“พระเครื่องในพระชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะและเนื้อดินเผา” ตอนที่ 4 โดยสำราญ กาญจนคูหา

“จะยากหรือง่าย ก็ต้องทำให้ลุล่วง ชีวิตคนก็เป็นเช่นนี้แหล่ะ”

แต่ก่อนนั้น “พระรอดวัดมหาวันลำพูน พิมพ์กลาง”ถือกันว่าเป็นพระรอดพิมพ์ที่ดูยากที่สุด เพราะมีปรากฏให้พบเห็นกันน้อย แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เป็นเพราะมีผู้ที่ให้ความรู้ และมีเทคโนโลยี่สมัยใหม่ออกเผยแพร่ให้ได้เห็นและเข้าใจในพุทธศิลป์ของพระรอดพิมพ์กลางได้อย่างจะแจ้งชัดเจน แต่ก็ใช่ว่าจะมีพระรอดพิมพ์กลางให้เห็นบ่อยมากมายอย่างล้นเหลือ เป็นเพียงแค่ให้ได้รู้และเข้าใจว่าพระกรุแท้ที่มีอายุพันกว่าปีพิมพ์นี้มีรูปลักษณ์เช่นไร พระรอดพิมพ์กลางนั้นถือได้ว่า เป็นพระที่มีความลงตัวในทุกอย่าง องค์ประกอบของลวดลายต่างๆสมบูรณ์แบบอย่างพร้อมมูล รูปลักษณะที่อวบอ้วนสมส่วนในทีท่า ความลงตัวและงดงามขององค์ประกอบแห่งศิลปะชั้นสูง ตลอดจนพลังเร้นลับในพระพุทธคุณที่บริสุทธิ์เพิ่มทำให้องค์พระดูมีสง่าอย่างน่าอัศจรรย์ยามเพ่งพิศมองดู ลักษณะของเศียรของพระรอดพิมพ์นี้จะโตเป็นเศียรแบบทวารวดี รูปร่างอวบอ้วนอันหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ในทุกอย่างของเมืองหริภุญไชยในครั้งกระโน้น ศิลปะเป็นตัวที่ชี้นำสื่อความหมายให้ได้เห็นเป็นเช่นดังว่านี้ พระรอดพิมพ์กลางที่ขุดได้ขึ้นมานั้นมีหลายบล๊อก เช่นเดียวกันกับพระรอดพิมพ์อื่นๆ ว่าแต่ใครจะนิยมหรือยอมรับในพระรอดบล๊อกใดเท่านั้น
สำหรับผู้เขียนจะเริ่มต้นที่นับเอาความเก่าแก่ของเนื้อดิน รวมทั้งคราบกรุ ขี้กรุและที่มาที่ไปขององค์พระมาก่อน ถ้ามีความเก่าแก่ของเนื้อที่ทำขึ้นไม่ได้ คราบกรุขี้กรุเป็นองค์ประกอบ ตลอดจนที่ไปที่มาดีแล้วจึงจะมาดูพิมพ์ทรงจุดสังเกตุและตำหนิพิมพ์ต่างๆ ไล่ไปทีละจุดทั้งด้านหน้าด้านหลังตลอดทั่วทั้งองค์พระ พยายามหาจุดที่เป็นพิรุธให้ได้ว่ามีการซ่อมเสริมหรือเติมแต่งณจุดตรงไหน เรียกได้ว่าต้องมีความละเอียดและพยายามเอาอย่างมากๆเลยทีเดียว นี่คือหลักใหญ่ๆของการจะเล่นหรือศึกษาพระกรุต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นของง่ายดังแค่คิด แต่อยากจะรู้ก็ต้องศึกษาเอาให้ได้ พระรอดพิมพ์กลางนั้นมีทั้งเนื้อโลหะและเนื้อดินเผา จึงได้นำมาบันทึกไว้เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับวันข้างหน้าต่อไป หากท่านมีข้อมูลใหม่เช่นใดก็โปรดได้ชี้แนะด้วย เพื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการศึกษาพระกรุสกุลลำพูนอันสำคํญของประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่นับวันก็จะเลือนหายไป ถ้าหากไม่เก็บข้อมูลบันทึกเอาไว้ในวันนี้

