"พระกรุชุดสกุลลำพูนอันล้ำค่าและงดงามสมบูรณ์แบบ" โดย สำราญ กาญจนคูหา.

“ลำไย”หวาน”ขุนตาน”สวยรวยสินแร่ “คงดำ”แท้อีก”พระรอด”ยอดพระเครื่อง
“พระธาตุ”งาม “จามเทวี”เป็นศรีเมือง ศาสน์รุ่งเรืองในเมืองบุญ “หละปูน”เฮา.
เมืองแห่ง”พระกรุ”ที่ล้ำเลิศ พุทธคุณ “พระรอด”มหาวัน ทรงคุณวิเศษแท้
“พระคงฤาษี”ข่ามคงกระพัน ไม่ผันแปร “พระลบ”แท้แก้อาถรรพ์ ลั่นลือไกล
“พระเหลี้ยมเล็ก”งามล้ำเลิศเกินคำไข เปรียบปานไว้ แทน”เจ้าแม่”ไม่แปรผัน
“พระเปิม”งามเยี่ยม พุทธคุณไม่แพ้กัน “พระบาง”ท่านทรงเมตตาและการุณ
“พระลือหน้ามงคล”มนต์ขลังเหลือ ที่สุดเหนือ งามล้ำค่า”พระลือโขง”
“พระดอยไซ”อยากมีไว้ ใช้สักองค์ งามสุดโต่ง”ลือซุ้มนาค”เกินพระใด
นอกจากนี้ยังมี “พระรอดหลวง” “รอดทรงเครื่อง จามเทวี”ศรีสดใส
“พระเจ้าแม่”ศิลปะงามล้ำ เกินกว่าใคร พระอื่นใดจักงามเท่า “พระกรุเก่า” ของหมู่เฮา
“จาวหละปูน”

ท่านผู้อ่านทุกท่าน ครั้งนี้ผู้เขียนได้นำเอาภาพสวยๆงามๆของพระกรุในชุดสกุลลำพูนมาให้ท่านได้ชมกัน และพิจารณาถึงพุทธศิลป์ ของศิลปะหริภุญชัยกันอย่างต็มตาเต็มใจว่ามีความงดงามเพียงไร โดยผู้เขียนได้คัดเลือกเอาพระที่ดูง่าย ที่ท่านสามารถจดจำ นำไปเป็นแม่แบบในการเสาะแสวงหา หรือนำไปเปรียบเทียบกับพระในชุดสกุลลำพูนของท่านที่มีอยู่ว่าเป็นอย่างไร

ภาพที่ 1 เป็นภาพของ”พระเปิม”กรุวัดดอนแก้วตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูนที่จัดได้ว่าเป็นพระต้นแบบของพระเปิมของกรุวัดแห่งอื่นที่สร้างตามกันมา วัดดอนแก้วนี้เป็นหนึ่งในสี่ของวัด “สี่มุมเมือง”ที่เจ้าแม่จามเทวีทรงโปรดให้สร้างขึ้นในตอนที่ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตรีย์เมืองหริภุญไชย เป็นวัดประจำในทางทิศตะวันออกของเมือง วัดดอนแก้วนี้มีพระประจำกรุที่สำคัญคือ พระเปิม พระสามดอนแก้ว พระบาง พระเปื๋อย เป็นต้น พระเปิมวัดดอนแก้วองค์นี้เป็นสีชมพูแดงที่เผาแกร่ง มีความคมชัดและติดพิมพ์อย่างชัดเจนดีมาก เป็นพระที่สมบูรณ์และงดงามเต็มร้อย ไม่บิ่นหรือแตกหักลบเลือนในส่วนใดๆ ขนาดขององค์พระมีความพอดีที่จะนำไปเป็นองค์ประธานของสร้อยชุด ได้อย่างเหมาะสม พุทธคุณขององค์พระนั้นรวมทุกอย่าง ทั้งคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม และแคล้วคลาดอันเป็นพุทธคุณที่มีอยู่พร้อมของพระชุดสกุลลำพูนทุกอย่าง ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม สูง 4 ซ.