“พระรอดจามเทวีทรงเครื่อง” วัดกู่ละมัก ลำพูน
โดย สำราญ กาญจนคูหา

“เชื่อหรือไม่เชื่อ เป็นไร ขอจงดูต่อไป คงเห็น”

"วัดกู่ละมัก" หรือ "วัดรัมมณียาราม" ตำบลสันต้นธง อำเภอเมืองลำพูนนั้น เป็นวัดที่ผู้คนไม่ค่อยจะรู้จัก และให้ความสำคัญกันนัก ผู้เขียนจึงต้องนำมาบอกกล่าวให้แก่สาธุชนทั่วไปให้รู้ว่า วัดกู่ละมักนี้เป็นวัดแรกที่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ ผู้ครอง เมืองหริภุญไชย หรือ เมืองลำพูนทรงเป็นผู้สร้าง ก่อนที่จะเสด็จเข้าเมือง หริภุญไชย
เพื่อทำพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตรีย์ครองราชสมบัติในเมืองนี้ พระนางทรงประทับอยู่ในตำบลนี้เพื่อทรงเป็นประธานในการสร้างวัดกู่ละมักจนแล้วเสร็จและได้จัดงานพิธีเฉลิมฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของการปลูกฝังรากแก้วของศาสนาพุทธลงไว้ในราชธานีแห่งใหม่ของพระองค์ เมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จ จึงเสด็จเข้าเมืองพร้อมกับผู้ที่ติดตามโดยเสด็จต่อไป มีคำบอกกล่าวเล่าถึงการคิดสร้าง เวียงเล็กและการสร้างวัดกู่ละมักที่เป็น คำกลอนหรือค่าวเครือ ในขณะที่ขบวนเรือของพระนางจามเทวีเสด็จถึง “เมืองฮอด”ดังนี้

439. พักที่เมืองฮอด กึ้ดฮอดเต็มที่ ละโว้ธานี ที่เฮาจากมา
ห่างบ้านจากเมือง ปิตุมาต๋า ตึงผัวฮักข้า ต้าวเมืองฮอดนี่
เป๋นบุญของเฮา เกือบถึงเมืองที่ มหาฤาษี ใจ๋ดีแป๋งถ้า

ต้าวเมืองฮอดนี่ หมายความว่าจนกระทั่งถึงเมืองฮอด

440. หยุดพักกั๋นก่อน แล้วฮ้องปรึกษา อำมาตย์โหรา ประชุมทันที
ช่วยกั๋นกึ้ดอ่าน เวียกก๋านเตื้อนี่ เยียะอย่างใดดี จักเอาอย่างใด
โหราทูลว่า บ่ะดีฮ้อนใจ๋ ก่อนจะเข้าไป ที่เมืองใหม่กั๋น

441. เฮาควรจักสร้าง วัดใหม่ไว้หั้น แป๋งแล้วเป๋นกั๋น เฮาค่อยเข้าไป
ตั้ดที่จะแป๋ง เสี่ยงธนูไว้ กอนตกตั้ดใด แป๋งตั้ดที่หั้น
ปรึกษาดีแล้ว ลงมติกั๋น มีตั๋วอย่างอัน เปิ้นแป๋งกั๋นได้

442. รับสั่งหื้อตั้ง โฮงพิธีใหญ่ บูชาเซ่นไหว้ เทพเทวามี
เจ้าป่าเจ้าเขา รวมตึงเจ้าที่ ผีบ้านผีดี ช่วยพิธีข้า
จักทำก๋านเสี่ยง ยิงธนูหา ชัยภูมิพารา เวียงหน้อยเกิดมี

443. จึงรับสั่งไป นายธนูนี้ เสี่ยงทายพิธี ยิงไปตางหน้า
อธิษฐานไว้ สมปรารถนา ลูกธนูพา ยังทิศทางดี
ข้าจักแป๋งวัด เหนือธนูนี้ นำไปหื้อดี ตกยังตั้ดหั้น

444. มงคลสถาน เป๋นที่หมายมั่น จักได้แป๋งกั๋น เวียงหน้อยตั้ดนี่
ขมังธนู เขาหู้หน้าที่ ตั้งแท่นทันที ขึ้นสายธนู
เบื้องทิศอุดร ทางไกลสุดกู่ ตั๋วลูกธนู ออกแล่นทันที

445. มุ่งไปตางหน้า ข้ามดอยเร็วรี่ ป่าใหญ่ นที ธนูเสี่ยงข้า
ขมังธนู จึ่งรีบตวยหา ลูกธนูว่า ตกยังแห่งใด
เสาะหาจ๋นปะ บ่ใกล้ บ่ไกล๋ มันตกที่ใน ใกล้เมืองปอดี

