ ให้สังเกตุตรงซุ้มประทับนั่งจะมีลวดลายของซุ้มที่แตกต่างกัน ซุ้มของพิมพ์ทรงพลเล็กนั้นจะเป็นแบบลวดลายหยักชั้นเดียว ส่วนซุ้มของพิมพ์ทรงพลใหญ่จะเป็นลวดลายของหยักที่ดูเด่นและงดงามกว่า โดยทำเป็นหยักสองหยักและตรงส่วนปลายซุ้มทั้งสองข้างจะม้วนตัวเป็นลักษณะวงกลม ส่วนของพิมพ์ทรงพลเล็กจะเป็นแบบธรรมดาเพียงแค่โค้งเข้าหาปลายเสาทางด้านข้างที่รองรับตัวซุ้มเท่านั้น การประทับนั่งในปางสมาธิก็มีความแตกต่างกันตรงที่การวางมือในท่าทำสมาธิ พิมพ์ทรงพลเล็กวางมือในลักษณะมือขวาทับมือซ้าย มือนั้นวางบนหน้าตักอย่างเรียบร้อย ส่วนการวางมือของพิมพ์ทรงพลใหญ่ดูแปลกและแตกต่างไปคือจะวางมือตรงส่วนหน้าตัก ยื่นออกมาติดกับหน้าตักด้านหน้าไม่ได้วางบนหน้าตักแท้ๆ นี่คือความแตกต่างของพระขุนแผนทั้งสองพิมพ์ ฝากไว้ให้เป็นข้อสังเกตุเล็กๆน้อยๆ สำหรับเรื่องเนื้อหาและพุทธคุณถือว่าเยี่ยมยอดและเข้มขลังยิ่ง เป็นเช่นเดียวกันไม่ผิดพลาด ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 3 /4 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม.

ภาพที่ 12 เป็นภาพของพระขุนแผนพลายคู่ พิมพ์หน้ามงคลเล็ก ที่ดูแปลกตาไปจากพระพิมพ์ของกรุลำพูน ลักษณะพิมพ์ทรงเป็นพระปางมารวิชัยสมาธิราบ ลวดลายต่างๆของซุ้มประดับก็เป็นแบบพระขุนแผนกรุบ้านกร่างโดยส่วนใหญ่ เนื้อดินก็เป็นชนิดเนื้อหยาบ เมื่อนำกล้องส่องดูจะเห็นเม็ดแร่ปรากฎทั่วทั้งองค์พระ ซึ่งก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระพิมพ์กรุบ้านกร่างนี้ มีขนาดกว้าง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 13 พระขุนแผนพลายคู่พิมพ์หน้ากลม ที่มีเนื้อเป็นสีแดงจัด ซึ่งดูงามซึ้งตาเป็นอย่างยิ่ง เรื่องของพุทธคุณนั้น ดีทางคงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยมเหมือนๆกับพระขุนแผนพิมพ์อื่นๆ สำหรับเรื่องพิมพ์ทรงนั้นไม่ได้เป็นเรื่องแปลก อยู่ที่ผู้ใดจะรักหรือชอบกันแบบไหน บางคนนำไปตัดแยกออกเป็นสององค์เพื่อแบ่งปันกัน เพราะในปัจจุบันพระขุนแผนแท้ๆเป็นพระกรุที่หายากไปแล้ว ซึ่งก็ไม่ผิดกติกาไม่ว่ากัน ขนาดขององค์พระ กว้าง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม.

ภาพที่ 14 เป็นภาพของพระโพธิสัตว์ ประทับนั่งปางแสดงธรรมเหนือพนัสบดี ศิลปะจีน ของพุทธศาสนาลัทธิมหายานที่เคยเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนตอนเหนือของเมืองหริภุญไชยเมื่อครั้งในอดีต เพราะความงดงามและศิลปะขององค์พระซึ่งดูอ่อนช้อย มีลวดลายประดับที่เป็นพุทธศิลป์แบบของจีน จึงนำมาให้ท่านได้ชื่นชมกันอีกครั้ง พระโพธิสัตว์องค์นี้ขุดพบได้ในเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 4 ซ.ม หนา 3 ซ.ม สูง 6 ซ.ม. นอกจากนี้ยังมีการขุดพบพระพิมพ์ ที่เป็นภาพของพระพุทธเจ้าปางแสดงธรรมทีทรงประทับนั่งบนพนัสบดี ทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะต่างๆ ที่มีขนาดพอเหมาะนำมาใส่ตลับขึ้นคอได้อย่างสง่างาม มีขนาดพอๆกับพระคง พระบาง พระรอดหลวง โอกาสต่อไปจะได้นำเรื่องราวและภาพขององค์พระดังกล่าวมาให้ท่านได้ชมกัน

ภาพที่ 15 พระขนาดใหญ่เนื้อดินเผาที่มีความงดงามของเชิงช่างและพุทธศิลป์ที่จะพาดูชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน เป็นพุทธศิลป์ที่ขุดพบในเมืองเก่าแก่ทางภาคเหนือคือเมืองลำพูน พระพิมพ์องค์นี้คือพระสิบแปดที่มีความงดงามและสมบูรณ์พร้อม ไม่แตกหักหรือบิ่นในส่วนใด ส่วนมากพระพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้มักจะแตกหักเสียหายเพราะเหตุที่รักษายาก การขุดหามักจะไปโดนองค์พระทำให้ชำรุดเสียหายได้ พระสิบแปดนี้เป็นหนึ่งในพระปางปาฏิหาริย์ของพระพิมพ์ชุดสกุลลำพูนซึ่งมีอย่างมากมายหลายรูปแบบ เป็นพระพิมพ์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีไว้เพื่อประดับไว้บนหิ้งบูชา โดยทำฐานที่ตั้งให้งดงามและมั่นคง เพิ่มความขลังและศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่มีไว้ได้เป็นอย่างดี พระสิบแปดองคืนี้มีขนาดกว้าง 9 ซ.ม. หนา 3 ซ.ม. สูง 15 ซ.ม.

ครั้งนี้ท่านได้ชมพระขุนแผนพิมพ์ต่างๆของกรุบ้านกร่างเมืองสุพรรณบุรี พอหอมปากหอมคอในตอนที่ 1 ยังมีตอนต่อไปให้ท่านได้ชื่นชมกัน ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาเสนอเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ต่างออกไปจากพระสกุลลำพูนโปรดได้ติดตาม

“ คิดดี ทำดี ย่อมเป็นศรีแก่ตัวและครอบครัววงศ์ตระกูล ตลอดจนเพื่อนฝูงและผู้ที่รู้จักมักคุ้น.”