ม ขุดพบที่วัดดอนแก้วอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 2 เป็นภาพของพระเปิมที่มีชื่อเสียงเป็นที่เสาะแสวงหาของบรรดาผู้ที่นิยมสะสมพระกรุในพระชุดสกุลลำพูนกันอย่างยิ่ง พระเปิมพิมพ์นี้ไม่ค่อยจะปรากฎให้พบเห็นในสนามพระหรือตามหน้าหนังสือพระเครืองต่างๆผู้เขียนจึงขอเน้นให้ทราบว่า นี่คือพระเปิมของกรุวัดพระธาตุอย่างแท้จริง พระเปิมองค์นี้คือ พระเปิมกรุปทุมวดีในบริเวณของวัดพระธาตุเจ้าหริภุญชัย พระเปิมของกรุวัดพระธาตุจะมีความแตกต่างของรูปลักษณ์ กับพระเปิมกรุวัดดอนแก้วและกรุวัดจามเทวีลำพูนอย่างสิ้นเชิง ทั้งขนาด รูปร่างขององค์พระ ความละเอียดอ่อนของลวดลายต่างๆที่เป็นองค์ประกอบ ท่านลองพิจารณาเปรียบเทียบดูความแตกต่างดังที่ว่า ก็จะมองเห็นเป็นเช่นนั้น พระเปิมกรุวัดพระธาตุจะมีความนูนหนาขององค์พระมากกว่า ลวดลายต่างที่เป็นส่วนประกอบของพื้นผนังก็ละเอียดและคมชัดงามไปอีกรูปแบบหนึ่ง พระเปิมองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บ ความงามและความสมบูรณ์จึงคงอยู่อย่างเดิมๆเหมือนครั้งที่ออกจากกรุมาใหม่ๆ เพราะเป็นพระที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเยี่ยม สำหรับพุทธคุณนั้นเป็นเยี่ยมทางคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยมและแคล้วคลาด พระเปิมกรุวัดพระธาตุนี้พบในเจดีย์ปทุมวดีย์ และถูกนำออกมานานแสนนานมาแล้ว มีขนาดกว้าง 3 ซ.ม สูง 4 1/4 ซ.ม หนา 1 1/4 ซ.ม.

ภาพที่ 3 เป็นภาพของพระลือโขงพิมพ์หน้าดุ ที่มองดูเข้มขลัง ขมึงทึง ประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานดอกบัวประทับอย่างสงบนิ่งและสง่างามใต้ซุ้มโขงที่แสนสง่า ลวดลายประกอบโดยรอบองค์พระเป็นพุทธศิลป์แบบมหายานอันมีดอกบัวเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ ทั้งส่วนบน ส่วนล่างและด้านข้าง พระลือโขงเป็นพระที่หายาก แยกออกเป็นหลายพิมพ์และหลายขนาด ขุดพบที่กรุกู่เหล็กกรุร้างกลางทุ่งนาทางทิศใต้ของเมืองลำพูน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและโรงเรียนไปแล้ว ไม่เหลือริ้วรอยเดิมๆให้ได้เห็นอีกแล้ว พระลือโขงพิมพ์หน้าดุองค์นี้มีความงามขององค์ประกอบแห่งศิลปะที่เรียกได้ว่างามมากๆ สีสันขององค์พระเป็นสีชมพูอ่อนมีคราบกรุเดิมๆติดอยู่อย่างบางๆความสมบูรณ์เต็มร้อยยากจะหาพระลือโขง องค์อื่นใดมาทียบเคียงได้ พุทธคุณขององค์พระนั้นสูงเด่น ทั้งเรื่องคงกระพัน แคล้วคลาด เมตตามหานิยม ปัจจุบันจะเสาะหาพระลือโขงที่งามสมบูรณ์แบบนี้ไม่มีอีกแล้ว ขนาดขององค์พระ กว้าง 2 1 /2 ซ.ม. สูง 4 1 /2 ซ.ม. หนา 1 1 /2 ซ.ม.

