“พระเครื่องชุดสกุล”ลำพูนที่เป็นพระกรุเนื้อโลหะตอนที่ 6

“พระรอดพิมพ์ต้อ”เนื้อโลหะ วัดมหาวันลำพูน โดย นายโบราณ
โทร. 086 -9184300.

“อย่าให้สูงจนเกินเอื้อม เพราะยิ่งสูงจะยิ่งหนาว “

“พระรอดพิมพ์ต้อ” เนื้อดินของวัดมหาวันลำพูนแท้ๆนั้นเป็นพระรอดที่หายากเอามากๆพิมพ์หนึ่ง มีหลายบล๊อกและหลายขนาดตามแบบ ฉบับของพระรอดแท้ๆ ว่าแต่จะมีผู้ ที่ได้พบเห็นกันกี่พิมพ์และกี่บล๊อกเท่านั้น ยิ่งผู้เขียนนำเอาพระรอดพิมพ์ต้อที่เป็นเนื้อโลหะมานำเสนอให้ท่านได้รู้เห็น จะยิ่งเป็นงงกันว่า มีพระรอดพิมพ์ต้อนี้ที่เป็นเนื้อโลหะจริงๆหรือ
คงไม่มีใครที่จะทำและหล่อพระรอดเนื้อโลหะปลอมออกมากันเล่นๆ เพราะไม่มีผู้ใดจะยืนยันว่ามีพระรอดเนื้อโลหะ นี้กันมาก่อน ยิ่งการหล่อหลอมโลหะต่างๆ ที่จะนำไปสร้างองค์พระพุทธปฏิมาขนาดเล็กนั้นมีกรรมวิธีในการทำที่ซับซ้อนยุ่งยากด้วยแล้ว คงไม่มีใครทำขึ้นมา และหากจะทำขึ้นเพื่อการขาย เมื่อไม่มีผู้ใดยอมรับจะทำขึ้นมาเพื่ออะไร นอกจากว่าจะทำขึ้นมาด้วยความตั้งใจและมีศรัทธาจริงๆเท่านั้น จึงจะทำการสร้างพระเนื้อโลหะที่มีความแตกต่างจากผู้อื่นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

พระรอดและพระในชุดสกุลลำพูนต่างๆที่เป็นเนื้อโลหะนั้นขุดพบกันมานานแล้ว ในตอนนั้นไม่มีใครยอมรับกันว่าเป็นของแท้ เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีพระเครื่องในชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะ พระเครื่องที่เป็นเนื้อโลหะทั้งหลายทั้งมวลของพระชุดสกุลลำพูน จึงถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง สำหรับในความเห็นของผู้เขียนไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเคยพบเห็นพระในชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะที่ขึ้นจากกรุ และมีการขุดพบพระพิมพ์ต่างๆอย่างมากมาย หลากหลายเนื้อและหลากหลายพิมพ์ทรง ผู้เขียนจึงเหมาเช่ามาเก็บ เพิ่อการพิจารณาศึกษาว่า บรรดาพระที่ได้มานั้นเป็นพระกรุที่แท้จริง หรือเป็นของที่ทำขึ้นมาใหม่ ผู้เขียนค่อยๆศึกษาและค่อยๆพิจารณาดูทั้งที่มาที่ไปและด้วยเหตุและผล จนพอที่จะตัดสินได้ว่าเป็นของเก่าแก่แท้แน่นอนที่ถึงยุค จึงได้มีความมั่นใจว่าไม่ผิดแล้วอย่างแน่นอน และในบรรดาพระกรุเหล่านั้นยังมีพระแปลกๆ ที่เป็นพุทธศิลป์ฝ่ายมหายานผสมผสานกับ ศิลปะทวารวดีและขอมละโว้มากมายปะปนมา ซึ่งพระกรุเหล่านั้นขุดพบได้ในเมืองลำพูนนี้เอง พระกรุที่ขุดพบเหล่านั้น มีพุทธศิลป์ในองค์พระที่งดงามและน่าสนใจน่าศึกษาความเป็นมาแห่งศิลปะได้เป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนได้ใช้เวลาในการคัดกรอง วิเคราะห์ตัดสินกันอีกหลายครั้งจนกระทั่งแน่ใจได้ว่า “เป็นพระที่ขุดได้จากกรุและเป็นพระเก่าแก่ที่แท้แน่นอน” จึงได้นำออกเผยแพร่แบ่งปันความรู้เพื่อไม่ให้สูญหาย เพื่อจะได้เป็นความรู้ในการศึกษา

