พระเครื่องในชุด”พระสกุลลำพูน”ที่เป็นเนื้อดินและเนื้อโลหะตอนที่ 3. โดยนายสำราญ กาญจนคูหา

“รู้อะไรไม่สู้ รู้วิชา รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี “

ภาพพระรอดต่อไปนี้คือเรื่องราวของพระรอดแขนติ่ง ที่มีทั้งเนื้อโลหะและเนื้อดินเผา พระรอดแขนติ่งเป็นพระรอดที่ถึงยุค เป็นหนึ่งในพระกรุชุดสกุลลำพูนรุ่นแรกๆที่ถูกค้นพบบริเวณของสถานที่ที่เป็นที่เจดีย์เก่ายุคแรกของวัดมหาวันโบราณได้ปลักหักพังลง และมีการขุดพบพระรอดพิมพ์นี้ในบริเวณของวัดมหาวันที่ได้นำเอาเศษอิฐกากปูนจากทรากเจดีย์และโบราณสถานนั้นๆมาทำการถมในที่ลุ่มต่างๆทั่วบริเวณวัด ดังจะเห็นได้จากการขุดพบพระรอดแขนติ่งที่ทำด้วยเนื้อโลหะอยู่ปะปนกันกับพระรอดพิมพ์ใหญ่ พระรอดพิมพ์กลาง พระรอดพิมพ์ตื้น พระรอดพิมพ์ต้อ และยังมีการขุดพบพระรอดแขนติ่งที่เป็นเนื้อดินรวมอยู่ด้วย หากจะนำเอาพระรอดแขนติ่งมาพิจารณาดูให้ลึกซึ้ง ก็จะเห็นเป็นพระรอดพิมพ์ที่สร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆไม่พิถีพิถันในเรื่องความสวยงามคมชัดมากนัก แต่หากจะมองดูอีกมุมมองหนึ่ง พระรอดแขนติ่งนั้นก็เป็นพระกรุที่มีเสน่ห์และมีมิติขององค์ประกอบแห่งศิลปะอย่างลงตัว ศิลปะเป็นแบบทวารวดีที่ไม่เหมือนจริงร้อยเปอร์เซนต์ เศียรใหญ่ เอวยาว มือเท้า ยาวใหญ่ไม่มีหน้าตา ลวดลายประดับเป็นไปแบบง่ายๆแต่เนื้อหา คราบกรุ ขี้กรุขององค์พระบ่งบอกถึงความเก่าแก่เต็มร้อยเป็นเนื้อที่มีส่วนผสมของเนื้อว่านร้อยแปดอย่างที่ ท่านเจ้าคุณพระญาณมงคลเจ้าอาวาสวัดมหาวันได้กล่าวถึง สำหรับพุทธคุณนั้น ก็เป็นเหมือนเช่นเดียวกับพระรอดพิมพ์นิยมต่างๆทั่วไปคือมีพุทธคุณสูง ทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด อยู่รอดปลอดภัย เป็นพระรอดพิมพ์หนึ่งที่น่าสนใจและควรจะเรียนรู้รับทราบเอาไว้ ผู้เขียนได้นำเอาพระรอดแขนติ่งไปเปรียบเทียบกับพระรอดกรุต้นลำไยหรือพระรอดน้ำต้นของคุณครูสันติ์ ตาบูรี คุณครูผู้เคยสอนวิชาพีชคณิตให้ผู้เขียน ณโรงเรียนจักรคำคณาทรลำพูนในปีพ.ศ 2501 ปรากฎว่าพระรอดกรุต้นลำไยที่ท่านทำขึ้นมานั้นมีเนื้อและรูปลักษณ์ใหม่กว่าพระรอดแขนติ่งอย่างเห็นได้ชัด แม้แต่พระรอดของครูบากองแก้วก็เช่นกันหากจะนำความเก่าแก่ของเนื้อพระรอดแขนติ่งนั้นมาเทียบเคียงก็จะมองเห็นว่าแตกต่างกันมากทั้ง ความหนึกนุ่มนวนเนียนของเนื้อ ความมีมิติ และความแปลกของรูปลักษณ์ ที่พระรอดพิมพ์นี้คงถูกสร้างขึ้นมาจากนามธรรมเป็นพลังความคิดแบบหนึ่งของช่างยุคโบราณ ที่มีจินตนาการอันเจิดจ้าอย่างฉับพลัน เป็นศิลปะไม่เหมือนจริงแบบเดียวกับศิลปะทวารวดี ให้ลองเพ่งพิศดูก็จะเกิดความรู้สึกเช่นนั้น ทำไมต้องมีจุดเนื้อติ่งข้างขวาของ ลำแขน เป็นจุดที่ชวนให้เกิดความพิศวงว่าทำไมต้องมีตรงนี้ นี่คือความน่าสนใจ พระรอดแขนติ่งมีหลายพิมพ์ และหลายบล๊อกความแตกต่างกันมีเพียงเล็กน้อยไม่ผิดเพี้ยนกันมาก ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาชี้แจงแสดงบอก ให้ได้เห็นทั้งที่เป็นเนื้อโลหะและเนื้อดินเผา