ภาพที่ 1 พระรอดพิมพ์กลางวัดมหาวันลำพูนเนื้อโลหะตะกั่วสีเทาเงิน พระรอดองค์นี้มีหน้าตาให้เห็นอย่างชัดเจน พระรอดพิมพ์กลางประกอบไปด้วยฐานประทับนั่งสามชั้น ชั้นล่างสุดนั้นจะมีความหนากว่าอีกสองชั้นให้สังเกตุดู ชั้นตรงกลางของฐานประทับจะเป็นชั้นที่เล็กที่สุด ส่วนชั้นบนที่เหลือจะเป็นขนาดกลางไม่ใหญ่และเล็กจนเกินงาม ใต้ฐานตรงแอ่งกระทะที่ขาทั้งสองขัดกันจะมีเส้นผ้าทิพย์หรือภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “ผ้าปูนั่ง”ปรากฎอยู่ให้เห็นเป็นลักษณะของขีดเล็กๆเท่าเส้นผม เส้นผ้าทิพย์นี้จะอยู่ในจุดที่พอดีไม่สูงหรือต่ำจนเกินงามและจะอยู่ ค่อนไปทางซ้ายขององค์พระ องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยอย่างสง่า อกผายไหล่ผึ่งไม่โอนเอนเอียงหรืออ่อนไหวในทีท่าของการผจญสู้กับมารและภัยพาลทั้งปวง เป็นพุทธปฏิมาองค์เล็กๆเท่าปลายนิ้วที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นใจได้เป็นอย่างดี สะดือเป็นเบ้าขนมครกไม่ลึกจนเกินงาม สังฆาฏิที่พาดผ่านตรงร่องอกเป็นลักษณะแบบตกท้องช้างดูเรียบร้อยไม่เป็นเส้นขีดที่แข็งทื่อเหมือนกับของปลอมที่ทำขึ้นมาอย่างไร้จิตวิญญาณ ในซอกแขนขวาจะมีปลายเส้นสังฆาฏิพาดผ่านไปยังริมแขนขวาสองเส้น เป็นเส้นเล็กๆ ใต้คางจะมีเส้นที่เรียกกันว่าเส้นเอ็นคอปรากฎให้เห็น เส้นเล็กดังกล่าวเป็นเส้นสำคัญที่จะต้องมีในพระรอดพิมพ์กลางนี้ทุกองค์ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์นิยมหรือพิมพ์บล๊อกอื่นที่ไม่สวยงามนักก็ตาม จึงจะถือได้ว่าถูกพิมพ์ พระรอดองค์นี้ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 1/2ซม. หนา 1 ซม. น้ำหนัก 20 กรัม

ภาพที่ 2 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินที่แก่ว่านเรียกได้ว่าเป็นพระรอดเนื้อจัด ท่านลองขยายภาพให้ใหญ่จะเห็นสภาพของเนื้อพระได้เป็นอย่างที่ผู้เขียนว่าไว้จริงๆ จะเห็นราดำขึ้นพราวทั้งองค์พระ เนื้อหาของพระรอดพิมพ์กลางองค์นี้จะดูนวลเนียนหนึกนุ่มเป็นอย่างยิ่ง ตำหนิพิมพ์ต่างๆมีอยู่พร้อมในองค์พระ ให้ท่านไล่เลียงดูเพื่อหาความชำนาญและดูอย่างถูกต้องจะดิและเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับความรู้ในการดูพระกรุที่เป็นของแท้ๆว่ามีความใกล้เคียงและแตกต่างกันกับของปลอมอย่างไร ฐานของพระรอดพิมพ์กลางนั้นส่วนใหญ่จะมีก้นยื่นออกไปที่เรียกกันว่า”ฐานแบบก้นแมลงสาป “อันถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของพระรอดพิมพ์นี้ ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูนประมาณเมื่อสามสิบปีก่อนขนาดกว้าง 1 1/2ซ.ม สูง 2 1/2ซ.ม หนา 1 ซม. ด้านหลังจะดูนูนหนา