446. แจ้งข่าวฮู้ไว้ ส่งไปเร็วรี่ ทูลต่อเทวี บ่ มีปั๋ญหา
ขบวนเรือถึง ที่หมายดังว่า ชายขอบพารา จับกั๋นปอดี
ขึ้นพักกั๋นก่อน หมู่บ้านแห่งนี้ ถามคนหู้ดี มหาเถรหั้น

447. เฮาขอปรึกษา แป๋งหยังก่อนนั้น เถระตอบพลัน แจงความทันที
ขอแป๋งวัดก่อน พุทธศาสน์มานี่ จักได้เป๋นศรี มั่นคงปายหน้า
จึงโปรดหื้อสร้าง กู่ธาตุไหว้สา วิหาร ศาลา โบสถ กุฎี

448. บรรจุพระธาตุ เอาใส่ไว้ที่ องค์ธาตุเจดีย์ ตั้งแต่นั้นมา
หล่อพระเจ้าคำ องค์เท่าตั๋วข้า พุทธะฮักษา เจ็บไข้ได้ดี
หู้ไปกั๋นทั่ว พระคำองค์นี้ ชื่อฮ้องเปิ้นมี “พระยาสืบ”อั้น

449. บะเดี่ยว บ่หู้ ว่าอยู่ไหนกั๋น พ่องก็ว่าท่าน อยู่ในเจ๋ดีย์
เก็บงำซ่อนไว้ บ่หื้อคนที่ มิจฉา บ่ดี ลักเอาไปได้
อันของบ่ะเก่า ต้องสงวนไว้ บ่ะเดี่ยวเภทภัย มันเกิดถ้วนถี่

450. บรรดาขุนนาง ศรัทธาเต๋มที่ ความคิดเปิ้นมี แป๋งพระขึ้นมา
ไว้ในวัดหั้น หื้อคนไหว้สา พระเครื่องบูชา หลายอย่างมากมี
ช่วยกั๋นแป๋งไว้ ต่างแบบหลายสี ความตั้งใจ๋มี อิ่มบุญทั่วหน้า

451. พระนางพอใจ๋ สมปรารถนา ทุกอย่างเป๋นว่า เรียบร้อยกั๋นดี
อยู่รอฤกษ์ยาม พักผ่อนเวียงนี่ ได้ฤกษ์ยามดี ค่อยเข้าเมืองกั๋น
เตรียมงานไว้ก่อน ฉลองวัดนั้น เอาบุญตวยกั๋น ความมั่นใจ๋มี

452. ทุกอย่างพร้อมแล้ว ม่วนงันเต๋มที่ ชื่อวัดเปิ้นมี “ รัมมณียาราม”
เป๋นวัดแห่งแรก แป๋งโดยนางจ๋าม นับเป๋นอาราม สำคัญเมืองนี่
ควรไปไหว้สา วัดวาแห่งนี้ เปิ้นศักดิ์สิทธิ์ดี พระธาตุมีหั้น.


ในการสร้างวัดกู่ละมักในครั้งนั้น พระนางจามเทวีทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในองค์เจดีย์และทรงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่งขนาดเท่าพระองค์ไว้ พระพุทธรูปทองคำองค์นี้ผู้คนในเมืองหริภุญไชยในเวลานั้นต่างพากันมากราบไหว้บูชากันด้วยความเคารพศรัทธายิ่ง ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยต่างพากันมาบนบานศาลกล่าวให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ปรากฎว่าความเจ็บความไข้นั้นก็พลันหายไป เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีชื่อว่า “พระยาสืบ” ปัจจุบัน ไม่ปรากฎว่า พระพุทธรูปทองคำองค์นี้อยู่ณที่แห่งใด บ้างก็ว่าถูกเก็บรักษาไว้ในองค์เจดีย์ เพื่อป้องกันการถูกขโมย บ้างก็บอกว่าไม่รู้ว่าไปอยู่ในที่แห่งใด ซึ่งก็ยังเป็นปริศนาอยู่ จนทุกวันนี้.
ในภายหลัง วัดกู่ละมักนี้ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง เพราะพิษภัยสงครามจากพวกพม่า อีกทั้งวัดนี้เป็นวัดที่อยู่นอกเมืองห่างไกลออกไป ความสำคัญจึงลดน้อยถอยลง กลายเป็นวัดร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัดเสื่อมโทรมลงไปเป็นอย่างมาก จนกระทั่งท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทยได้เข้าไปทำการบูรณะจนเสร็จสมบูรณ์ ศรัทธาชาวบ้านก็กลับมีเพิ่มมากขึ้นจนถึงกาลปัจจุบัน