พระกรุที่เป็นเนื้อโลหะของพระชุดสกุลลำพูนที่มีอีกมากมายหลากหลายอย่าง พระรอดพิมพ์ต้อที่ได้นำมาให้ท่านได้ชมนี้ขุดพบเมื่อปีพ.ศ 2530 ในบริเวณสวนร้างหลังวัดมหาวัน โดยมือขุดชั้นเซียนแต่ได้เก็บงำซ่อนไว้ เพราะเข้าใจว่าพระเนื้อโลหะที่ตนขุดได้นี้ ไม่มีใครยอมรับกันว่าเป็นพระแท้ เพราะเขาไม่เล่นกัน ต่อมาภายหลังได้นำมาให้ผู้เขียน จึงได้พิจารณาทำการศึกษา จนได้ความว่าเป็นพระกรุที่แท้จริงร้อยเปอร์เซนต์ เมือไม่มีใครยอมรับก็ไม่เสียหายอะไร เหมาเช่าเก็บเอาไว้ก่อน อีกทั้งมีความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าสำหรับสิ่งที่มีคุณค่าอย่างเอนกอนันต์

และการทราบที่มาที่ไปของพระเนื้อโลหะสกุลลำพูนนี้ หากว่าถูกปล่อยให้สูญหายไปโดยไม่มีการบันทึกหรือบอกกล่าวให้ผู้ที่สนใจได้รับรู้ แม้จะเป็นเพียงคนที่ต้องการทราบไม่กี่คน
หรือแม้ว่าจะไม่มีใครยอมรับเลยว่าไม่มีหรือไม่จริงก็ตาม ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและเสียใจมาก เมื่อมีสื่ออันวิเศษดังเช่น “อินเตอร์เน็ท” ที่สามารถเป็นตัวนำในการเผยแพร่ ที่ไปได้ไกลแสนไกลในทุกทีทุกแห่ง ของสุดขอบฟ้าทั่วโลก ที่ผู้เขียนท่องไปได้อย่างเสรี ผู้เขียนจึงมีความตั้งใจที่จะนำ เรื่องราวของพระกรุทุกอย่างทุกชนิดทุกพิมพ์ ที่มีการขุดพบในเมืองลำพูน ที่ผู้เขียนมีข้อมูลที่แน่นอนให้โลกได้รับรู้ อันเป็นการตอบแทนบุญคุณแก่แผ่นดิน ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ที่ท่านได้ให้ทุกอย่างแก่ผู้เขียนโดยจะไม่หวั่นไหวต่อคำวิจารณ์ใดๆทั้งสิ้น ผู้เขียนจำคำพูดที่กล่าวไว้ว่า “ไม่ลองไม่รู้ ไม่ดูไม่เห็น ไม่ทำไม่เป็น แล้วจะมัวนั่งเล่นอยู่ทำไม เสียเวลาและโอกาสไปเปล่าๆ” หรือ”อย่านั่งนิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น” ถือว่าเป็นการทำประโยชน์อย่างหนี่งให้เกิดขึ้นแก่สังคมรวมทั้งประเพณีวัฒนธรรมของเราโดยแท้
จากนี้ไปจะเป็นรูปภาพของพระรอดพิมพ์ต้อเนื้อโลหะสำริดตะกั่ว

วิธีดูจุดลับ

 

