“ศิลปะทวารวดีและต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย และพุทธศิลป์ในเมืองลำพูน” ตอนที่ 2 โดยนายสำราญ กาญจนคูหา

“หากรักที่จะทำ จงกระหน่ำให้เต็มที่ ผลที่จะมี คือความภาคภูมิที่หาซื้อด้วยเงินตรามิได้”

ศิลปะ”หริภุญไชย”นั้นมีลักษณะเฉพาะตัวและมีความอ่อนหวานในที หากนำไปเปรียบเทียบกับศิลปะในที่แห่งอื่นแล้วจะเห็นความแตกต่างดังกล่าวอย่างชัดเจน ความมีศิลปะที่ไม่เหมือนใครและเป็นของตัวเองเป็นสิ่งที่ทำให้พระเครื่องในชุดสกุลลำพูนนั้นมีความละเอียดและงดงามกว่าพระเครื่องในที่แห่งใด ด้วยเหตุนี้พระเครื่องในชุดสกุลลำพูนจึงเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วและเป็นที่ต้องการของบรรดาผู้ที่นิยมสะสมโบราณวัตถุที่มีความงดงามและสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบแห่งศิลปะโดยแท้ ในครั้งนี้ผู้เขียนจะนำพระพิมพ์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่มีความงดงามแห่งศิลปะอันเป็นแม่แบบของพระพิมพ์ต่างๆในสมัยชั้นหลังหลายแห่งได้นำไปประยุกต์เป็นของตนอันเป็นการกระจายและคลี่คลายขององค์ประกอบแห่งศิลป์ให้แตกแขนงออกไป พระพิมพ์ต่างๆที่นำมาแสดงให้ท่านได้ชมนี้เป็นพระพิมพ์ที่ขุดได้ในเมืองโบราณแห่งนี้ ซึ่งผู้เขียนได้เก็บสะสมไว้มานานแสนนาน ไม่ได้หยิบยืมมาจากที่แห่งใดทั้งสิ้นเป็นสมบัติเฉพาะส่วนบุคคลที่ตั้งใจนำออกมาเผยแพร่ให้ความรู้ด้วยความตั้งใจและจริงใจ

ภาพที่ 1 เป็นพระทรงเครื่องเนื้อดินเผา ศิลปะ”หริภุญไชย”ประทับยืนในปางห้ามสมุทรบนฐานสี่เหลี่ยม ทรงมงกุฎแบบเทริดขนนกที่ยาวแหลมขึ้นไป บนหน้าอกมีกรองศอหรือสร้อยคอประดับอย่างสวยงามอลังการยิ่ง รูปทรงองค์เอวที่ดูอ่อนไหวและมีใบหน้าที่อ่อนหวานไม่ดุดัน อันเป็นลักษณะของศิลปะหริภุญไชยที่งดงาม องค์พระประทับยืนดูเด่นเป็นสง่ามีความสมบูรณ์ไม่หักบิ่นในส่วนใดขุดได้ที่ กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน ขนาดฐานกว้าง 2 1/2 นิ้ว หนา 1 1/2 นิ้ว องค์พระสูง 9 นิ้วและลำองค์หนา 1 นิ้ว

ภาพที่ 2 เป็นพระทรงเครื่องแบบเดียวกันกับพระเนื้อดินของภาพที่ 1แต่เป็นเนื้อโลหะสำริดสนิมเขียว ที่หล่อแบบลอยองค์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ความงามและความสมบูรณ์เต็มร้อย ทรงมงกุฎทรงเทริดขนนกที่มีปลายแหลมและเรียวยาวขึ้นไปด้านบนอย่างสง่างาม ประดับด้วยกรองศอหรือสร้อยคอประดับบนหน้าอกและมีกุณฑลที่เป็นปลายแหลมตวัดขึ้นไปตรงไหล่ทั้งสองข้าง ประทับยืนในปางห้ามสมุทรบนฐานที่ทำเป็นแท่นลักษณะคล้ายตั่งที่มีขาตั้ง สี่ขา ขนาดกว้าง 2 1/2 นิ้ว หนา 1 1/2 นิ้ว สูง 1 1/2นิ้ว ส่วนสัดขององค์พระสูง 9 นิ้ว กว้าง 2 3/4นิ้ว ส่วนหนา 1 1/2 นิ้ว
น้ำหนัก 930 กรัม ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 3 เป็นภาพของพระพุทธรูปทรงเครื่องเนื้อโลหะ ประทับนั่งปางสมาธิราบมือขวาวางบนมือซ้ายบนฐานที่ประทับที่มีบัวประดับบนฐานเป็นบัวชั้นเดียว ทรงมงกุฎเทริดขนนกที่งามสง่ามีกุณฑลที่เป็นปลายงอนม้วนเป็นวงกลมบนไหล่ทั้งสองข้างบนหน้าอกมีทับทรวงที่มีลวดลายชัดเจนประดับอยู่ ทรงจีวรที่แนบเนื้อมองเห็นเม็ดถันและสะดือ องค์พระหล่อด้วยโลหะในลักษณะเทพิมพ์ลงบนแผ่นแม่พิมพ์ด้านเดียว ส่วนด้านหลังเป็นแอ่งลึกไม่มีลวดลายปรากฎให้เห็น เป็นกรรมวิธีอีกแบบหนึ่งของเชิงช่างชาวหริภุญไชยโบราณ เหตุที่ด้านหลังต้องทำเป็นแอ่ง ก็เพื่อให้ด้านหลังเป็นที่ยึดปูนสำหรับการติดองค์พระไว้กับพื้นผนังเพื่อประดับให้เกิดความสวยงามและไม่ให้หลุดตกลงมาโดยง่าย พระแผ่นที่ทำกันในลักษณะนี้ทำไว้เพื่อประดับด้านในพื้นผนังขององค์เจดีย์ หรือตามโบราณสถานสำคัญด้านนอกเพื่อความขลังและเป็นการประดับประดาที่สวยงามในรูปแบบของศิลปะ อันเป็นการโน้มน้าวและจูงใจให้ผู้คนบังเกิดศรัทธาและเชื่อมั่นในพระศาสนา พระพุทธรูปทรงเครื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นอิทธิพลของพุทธศิลป์ของพุทธมหายานที่เข้าไปเผยแพร่ในเมืองโบราณแห่งนี้เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว เป็นพุทธศิลป์หริภุญไชยบริสุทธิ์ สังเกตุได้จากความเรียวงามและอ่อนช้อยในทีท่าและใบหน้าที่อ่อนหวานไม่เข้มขลังดุดันอันเป็นลักษณะเฉพาะตัว ขนาดกว้าง 3 1/2 นิ้ว หนา 3/4 นิ้ว สูง 7 นิ้ว ขุดได้บริเวณกู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 4 เป็นภาพพระพิมพ์เนื้อดินเผาขนาดใหญ่ที่มีลวดลายวิจิตรยิ่ง เป็นพระทรงเครื่องสวมมงกุฎห้าแฉก เกศเป็นแบบเกล้า ห่มจีวรแบบห่มดองมีสังฆาฏิพาดลงมาทางบ่าซ้าย สวมกรองศอหรือสร้อยคอซึ่งเป็นเครื่องประดับบนหน้าอกทับจีวร องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย สมาธิราบบนแท่นบัลลังก์ดอกบัวสองชั้น ประทับนั่งภายในซุ้มเรือนแก้วที่มีหน้าบันเป็นพระยานาคขอมข้างละสองตัวชูหัวออกทางด้านข้างดวงตาทั้งสองเหลือบต่ำ และสงบนิ่ง ด้านบนของซุ้มทำเป็นลวดลายที่เป็นใบปลายแหลมคล้ายกลีบขนุน ทั้งใบเล็,กและใบใหญ่ชูปลายแหลมขึ้นสู่เบื้องบน เป็นชั้นๆโค้งตามซุ้มอย่างลงตัวและเหมาะเจาะ บนสุดทำเป็นลักษณะของดอกบัวตูมที่รายล้อมด้วยกลีบแหลมกลีบใหญ่พองามเจ็ดกลีบ ถัดลงมาทั้งสองข้างประดับลวดลายทำเป็นรูปใบไม้ปลายแหลมโน้มใบงอลงมาคล้ายกับพัดโบก ดูงามแปลกตาดี สองข้างขององค์พระที่เป็นประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนฐานสี่เหลี่ยมสองชั้นภายใต้ซุ้มที่เป็นพญานาคแผ่พังพานทั้งสองด้าน ฐานด้านล่างสุดทำเป็นลวดลายของสิงห์แบกรวมทั้งหมดห้าตัว
ลวดลายต่างๆที่ประดับในองค์พระจัดได้ว่างดงามและน่าสนใจยิ่ง เป็นพระพิมพ์ที่งดงามและสมบูรณ์แบบเป็นที่สุด ขุดได้ที่วัดประตูลี้ อำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 3 1/2 นิ้ว สูง 8 1/2 นิ้ว หนา 1 1/4 นิ้ว