ภาพที่ 3 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อโลหะตะกั่วสีเทาดำ พระรอดองค์นี้ปรากฎมีสนิมแดงติดอยู่ทางขอบบนซ้ายขององค์พระ คราบกรุที่เป็นไขขาวติดอยู่ทั่วองค์ ด้านหลังจะแบนราบไม่นูนหนาเป็นธรรมชาติของพระรอดเนื้อโลหะที่น้ำหนักของโลหะจะถ่วงลงไปทางด้านหน้าตอนเทพิมพ์ของการหล่อแบบโบราณขุดพบในวัดมหาวันลำพูน กว้าง 1 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 3 ซม. น้ำหนัก 20 กรัม

ภาพที่ 4 พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินสีพิกุลอมชมพู เนื้อขององค์พระแบบนี้จะเป็นที่นิยมของคนในวงการและยอมรับนับถือว่าเป็นเนื้อของพระรอดลำพูนที่งามซึ้งที่สุด องค์ประกอบต่างๆในพระรอดพิมพ์กลางองค์นี้สมบูรณ์ แบบเป็นที่สุด ทั้งหน้าตารูปร่าง จุดสังเกตุจุดลับ ตลอดจนตำแหน่งของกลุ่มโพธิ์ที่ประดับโดยรอบขององค์พระมีความคมชัดเจนอยู่อย่างพร้อมมูลไม่มีขาดมีเกินในส่วนใดๆทั้งสิ้น ที่น่าสังเกตุและจำเอาไว้ก็คือ”ก้นยื่น”อีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับพระรอดพิมพ์กลางที่หมายความถึง “กิ๋นบ่ะเสี้ยง” คือกินไม่มีวันหมดของคำบ่ะเก่าของจาวบ้านเฮาเมืองหละปูนนั่นเอง พระรอดองค์นี้ขุดได้ภายในวัดมหาวันขนาดกว้าง 1 ซม. หนา 1 ซม. สูง 2 1/2 ซม.

ภาพที่ 5 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์กลางเนื้อโลหะสีเทาดำที่มีคราบไขเป็นสีขาวที่รักษาไว้ในสภาพเดิมๆ ไม่ได้ล้างเอาคราบเก่าๆออก เพื่อให้ได้เห็นคราบที่ติดอยู่กับองค์พระที่แท้เป็นเช่นใด ด้านหลังของพระรอดพิมพ์กลางองค์นี้ราบเรียบดูง่ายองค์หนึ่งขุดได้ในวัดมหาวันลำพูนกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 3 ซม. กว้าง 3/4 ซม. น้ำหนัก 20 กรัม

ภาพที่ 6พระรอดพิมพ์กลางเนื้อดินเผาที่แก่ว่าน มีเนื้อที่ดูเหี่ยวย่นคล้ายกับผิวของคนแก่เป็นพระรอดพิมพ์กลางสีชมพูแดง ขยายภาพใหญ่จะเห็นเนื้อที่เต็มไปด้วยราดำขึ้นเป็นจุดๆและมองเห็นความเหี่ยวย่นของเนื้อพระได้เป็นอย่างดี จุดลับและจุดสังเกตุมีอยู่ในองค์พระพร้อมทุกอย่าง พระรอดพิมพ์กลางองค์นี้เป็นแบบก้นตัด ซึ่งก็เป็นอีกบล๊อกหนึ่งที่ควรจะจำเอาไว้ ที่สำคัญก็คือเนื้อหาและจุดสังเกตุจุดตายของพระรอดพิมพ์นี้นั่นเอง ขุดได้ภายในวัดมหาวันลำพูน กว้าง 1 1/2 ซม. สูง 3 ซม. หนา 1 1/4 ซม.