ภาพที่ 1 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์ต้อที่เป็นเนื้อโลหะตะกั่วสีเทาดำที่มีคราบกรุสีแดงชมพูติดอยู่ องค์พระสมบูรณ์ไม่บิ่นหรือหักในส่วนใด มีลักษณะอวบอ้วน ล่ำต้อ สมกับชื่อที่ใช้เรียกพระรอดพิมพ์นี้ องค์พระประทับ นั่งบนฐานแบบหน้า กระดาน สามชั้น ประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร แม้ว่าจะเป็นพระที่หล่อด้วยเนื้อโลหะตะกั่วแต่ก็มีหน้าตาหูปากจมูก ไรพระศกหรือกระจังหน้าให้เห็น รูปทรงของเศียรเป็นทรงหม้อตาล คางค่อนข้างใหญ่เค้าหน้าคล้ายไปทางพระรอดพิมพ์กลาง บางคนจะเรียกหน้าแบบนี้ว่า “หน้าแบบทวา”หมายความว่าเหมือนหน้าคนโบราณ การห่มจีวรเป็นลักษณะของการห่มดอง จะเห็นร่องจีวรบนหน้าอกตกเป็นลักษณะตกท้องช้าง เช่นเดียวกับพระรอดพิมพ์ต้อที่เป็นเนื้อดินเผา ลวดลายประดับโดยรอบก็เป็นแบบเดียวกัน มีโพธิ์คู่อยู่เพียงคู่เดียวตรงเกือบมุมบนของข้างเศียรทางด้านขวาขององค์พระ ที่เป็นจุดสังเกตุของพระรอดพิมพ์นี้ จะเห็นสะดือเป็นหลุมคล้ายเบ้าขนมครก ตำแหน่งของโพธิ์ประดับโดยรอบเป็นแบบเดียวกับพระเนื้อดินเผา แต่ลวดลายและรายละเอียดของพระเนื้อดินเผาจะคมชัดกว่า ด้านหลังแบนราบแต่จะเป็นแอ่งตรงกลางอันเกิดจากการหล่อพิมพ์น้ำหนักของโลหะจะถ่วงลง ด้านล่างจึงทำให้เกิดเป็นแอ่งลงไป เกือบทุกองค์ การหล่อพระพิมพ์ต้อเนื้อตะกั่วนี้มีความเรียบร้อยดี พระที่ได้จึงมีความสมบูรณ์และงดงามเกือบทุกองค์ ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะ เริ่มจะมีความชำนาญเกิดขึ้น ขนาดของค์พระเป็นมาตรฐานเท่ากับพระรอดพิมพ์ต้อที่เป็นเนื้อดินเผาองค์จริง คือมีขนาดกว้าง 1 1/4ซ.ม สูง 2 1/4 ซ.ม หนา 3/4 ซ.ม น้ำหนัก 10 กรัม ขุดได้บริเวณสวนร้างหลังวัด ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเจดีย์เก่าแก่ของวัดมหาวันลำพูนที่หักพังลงในกาลก่อน

ภาพที่ 2 เป็นพระรอดพิมพ์ต้อเนื้อตะกั่วสีเทาดำที่มีคราบกรุบางๆติดอยู่ พระอยู่ในสภาพเดิมๆไม่ถูกล้างหรือเอาคราบกรุออกจากผิวและไม่ได้รับการจับต้องจากผู้ใด องค์พระงามเรียบร้อยทุกอย่างทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พระรอดพิมพ์ต้อนี้ นักเลงพระรุ่นเก่าเขาจะให้ความชื่นชมและนิยมกันเป็นอย่างมาก เขาบอกว่ามีเศียรใหญ่หรือหัวโตแบบพระสมัยทวารวดี ซึ่งมีความเก่าและดูขลังมาก อกมองดูเอิบอิ่ม มีเส้นแบ่งช่วงของเต้านมด้านขวาเป็นเหมือนรอยบุบเป็นขอบจีวรลงไปถึงใต้รักแร้ ยังมีจุดสังเกตุอีกหลายจุด ที่เราจะ ต้องพิจารณาดูอีกต่อไป ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. สูง 2 1/4 ซ.ม หนา 3/4 ซ.ม. มาตรฐานเท่ากับองค์จริงที่เป็นเนื้อดิน น้ำหนัก 10 กรัม