ภาพที่ 5 เป็นพระสิบสองหรือจะเรียกว่าพระแปดก็ไม่ผิดกติกา เป็นพระเนื้อโลหะตะกั่ว พระพิมพ์ชนิดนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ศิลปะในองค์พระงามมากมีรายละเอียดต่างๆให้ได้พิจารณาศึกษามากมาย พระสิบสองเนื้อโลหะพบเห็นน้อย ทำให้ผู้คนต่างเข้าใจกันว่าไม่มี จึงได้นำมาให้ดูเพื่อเป็นประจักษ์แก่ตา ดังที่กล่าวมาแต่ต้นว่า พระกรุในชุดสกุลลำพูนนั้นมีทั้งที่ป็นเนื้อดินและเนื้อโลหะ ว่าแต่จะพบเห็นกันในแบบใด พระสิบสององค์นี้ขุดได้หลังวัดมหาวันอันเป็นสวนร้างพร้อมกับพระสิบสองเนื้อดินพิมพ์เดียวกันมากมาย ขนาดกว้าง 3 นิ้วสุง 4 3/4 นิ้ว หนา 1/2 นิ้ว น้ำหนัก 620 กรัม

ภาพที่ 6 พระสิบสองเนื้อดินเผาสีแดงที่มีความสมบูรณ์งดงาม มีความคม ชัด ลึกของลวดลายประดับที่วิจิตรบรรจง องค์พระที่เป็นองค์ประธานและพระบริวารมีหน้าตาให้เห็นครบถ้วนทุกองค์ ไม่ว่าจะเป็นองค์ใหญ่หรือองค์เล็ก พระประธานองค์กลางเป็นพระทรงเครื่องประดับด้วยเครื่องทรงทั้งสร้อยถนิมพิมพาพรรณที่งามพร้อมทรงมงกุฎแบบห้าแฉก ประทับนั่งบนบัลลังก์ที่มีรูปเป็นหัวยักษ์และหัวนกในนิยายของป่าหิมพานต์ประดับอยู่ใต้ฐานที่เป็นแบบบัวหงายบัวคว่ำ ส่วนบนเป็นซุ้มเรือนแก้ว ที่เป็นแบบซุ้มปรางค์ขอมที่ทำลวดลายเป็นชั้นๆขึ้นไป อย่างสวยงาม และมีความหมาย ในแต่ละหลืบชั้นมีพระพุทธรูปองค์เล็กๆและบริวารประดับให้เห็นเป็นลวดลายที่ย่อส่วนลงไปอย่างงดงามและลงตัวสมบูรณ์ สังเกตุให้ดีจะมีพญานาคและ หงส์หรือเป็ดประดับรวมอยู่ในลวดลายส่วนบนด้วย สองข้างขององค์พระประธานเป็นพระอัครสาวกซ้ายขวานั่งอยู่บนฐานประทับ ถัดไปด้านข้างมีบริวารที่เป็นเสมือนดั่งโยมอุปฐากนั่งชันเข่าในมือถือดอกบัวอันเป็นการน้อมบูชาในองค์พระผู้มีพระภาคด้วยความเคารพ บางคนเรียกว่าเป็นเดียรถีย์ก็มี
บนสุดตรงปลายยอดแหลม จะเห็นองค์พระพุทธรูปเดี่ยวองค์เล็กๆประทับนั่งอยู่มีบริวารนั่งเคียงข้าง นักนิยมพระทางเหนือถือกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้คือ “พระรอด”สุดปลายยอดของพระสิบสอง ที่เข้มขลังเป็นที่ต้องการของนักสะสมที่จะนำไปห้อยเดี่ยว เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร หากจะทำให้องค์พระสิบสองที่งามสมบูรณ์ต้องถูกตัดส่วนยอดออกไป เพียงเพื่อต้องการเพียงองค์ส่วนบนเท่านั้น เป็นการทำให้ความงดงามและความสมบูรณ์ทางศิลป์ ต้องสูญเสียไปซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรและน่าเสียดายอย่างยิ่ง และเป็นความเข้าใจผิดๆที่จะต้องไปทำเช่นนั้น นอกเสียจากว่าตรงส่วนของปลายบนขององค์พระแตกหักโดยธรรมชาติเพราะการขุดโดยไม่ได้ตั้งใจนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่พออนุโลมนำมาตกแต่งตรงส่วนนั้น
พระสิบสององค์นี้ขุดได้ที่เคยเป็นสวนบริเวณหลังวัดมหาวัน ความกว้าง 3 นิ้ว สูง 5 นิ้ว หนา 1 นิ้ว