ความเป็นจริงแล้ว วัดโบราณอันเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองลำพูนแห่งนี้ ได้ซ่อนงำของดีต่างๆที่น้อยคนจะรู้ ไว้อย่างมากมาย มีพระพิมพ์หลายชนิด ถูกขุดพบในภายหลังเป็นพระพิมพ์ชนิดต่างๆที่มีศิลปะงดงามแตกต่างจากพระพิมพ์ที่ขุดพบในที่แห่งอื่น พระพิมพ์ต่างๆที่ได้มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กมีทั้งที่เป็นทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะ มีรูปเคารพของฤาษีที่ร่วมกันสร้างเมืองหริภุญไชย หลากหลายรูปแบบ เป็นเนื้อดินเผาและเนื้อโลหะต่างๆ ก็มีปรากฎ ผู้เขียนจะค่อยๆทะยอยนำพระพิมพ์ชนิดต่างๆมาแสดงให้ได้เห็นกันต่อไป
ศิลปะต่างๆนั้นได้เข้ามาเผยแพร่และมีอิทธิพลต่อพุทธศิลป์ของเมืองลำพูน ซึ่งก็เป็นธรรมดาของการแปรเปลี่ยนตามความเชื่อถือและความแปลกใหม่ ที่สามารถบันดาลและจุดประกายให้มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น พุทธศิลป์ของพุทธมหายานมีอิทธิพลต่อศิลปะหริภุญไชยเป็นอย่างมาก จึงได้มีการแต่งเติมลวดลายในพุทธศิลป์กันตามความเชื่อ ซึ่งก็เป็นผลดีทำให้เกิดการแตกยอดของศิลปะออกไป

ของดีลำดับแรกในครั้งนี้ที่ผู้เขียนจะนำเสนอให้ท่านได้ชมก็คือ “พระรอดจามเทวีทรงเครื่อง”ที่ขุดได้ที่วัดกู่ละมักวัดแรกที่เจ้าแม่จามเทวีทรงโปรดให้สร้างขึ้นก่อนที่จะเข้าเมืองหริภุญไชยเป็นครั้งแรก
“พระรอด”ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพระรอดของกรุวัดมหาวัน แต่เดิมในภาษาถิ่น เสียงของตัว ร .เรือของภาษาท้องถิ่นนั้นไม่มี เขาใช้เสียงของตัวฮ .นกฮูกแทนเช่น “รัก” ก็เป็น “ฮัก” สำหรับเสียงของล.ลิงนั้นมีใช้กันดังนั้น คำว่า”ลอด”นั้นจึงมีความหมายว่าเล็ก เช่นคำว่า “ลอดม่อก”ที่แปลว่าเล็กมากผิดจากขนาดธรรมดา สิ่งของที่เล็กมากจนเขาจับต้องไม่ติดเขาจะบอกว่า “ ลอดม่อกหรือ ลอดตี๋นลอดมือ “ และด้วยเหตุดังกล่าวพระรอดซึ่งเป็นพระขนาดเล็กที่สุดในบรรดาพระพิมพ์ต่างๆในพระชุดสกุลลำพูนจึงถูกเรียกกันในความหมายของคนท้องถิ่นกันว่า “พระลอดม่อก”ต่อมาก็ได้แปรเปลี่ยนเป็น”พระลอด”และกลายเป็น “พระรอด”ไปในที่สุด
ดังนั้นความหมายที่แท้ ของพระรอดในที่นี้จึงมีความหมายว่าองค์พระที่มีขนาดเล็กมากกว่าธรรมดานั่นเอง

ด้วยความที่พระพิมพ์ที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงนี้มีขนาดเล็กมากกว่าพระรอดของวัดมหาวันลำพูน แต่อยู่ในความหมายที่ว่า “ลอดม่อก”จึงขอเรียกพระพิมพ์ที่มีขนาดเล็กชนิดนี้ว่า “พระรอดจามเทวีทรงเครื่อง” อันสืบเนื่องจากที่ถูกขุดพบจากวัดที่เจ้าแม่จามเทวีทรงสร้างขึ้นเป็นวัดแรก ซึ่งทำการสร้างก่อนวัดสี่มุมเมืองที่มีพระพิมพ์สกุลลำพูนต่างๆปรากฎให้เห็นจนเป็นที่ระบือลือนาม ต่อไปนี้ให้ท่านได้ชม ภาพของ”พระรอดจามเทวีทรงเครื่อง” ทั้งด้านหน้าด้านหลังกันอย่างเต็มอิ่มให้ท่านขยายภาพดูทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรงกันอย่างเต็มที่ แล้วค่อยวิเคราะห์และตัดสินเอาเองว่าเป็นเช่นไร สำหรับเรื่องของพุทธคุณนั้นถือได้ว่าสุดยอดไม่แพ้พระรอดกรุวัดมหาวัน เป็นพระที่มีพุทธคุณทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาดอยู่รอดปลอดภัย ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข เป็นพระพิมพ์ที่อยู่ทางฝ่ายสาย เย็นตามหลักของพุทธมหายานที่ยึดเอาความเมตตาและช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ยากของสัตว์โลกเป็นหลัก