ภาพที่ 3 พระรอดพิมพ์ต้อเนื้อโลหะตะกั่วองค์นี้มีคราบกรุของดินสีชมพูแดงติดอยู่ ความงามและความชัดเจนของพิมพ์นั้นเต็มร้อย ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พื้นผนังของพระรอดพิมพ์ต้อนี้จะต้องมีลักษณะเทลาดเอียงจากองค์พระลงไปหาขอบที่มีกลุ่มโพธิ์ประดับโดยรอบ ซึ่งเป็นโพธิ์แถวเดียวเท่านั้น อันเป็นลักษณะเฉพาะของพระรอดพิมพ์นี้เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากพิมพ์อื่น สำหรับกลุ่มโพธิ์นั้นแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มเช่นกับพระรอดพิมพ์อื่นๆให้สังเกตุและเปรียบเทียบดู ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. หนัก 10 กรัม

ภาพที 4 พระรอดพิมพ์ต้อเนื้อโลหะตะกั่ว พระรอดพิมพ์ต้อนี้แตกต่างกับพระรอดพิมพ์อื่นๆ มีรูปแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวและมีความแตกต่างแตกต่างบางอย่างจากพิมพ์อื่นๆอย่างเห็นได้ชัด องค์พระมีเศียรที่ดูใหญ่คล้ายกับเศียรพระสมัยทวารวดี มีลำตัวที่อวบอ้วน และล่ำต้อ เป็นที่นิยมของนักสะสมรุ่นเก่าเป็นอย่างมากด้วย ขนาดที่กระทัดรัดเหมาะแก่การใส่ตลับทองขึ้นคอ อีกทั้งมีองค์ประกอบของพุทธศิลป์ที่มีความงดงามสมบูรณ์แบบอย่างน่าเลื่อมใสแฝงอยู่ในองค์พระนี้อย่างน่าอัศจรรย์ ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. น้ำหนัก 10 กรัม

ภาพที่ 5 พระรอดพิมพ์ต้ออีกองค์หนึ่ง ที่งามเรียบร้อยสมอายุ มีความเก่าอยู่ในตัวด้วยสีสันและเนื้อหาเป็นพระเนื้อโลหะสีเทาดำที่มองดูเข้มขลัง น่าเก็บสะสมบูชายิ่ง ไม่มีคราบกรุหรือขี้กรุติดอยู่ทั้งด้านหน้าและหลัง
พระรอดพิมพ์ต้อเนื้อโลหะนี้มีพุทธคุณสูงส่งเช่นเดียวกับพระรอดเนื้อดินทุกประการ ซึ่งท่านไม่ควรมองข้ามเพราะเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของมาแล้ว ไม่มีพบเห็นในสนามหรือในที่แห่งอื่น จึงได้นำเสนอให้ท่านได้เห็นในที่นี้อย่างเต็มตา
ขุดพบในสวนร้างหลังวัดมหาวันลำพูน ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 1/2 ซ.ม. น้ำหนัก 10 กรัม