ภาพที่ 7 เป็นภาพของพระสิบสองอีกองค์หนึ่งที่มีความงามและสมบูรณ์พร้อม เป็นพระพิมพ์เนื้อดินสีพิกุลอีกพิมพ์หนึ่งที่มีความแตกต่างกับพระสิบสองในภาพที่ 6 องค์พระจะมีทรวดทรงที่อวบอ้วนไม่ผอมชลูด ลวดลายต่างๆที่ประดับในองค์โดยรวมมีความชัดเจนดี พระสิบสองนั้นมีหลายพิมพ์หลายบล๊อกและหลายขนาด เป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่ที่พบทั่วไปในดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหริภุญไชย มีการขุดพบพระพิมพ์ชนิดนี้ที่ลพบุรี จึงเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความเกี่ยวพันของทั้งสองเมืองได้เป็นอย่างดีของการเป็นเมือง พ่อและเมืองลูกตามตำนานได้กล่าวไว้ ส่วนใหญ่พระพิมพ์ที่เกิดขึ้นและกลายเป็นพระกรุชุดสกุลลำพูนนั้นได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากเมืองพ่อแล้วค่อยพัฒนาเป็นศิลปะของตัวเองในที่สุด พระสิบสององค์นี้ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน กว้าง 3 1/4 นิ้ว สูง5 นิ้ว หนา 1/2 นิ้ว

ภาพที่ 8 พระสิบสองสีพิกุลค่อนไปทางชมพูแดงที่มีความงดงามเต็มร้อย ผู้เขียนมีความเต็มใจที่จะให้ท่านได้เห็นพระกรุที่งามและสมบูรณ์อย่างเต็มตา เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาพระกรุชุดสกุลลำพูนทุกชนิด องค์พระมีคราบกรุและขี้กรุติดอยู่ในสภาพเดิมๆ ไม่ได้ล้างหรือเอาออกจนเสียรูปเพื่อให้ได้เห็นเนื้อแท้ขององค์พระว่าเป็นเช่นนี้ ลวดลายในพระกรุสกุลลำพูนนั้นมีความละเอียดอ่อนและงดงาม มีความพริ้วไหวในเส้นสายรายละเอียดต่างๆ
มีคุณค่าเหมาะแก่การสะสมและศึกษายิ่ง พระสิบสององค์นี้ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน กว้าง 3 1/4 นิ้วสูง5 นิ้ว หนา 3/4นิ้ว

ภาพที่ 9 พระสิบสองเนื้อเขียวเป็นพระเนื้อแกร่ง เพราะถูกเผาด้วยแรงไฟสูง จึงมีขนาดเล็กลงมากว่าพระสิบสองในภาพที่ 8 ส่วนหลังอูมหนา เนือดินขององค์พระค่อนข้างหยาบ เป็นพระที่ขุดได้ในบริเวณที่เป็นกู่ร้าง กลางทุ่งนาในตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน พุทธศิลป์ในองค์พระเป็นแบบเดียวกับพระสิบสองโดยทั่วไป ในบริเวณดังกล่าวมีผู้ขุดได้โบราณวัตถุต่างๆมากมาย พระพิมพ์ที่ขุดพบจะเป็นพระขนาดใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จะชำรุด แตกหักเสียหาย พระสิบสององค์นี้มีขนาดกว้าง2 ? นิ้ว สูง 4 นิ้ว หนา 3/4 นิ้ว

ภาพที่ 10 พระสิบสองอีกองค์หนึ่งที่ขุดได้กลางทุ่งนาของตำบลเหมืองจี้อำเภอเมืองลำพูน นอกจากจะพบพระสิบสองในที่แห่งนี้แล้วยังมีการขุดพบพระเหลี้ยมหลวง พระซุ้มปรางค์ พระซุ้มกระรอกกระแต พระซุ้มพุทธคยาซึ่งเป็นพระขนาดใหญ่เนื้อค่อนข้างหยาบ มีการขุดพบภาชนะดินเผาต่างๆหลากหลายรูปแบบแต่ก็แตกหักเสียหายเป็นส่วนใหญ่ การขุดพบโบราณวัตถุต่างๆในบรืเวณนี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของชาวเมืองหริภุญไชยในสมัยโบราณว่ามีความเจริญรุ่งเรืองและมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนากันอย่างแท้จริง และกระจายอยู่กันไปในที่ต่างๆหลายแห่งสมจรืงกับตำนานที่กล่าวว่ามีวัดจำนวนเป็นพันในเมืองหริภุญไชยในครั้งกระโน้น พระสิบสององค์นี้มี ขนาดกว้าง 2 3/4 นิ้ว สูง 4 นิ้ว หนา 3/4 นิ้ว

ภาพที่ 11 เป็นภาพของพระสิบสองที่ถือกันว่าเป็นพิมพ์เล็กที่สุด ขนาดกว้าง 2 1/4 นิ้ว สูง 3 1/2 นิ้ว หนา 1/2 นิ้ว
ความคมชัดถือว่าเป็นรองเนื่องจากเป็นพระเนื้อผุที่ถูกแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานแต่ก็ยังเหลือให้เห็นว่าเป็นพระสิบ สองพิมพ์เล็ก ขุดได้ที่สวนร้างหลังวัดมหาวันลำพูน กล่าวกันว่าพุทธคุณของพระสิบสองทุกพิมพ์นั้น นักเล่นพระทั้งในสมัยก่อนและในปัจจุบัน ต่างยอมรับกันว่ามีพุทธคุณที่สูงเยี่ยมในทุกๆด้านถึงกับห่อผ้าพกพาติดตัวไปไปเพื่อป้องกันภัยร้ายต่างๆได้ชะงัดนัก เสียแต่ว่าขนาดขององค์พระค่อนข้างใหญ่ไปหน่อย ในสมัยก่อนบ้านใดมีทารกน้อยหรือเด็กเล็กที่ยังไร้เดียงสา มักจะไม่ให้นำพระสิบสองนี้ไว้ในบ้าน หากจะมีก็จะอาราธนาไปไว้นอกบ้านหรือนำไปฝากไว้ในที่แห่งอื่น เพราะมีความเชื่อกันว่า มีกุมภัณท์ที่อยู่เคียงข้างพระสาวกซ้ายขวา หรือหัวยักษ์ที่อยู่ตรงกลางของใต้ฐานประทับ จะออกมากวนหรือเล่นกับเด็กในตอนกลางดึก ทำให้เด็กร้องไห้รบกวนพ่อแม่ไม่เป็นอันหลับนอน ต่อเมื่อได้อาราธนาออกไปไว้นอกบ้าน ทุกอย่างก็เป็นปกติเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คือความเชื่อของชาวบ้านท้องถิ่นที่เล่าขานกันมานานแสนนานแล้ว.