ภาพที่ 4 เป็นภาพของพระลือโขงอีกพิมพ์หนึ่ง คือพิมพ์หน้าใจดีมีเมตตา ที่งามสง่ายิ่ง พระลือโขงพิมพ์นี้ขุดพบในบริเวณกรุกู่เหล็กทุ่งกู่ล้านทางทิศใต้ของเมืองลำพูนเช่นกัน แต่เป็นคนละพิมพ์กับภาพที่สาม ให้สังเกตุดูความแตกต่างของพุทธศิลป์และองค์ประกอบในองค์พระก็จะทราบดี ลำองค์ของพระลือโขงพิมพ์นี้จะมองดูอวบอ้วนกว่า ใบหน้าอวบอิ่มงดงามด้วยความเมตตา กรุณาซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของพุทธศิลป์มหายาน ซุ้มโขงที่อยู่เบื้องบนที่ประทับขององค์พระ ขยายกว้างออกทางด้านข้าง เป็นพุทธศิลป์ของช่างคนละคนอย่างเห็นได้ชัด ส่วนปลายบนสุดจะแหลมและงุ้มออกมาทางด้านหน้า ลวดลายของบัวประดับด้านบนงามชัดเจนดียิ่ง เป็นพระลือโขงที่มองดูมีมิติที่งามซึ้งอย่างเหลือเกิน เม็ดพระศกเม็ดเล็กๆติดพิมพ์อย่างชัดเจน มองดูเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดสายตาอย่างประหลาด ความคมชัดของเส้นสายรายละเอียดต่างๆทำให้เกิดความรู้สึกทึ่งในฝีมือเชิงช่างโบราณ ที่มีความสามารถรังสรรค์องค์พระได้งดงามและเต็มไปด้วยจิตวิญญาญแห่งศิลป์ได้ถึงขนาดนี้ พระลือโขงที่งามสมบูรณ์แบบทั้งสององค์นี้เป็นของหายากยิ่ง ไม่ค่อยมีปรากฎให้พบเห็นในที่แห่งใด ให้ท่านลองพิจารณาอย่างละเอียด ก็จะรู้ซึ้งถึงความงดงามและมีจิตวิญญาญของศิลปะหริภุญไชยได้เป็นอย่างดี
พระลือโขงองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 5 ซ.ม. หนา 1 1 /2 ซ.ม.

ภาพที่ 5 เป็นภาพของพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมของวัดประตูลี้ ที่เป็นหนึ่งในสี่ของวัดสี่มุมเมืองในทางทิศใต้ของเมืองลำพูน วัดประตูลี้นี้มีพระกรุที่เป็นสัญญลักษณ์ของวัดก็คือ พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม พระเหลี้ยมหลวง พระเหลี้ยมหม้อ พระลือหน้ามงคลเป็นต้น พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมถือได้ว่าเป็นพระกรุที่มีความงดงามอย่างยอดเยี่ยม มีลวดลายต่างและองค์ประกอบในองค์พระที่มีความหมายอย่างยิ่งยวด เปรียบเสมือนดังองค์แทนของเจ้าแม่จามเทวีและโอรสแฝดของพระนาง ลองสังเกตุองค์กลางของพระซึ่งเป็นพระองค์ประธานนั้นเป็นพระที่ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ โดยรอบของพระเศียรจะมีซุ้มรัศมีเป็นลักษณะของกลีบบัวแหลมขึ้นไปด้านบนถัดขึ้นไปจะประกอบด้วยฉัตรห้าชั้นที่งามสง่า สองข้างของพระองค์ประธานนั้นเป็นพระกุมารแฝดประทับนั่งอยู่ด้านข้างคนละข้าง รอบเศียรของพระกุมารจะมีซุ้มรัศมีโดยรอบให้สังเกตุดู เหนือเศียรขึ้นไปจะเป็นฉัตรเล็กๆประดับขึ้นไปเป็นชั้นๆทั้งสองข้างดูเป็นองค์ประกอบที่งามสง่าอย่างยิ่ง