ภาพที่ 7 เป็นพระรอดพิมพ์กลางที่เป็นแบบแผ่นลายดุนนูนเนื้อทองจังโกฏิ์ แบบเดียวกับแผ่นทองที่ตีแผ่ออกมาบาง พอประมาณ สามารถขึ้นรูปเป็นลายดุนนูนต่างๆ เพื่อนำไปประดับโอบรอบเจดีย์โบราณอันเก่าแก่หรือบุภายในขององค์เจดีย์ด้วยใจศรัทธาที่มีอยู่ทั่วไปทางภาคเหนืออย่างสวยงามและทรงคุณค่าทางจิตใจอย่างสูงส่ง เป็นการถือว่าได้ให้ความเคารพในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างสูงสุดด้วยใจมั่นอย่างแท้จริง เนื้อโลหะของพระรอดพิมพ์กลางองค์นี้มีความเก่าอยู่ในองค์เต็มร้อย พระรอดแผ่นทองนี้ปรากฎมีหลายพิมพ์และเป็นพระโลหะหลายเนื้อ วิธีการทำนั้นคงไม่ยุ่งยากมากนักโดยการนำแผ่นโลหะที่ต้องการ มาตีแผ่ให้บางๆพอประมาณ แล้วนำไปกดทับกับองค์พระแล้วพิมพ์ลายดุนนูนของรูปลักษณ์องค์พระโดยการต้องแต่งตีเบาๆ ขึ้นรูปจนได้ที่มีความคมชัดตามต้องการแล้วจึงทำการตัดออกมาเป็นองค์ๆไว้ถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยใจที่มุ่งมั่น เป็นพระสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง พระรอดแผ่นทององค์นี้ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูนมีขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 1/2 ซม.

ภาพที่ 8 เป็นพระรอดพิมพ์กลางที่เป็นเนื้อดินเผา รูปร่างดูชลูดผอมยาว แต่มีความเก่าแก่ของเนื้อเดิมๆที่ไม่ได้รับการแตะต้อง ให้องค์พระได้ช้ำ เพราะการจับถือ เป็นพระรอดที่อยู่ในหม้อพร้อมๆกับพระรอดพิมพ์ใหญ่ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในภาพที่ 8 ของเรื่อง“พระเครื่องชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะ ตอนที่ 2” เป็นพระรอดพิมพ์กลางอีกบล๊อกหนึ่งที่ไม่มีปรากฎให้เห็นทั่วไป จุดสังเกตุต่างๆตลอดจนฐานประทับเส้นสายรายละเอียดต่างๆฟ้องอยู่ในตัวว่าเป็นพระรอดพิมพ์กลางอย่างถูกต้องครบถ้วน คราบกรุราดำติดอย่างบางๆพอสังเกตุเห็น ด้านหลังเรียบ ก้นพับมาทางด้านหน้าอย่างเรียบร้อย องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยอย่างสง่า ขนาดกว้าง 1 1/4 ซม. หนา 3/4 ซม.สูง 2 1/2 ซม. ขุดได้ตรงบริเวณหน้าวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 9 พระรอดแผ่นทองลายดุนนูนอีกองค์หนึ่ง ที่มีส่วนผสมของเนื้อโลหะที่เป็นทองแดง จึงมีสีคล้ำและดูเข้ม ขลังไปอีกแบบหนึ่ง เป็นแบบพระรอดพิมพ์กลาง เนื้อของพระแผ่นทองแดงองค์นี้มีความเก่าอยู่ในองค์พระที่ฟ้องให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน กว้าง1 3/4 ซม. สูง 3 ซม.

ภาพที่ 10 เป็นภาพของพระรอดแผ่นทองคำผสม มีความเก่าอยู่ในตัว เป็นพระรอดพิมพ์ต้อ จึงดูเป็นพระรอดขนาดย่อมกว่าพระรอดในพิมพ์อื่นๆ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 1/2 ซม. ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 11 เป็นพระแผ่นเนื้อโลหะพิมพ์ต้ออีกองค์หนึ่ง นำมาเปรียบเทียบกันว่าพระรอดที่ทำเป็นแผ่นลายดุนนูนนั้นมีหลากหลายอย่างและหลายสี จะได้ไม่สับสนหรือเป็นปัญหา ในวันข้างหน้า ขนาดพระรอดองค์นี้ กว้าง 1 1/2ซ.ม สูง 2ซ.ม ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 12 เป็นพระแผ่นพิมพ์ใหญ่เนื้อเงิน ที่ขาววาววะวับ จับนัยน์ตา พิมพ์ทรงและตำหนิพร้อมจุดสังเกตุต่างๆถูกต้องทุกอย่าง เมื่อนำมาไล่เลียงดู พระแผ่นเนื้อโลหะที่เป็นสีขาวนี้มีปรากฎให้เห็นเพียงองค์เดียวเท่านั้นไม่พบองค์อื่นเลยขนาดกว้าง 1 1/4 ซม. สูง 2 1/2 ซม. ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน

ภาพที่13 เป็นภาพของพระรอดเนื้อโลหะตะกั่วผสมแก่ทองสีดอกบวบที่มีความงดงามของพิมพ์ทรงของพระรอดพิมพ์ต้อโดยแท้ องค์พระไม่ถูกตัดแต่งเอาส่วนใดออกมา มีคราบไขขาวบางๆติดอยู่เท่านั้น พระรอดพิมพ์ต้อนั้นมีจุดสังเกตุที่สำคัญคือ องค์พระจะต้อล่ำเป็นแบบมะขามข้อเดียว เศียรใหญ่คล้ายกับเศียรของพระสมัยทวารวดี ลวดลายของโพธิ์ประดับ จะมีโพธิ คู่อยู่คู่เดียวประดับอยู่ตรงด้านบนเหนือเศียรทางขวาขององค์พระเท่านั้น รูปร่างค่อนไปทางอวบอ้วน มีความงามและสง่าอยู่ในที พุทธคุณสุดยอดทางนิรันตรายแคล้วคลาดปลอดภัยเป็นพระรอดที่เต็มไปด้วยเมตตามหานิยม อันมีเสน่ห์ให้คนชื่นชอบและรักใคร่สิ่งเหล่านี้คือพุทธคุณอันแท้จริงของพระรอดทุกพิมพ์ที่ขึ้นในวัดมหาวัน เมืองลำพูน ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. น้ำหนัก 10 กรัม

ภาพที่ 14 พระรอดพิมพ์ต้อเนื้อดินเผาสีแดงอมชมพู ที่งดงามและมีความสมบูรณ์เป็นที่สุด มีหน้าตาหูปากจมูกให้ได้เห็นชัดเจน ตรงก้นฐานจะเว้าเข้าขึ้นไปทางด้านบนอันเกิดจากการยกออกจากพิมพ์ที่ค่อนข้างหนักมือ โพธิ์คู่ปรากฎให้เห็นเพียงคู่เดียวตรงเหนือเศียรด้านขวาขององค์พระ สะดือเป็นแบบเบ้าขนมครก สังฆาฏิลึกเป็นแบบตกท้องช้างดูเรียบร้อยงามตา เส้นผ้าทิพย์เป็นเส้นสั้นๆเล็กนิดเดียว หากไม่สังเกตุจะมองไม่เห็น คราบกรุติดอยู่บางเบาตามซอกต่างๆ ทำให้องค์พระดูงามซึ้ง ขนาดกว้าง 1 1/4 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง2 1/4ซม. ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน มีขนาดเล็กที่เรียกได้ว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” อย่างเต็มภาคภูมิ

ภาพที่ 15 พระรอดพิมพ์ต้อเนื้อโลหะสำริดตะกั่วสีเทาดำ ที่มีน้ำหนักเหมาะมือ สีสันของพระรอดพิมพ์ต้อเนื้อนี้ดู เข้ม ขลังอย่างเอาการมาก มีความงดงามและความคมชัดอย่างมีเสน่ห์เมื่อเราเพ่งพิศกันอย่างลึกๆและถี่ถ้วนเป็นพิเศษคราบกรุเดิมๆติดอยู่ทำให้องค์พระดูเด่นและงามอย่างน่าประหลาด องค์พระประทับนั่งอย่างสง่างามสมกับเป็นพระกรุที่สูงด้วยคุณค่าของเมืองลำพูน ขนาดไม่ใหญ่และเล็กจนเกินไป อาราธนาอัญเชิญติดตัวเพื่อการคุ้มครองรักษาก็ไม่มีปัญหา สีสันแบบนี้ถ้าเป็นสีของพระรอดเนื้อดินเผา นั้นเขาจะถือว่าเป็นสีที่สุดยอดคือสีเขียวหินครกอันถือกันว่ามีความขลังเป็นที่สุด ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน กว้าง 1 1/2 ซม. กว้าง 3/4 ซม. สูง 2 1/4 ซม. น้ำหนัก 15 กรัม