ภาพที่ 1 เป็นภาพของพระรอดจามเทวีทรงเครื่องที่มีขนาดเล็กที่สุด ในบรรดาพระพิมพ์ทั้งหมดทุกชนิดในพระพิมพ์ชุดสกุลลำพูนจะเรียกกันว่า “จิ๋ว” แต่แจ๋ว ก็ไม่ผิดกติกา พุทธคุณสูงทางเมตตามหานิยม เป็นพระทรงเครื่ององค์พระทรงมงกุฎแบบทรงสูง มีกลีบห้ากลีบ สองข้างของมงกุฎเป็นกรรเจียกหรือเครื่องทัดหู งอนยาวลงมา ตรงส่วนปลายของกรรเจียกนั้นม้วนตัวเป็นรูปวงกลมอย่างอ่อนช้อยและงดงามยิ่ง รับกับใบหน้าที่สงบนิ่ง ถึงแม้ว่าคิ้วจะเป็นรูปปีกกา แต่ก็ดูมีความเมตตาอยู่ในทีไม่เป็นแบบคิ้วขมวด ดวงตาเหลือบมองลงต่ำ สงบนิ่ง เหมือนกับทรงดึ่มด่ำกับการ เข้าสมาธิ การห่มจีวรเป็นแบบห่มดองขอบจีวรเป็นเส้นนูนไม่เหมือนกับของพระ รอด วัดมหาวัน แต่ก็รัดรูปเน้นให้เห็นหน้า อกที่อูมอิ่มมีผ้าสังฆาฏิทับจีวรพาดเฉียงลงมาชัดเจน สะดือเป็นหลุมแบบเบ้าขนมครก ทรงสวมกำไลแขนทั้งสองข้าง ประทับนั่งในปางสมาธิราบบนฐานแบบหน้ากระดานชั้นเดียว
องค์พระมีลำ องค์ที่ดูงามสะโอดสะอง เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ผ่อฮ่างก็แค้ว ผ่อแอวก็ไหว ยามเยื้องย่างไปเหมือนลวงเล่นฝ้า”เป็นคำเปรียบว่า ช่างงามยิ่งเหมือนรูปร่างของอิสสตรีที่มีรูปร่างอรชรอ้อนแอ้น องค์พระไม่อวบอ้วนอย่างเช่นพระคงหรือพระเปิม ดูงดงามไปอีกรูปแบบหนึ่ง รอบๆของพื้นผนังไม่ปรากฎลวดลายใดๆเป็นการสร้างพิมพ์แบบง่ายๆและเฉพาะเจาะจง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความมีศิลปะด้อยลงไป กลับทำให้องค์พระดูเด่นยิ่งขึ้น พระรอดจามเทวีทรงเครื่ององค์นี้มีขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.มสูง 2 ซ.ม หนา 1/2 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดกู่ละมัก ตำบลสันต้นธงอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 2 เป็นอีกองค์หนึ่งของพระรอดจามเทวีทรงเครื่องที่งดงามและสมบูรณ์แบบ เนื่องจากเป็นคติของพุทธมหายานที่บางครั้งจะสมมุติให้พระโพธิสัตว์มาในรูปของอิสสตรีที่มีความอ่อนหวานทั้งรูปร่างและการพูดจาอันเป็นการง่ายต่อความเชื่อมั่นแก่การโปรดสัตว์ทั้งหลายที่ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยเหตุดังกล่าวพุทธศิลป์ของหริภุญไชยจึงได้รับอิทธิพลดังกล่าวไว้ในรูปแบบอย่างไม่รู้ตัว อีกทั้งเมืองลำพูนมีเจ้าครองนครองค์แรกเป็นผู้หญิง จึงทำให้ความงดงามอ่อนช้อยมีในพุทธศิลป์ที่ทำขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในความเป็นไปในส่วนของจิตวิญญาณและความเป็นไปขององค์ประกอบแห่งศิลปะไม่น้อยเลยทีเดียว พระรอดจามเทวีทรงเครื่องนี้มีขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม. สูง 2 ซ.ม.ขุดได้ที่วัดกู่ละมักลำพูน