ภาพที่ 6 พระรอดทุกพิมพ์ทุกเนื้อนั้น มีพระพุทธคุณเหมือนกันหมด ในเรื่องเมตตามหานิยมแคล้วคลาดอยู่รอดปลอดภัย เป็นพระที่มีเสน่ห์และมนต์ขลังสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของ ปัจจุบันพระรอดแท้ๆทุกพิมพ์เป็นของหาพบยากมากไม่ว่าจะเป็นพระรอดเนื้อโลหะหรือพระรอดเนื้อดิน เป็นความโชคดีที่ผู้เขียนได้เก็บพระรอดและพระต่างๆในชุดสกุลลำพูนที่เป็นพระเนื้อโลหะเอาไว้ จึงได้นำออกเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจได้รับรู้และได้ศึกษากัน
พระรอดพิมพ์ต้อในภาพที่ 6 นี้ก็เป็นพระรอดเนื้อโลหะอีกองค์หนึ่ง ที่มีสภาพงามสมบูรณ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พระรอดองค์นี้จะมีเนื้อเกินตรงใต้ฐานและมีความหนาเป็นพิเศษ น้ำหนักจึงมากกว่าองค์อื่นคือหนัก 15 กรัม กว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 3/4 ซ.ม สูง 2 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 7 เป็นพระรอดพิมพ็ต้อเนื้อโลหะที่มีปีกหรือเนื้อเกินยื่นออกมาเล็กน้อย ตรงส่วนด้านข้างทางด้านขวาขององค์พระ การมีปีกยืนออกมานี้นักนิยมพระถือกันว่าเป็นเรื่องดี เพราะถือเคล็ดที่ว่ามีเหลือกินเหลือใช้ แต่บางคนกลับถือไปว่าไม่สวยนำไปตัดหรือเจียร์ออกเหลือส่วนที่เป็นองค์พระจริงๆทำให้องค์พระต้องมีตำหนิซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง พระรอดองค์นี้มีน้ำหนัก 15 กรัม กว้าง 1 1/2 ซ.ม หนา 3/4 ซ.ม. สูง 2 1/4 ซ.ม.

ภาพที่ 8 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์ต้อที่มีฐานเอียงเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นธรรมดาของการหล่อพระด้วยพิมพ์ ที่ถือว่าเป็นงานหัตถกรรมอย่างหนึ่ง สำหรับกลุ่มโพธิ์ของพระรอดเนื้อโลหะนั้นเป็นแบบเดียวกับกลุ่มโพธิ์ของพระรอดเนื้อดินทุกประการ กลุ่มโพธิ์แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มให้ลองแยกแยะพิจารณาดู ส่วนอื่นๆและรายละเอียดขององค์นั้นสมบูรณ์เต็มร้อย ขนาดกว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม. สูง 2 ซ.ม. น้ำหนัก 10 กรัม

ภาพที่ 9 พระรอดพิมพ์ต้อสีเทาที่มีคราบกรุสีชมพูแดงติดอยู่ตามซอกต่างๆ พระรอดองค์นี้มีปีกหรือเนื้อเกินตรงขอบบนลงมาถึงขอบตรงไหล่ขวาขององค์พระ มองดูงามไปอีกแบบหนึ่ง พิจารณาดูเนื้อด้วยกล้องขยายเป็นเนื้อเก่าแท้แน่นอน องค์พระมีหน้าตาและขอบกระจังหน้าที่ชัดเจนดี ซอกแขนตื้นไม่ลึกมาก เป็นจุดสังเกตุอีกจุดหนึ่งสัดส่วนต่างๆมองดูเหมาะเจาะและถูกต้องทุกประการจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการตัดสินถ้าหากจะมีการประกวด น้ำหนัก 15 กรัม กว้าง 1 1/2 ซ.ม. สูง 2 1/4 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 10 พระรอดพิม์ต้อสีเทาอ่อนคราบกรุสีชมพูอ่อนติดอยู่ตามซอกต่างๆอย่างแน่นหนา แต่ก็มองเห็นความสมบูรณ์ในองค์พระได้ว่า ไม่หักบิ่นหรือชำรุดในส่วนใด เรียกได้ว่าฟอร์มพระนั้นดีเยี่ยมองค์หนึ่ง พระรอดพิมพ์ต้อองค์นี้งามเรียบร้อยมีการตัดขอบดี ไม่มีส่วนเกินในส่วนใดให้เห็น ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัยได้สัดส่วน องค์พระดูเด่นเป็นสง่าสมอายุและศิลปะที่มีการยอมรับกัน น้ำหนัก 15 กรัม กว้าง 1 1/4 ซ.ม. หนา 1/2ซ.ม. สูง 2 1/4 ซ.ม.