ฐานประทับแกะเป็นรูปบัวเหลี่ยมเล็กๆเรียงกันไปอย่างได้จังหวะมองดูสบายตาอย่างน่าศรัทธาเลื่อมใส ใต้ฐานประทับแบ่งออกเป็นสามช่อง ในแต่ละช่องให้สังเกตุดูอย่างถี่ถ้วนก็จะเห็นเป็นรูปของหัวช้างสามเชือก เห็นตะพองหัวช้าง งวง งาและหูช้างในช่องเล็กๆอย่างชัดเจน ช้างเชือกกลางหมายถึงช้างเผือกงาเขียวอันเป็นช้างคู่บุญบารมีของเจ้าแม่จามเทวี สองข้างเป็นช้างแต่ละเชือกสองช้าง อันหมายถึงช้างทรงของยุวกษัตริย์โอรสฝาแฝดทั้งสอง สำหรับช้างนั้นในสมัยโบราณถือเป็นยานพาหนะสำคัญชั้นสูงที่เป็นชนชั้นเจ้านาย พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่เท่านั้นจึงจะมีช้างไว้ใช้งานได้ ดังนั้นการนำเอาช้างมาเป็นองค์ประกอบของลวดลายบนพระเหลี้ยมเล็กจึงมีนัยยะสำคัญที่ให้เราต้องนำมาคิดกันว่าคืออะไร นอกจากนี้ยังมีลวดลายเป็นเม็ดบัวกลมเล็กๆประดับทางด้านข้างจากล่างถึงบนมุมแหลมจนแทบจะไม่เหลือช่องว่างให้เห็น นับได้ว่าเป็นยอดแห่งพุทธศิลป์ของเมืองลำพูนอย่างแท้จริง พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมองค์นี้เป็นพระสีขาวนวลตา ซึ่งเป็นสีที่หายากสีหนึ่ง ยิ่งเป็นพระที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบเช่นนี้ยิ่งไม่ต้องพูดกัน สำหรับพุทธคุณนั้น สูงเด่นยิ่งทั้งเมตตามหานิยมและทางแคล้วคลาด อยู่รอดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 1/4 ซ.ม. หนา 1 1/2 ซ.ม. สูง 4 1 /4 ซ.ม. ด้านหลังอูมนูนเด่น มีราดำปรากฎอยู่เกือบทั่วทั้งองค์พระ ซึ่งเป้นตัวบ่งชี้ของความเก่าแก่ของอายุได้อย่างหนึ่ง

ภาพที่ 6 พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมอีกองค์หนึ่งของวัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูนสีพิกุลที่มีความงดงามและสมบูรณ์ไม่หักบิ่น หรือลบเลือนในจุดใด พระองค์นี้มีคราบกรุติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆอย่างเห็นได้ชัด ให้สังเกตุตรงฐานประทับนั้นจะมีความแตกต่างจากพระในภาพที่5 คือตรงฐานของภาพนี้จะทำเป็นบัวเม็ดกลมซึ่งก็ดูงดงามและแปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมนี้มีหลายบล๊อกและหลายพิมพ์และหลายขนาด ครั้งนี้ผู้เขียนได้คัดเอาชนิดที่ติดพิมพ์ชัดเจนและสวยเยี่ยมมาให้ท่านได้ชมกัน สำหรับลวดลายและความหมายขององค์พระนั้นเป็นเช่นเดียวกับพระองค์ที่ 5 ทุกประการ เพราะเป็นพระกรุเดียวกัน เพียงแต่รูปแบบของเชิงช่างทางศิลป์อาจจะมีส่วนแตกต่างกันบ้างเท่านั้น สำหรับด้านหลังของพระองค์นี้จะแบนราบเรียบมีคราบกรุติดอยู่ ขนาดกว้าง 2 1/4 ซ.ม. สูง 4 1/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.