ภาพที่ 3 ความงดงามและความสมบูรณ์แบบของพระพิมพ์กรุของเมืองลำพูนแทบจะทุกชนิดเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่มีอยู่ในองค์พระอย่างสมบูรณ์แบบและน่าติดตาม ยังมีพระพิมพ์ต่างๆที่มีขนาดเล็กและมีความงดงามอย่างไม่น่าเชิ่อในฝีมือของช่างโบราณที่มีความสามารถในการรังสรรค์พระที่งดงามดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาเสนอเผยโฉมให้ได้เห็นต่อไป สำหรับพระรอดจามเทวีทรงเครื่ององค์นี้จะมีปีกด้านขวาขององค์พระยื่นออกมา จะสังเกตุว่าเป็นขอบที่มีความบางและคมเป็นแบบธรรมชาติ ตรงก้นฐานจะเป็นลักษณะฐานพับ ด้านหลังนูนขึ้นมาพองาม ด้านหน้ามีความคมชัดของพิมพ์ทรงเพ่งพิศดูด้วยกล้องส่องทำให้เกิดความสุขใจอย่างน่าประหลาด ขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม. สูง 2 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 4.พระรอดจามเทวีทรงเครื่ององค์นี้จะดูยาวชลูดเป็นเพราะเนื้อดินสองข้างถูกบีบเข้าทำให้เกิดภาพลวงสายตา แต่เมื่อนำขนาดขององค์พระมาเปรียบเทียบกันก็จะเห็นว่ามีขนาดขององค์พระเท่ากัน ด้านขวาขององค์พระจะมีปีกที่เป็นขอบบางๆดูงดงามไปอีกแบบหนึ่ง ก้นฐานเป็นแบบก้นพับด้านหลังนูนไม่มากพองาม ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม. สูง 2 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 5 พระรอดจามเทวีทรงเครื่ององค์นี้ดูจะมีปีกด้านข้างที่กว้าง โดยเฉพาะทางด้านขวาขององค์พระจะงอขึ้นเข้าหาด้านใน เป็นขอบที่บางมาก องค์ประกอบส่วนอื่นชัดเจนเรียบร้อยไม่หักบิ่นหรือสึกหรอในส่วนใด ตรงก้นฐานจะเป็นรอยหยักคงจะเป็นเพราะองค์พระมีขนาดเล็กการจับต้องขึ้นออกจากพิมพ์ทำให้เกิดรอยหยักได้ หลังจะอูมนูนเล็กน้อยพองงาม ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม. สูง 2 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดกู่ละมักอำเภอเมือง ลำพูน