ภาพที่ 12 พระกวางเป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาที่มีขนาดใหญ่พอๆกับพระสิบสอง เป็นพระพิมพ์อีกชนิดหนึ่งของพระชุดสกุลลำพูน ที่มีรายละเอียดและความงดงาม ทางพุทธศิลป์ที่ลึกซึ้งแปลกตาอย่างน่าประทับใจยิ่ง เป็นพุทธศิลป์ที่บ่งบอกถึงตอนที่ พระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรม ณบริเวณสวนกวางของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน โดยมีพระอัครสาวกซ้ายขวาอยู่เคียงคู่ ลวดลายต่างๆบนองค์พระได้แสดงชี้ชัดบ่งบอกถึงความหมายของพระพิมพ์นี้ได้เป็นอย่างดี สองข้างใต้ฐานประทับทำเป็นรูปกวางหมอบอยู่ เป็นที่มาของการเรียกชื่อของพระพิมพ์นี้ได้อย่างเหมาะสมพุทธคุณนั้นดีทางเมตตามหานิยม ขนาดกว้าง 2 3/4 นิ้ว สูง 5นิ้ว หนา 3/4 นิ้ว ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 13 เป็นพระกวางเนื้อโลหะสำริดตะกั่วสีเทาดำที่เข้มขลัง ที่มีความเก่าแก่ของเนื้อพระที่บอกให้เห็นว่ามีเนื้อเก่าแก่สมอายุนับพันปีโดยแท้เป็นพระพิมพ์ที่ร่วมสมัยกับพระรอดเนื้อโลหะพิมพ์ต่างๆที่ผู้เขียนได้แสดงไว้ในเรื่องพระเนื้อโลหะของกรุเมืองลำพูน แสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งพระสิบสอง พระกวางซึ่งเป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่นั้น ยังมีการทำเป็นเนื้อโลหะขึ้นมาดังภาพที่ได้แสดงไว้ข้างต้น จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่าพระทุกชนิดของพระชุดสกุลลำพูนนั้นจะต้องมีทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะ ถือเป็นข้อยืนยันได้ว่าพระกรุขนาดเล็กในชุดสกุลลำพูนชนิดอย่างอื่นนั้นก็มีหลายแบบหลายเนื้อและต้องมีการสร้างพระเหล่านั้นเป็นเนื้อโลหะด้วยไม่ได้มีเพียงแต่เป็นเนื้อดินอย่างเดียว ว่าแต่จะมีผู้ใดได้พบเห็นหรือไม่เท่านั้น พระกวางที่เป็นเนื้อโลหะองค์นี้ขุดพบในบริเวณหลังวัดมหาวันลำพูนเมื่อครั้งยังเป็นสวนร้างเมือประมาณปี พ.ศ 2530 ขุดได้พร้อมกับพระสิบสองและพระรอดเนื้อโลหะตะกั่วแบบเดียวกันและโบราณวัตถุต่างๆอีกมาก ในการขุดหาในครั้งนั้น บรรดาพระต่างๆที่เป็นเนื้อโลหะหลายขนาดหลายพิมพ์กลับถูกเก็บงำซ่อนไว้ เพราะไม่แน่ใจว่าวงการพระเครื่องในขณะนั้นจะให้การยอมรับหรือไม่ และกลัวจะไม่มีใครเช่าซื้อ
จนกระทั่งภายหลังจึงนำออกมาจำหน่ายให้กับผู้เขียนๆ จึงได้นำมาเผยแพร่ให้ได้รู้กัน ถือว่าเป็นบันทึกแห่งความทรงจำชิ้นหนึ่ง ที่จะมีคุณค่าแก่วงการพระเครื่องของพระชุดสกุลลำพูนว่าที่แท้จริงนั้นพระชุดสกุลลำพูนต่างๆโดยเฉพาะพระรอดวัดมหาวันนั้นก็มีที่เป็นเนื้อโลหะ ถือว่าเป็นการเสนอข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์แก่วงการพระเครื่องไม่ให้สูญหายหรือตกหล่นไป พระกวางองค์นี้มี ขนาดกว้าง 2 1/2 นิ้ว สูง 4 1/2 นิ้ว หนา 1 /4 นิ้ว น้ำหนัก 300 กรัม

ภาพที่ 14 พระกวางที่เป็นเนื้อดินเผาแบบเนื้อเผาแกร่ง เนื้อแข็งไม่ยุ่ยหรือผุพังไปโดยง่าย จึงยังความคมชัดและงดงามให้เห็นอย่างเต็มที่ ด้านหน้าและด้านหลังมีคราบกรุติดอยู่ให้เห็นตามซอกและพื้นผิวพระโดยทั่วไป ส่วนบนสุดขององค์พระเป็นรูปสถูป 3 ยอด สถูปองค์กลางใหญ่และสถูปสองข้างจะเล็กกว่าทำให้ดูมีมิติ พระพุทธรูปองค์ประธานประทับนั่งปางมารวิชัยขัดเพชรมือซ้ายแบะออกทรงจีวรแบบห่มคลุมแนบเนื้ออันลักษณะของศิลปะทวารวดี ประทับนั่งบนฐานดอกบัวสองชั้น มีซุ้มรัศมีโดยรอบตั้งแต่ส่วนไหล่ขึ้นไปรวมทั้งอัครสาวกทั้งสอง องค์ ซ้ายประณมมือไหว้ องค์ขวายกมือสองข้างแนบอก ซุ้มรัศมีโดยรอบเป็นบัวเม็ดทำให้ดูเด่นงดงามยิ่งขึ้น ด้านล่างสุดของฐานประทับทั้งสองข้าง ยังมีรูปกวางหมอบที่หันหน้าเข้าหาแท่นที่ประทับ ศิลปะของพระกวางนี้ดูงดงามให้ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี ในความสำเร็จของการตรัสรู้ธรรมวิเศษอันล้ำค่าที่ช่วยให้มวลมนุษย์โลกหลุด พ้น จากห้วงแห่งความทุกข์ได้สำเร็จ ทั่วทั้งองค์พระ แทบจะไม่มีช่องว่างให้เห็น เป็นฝีมือเชิงช่างที่สามารถบรรจุลวดลายต่างๆลงไปได้อย่างลงตัว ถือได้ว่าเป็นพระพิมพ์ในชุดสกุลลำพูนที่งามสุดยอดได้พิมพ์หนึ่งทีเดียว
พระกวางที่ขุดพบมีหลายบล๊อกและหลายขนาดทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะ พระกวางองค์นี้ขุดได้ในสวนหลังวัดมหาวันลำพูน มีขนาดกว้าง 2 3/4 นิ้ว สูง 5 1/4 นิ้ว หนา 3/4 นิ้ว ความงามและสมบูรณ์ถือ
ได้ว่าเต็มร้อย