ภาพที่ 7 เป็นภาพของพระคงที่มีเนื้อเป็นสีขาวนวลเนียนน่านิยมของกรุวัดพระคงฤาษี ที่งามสง่าด้วยลักษณะท่าทางที่ดูบึกบึน มีหน้าตา หู ตาปากจมูกติดพิมพ์อย่างชัดเจน ประกอบด้วยลวดลายประดับที่งามสมบูรณ์พร้อมในทุกประการมองดูแล้วให้เกิดจินตภาพอันเป็นความสุขทางใจได้เป็นอย่างดียิ่ง พระคงพิมพ์นี้ขุดได้ในแท่นประทับหรือแท่นแก้วของพระประธานในวิหารของวัดพระคงฤาษีเมื่อครั้งทำการรื้อเพื่อสร้างวิหารขึ้นใหม่เนื่องจากวิหารองค์เดิมชำรุดเสียหายยิ่งในปีพ. ศ 2518 พระคงที่มีความชัดเจนเช่นนี้ เป็นเพราะอยู่ในที่ดีไม่มีสิ่งใดมาแผ้วพานหรือรบกวนจึงคงสภาพเดิมๆได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ให้ท่านสังเกตุจุดต่างๆที่ผู้เขียนได้แสดงไว้ในเว็บไซท์ของนายโบราณหน้าบทความ เรื่อง “สุดยอดพระคงพิมพ์ที่มีหน้าตาปากจมูกพร้อมของวัดพระคงฤาษีลำพูน วันที่ 21-12-54.” ซึ่งทุกอย่างของข้อสังเกตุนั้นจะมีอยู่ในพระคงองค์นี้ในทุกประการ ให้ท่านลองพิจารณาดูจะเท่ากับเป็นการฝึกฝนความรู้เห็นของท่านให้แม่นยำขึ้น พระคงสีขาวนวลองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ด้านหลังเป็นแบบหลังเรียบมีคราบกรุเดิมๆติดอยู่บางๆพอมองเห็นทำให้เพิ่มความขลังในองค์พระได้เป็นอย่างดี

ภาพที่ 8 เป็นภาพของพระคงของกรุวัดพระคงฤาษีอีกองค์หนึ่งซึ่งแตกต่างกับพระคงในภาพที่7 ซึ่งเป็นอีกบล๊อกหนึ่ง เป็นพระคงที่ขุดได้ใต้แท่นพระประธานของวิหารวัดพระคงเช่นกัน ความสมบูรณ์งดงามนั้นเต็มร้อย ไม่มีบิ่นหรือแตกหักลบเลือนในจุดใด พระคงสีขาวนี้ถือกันว่าเป็นสีที่หายากมากเพราะการเผาหากความร้อนของไฟที่เผาไม่ได้ที่สม่ำเสมอ สีที่ออกมาก็จะเป็นแบบกระดำกระด่าง และดินที่จะสามารถเผาออกมาให้เป็นสีขาวนวล เนียนได้เช่นนี้ก็ต้องผ่านการคัดกรองมาเป็นอย่างดี มีลักษณะที่มาเฉพาะตัวของดินในแหล่งดินนั้นๆซึ่งก็ไม่เป็นเรื่องที่ง่ายนัก ด้านหลังของพระคงองค์นี้เป็นแบบก้นพับหลังเรียบมีคราบกรุติดอยู่พอประมาณ จัดได้ว่าเป็นพระคงที่งามสมบูรณ์แบบในทุกประการ ไม่น่าเชื่อเลยว่าศิลปะวัตถุที่มีอายุเก่าแก่นับเป็นพันๆปีจะมีความงามสมบูรณ์เช่นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง พระคงองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม สูง 3 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม.