ภาพที่ 6 พระรอดจามเทวีทรงเครื่ององค์นี้ จะดูงามเรียบร้อยได้สัดส่วนอย่างพอดีเพราะปีกที่มีสองข้างนั้นมีขนาดเท่ากัน ประกอบกับองค์พระอยู่ตรงกลางจึงทำให้มองดูเหมาะเจาะสวยงาม เนื้อของพระพิมพ์ชนิดนี้ทุกองค์จะมีเนื้อที่ละเอียดและมีความเก่าแก่อยู่ในตัว หากจะให้ได้เห็นชัดเจนก็ขยายภาพดูก็จะเห็นดังที่ผู้เขียนว่า พระรอดเจ้าแม่จามเทวีส่วนใหญ่จะมีผิวที่สะอาดและงามเรียบร้อยอย่างไม่น่าเชื่อว่าพระกรุที่มีอายุยาวนานเป็นพันๆปีจะยังคงสภาพในลักษณะเดิมๆและมีเนื้อที่นวลเนียนเช่นนี้ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพระรอดเจ้าแม่อยู่ในที่ ที่แห้งและมีเศษดินกรุห่อหุ้มอยู่จึงไม่ถูกสิ่งรบกวนใดๆมาทำลายความสวยงามและสมบูรณ์ได้ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับพระพิมพ์ต่างๆในชุดสกุลลำพูนที่มีความงดงามและคงสภาพเดิมๆได้เช่นนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะมีให้ได้เห็นในที่ทั่วไป ก้นฐานของพระองค์นี้เป็นแบบก้นพับ ด้านหลังงามเรียบร้อยไม่นูนหนามากพอดีกับการวางบนพื้นได้อย่างราบเรียบ ความงามและสมบูรณ์เต็มร้อยขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 ซ.ม. ขุดได้ที่วัดกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 7 เป็นภาพของพระรอดจามเทวีทรงเครื่องอีกองค์หนึ่งที่ดูสวยสมบูรณ์ด้วยพิมพ์ที่ชัดเจน ด้านขวาขององค์พระจะเห็นปีกด้านข้างที่บางและม้วนตัวเข้าหาองค์พระเป็นสองลอนดูงามแปลกตาไปอีกรูปแบบหนึ่ง มีคราบกรุติดอยู่อย่างบาง คราบกรุเป็นฝ้าบางๆสีขาว ก้นฐานเป็นก้นพับ พระรอดจามเทวีองค์นี้มีเนื้อด้านหลังที่ค่อนข้างจะอูมหนาแต่ด้านหลังก็ดูงามเรียบร้อยด้วยเนื้อที่ละเอียดหนึกนุ่มตา ขนาดองค์พระกว้าง 1 1/4 ซ.ม.หนา 1/2 ซ.ม. สูง 2 ซ.ม. ขุดพบที่วัดกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 8 เป็นภาพของพระรอดจามเทวีทรงเครื่องที่มีขนาดเล็กกว่า พระรอดจามเทวีทรงเครื่องทั้ง 7 ภาพที่ได้แสดงไว้ ก่อนหน้า จะเรียกว่าจิ๋วแต่แจ๋วก็ว่าได้ เพราะความคมชัดขององค์พระ ผู้เขียนมีภาพที่นำมาเปรียบเทียบให้ดูในตอนท้ายของบทความนี้ ความงดงามและความสมบูรณ์ในเชิงศิลปะนั้นไม่ต้องพูดถึงรวมทั่งเนื้อดินที่มีความละเอียด และพุทธคุณอันเปี่ยมล้นด้วยมนต์ขลังของพิธีกรรมในสมัยโบราณมีอยู่พร้อมในพระพิมพ์ชนิดนี้ พระรอดจามเทวีทรงเครื่องมีพุทธคุณเช่นเดียวกับพระรอดแท้ๆของวัดมหาวันลำพูนทุกอย่าง ซึ่งผู้เขียนได้ให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญลองอาราธนาดู จึงมีความมั่นใจในพุทธานุภาพขององค์พระเต็มร้อยแน่นอน พระรอดจามเทวีทรงเครื่ององค์น้อยนี้จะมีเสน่ห์ตรงที่มีคราบกรุและราดำติดอยู่เพิ่มมนต์เสน่ห์และความขลังในองค์พระเพิ่มขึ้นอย่างมั่นใจ ขนาดขององค์พระกว้าง 3/4 ซ.ม. หนา 1/4 ซ.ม. สูง 1 3/4 ซ.ม .ขุดได้ที่วัดกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 9 พระรอดเจ้าแม่จามเทวีทรงเครื่องขนาดจิ๋วที่มีราดำและคราบกรุติดอยู่อย่างเข้มขลัง เป็นพระขนาดจิ๋วที่เหมาะสำหรับที่จะพกพาติดตัวไปทุกแห่งทุกที่ได้อย่างสะดวกสบาย หากเข้ากรอบทองกันน้ำก็จะยิ่งเพิ่มความ งดงาม และเข้มขลังได้อย่างน่าประทับใจ นี่คือมนต์เสน่ห์ของพระกรุโบราณที่หายากสุดๆของยุคเลยทีเดียว ถือได้ว่าเป็นการเปิดโฉมของดีเมืองลำพูนอีกอย่างหนึ่งให้วงการพระเครื่องในประเทศไทยได้รับรู้ว่ามีพระพิมพ์ที่แปลกและมีความสวยงามของศิลปะหริภุญไชยที่แท้เช่นนี้ และนี่ก็คือความภูมิใจของผู้เขียนที่ได้นำเสนอของดีที่เป็นของสวยๆงามๆให้ได้รับรู้กันผ่านทางสื่อนี้ที่ส่งไปได้ทั่วโลก พระรอดจามเทวีทรงเครื่ององค์นี้มีขนาดกว้าง 3/4 ซ.ม.หนา 1/2 ซ.ม. สูง 1 3/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 10 พระรอดจามเทวีทรงเครื่ององค์นี้มีด้านหลังที่แบนราบเรียบไม่นูนหนา การตัดขอบเป็นแบบตัดชิดไม่มีปีกข้างให้เห็น องค์พระงามและมีความชัดเจนดีมาก ไม่น่าเชื่อว่าช่างพิมพ์นั้นสามารถทำพระองค์เล็กๆที่มีความบางเบาอย่างน่าอัศจรรย์ในฝีมือได้เช่นนี้ ประกอบกับคราบกรุที่เพิ่มความเก่าให้องค์พระมีความเด่นชัดเป็นสง่าอย่างยิ่ง ในอีกความหมายหนึ่งของพระรอดจามเทวีทรงเครื่องนี้ก็คือ เป็นหนึ่งในพระโพธิสัตว์และคงจะเป็นพระโพธิสัตว์เมตไตรยซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตตามพุทธศาสนามหายาน และมีความตรงกันอย่างประหลาดก็คือในเรื่องพุทธคุณขององค์พระจะเป็นไปในแนวเมตตามหานิยมและแคล้วคลาด ซึ่งเป็นพุทธคุณในแนวเย็นระรื่นไม่รุนแรงกร้าวแกร่งอะไร
ขนาดขององค์พระนั้นกว้าง 3 /4 ซ.ม. หนา 1/4 ซ.ม สูง 1 3/4 ซ.ม. ขุดพบที่วัดกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 11 พระรอดจามเทวีทรงเครื่องที่งามเรียบร้อยไม่มีคราบกรุและขี้กรุที่ติดหนาให้เห็นจึงทำให้ดูองค์พระมีความสะอาดสดใสในเนื้อที่นวลเนียนและหนึกนุ่มสมกับเป็นพระที่มีอายุยาวนานนับพันปี เป็นความงามที่สมบูรณ์ แบบจริงๆให้ท่านลองพิจารณาเอาเถิด ด้านหลังอูมนูนหนาพอสมควรมีคราบกรุสีขาวติดอยู่ ทุกอย่างขององค์พระงามเรียบร้อยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขนาดกว้าง 1 ซ.ม หนา 1/2 ซ.ม. สูง 1 3/4 ซ.ม.ขุดพบที่วัดกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 12 พระรอดจามเทวีทรงเครื่องที่งามสง่าได้สัดส่วน องค์พระประทับนั่งอบ่างสงบปางสมาธิราบ การวางประสานมือที่ดูเรียบร้อย ขอบตัดชิดไม่มีปีกยื่นออกมาทำให้มองดูไปว่ามีขนาดจิ๋ว แต่ก็มีความงามเรียบร้อยอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง จะหาพระพิมพ์ขนาดจิ๋วที่เป็นพระกรุแท้ๆในที่แห่งอื่นใดที่มีความสมบูรณ์แบบขององค์ประกอบแห่งศิลปะเช่นนี้มาเปรียบได้คงเป็นเรื่องที่ยากมาก ด้านหลังมีคราบกรุและขี้กรุติดอยู่พองาม ขุดพบที่วัดกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 1 ซ.ม หนา 1/2 ซ.ม. สูง 1 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 13 เป็นอีกองค์หนึ่งของพระรอดจามเทวีขนาดจิ๋วที่มีคราบกรุที่เป็นราดำเกาะติดอยู่กับองค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ก้นฐานเป็นแบบก้นพับ มีปีกทางด้านขวาขององค์พระยื่นออกมาพองาม หลังไม่หนามากดูเรียบร้อย คราบกรุมีส่วนช่วยทำให้องค์พระดูชัดเจนยิ่งขึ้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระที่มีคราบกรุติดอยู่ ให้ท่านลองพิจารณาเปรียบเทียบดู ขนาดองค์พระกว้าง 1 ซ.ม หนา 1/2 ซ.ม สูง 1 3/4 ซ.ม.ขุดได้ที่วัดหกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 14 พระรอดจามเทวีทรงเครื่องที่มีความราบเรียบและมีปีกข้างให้เห็นเสมอกันทั้งสองข้าง เป็นพระที่สะอาดมีคราบกรุติดบางๆ ก้นฐานเป็นแบบก้นตัด แต่มีร่องรอยของการยกขึ้นตรงก้นฐานให้เห็น ด้านหลังเรียบร้อย มีข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งคือส่วนใหญ่พระพิมพ์ของกรุชุดสกุลลำพูนโดยเฉพาะพระรอดและพระขนาดเล็กนั้นจะมีเนื้อที่ละอียดมากกว่าพระพิมพ์ขนาดใหญ่ เช่นพระสิบสอง พระกวางพระสิบแปดเป็นต้น การกรองดินและหมักดินคงจะทำกันอย่างพิถีพิถันดีจึงทำให้พระรอดและพระขนาดเล็กมีความคมชัดงามอย่างละเอียดอ่อน และมีเนื้อที่ละเอียดหนึกนุ่มตา นั่นคือกรรมวิธี อย่างหนึ่งของเชิงช่าง ทีมีความละเอียดถี่ถ้วนในการสร้างพระพิมพ์ของกรุเมืองลำพูนอันมีชื่อเสียงขนาดกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1 /2 ซ.ม. สูง 2 ซ.ม.ตรงก้นฐานของพระรอดจามเทวีทรงเครื่ององค์นี้ จะยื่นออกไปมากอย่างเห็นได้ชัด ขุดได้ที่วัดกู่ละมักอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 15 เป็นภาพเปรียบเทียบขนาดของพระรอดจามเทวีทรงเครื่องชนิดมีปีกข้าง กับแบบที่ไม่มีปีกข้างให้เห็นความต่างของขนาดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อได้พิจารณาดูแล้วพอจะตัดสินได้ว่ามีความงดงามไปคนละอย่าง ยากแก่การตัดสิน สำหรับขนาดขององค์พระนั้นมีขนาดพอๆกันจะใหญ่หรือเล็กกว่ากัน อยู่ตรงปีกข้างเท่านั้น และหากจะนำพระแต่ละองค์ไปใส่เข้ากรอบทองหรือกรอบเงินขนาดเล็ก ก็มีความงดงามกระทัดรัดและเหมาะแก่การอาราธนาติดตัวไปในที่ต่างๆเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจได้อย่างสะดวกสบาย