ภาพที่ 15 เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาสีแดงขนาดใหญ่ ที่ให้รายละเอียดของลวดลายต่างๆบนองค์พระเป็นอย่างมาก
เป็นพิมพ์ปางปาฏิหาริย์แบบหนึ่งอิทธิพลของพุทธศิลป์มหายาน ที่เปรียบถึงพระพุทธเจ้าในอดีตนั้นมีมากมายประดุจเม็ดทรายในท้องมหาสมุทร พระพิมพ์แบบนี้ถูกเรียกขานกันว่า พระสิบแปด รูปแบบเป็นรูปสามเหลี่ยมแบบเดียวกับพระสิบสองหรือพระกวางแต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า ภายในกรอบบรรจุลวดลายต่างๆที่เป็นองค์พระปฏิมารวม 16 องค์ เป็นรูปของคนธรรมดา ที่เรียกกันว่าเดียรถีย์สองตน รวมเป็นสิบแปดองค์อันเป็นที่มาของพระพิมพ์แบบนี้ พระพุทธรูปทุกองค์ประทับนั่งปางมารวิชัยบนแท่นดอกบัวมีซุ้มรัศมีประดับโดยรอบ ฐานล่างสุดทำเป็นรูปนกในป่าหิมพานต์ หน้ากาลและสิงห์แบก รวมทั้งลวดลายที่ทำเป็นบัวแก้วเม็ดกลมประดับอย่างสวยงาม ศิลปะขององค์พระเป็นศิลปะของอินเดียใต้ ที่เข้ามามีอิทธิพลทางภาคใต้และภาคกลางในเวลานั้น เป็นพระพิมพ์ของสกุลลำพูนที่มีความงดงามเป็นเลิศของลวดลายประดับที่ละเอียดอ่อน ยากจะหาพระพิมพ์แบบอื่นมาเทียบได้ พระสิบแปดที่มีความงดงามและสมบูรณ์นั้นหายากเนื่องจากเป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่รักษายาก เพราะส่วนใหญ่จะแตกหักเสียหายโดยการขุดค้นอย่างไม่เป็นเชิงวิชาการของผู้ทำการขุดพระสิบแปด ที่งามสมบูรณ์จึงมีเหลือเพียงไม่กี่องค์ ผู้เขียนจึงคัดเลือกองค์พระที่งดงามเป็นที่สุดมาให้ได้ชมกัน องค์พระมีขนาดกว้าง 3 1/2 นิ้ว สูง 6 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ขุดพบได้ตามโบราณสถานต่างๆ โดยเฉพาะ ที่ วัดมหาวัน วัดประตูลี้ วัดดอนแก้ว อำเภอเมืองลำพูน สำหรับพระ สิบแปดองค์ที่แสดงให้ได้ชมนี้ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 16 พระปลีกล้วยเป็นพระพิมพ์ของพระชุดสกุลลำพูนอีกแบบหนึ่งที่มีความงดงามของศิลปะในองค์พระอย่างน่าทึ่งในฝีมือเชิงช่างที่มีความสามารถในการตกแต่งให้ศิลปะวัตถุ ที่รังสรรค์ขึ้นมามีชีวิตชีว่าน่าประทับใจและทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นเกิดความเคารพและศรัทธาในองค์พระพุทธปฏิมาได้อย่างลึกซึ้ง พระปลีกล้วยเป็นพระขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่งที่ท่านจะละเลยมองข้ามไปมิได้ เนื่องจากมีความแปลกและงดงามอย่างน่าประหลาดทั้งชื่อและศิลปะในองค์พระ พระปลีกล้วยองค์ที่เห็นนี้ มีเนื้อดินที่ละเอียดสีขาวคล้ายสีงาช้าง ลักษณะมีความอูมหนาของด้านหลังและเรียวยาวแหลมขึ้นไปทางด้านบน คล้ายปลีกล้วย อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อของพระพิมพ์นี้ ซึ่งผู้รู้และชาวบ้านในสมัยก่อนจะใช้เรียกกันตามลักษณะนาม ลวดลายประดับในองค์พระงดงามมาก ช่างศิลป์ได้จัดทำองค์พระพุทธรูปประดับเป็นสองชั้น ชั้นล่างทรงประทับนั่งบนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงาย มีฐานล่างเป็น ฐาน บัวแก้วรองรับอีกชั้นหนึ่ง พระองค์ประธานประทับนั่งปางมารวิชัยขัดเพชร มีซุ้มรัศมีโดยรอบพระเศียรเป็นบัวเม็ด ด้านข้างเป็นพระอัครสาวกซ้ายขวา นั่งประณมมือไหว้สาธุการในคำสอนของพระบรมศาสดามีซุ้มรัศมีประดับทั้งสององค์ ถัดจากพระอัครสาวกเป็นเทวดายืนถือดอกไม้แซร่ซร้องสาธุการ ทางด้านซ้ายและขวา ลักษณะการยืนนั้นเอียงเข้าหาอัครสาวกทั้งสอง ตรงใต้ฐานประทับด้านล่างทำเป็นรูปหัวช้างรองรับฐานไว้ เหนือเศียรของทวดาทั้งสองเป็นสถูปทรงปราสาทยอดแหลมประดับอยู่ ระหว่างกลางของสถูปทั้งสอง ทำเป็นพระพุทธรูปสามองค์ องค์กลางประทับนั่งปางสมาธิบนฐานบัลลังก์ดอกบัวโดยรอบเศียรเป็นซุ้มรัศมีสองชั้น สองข้างเป็นพระอัครสาวกซ้ายขวายืนเฝ้าคอยอยู่อย่างสงบ
เหนือขึ้นไปเป็นสถูปทรงปราสาทสามยอด มีลวดลายที่งดงามมาก โดยเฉพาะปราสาทองค์ใหญ่ที่อยู่ตรงกลางทำเป็นชั้นๆดูเด่นเป็นสง่า บนยอดสุดของปราสาทนั้นหมายถึงพระเกศแก้วจุฬามณีที่ประดิษฐานอยู่บนสรวงสวรรค์ ด้านข้างโดยรอบของยอดปราสาทนั้นประดับด้วยกิ่งก้านของใบโพธิ์ ที่มีใบโพธิ์พลิ้วปลิวไสวไปมาราวกับต้องลม ดูช่างงดงามนัก พระปลีกล้วยนี้ได้ให้ความรู้สึกอันน่าอิ่มเอมใจในพุทธศิลป์เป็นอย่างยิ่ง ในความเป็นเอกอันยอดเยี่ยมในภูมิปัญญาเชิงช่างของหริภุญไชยอันสูงส่ง พระพิมพ์ที่งดงามและสมบูรณ์แบบเช่นนี้เป็นของที่หายาก เป็นศิลปะที่เราควรจะทะนุถนอมเอาไว้ให้บรรดาลูกหลานได้ชื่นชมกัน พระปลีกล้วยองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 ? นิ้ว สูง 6 นิ้ว หนา 3/4 นิ้ว ขุดได้ในบริเวณวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 17 เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาสีแดง ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ ณเมืองสาวัตถี ศิลปะทวารวดี ขุดพบที่บริเวณกู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน เป็นพระพิมพ์ที่มีพุทธศิลป์แบบเดียวกันกับแผ่นจำหลักภาพพระพุทธเจ้าที่เป็นหินที่ขุดพบในจังหวัดอยุธยา พระพิมพ์องค์นี้เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาที่ย่อส่วนลงมา แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะแบบของพุทธมหายานที่ได้แผ่ขยายและเอิบอาบไปทั่วตามหัวเมืองต่างๆในสมัยโบราณ ซึ่ง ณที่แห่งใดมีความเจริญการค้าขายติดต่อซึ่งกันและกันก็เข้าไปถึง พร้อมๆกับการเผยแพร่ศาสนาที่ตนเคารพรวมทั้งการนำเอาศิลปะวัฒนธรรมต่างๆและรูปเคารพตามความเชื่อของแต่ละชนชาติติดตามเข้าไปด้วย พระปางปาฏิหาริย์องค์นี้มีลวดลายต่างๆในองค์พระที่สมบูรณ์และงดงามมาก เป็นเรื่องราวของพระพุทธองค์แสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฎแก่สายตาแก่กษัตริย์และบรรดานักบวชต่างลัทธิตลอดจนชาวเมืองที่พากันลุมแช่งด่าหาเรื่องขัดแย้งกับพระพุทธองค์ ให้ได้เห็นพระองค์ในทุกอิริยาบท ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน เดิน นอน จนผลสุดท้ายได้กลายเป็นที่เลื่อมใสและยอมรับนับถือจากกษัตริย์รวมทั้ง นักบวชและชาวเมืองในที่สุด เป็นพระพิมพ์อีกรูปแบบหนึ่งที่ขุดพบได้ในเมืองนี้ ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน กว้าง 3 1/4 นิ้ว สูง 5 นิ้ว หนา1/2 นิ้ว