ภาพที่ 1 ของพระรอดแขนติ่งวัดมหาวันลำพูนนี้ เป็นพระรอดแขนติ่งเนื้อโลหะตะกั่วอาบปรอทสีขาวมันวะวับมีคราบกรุเป็นดินละเอียดผสมกับปูนขาวติดอยู่บางๆ ตรงแขนขวาจะเห็นเป็นเหมือนติ่งเนื้อ เป็นติ่งกลมๆยื่นออกมา ลำองค์ของพระรอดแขนติ่งจะดูยืดๆยาวๆ ประทับนั่งปางมารวิชัยบนแท่นประทับสามชั้น รอบๆองค์พระจะเห็นเป็นขอบลึกพองาม ประดับด้วยลวดลวยที่มองเห็นลางๆคล้ายลวดลายของพระรอดพิมพ์ต่างๆ พิจารณาองค์รวมชี้ชัดได้ว่าเป็นพระกรุที่มีเนื้อเก่าแท้แน่นอน ผู้เขียนเคยพบกับ “เสี่ยหย่ง”หรือคุณ”ณรงค์ วงศ์สวัสดิ์” เซียนพระรุ่นเก่า ที่พำนักอยู่บ้านหน้าศูนย์อุตสาหกรรมภาคเหนือเชียงใหม่ ท่านเล่าถึงประสบการณ์ของพระรอดแขนติ่งที่เกิดกับคนในครอบครัวของท่านว่ามีพุทธคุณแคล้วคลาด เมตตาสูง ผู้คนรักใคร่นิยม และได้เอาพระรอดแขนติ่งองค์สีแดงมาให้ผู้เขียนดูเพื่อศึกษาหาข้อมูล พระรอดแขนติ่งองค์ดังกล่าวมีเนื้อละเอียดนวลเนียนแบบเดียวกับ พระรอดพิมพ์นิยมซึ่งผู้เขียนยังจำได้ติดตาจนทุกวันนี้ พระรอดแขนติ่งเนื้อโลหะองค์ที่เห็นในภาพมีขนาดกว้าง 1 1/4 ซม. หนา 1/4 ซม. สูง 3 ซม. น้ำหนัก 15 กรัมขุดได้บริเวณเจดีย์เก่าแก่ของวัดมหาวันปลักหักพังลง


ภาพที่ 2 เป็นภาพของพระรอดแขนติ่งเนื้อดิน สีพิกุลที่มีก้นยื่นยาวออกมาคล้ายก้นของพระรอดพิมพ์กลางที่เรียกกันว่าแบบก้นแมงงสาป เป็นพระเนื้อเก่าคราบกรุยังติดอยู่กับองค์พระบางๆพองาม เนื้อดูหนึกนวลนุ่มตาไม่กระด้างเหมือนกับพระรอดที่ทำขึ้นมาใหม่ เศียรโต สังฆาฏิเป็นร่องลึกเห็นชัดเจน ลวดลายด้านข้างโดยรอบองค์พระพอมองเห็น เป็นลวดลายที่งามแบบธรรมชาติไม่แข็งทื่อ มองดูมีมิติและองค์ประกอบทางศิลปะอย่างไม่ขัดตา
พระกรุจะมีลักษณะเป็นเช่นนี้แหล่ะ พระรอดแขนติ่งองค์นี้ขุดได้ในบรืเวณวัด ปะปนกับพระชนิดต่างๆ ขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 1/2 ซม. หนา 1 ซม.


ภาพที่ 3เป็นพระรอดแขนติ่งเนื้อตะกั่วอาบปรอท ที่มีคราบกรุเป็นปูนขาวติดหนาพราวไปทั่วองค์พระ แต่ก็เห็นเป็นองค์อย่างชัดเจน พระชุดนี้การทำการหล่อองค์พระ ดูจะเรียบร้อยและมีความปราณีตขึ้นจึงเห็นเป็นองค์พระที่งามสมบูรณ์ดี ขุดได้ในเจดีย์เก่าของวัดมหาวันลำพูน กว้าง 1 ซม. สูง 2 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. น้ำหนัก 10 กรัม