ภาพที่ 16 เป็นการเปรียบเทียบขนาดและพิมพ์ทรงกับพระรอด พิมพ์ใหญ่ของวัดมหาวันลำพูนกับพระรอดจามเทวีทรงเครื่อง ว่ามีความแตกต่างกันในรายละเอียดและความงามอย่างไร ผู้เขียนเห็นว่าพระทั้งสององค์นี้มีความงดงามของพุทธศิลป์ไปคนละแบบ คืองามไปคนละอย่าง พระรอดวัดมหาวันงามพร้อมในองค์ประกอบที่เป็นลวดลายประดับ พระรอดจามเทวีทรงเครื่องงามอย่างโดดๆและมีความเด่นขององค์พระอย่างน่านิยม สำหรับเรื่องของพุทธคุณนั้นไม่มีความแตกต่างกันเลยพุทธคุณขององค์พระนั้นเป็นแบบของเมตตามหานิยม แคล้วคลาดอยู่รอดปลอดภัยตามที่นักสะสมพระกรุต่างก็ทราบกันเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากพระรอดจามเทวียังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเท่านั้นขนาดของพระรอดพิมพ์ใหญ่ของวัดมหาวันนั้นความกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม สูง 2 1/2 ซ.ม. ส่วนพระรอดจามเทวีทรงเครื่องมีความกว้าง 3/4 ซ.ม. หนา 1/4 ซ.ม. สูง 1 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 17 เป็นการเปรียบเทียบขนาดขององค์พระระหว่างพระรอดพิมพ์ต้อของวัดมหาวันลำพูนกับพระรอดจามเทวีทรงเครื่องวัดกู่ละมักว่ามีความแตกต่างกันเช่นไร พระรอดพิมพ์ต้อองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บที่ไม่ผ่านมือผู้ใดเป็นเนื้อแบบเดิมๆที่รักษาไว้เป็นอย่างดีไม่ใช่พระกรุใหม่อย่างที่นักเลงพระบางท่านว่ากัน คราบกรุยังติดอยู่ตามผิวพระและตามซอกต่างๆเช่นตอนแรกที่ขึ้นจากกรุวัดมหาวันลำพูน ขนาดพระรอดพิมพ์ต้อองค์นี้ กว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 ซ.ม. ขนาดความกว้างของพระรอดจามเทวีทรงเครื่อง กว้าง 3/4 ซ.ม. สูง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1/4 ซ.ม. จะเห็นได้ว่าพระรอดทั้งสองแบบนี้ มีความแตกต่างกันทั้งรูปลักษณ์ และขนาดอย่างเห็นได้ชัด