ภาพที่ 18 พระกาบปลี เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาขนาดใหญ่อีกพิมพ์หนึ่งที่น่าสนใจ ที่เรียกกันในชื่อพระกาบปลีนี้เป็นการเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระที่ยาวชลูด และมีปลายแหลมขึ้นไป ประกอบกับองค์พระมีความแบนราบ คล้ายกาบของปลีกล้วย จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อพระพิมพ์แบบนี้ รูปลักษณ์นั้นเป็นพระพุทธรูปเดี่ยวประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานบัลลังก์ภายในซุ้มที่ประดับด้วยสถูป 3 ยอด มีลวดลายเป็นรัศมีของก้านและดอกบัวชูช่อขึ้นไปเบื้องบน ศิลปะขององค์พระเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่ก็มีความขลังอยู่ในองค์พระเมื่อเราได้มองเพ่งพิจารณาดูให้ดี ถือได้ว่าเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่งที่หาไม่ได้ในที่แห่งใด พระกาบปลีนี้ขุดได้ที่วัดประตูลี้ลำพูน
ขนาดกว้าง 2 3/4 นิ้ว สูง 6 นิ้ว หนา 3/4 นิ้ว

ภาพที่ 19 พระกลีบบัวใหญ่ เป็นพระเนื้อดินเผาที่ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน พระกลีบบัวนี้มีหลายพิมพ์และหลายขนาด ลักษณะขององค์พระเมื่อมองดูเผินๆ มีส่วนคล้ายกับกลีบของดอกบัว เป็นศิลปะศรีวิชัยที่ขึ้นมาถึงเมืองโบราณแห่งนี้ในครั้งกระโน้น เป็นพระพิมพ์แบบเดียวกับพระพิมพ์ที่ขุดได้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ยืนยันกันว่าเป็นศิลปะศรีวิชัย องค์พระประทับนั่งปางขัดสมาธิราบ บนฐานบัลลังก์ที่เป็นรูปดอกบัวบานรองรับองค์พระไว้ สองข้างเป็นรูปของสถูปประดับอยู่ และมีดอกบัวที่ชูก้านขึ้นสู่เบื้องบน เหนือเศียรขององค์พระเป็นฉัตรคล้ายร่มกาง ป้องกันส่วนบนไว้ ขนาดกว้าง 2 1/2 นิ้ว สูง 3 1/2 นิ้ว หนา 1/2 นิ้ว