ภาพที่ 9 เป็นพระคงสีแดงที่ไม่มีคราบกรุหรือขี้กรุติดอยู่เพราะถูกเอาออกไปหมด ถือได้ว่าเป็นพระกรุเก่า เพราะความเนียนหนึกนุ่มของเนื้อพระ พระคงสีแดงองค์นี้มีสีที่สม่ำเสมอทั่วทั้งองค์ หน้าตา หูปากจมูกติดพิมพ์อย่าง ชัดเจน องค์ประกอบในทุกสัดส่วนสวยงามเป็นอย่างมากจนแทบจะไม่น่าเชื่อว่ามีพระที่งามสมบูรณ์เช่นนี้หลงเหลืออยู่ให้ได้เห็น เป็นพระคงเก่าเก็บที่อยู่บนหิ้งบูชา ผู้เขียนได้ไปพบเห็นเข้าจึงนำมาเก็บรักษาและพิจารณาดูอย่างละเอียด ก็พบว่าเป็นพระคงที่งามสมบูรณ์อย่างไม่มีที่ติ จึงได้นำมาให้ท่านผู้อ่านได้ชื่นชมกัน จุดลับจุดสังเกตุตลอดจนลวดลายต่างๆมีพร้อมในทุกประการ ด้านหลังเป็นแบบปาดข้าง งามเรียบร้อย ดีมาก ให้ท่านพิจารณาดูอย่างละเอียดก็แล้วกันว่าจะมีความคิดเห็นเป็นเช่นไร ลองขยายภาพดูอย่างเต็มทีในทุกจุดเพราะทำได้อยู่แล้ว พระคงสีแดงองค์นี้ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูนเช่นกัน ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 10 เป็นพระคงสีแดงเข้มคู่แฝดกับพระคงในภาพที่9 แต่พระคงองค์นี้มีสีแดงที่เข้มมืดกว่า และมีคราบกรุติดตามซอกและรอบๆองค์พระ คราบกรุนี้เป็นแบบคราบของไขขาว เป็นเสน่ห์อย่างหนึงที่มีส่วนช่วยเน้นให้องค์พระมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นซึ่งก็เป็นส่วนดีอย่างหนึ่งของคราบกรุที่ติดอยู่ ดังนั้นตามความเห็นของผู้เขียนอยากจะให้คราบกรุคงสภาพเดิมๆเข้าไว้เพราะให้ความรู้สึกในความขลังเพิ่มขึ้นในองค์พระได้เป็นอย่างดี ความงดงามและความชัดเจนต่างๆของพระคงองค์นี้ไม่เป็นรองหรือเหนือกว่ากันเรียกได้ว่ามีความงามพอๆกันชนิดเฉือนกันไม่ลง ให้ท่านช่วยเปรียบเทียบและตัดสินกันด้วย พระคงสีแดงเข้มองค์นี้ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 11 เปลี่ยนบรรยากาศเป็นพระบางกันบ้าง พระบางได้ชื่อว่าเป็นพระ เจ้าเสน่ห์ของพระกรุสกุลลำพูน ขุดพบได้หลายแห่งเช่นที่วัดพระคงฤาษี กรุบ้านครูขาวบริเวณหลังวัดพระคงในปัจจุบัน วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน และกรุกู่เหล็กกรุเดียวกันกับพระลือโขงที่งามสง่าแต่พระบางของกรุกู่เหล็กที่เรียกกันว่าพระบางกรุเทศบาลไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมกัน เพราะเนื้อดินออกจะมีความหยาบไม่ละเอียดหนึกนุ่มอีกทั้งพิมพ์ทรงก็แตกต่างออกไปจากพิมพ์นิยมกันเมื่อนำมาเปรียบเทียบก็จะเห็นเป็นเช่นนั้น พระบางที่อยู่ในภาพเป็นพระบางพิมพ์หนึ่งของกรุวัดดอนแก้ว