จะรักจะชอบพุทธศิลป์ขององค์ใดก็แล้วแต่ท่านจะตัดสินกัน สำหรับพระรอดจามเทวีทรงเครื่องนี้ผู้เขียนมีพอแบ่งให้สำหรับผู้อ่านที่สนใจอยากจะอาราธนาติดตัว องค์ละ 3,000 บาทพร้อมค่าจัดส่งถึงมือผู้รับ หากสนใจก็โทร.ติดต่อผู้เขียนได้ ที่เบอร์ 053-530148 หรือ 086-9184300 หรือเบอร์ 089-7751515โดยโอนเงินไปที่บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชื่อ นายณฐนันท์ กาญจนคูหา บัญชีเลขที่ 6672524795 แล้วส่งที่อยู่ไปที่ e-mail:naiboran.sk@gmail.com เพื่อจะได้จัดส่งถึงมือท่านต่อไป

ท่านผู้อ่านได้ชมพระรอดจามเทวีทรงเครื่องกันอย่างเต็มอิ่ม ให้ท่านค่อยๆศึกษาและพิจารณาดูกันให้ดีว่าจะเป็นไปตามที่ผู้เขียนนำมาแสดงให้ได้เห็นหรือไม่ ยังมีเรื่องราวต่างๆของพระพิมพ์กรุเมืองลำพูนที่เป็นพระกรุอายุเก่าแก่โดยแท้ ทั้งที่เป็นเนื้อดินและเนื้อโลหะ อีกมากมายหลายอย่าง ผู้เขียนจะนำมาเสนอให้ท่านได้ดูและรู้จักในโอกาสต่อไป ..

“รักที่จะทำความดี ให้เป็นที่ประจักษ์ จงอย่ากลัวอุปสรรคใดๆทั้งสิ้น ”