ภาพที่ 20 เป็นพระแบบซุ้มพุทธคยาแบบกลีบบัว เป็นพระพิมพ์อีกรูปแบบหนึ่งที่มีความคมชัดและงดงามมากองค์พระประทับนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วบนฐานบัลลังก์ประทับที่ทำเป็นลักษณะบัวคว่ำบัวหงาย ทั้งสองข้าง ประดับ ด้วยสถูปเล็กๆเรียงไล่ขึ้นไปจนถึงด้านบนข้างละสามองค์ เหนือซุ้มขึ้นไปเป็นฉัตรเล็กๆกางกั้น ตรงส่วนบนมียอดเป็นสถูปตั้งอยู่ สองข้างประดับด้วยกิ่งก้านและใบโพธิ์ที่พลิ้วปลิวสะบัดราวกับล้อลมเล่น ใต้ฐานที่ประทับ มีอักษรอินเดียโบราณที่เขียนไว้ว่า “เย ธัม มา” หมายถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา พระพิมพ์องค์นี้เป็นพระพิมพ์ดินเผาสีขาว เนื้อละเอียด ความงดงามและสมบูรณ์เต็มร้อย มีความชัดเจนของหน้าตาองค์พระทั้ง หู ตา ปาก จมูก ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน ขนาดกว้าง 2 นิ้ว สูง 3 นิ้ว หนา ? นิ้ว


ภาพที่ 21 พระเหลี้ยมหลวง หรือพระเลี่ยงหลวง รูปลักษณ์คล้ายกับพระสิบสอง เป็นพระพิมพ์ทรงเครื่องปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร สองข้างขององค์พระมีเดียรถีย์ตามที่เรียกกันนั่งชันเข่าในมือถือดอกบัวอันเป็นการน้อมบูชาองค์พระบรมศาสดาด้วยความเคารพ ใต้ฐานบัลลังก์เป็นหัวของนกป่าหิมพานต์ประดับอยู่สามหัว องค์พระประทับนั่งตรงกลางในซุ้มเรือนแก้วที่ด้านบนเป็นซุ้มปรางค์ขอมที่มียอดปลายแหลมอยู่บนยอดสุด ลวดลายต่างๆขององค์พระงดงามตามแบบอย่างของศิลปะหริภุญไชยอันงามเลิศตามแบบของพุทธศิลป์ฝ่ายมหายานที่เข้ามามีอิทธิพลในเมืองนี้ ขนาดกว้าง 2 นิ้ว สูง 2 1/2 นิ้ว หนา 1/2 นิ้ว ขุดได้ที่วัดประตูลี้ อำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 22 เป็นภาพพระเหลี้ยมหลวงอีกองค์หนึ่งที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบอีกองค์หนึ่ง เป็นพระเนื้อแกร่ง
เพราะถูกเผาด้วยไฟที่ร้อนแรง พระเหลี้ยมหลวงเป็นพระที่ขุดพบมากในบริเวณของวัดประตูลี้และบริเวณทุ่งนาของตำบลเหมืองจี้อำเภอเมืองลำพูน ส่วนใหญ่ที่ขุดได้มักแตกหักและเสียหาย องค์ที่สมบูรณ์งามพร้อมหาพบยาก
พระเหลี้ยมหลวงมีหลายพิมพ์และหลายขนาด โดยเฉพาะที่มีเนื้อเป็นสีเขียวหินครกหรือที่เรียกกันว่าสีมอยยิ่งหายากเป็นที่นิยมของผู้ที่สะสมพระกรุมากกว่าพระพิมพ์สีอื่นๆ พระเหลี้ยมหลวงองค์นี้ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน กว้าง 2 นิ้ว สูง 2 ? นิ้ว หนา 1/2 นิ้ว

ภาพที่ 23 เป็นภาพของพระสามหอม เป็นพระพิมพ์ของศิลปะหริภุญไชยในยุคตอนปลาย ที่เลียนแบบพระซุ้มพุทธคยาอันเป็นศิลปะทวารวดี องค์พระมีลักษณะอวบอ้วนอันหมายถึงความสมบูรณ์พูนสุขของบ้านเมือง ด้านล่างเป็นรูปของคนขนาดเล็กนั่งคุกเข่าประณมมือแสดงความเคารพ มีสถูปประดับอยู่ทั้งสองข้างข้างละสามองค์เหนือบนสุดเป็นฉัตรที่มียอดเป็นสถูปตั้งอยู่บนซุ้มเรือนแก้วที่ประทับขององค์พระประธานที่ประทับเหนือบัลลังก์บนฐานที่เป็นบัวหงายบัวคว่ำ สองข้างของยอดสถูปด้านบนสุด เป็นลวดลายของกิ่งก้านใบโพธิ์ที่ชี้ชัน ขึ้น ไป ใต้ฐานประทับมีลวดลายเป็นเส้นวงกลม ด้านหลังขององค์พระอูมหนาเป็นหลังเต่า ขีดเป็นร่องลึกรูปสี่เหลี่ยมเพื่อให้เป็นที่ยึดปูนสำหรับการติดองค์พระเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของลวดลายประดับกับพื้นผนัง พระสามหอมองค์นี้ขุดได้ที่วัดประตูลี้มีขนาดกว้าง 2 นิ้ว สูง 3 นิ้ว หนา 1 นิ้ว

ภาพที่ 24 พระงบน้ำอ้อย เป็นพระพิมพ์อีกแบบหนึ่งของพระชุดสกุลลำพูนที่พบเห็นน้อย รูปลักษณะเป็นแบบ กลมแบนเหมือนกับงบน้ำอ้อย อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อพระชนิดนี้ ส่วนใหญ่ของพระงบน้ำอ้อยนั้นจะขุดพบ ที่ วัดมหาวัน สำหรับพระงบน้ำอ้อยองค์นี้มีส่วนคล้ายกับพระสามหอม องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย มีซุ้ม รัศมี เป็นเส้นเล็กๆประดับโดยรอบ รายล้อมด้วยสถูปเล็กๆ 7 องค์ไม่มีลวดลายอื่นใดมาก ใต้ฐานมีอักษรโบราณที่เป็นหัวใจของพระคาถา “เย ธัมมา” ปรากฎอยู่ ด้านหลังนูนสูงพอประมาณ พุทธคุณดีไปทางเมตตามหานิยมแคล้วคลาด ขุดได้หลังวัดมหาวัน ขนาดกว้าง 2 1/4 นิ้ว หนา3 /4 นิ้ว