ภาพที่ 16 เป็นภาพพระรอดพิมพ์ต้อเนื้อดินเผาที่เป็นเนื้อแกร่งสีเนื้อ อมชมพู เป็นพระรอดพิมพ์ต้อขนาดเล็กที่มีความงดงามมีหน้าตาหูปากจมูกและจุดสังเกตุต่างๆงามพร้อมอยู่ในองค์พระที่มีขนาดเล็กจิ๋วแต่แจ๋ว เนื้อหาฟ้องให้เห็นถึงความเก่าแก่โดยแท้อย่างที่จะปฏิเสธไม่ได้ ขนาดกว้าง 1 ซม. หนา 1/2 ซม. สูง 2 ซม. ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 17 พระรอดพิมพ์ต้อองค์นี้เป็นเนื้อโลหะตะกั่วผสมทอง ในสภาพเดิมๆที่ไม่ตัดตกแต่งใดๆทั้งสิ้นจะเห็นเนื้อส่วนเกินเป็นปีกยื่นอยู่ตรงด้านข้างทางซ้ายและใต้ฐานขององค์พระ คราบสีดำของขี้เบ้าอันเกิดจากเปลวไฟที่ลามเลียผิวพระก็มีปรากฎให้เห็น รวมทั้งคราบกรุของดินก็มีให้เห็นติดอยู่ตามซอกต่างๆบางๆ ความเก่าแก่นั้นคงจะไม่ต้องบรรยายให้ยาวความ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าพระกรุของชุดสกุลลำพูนนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่เนื้อดินเผาแต่เพียงอย่างเดียว ที่ทำและสร้างขึ้นด้วยเนื้อโลหะหลายอย่างหลายชนิดก็มี เราจะติดตามและนำมาแสดงให้ได้รู้เห็นเป็นประจักษ์กันในพระกรุลำพูนชนิดอื่นต่อไป ขนาดพระรอดพิมพ์ต้อองค์นี้กว้าง 1 1/2 ซม. หนา 1 ซม. สูง 2 ซม. น้ำหนัก 10 กรัม ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 18 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์ตื้นที่ขุดได้ในวัดมหาวันอีกบล๊อกหนึ่ง มีลักษณะแบนราบและดูจะกว้างออกทางด้านข้าง ที่ไม่มีปรากฎในสนามพระหรือตามสิ่งพิมพ์ต่างๆ ท่านลองไล่เลียงและพิจารณาดูรูปลักษณะก็จะเห็นว่าเป็นแบบของพระรอดพิมพ์ตื้นที่ถูกต้องคือมีกลุ่มใบโพธิ์เป็นแบบแถวเดียว ไม่มีโพธิ์คู่ปรากฎให้เห็น องค์พระจะมีลักษณะตื้นไม่คมชัดหรือมีส่วนที่นูนหรือเว้าลึกมากนัก พอมองเห็นเป็นเลาๆ ประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานประทับสี่ชั้นเหมือนกับฐานประทับของพระรอดพิมพ์ใหญ่ ตรงส่วนเอวจะหายไปกับพื้นราบของท้องเป็นผืนแผ่นเดียวกัน ไม่ปรากฎสะดือ รูปร่างดูชลูด ลำแขนดูเล็กแต่ก็ได้สัดส่วนดีมีมิติ เนื้อดินดูเนียนและหนึกนุ่มสมกับพระกรุโบราณ ข้างหูซ้ายจะมีเส็นพิมพ์แตกที่เป็นขีดขวางเล็กๆมองเกือบไม่เห็น เป็นตำหนิพิมพ์ของพระรอดพิมพ์ตื้นบล๊อกนี้ พระรอดพิมพ์ตื้นองค์นี้นำมาบันทึกให้ท่านได้เห็น เพื่อไม่ให้เป็นพระรอดที่ถูกลืมจนต้องสูญหายไปจากวงการเลยทีเดียว ซึ่งผู้เขียนจะนำพระรอดบล๊อกต่างๆที่แปลกออกไปตามที่ผู้เขียนได้เก็บสะสมมานานแสนนานเพื่อแสดงให้เห็นพระรอดในแบบอื่นๆที่ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าเป็นพระกรุแท้แน่นอนอันเป็นการอนุรักษ์ของดีเอาไว้เพื่อการศึกษาที่น่าสนใจยิ่งต่อไป พระรอดพิมพ์ตื้นองค์นี้มีขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 1/2 ซม. หนา1 ซม. ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 19 เป็นพระรอดพิมพ์ตื้นอีกบล๊อกหนึ่งที่มองดูอวบอิ่มและให้ความรู้สึกในพุทธศิลป์ที่เรียบง่าย เป็นพระรอดพิมพ์ตื้นที่ดูงดงามเรียบร้อยทั้งเนื้อหาขององค์พระก็ดูเนียนเหมือนเนื้อเทียนจริงๆ คราบกรุติดอยู่ตามซอกมุมเล็กๆทั่วองค์พระ ด้านหลังอูมนูนเด่นคราบกรุหนา มีหน้าตาหูปากจมูกที่ดูจิ้มลิ้ม รอบองค์พระมีใบโพธิ์แถวเดียวไม่มีโพธิ์คู่อันเป็นแบบของพิมพ์ตื้นนี้โดยเฉพาะ องค์ประกอบของสัดส่วนต่างๆลงตัวอย่างสมบูรณ์ทุกประการโดยเฉพาะก้านโพธิ์ที่ดูอ่อนไหวไม่แข็งทื่อเหมือนกับพระรอดที่ทำกันขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่าไม่มีจิตวิญญาณ
ปรากฎให้รู้สึกได้ ท่านลองขยายภาพและพิจารณาเอาเองก็จะรู้ว่าเป็นเช่นไร พระรอดพิมพ์ตื้นนี้ชาวบ้านเขาจะเรียกกันว่า”พระรอดพิมพ์ใหญ่ตื้น”อันเป็นการเรียกแบบลักษณะนามตามภาษาชาวบ้านท้องถิ่นซึ่งก็ถูกต้องตามความเป็น จริง พระรอดองค์นี้ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 1 ซม. สูง 2 1/2 ซม. “ “อันความรู้ รู้กระจ่าง เพียงอย่างเดียว “
“แต่ให้เชี่ยวชาญเถิด จะเกิดผล” จากเรื่อง “พระอภัยมณีตอนฤาษีสอนสุดสาคร