ให้สังเกตุดูซุ้มรัศมีโดยรอบพระเศียรขององค์พระจะไม่ลงมาเสมอกันทั้งสองด้าน ทางด้านขวาของเศียรจะถ่างออกไปไม่เหมือนกับทางด้านซ้าย พระบางพิมพ์นี้เรียกกันว่า “พระบางซุ้มดีด” ลวดลายบนองค์พระและรูปทรงองค์เอวตลอดจนการวางมือทางเบื้องซ้ายขององค์พระจะมีความแตกต่างกับพระคงอย่างสิ้นเชิง เช่นใบโพธิ์ ก้านโพธิ์กิ่งโพธิ์ก็จะต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน พระบางพิมพ์ซุ้มดีดนี้จะพบเห็นได้ทั่วไปไม่ยากนักจัดได้ว่าเป็นพระบางยอดนิยมได้พิมพ์หนึ่งที่พอจะหาได้ในปัจจุบัน พระบางองค์ที่เห็นนี้เป็นพระบางเนื้อละเอียดดินสีชมพูอ่อนมีคราบกรุติดอยู่ทั่วองค์พระอย่างบางๆ มีหน้าตา หูปากจมูกติดพิมพ์ชัดเจน ด้านหลังบางงามเรียบร้อยจะนูนหนาขึ้นมานิดหน่อยก็ตรงส่วนฐานเท่านั้น ใบโพธิ์ กิ่งก้านโพธิ์คมชัดเจนดูพริ้วไหวราวกับล้อลมเล่น พระบางองค์นี้มีขนาด กว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 1/4 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 12 พระบางสีขาวนวลอีกพิมพ์หนึ่งที่มีความงามแตกต่างจากพระบางในภาพที่11เป็นพระบางที่ขุดได้ที่วัดดอนแก้วเช่นกัน พระบางพิมพ์นี้ได้ชื่อว่าเป็นพระบางที่มีความงดงามและสมบูรณ์เป็นที่สุดยิ่งกว่าพระบางพิมพ์อื่นใด ให้ท่านลองพิจารณาดูทั้งรูปลักษณ์หน้าตาและพิมพ์ทรง ด้วยหน้าตาหูปากจมูกที่ติดพิมพ์อย่างชัดเจน ให้สังเกตุดูซุ้มรัศมีที่ประดับรอบๆพระเศียร จะเป็นซุ้มรัศมีที่งามคล้ายรูปดอกบัวตูมซึ่งจุดนี้เป็นจุดสังเกตุและเป็นข้อแตกต่างสำหรับพระบางทั้งสองพิมพ์ ซุ้มรัศมีจะโค้งงามอย่างเป็นสัดส่วนทั้งสองข้างของเศียรประกอบกับหน้าตาที่จิ้มลิ้มยิ่งเพิ่มความงดงาม และมีเสน่ห์เก๋ย์ยิ่งขึ้น องค์ประกอบต่างๆโดยรวมนั้นสมบูรณ์แบบเป็นที่สุดรวมทั้งคราบกรุที่ติดอยู่บางๆทั่วทั้งองค์เป็นคราบกรุที่มีความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ด้านหลังของพระบางองค์นี้โค้งมนได้รูปและได้สัดส่วนที่ไม่หนาจนเกินไปเป็นแบบหลังเรียบที่กลึงกลมเป็นอย่างดี ใบโพธิ์ กิ่งโพธิ์ก้านโพธิ์ ติดพิมพ์ชัดเจนทุกก้านใบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีขาวนวลของพระบางองค์นี้ยิ่งเพิ่มคุณค่าในองค์พระมากยิ่งขึ้นยากที่จะหาพระบางองค์อื่นใดมาเทียบเคียงได้ พระบางองค์นี้มีขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา ตรงส่วนฐาน 1 ซ.ม. สูง 2 3/4 ซ.ม. มีข้อสังเกตุที่สำคัญอีจุดหนึ่คือใบโพธิ์ของพระบางนั้นจะเป็นลักษณะของใบโพธิ์ที่แท้ ปลาบใบจะเรียวแหลมเหมือนใบโพธิ์จริงๆและตรงส่วนกลางใบนั้นจะมีรอยบุ๋มเป็นเบ้ากลมลงไปให้ท่านจำไว้ให้ดีสำหรับพระบางพิมพ์นี้