ภาพที่ 11พระรอดพิมพ์ต้อเนื้อโลหะสีเทาดำที่เข้มขลัง ที่มีด้านหลังราบเรียบและเนื้อหาที่ดูเรียบร้อยมีความคมชัดในลวดลายต่างๆที่สมบูรณ์แบบ มีเนื้อเกินนิดๆให้เห็นตรงด้านข้างของขอบด้านบนทางขวา องค์พระมีความหนาบางที่พอดีพองาม ส่วนฐานของพระรอดพิมพ์ต้อนี้เป็นแบบฐานสามชั้น ไม่มีฐานดากหรือเนื้อเกินใต้ฐาน ฐานชั้นแรกเป็นเส้นหนากว้างใหญ่กว่าอีกสองฐาน ฐานชั้นที่สองและสามเส้นเล็กกว่า มีขนาดโตเท่ากัน อยู่ห่างกันเล็กน้อย วางเรียงกันในแนวขนานเป็นหน้ากระดาน น้ำหนัก 10 กรัม สูง 2 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม. หนา 1/2ซ.ม.

ภาพที่ 12 พระรอดพิมพ์ต้อเนื้อโลหะเทาดำที่เข้มขลังอีกองค์หนึ่งที่มองดูแล้วเกิดความประทับใจและเชื่อมั่นในพระพุทธคุณอันสูงที่มีอยู่ องค์พระนี้มีคราบกรุสีแดงติดอยู่ทางไหล่ซ้ายลงมาเป็นคราบจากกรุเดิมๆ ไม่ล้างออกเพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงของพระจากกรุนั้นเป็นอย่างไร มีหน้าตาและจุดสังเกตุต่างๆชัดเจนดีมาก สะดือเป็นเบ้าแบบเบ้าขนมครกประทับนั่งอย่างเป็นสง่ามองดูกระทัดรัดและงดงามยิ่ง ผิวพระมีความเก่าแก่อยู่ในตัวชนิดที่จะปฏิเสธไม่ได้รวมทั้งพระพุทธคุณทุกประการที่มีเหมือนกับพระรอดเนื้อดินที่ได้รับความนิยมทุกพิมพ์ ท่านคงจะได้ชมภาพพระรอดเนื้อโลหะกันอย่างจุใจและเต็มอิ่ม ขนาดขององค์พระมีความกว้าง 1 1/2 ซ.ม. หนา 1/2 ซ.ม. สูง 2 ซ.ม. น้ำหนัก 10 กรัม
พระรอดเนื้อโลหะพิมพ์ต้อที่ท่านได้ชมทั้งหมดนี้เป็นพระรอดที่ขุดได้ในสวนร้างหลังวัดมหาวันเมื่อปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเวลานั้นท่านเจ้าคุณพระญาณมงคลเจ้าอาวาสมหาวันและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดลำพูนท่านป่วยหนักจึงไม่ได้ทราบเรื่องนี้ และทุกอย่างก็เก็บเงียบ พระเนื้อโลหะที่ขุดได้เป็นแบบเฉพาะของพระกรุเมืองลำพูนซึ่งมีความแตกต่างกับพระเนื้อโลหะของเมืองพะเยา ที่ทำเป็นเนื้อโลหะสนิมเขียวที่ผู้เขียนได้เคยพบเห็นเมื่อครั้งยังหนุ่มแน่น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันทั้งเนื้อและพิมพ์ทรงแล้วตัดสินได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด พระรอดเนื้อโลหะชุดพระสกุลลำพูนที่ขุดได้ในครั้งนั้นมีครบทุกพิมพ์แม้กระทั่งพระรอดแขนติ่งที่บางท่านบอกว่าเป็นพระยุคหลังก็ขุดพบในที่แห่งนี้ อันเป็นการพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า พระรอดแขนติ่งนั้นเป็นพระกรุแท้ ไม่ใช่พระที่เกจิรุ่นหลังสร้างขึ้น ผู้เขียนจะได้เขียนเรื่องราวต่างๆเป็นเรื่องๆทั้งในรายละเอียดของที่มาที่ไปสำหรับการเรียนรู้และประโยชน์ในวันข้างหน้า ขอให้ท่านได้ติดตาม

“การเรียนรู้ในสิ่งต่างๆนั้น ไม่มีวันที่จะจบสิ้น ว่าแต่เราจะสนใจและทุ่มเทกับสิ่งนั้นหรือไม่”.