ท่านผู้อ่านทุกท่านที่มีความสนใจในพระรอดของวัดมหาวันลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะสำริดตะกั่วโดยเฉพาะ “พระรอดพิมพ์ต้อ”สีเทาดำที่เข้มขลัง แบบเดียวกันกับพระรอดพิมพ์ต้อในภาพที่ 15 ข้างต้น ให้ขยายภาพดูเนื้อ จุดสังเกตุต่างๆและพิมพ์ทรง ก็พอจะเข้าใจว่าเป็นพระกรุที่เก่าจริงของวัดมหาวันลำพูน ที่มีพุทธคุณสูงเยี่ยม ยากที่จะหาได้ ในยุคปัจจุบัน

ผู้เขียนมีแบ่งปันให้เช่าบูชากัน สำหรับทุกท่านที่สนใจและต้องการอยากจะเป็นเจ้าของพระรอดของวัดมหาวันลำพูนแท้ๆที่เป็นพระกรุโบราณจริงๆไว้อาราธนาติดตัว ซึ่งไม่มีให้เห็นในสนามพระใดๆ เป็นพระรอดเก่าเก็บของผู้เขียนที่เก็บสะสมมาเป็นเวลานานหลายสิบปี พระรอดเนื้อโลหะนี้ เป็นพระรอดที่ขุดพบในวัดมหาวันลำพูนนานแสนนานมาแล้ว ซึ่งขณะนั้นผู้คนไม่สนใจที่จะเก็บสะสม เพราะเข้าใจผิดว่าพระเนื้อโลหะที่เป็นพระรอดไม่มีทำขึ้น จึงต้องรอเวลาและการประกาศตัว ว่าพระสกุลลำพูนทุกอย่างนั้นมีการสร้างด้วยเนื้อโลหะจริงๆ ดังที่นำมาเสนอให้ได้เรียนรู้ข้างต้น ผู้เขียนจะแบ่งปันให้เช่าสำหรับผู้ที่อยากจะได้เพียงท่านละหนึ่งองค์ในราคาองค์ละ “ห้าพันบาท” สนใจโทร.ติดต่อ 086-9184300 หรือ โทร 053-530148 นายสำราญ กาญจนคูหา ลำพูน รับรองไม่ผิดหวัง คุณจะได้พระกรุที่มีพุทธคุณสูงที่มั่นใจและ คุ้มค่า อย่างยากที่จะเสาะหาได้อีก.เพราะมีจำนวนที่หลงเหลือไม่มาก.