ภาพที่ 13 เป็นภาพของ”อภิมหาพระบางสีมอยดำ”อันเป็นสีที่เข้มขลังและหายากสุดๆ พระบางองค์นี้สวยงามทั้งรูปลักษณ์ พิมพ์ทรงอันถูกต้องในทุกอย่างไม่ว่าจุดใด องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยที่งามสง่า พระบางพิมพ์นี้มีซุ้มรัศมีโดยรอบพระเศียรที่งามสมบูรณ์ทั้งสองข้าง ดวงตานูนโปนออกมาดูคล้ายกับเม็ดงา ปากจมูกดูจิ้มลิ้มงดงามไปอีกรูปแบบหนึ่ง มีกระจังหน้าแบ่งส่วนหน้ากับเศียรอย่างเหมาะเจาะและเหมาะสมดูแล้วเพิ่มความศรัทธาและเข้มขลังเพิ่มขึ้นมาอย่างน่านิยมยิ่ง พระบางสีนี้ไม่ค่อยมีปรากฎให้เนบ่อยครั้งนักเพราะเป็นที่รักและหวงแหนของผู้ที่เป็นเจ้าของ แต่เพื่อผู้อ่านและผู้ชมที่สนใจและติดตามเรื่องราวที่ผู้เขียนได้เผยแพร่ จึงนำมาให้ท่านได้ชมเพื่อให้รู้ว่ามีโบราณวัตถุที่งามสมบูรณ์เช่นนี้จริงๆ ในพระชุดสกุลลำพูนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของวงการพุทธพิมพ์ในประเทศไทย ด้านหลังของพระบางองค์นี้งามเรียบร้อยไม่นูนหนาจนเกินไปเหมาะสมกับชื่อของพระบางโดยแท้ ขุดพบที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม.

ภาพที่ 14 เป็นภาพของพระคง อีกพิมพ์หนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยอิทธิพลของศิลปะหริภุญไชยเป็นแม่แบบ เป็นพระคง ของกรุดอยคำ พระคงพิมพ์นี้ถูกขุดพบในบริเวณของวัดพระธาตุดอยคำ จังหวัดเชียงใหม่ และนอกจากนี้ยังมีการขุดพบได้ที่เวียงกุมกามอำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่ พุทธศิลป์และความงดงามอ่อนช้อยด้อยกว่าพุทธศิลป์ของหริภุญไชยโดยสิ้นเชิง แต่ก็เป็นที่นิยมของผู้ที่นิยมสะสมกัน เพราะพุทธคุณอันสูงเยี่ยมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระคงพิมพ์นี้เป็นที่ต้องการของนักสะสม พระคงดอยคำองค์นี้จัดได้ว่าเป็นพระคงที่งดงามและสมบูรณ์แบบองค์หนึ่ง ปัจจุบันก็เป็นของที่พบหากันยากแล้ว ขนาดกว้าง 1 3/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 3/4 ซ.ม.

ท่านผู้ชมคงจะเต็มอิ่มกับภาพของพุทธศิลป์ของเมืองลำพูนทั้งสิบสี่องค์ที่นำเสนอให้ได้ชมกัน หากมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ก็โทร.ติดต่อกับผู้เขียนได้ ยินดีที่จะคุยและตอบข้อซักถามครับเราคงได้พบกันอีก.สวัสดีครับ