ภาพที่ 25 พระสามแบบเวียงท่ากาน เนื่องจากพระพิมพ์ลักษณะนี้มีการขุดพบมากที่เมืองเวียงท่ากานอันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหริภุญไชยในอดีตจึงเป็นที่มาของชื่อที่ใช้เรียกกัน ลวดลายในองค์พระมีรายละเอียดมาก เป็นพุทธศิลป์แบบมหายานที่ทำเป็นรูปพระพุทธเจ้าสามพระองค์ตามคติพุทธมหายานที่เข้ามาแพร่หลายในเมืองนี้ องค์พระประธานเป็นพระทรงเครื่องสวมมงกุฎทรงเทริดห้ากลีบประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานบัลลังก์ที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย ภายในซุ้มปรางค์ที่คล้ายซุ้ม ประดับ ของพระสิบสอง สองข้างเป็นพระพุทธเจ้าสองพระองค์ประทับนั่งปางสมาธิ บนฐานบัลลังก์ที่เป็นหน้ากระดานรูปของบัวลูกแก้วด้านล่างเป็นหน้ากระดานสองขั้นมีรายละเอียดเป็นขีดเล็กๆ โดยรอบขององค์พระทำเป็นขอบมีลวดลายทำเป็นขีดๆ ยอดบนสุดของซุ้มปรางค์เป็นรูปของตรีรัตนะ อันมีความหมายถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ประดับอยู่ แทบจะไม่มีช่องว่างให้เห็นในองค์พระ เนื้อดินของพระองค์นี้เป็นลักษณะเขียวมอยหรือเนื้อเขียวหินครกเป็นพระเนื้อแกร่ง ขนาดกว้าง 2 1/2 นิ้ว สูง 2 3/4 นิ้ว หนา 1/2 เป็นพระพิมพ์ขนาดกลางไม่ใหญ่นักพอที่จะนำมาห้อยเป็นพระองค์ประธานได้

าพที่ 26 เป็นภาพของพระสามเวียงท่ากานขนาดเล็ก เป็นอีกขนาดหนึ่งต่างหากพระสามเวียงท่ากานจากภาพที่ 22 รูปแบบในองค์พระเหมือนกันทุกอย่างเพียงแต่มีขนาดย่อมกว่าเท่านั้น มีความกว้าง 1 1/2 นิ้ว สูง 2 นิ้ว หนา 1 /2 นิ้วขุดพบในที่แห่งเดียวกัน

ภาพที่ 27 พระพิมพ์สีแดงองค์ที่เห็นนี้ เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาที่มีความงดงามสุดยอด เป็นพระพิมพ์ที่ไม่เคยพบเห็นในที่แห่งใดมาก่อน ถือได้เป็นพระพิมพ์ที่มีความงดงามในทุกสัดส่วนและแปลกยิ่งในประวัติศาสตร์ศิลป์ของพระพุทธพิมพ์ที่ค้นพบในประเทศไทยและเมืองลำพูน ภาพโดยรวมขององค์พระนั้น เป็นอิทธิพลของพุทธศิลป์มหายานของจีนที่ขุดได้ในเมืองลำพูนแห่งนี้ องค์พระเป็นพระพุทธองค์แบบศิลปะจีนประทับนั่งเหนือพนัสบดีแสดงท่าในปางแสดงธรรม โดยมีพระสาวกประณมมือไหว้อยู่เคียงข้าง ประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วที่เป็นลวดลายของศิลปะจีนอันอ่อนช้อยและงดงาม เน้นให้เห็นรายละเอียดต่างๆอย่างชัดเจน ให้ท่านลองขยายภาพดูอย่างเต็มตาและเต็มที่ก็จะเห็นดังที่ว่า พระพิมพ์ที่ทำเป็นแบบพระพุทธองค์ประทับเหนือพนัสบดีเป็นศิลปะฝ่ายมหายานที่สร้างขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เป็นการยกย่องพระพุทธองค์ว่ามีความสำคัญเทียบเท่ากับพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ”พระพรหม” “พระนารายณ์” และ”พระอีศวร” โดยการสร้างให้พระพุทธองค์ประทับนั่งปางแสดงธรรมเหนือพนัสบดี ซึ่งเป็นสัตว์ที่รวมเอาความเป็นพาหนะของเทพทั้งสาม กล่าวคือ”พนัสบดีมีปีกและปากเหมือนพญาครุฑอันเป็นพาหนะทรงของพระนารายณ์ “ “ มีเขาและหูเหมือนโคอันเป็นพาหนะของพระอีศวร” “มีตาและเสียงร้องเหมือนหงส์อันเป็นพาหนะของพระพรหม” ทั้งสามสิ่งดังกล่าวรวมกันอยู่ในตัวของพนัสบดี ให้ท่านลองขยายภาพดูก็จะเข้าใจในความนัยอันนี้ มีการขุดพบพระพิมพ์ในลักษณะนี้หลายรูปแบบในเมืองลำพูน ที่เป็นองค์ขนาดเล็กพอที่จะนำเข้ากรอบอาราธนาติดตัวไปในที่ต่างๆได้อย่างสบายก็มีปรากฎ ซึ่งพระพุทธพิมพ์ดังกล่าวมีทั้งเนื้อดินเผาและเนื้อโลหะต่างๆ ในตอนแรกพบนั้นไม่มีผู้ใดรู้จักว่าเป็นพระชนิดใดและต่างวิจารณ์กันไปต่างๆนาๆ จนกระทั่งผู้เขียนได้ไปพบเข้าจึงเก็บรวบรวมเอาไว้เพื่อศึกษาดู ปรากฎว่าเป็นพระพิมพ์ปางแสดงธรรมประทับนั่งอยู่บนหลังของพนัสบดีที่มีขนาดเล็กพอๆกับพระลือหน้ามงคลหรือพระคง ซึ่งพระพิมพ์แบบนี้ไม่เคยมีการขุดพบในที่แห่งใดมาก่อน จึงได้เก็บรวบรวมเอาไว้ เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการขุดพบพระพิมพ์ชนิดนี้ในเมืองลำพูนจริงๆ โอกาสต่อไปผู้เขียนจะนำมาให้ท่านได้ชื่นชมทุกพิมพ์และทุกเนื้อพร้อมกับคำอธิบายในรายละเอียดต่างๆ พระพิมพ์องค์นี้ขุดได้ที่บริเวณของวัดกู่ละมัก ตำบลสันต้นอำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 1 1/2 นิ้ว สูง 2 1/2นิ้ว หนา 1 นิ้ว ยังมีเรื่องราวต่างๆของพระพิมพ์ต่างๆในชุดสกุลลำพูนอีกมากมายขอให้ท่านได้ติดตามต่อไป

“ตัดสินใจที่จะเริ่มต้นทำอะไรในวันนี้ ผลดีก็จะตามมาให้เห็นผลในวันข้างหน้า”