ภาพที่ 4 พระรอดแขนติ่งเนื้อดินเผาเป็นพระแบบเนื้อกรุเก่าที่ผ่านการใช้ เพื่อนำติดตัวไปในที่ต่างๆ เนื้อของพระรอดแขนติ่งองค์นี้จึงดูหนึกนุ่มเนียนตาและมีความเก่าอยู่ในองค์อย่างเห็นได้ชัด เป็นพระรอดแขนติ่งสีมอยที่ไม่เสียหายหรือหักบิ่นในส่วนใด เรียกได้ว่าสมบูรณ์เต็มร้อย ขุดได้ในบริเวณวัดมหาวันที่ก่อนๆนั้นเป็นบริเวณที่ลุ่มมีน้ำขัง ได้มีการนำเอาเศษอิฐหัก กากปูนจาทกรากเจดีย์เก่าที่ปลักหักพัง นำเอามาถมในพื้นที่ลุ่มนั้น พระรอดและ พระชนิดต่างๆจึง ปะปนมากับทรากเศษอิฐกากปูน ภายหลังมีการขุดหาพระในวัดจึงได้พบพระต่างๆดังกล่าวขึ้นมา พระรอดแขนติ่งองค์นี้กว้าง 1 1/4ซ.ม สูง 21/2 ซ.ม หนา 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 5 ภาพพระรอดแขนติ่งเนื้อโลหะตะกั่วอาบปรอทที่มีสีออกทองๆเกือบทั่วองค์ เป็นพระเนื้อโลหะที่งามสะอาดตา ไม่มีคราบกรุหรือขี้กรุติดอยู่เลย การหล่อดูเรียบร้อย ไม่มีส่วนขาดส่วนเกินให้ได้มองเห็น องค์พระกว้าง1 1/2 ซม. สูง 2 1/2ซม. หนา 3/4 ซม. ขุดได้บริเวณวัดมหาวันลำพูน น้ำหนัก 15 กรัม

ภาพที่ 6 พระรอดแขนติ่งเนื้อดินสีชมพูแดงเป็นพระที่มีเนื้อดินที่นวลเนียนตามาก คราบกรุติดตามซอกมุมต่างๆ องค์พระดูยืดยาวอย่างน่าประหลาดในรูปลักษณ์ของศิลปะ เป็นพระที่มีขนาดใหญ่กว่าพระรอดแขนติ่งองค์อื่นๆมีขนาดกว้าง1 1/4 ซม. หนา 1 ซม. สูง 3 ซม. ขุดได้ในบริเวณของวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 7 พระรอดแขนติ่งเนื้อโลหะตะกั่วอาบปรอทขาวพราวทั่วองค์พระที่งามสมบูรณ์ดูเรียบร้อย มีคราบกรุเป็นปูนขาวติดอยู่โดยรอบแต่ก็ไม่ทำให้ความงามและความเก่าด้อยลงไป องค์พระเห็นชัดเจนดี ขนาดกว้าง 1 1/4 ซม. หนา 3/4 ซม. สูง 2 1/2 ซม. น้ำหนัก 15 กรัม

ภาพที่ 8 พระรอดแขนติ่งเนื้อพิกุลที่มีขนาดเล็กเพราะการหดตัวของเนื้อดินเมื่อถูกไฟเผา จึงมีเนื้อที่ดูแน่นเนื้อจะแกร่งกว่าพระเนื้ออ่อนโดยทั่วไป เป้นพระที่ผ่านการนำติดตัวไปเพื่อความป็นศิริมงคลแก่ตัวไปในที่ต่างๆซึ่งเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของพวกเราชาวพุทธที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอด องค์ดูตั้งตรงไม่บิดเบี้ยวเหมือนพระรอดแขนติ่งองค์อื่น ขนาดดูกระทัดรัดดีมากขุดได้ในบริเวณวัดมหาวันลำพูน กว้าง 1ซม. สูง 2 1/2ซม. หนา 3/4 ซม. เรื่องพุทธคุณหนึ่งไม่มีสองเป็นรองใคร

ภาพที่ 9 เป็นพระรอดพิมพ์ตื้นที่เป็นเนื้อโลหะตะกั่วสีเทาฟ้าที่ขุดพบพร้อมกับพระเนื้อโลหะพิมพ์ต่างๆ พระรอดพิมพ์ตื้นหรือบางทีชาวบ้านจะเรียกกันว่าพระรอดพิมพ์ใหญ่ตื้นนั้นมีอยู่หลายบล๊อก จะมีขนาดที่ดูใหญ่กว่าพิมพ์อื่นเล็กน้อย ที่เรียกกันว่า “พระรอดพิมพ์ตื้น”กันนั้นเป็นเพราะลวดลายต่างๆตลอดจนองค์พระไม่นูนเด่นหรือลึกเห็นชัดเจนเหมือนกับพระรอดทุกพิมพ์จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ ซึ่งเขาจะเรียกกันตามลักษณะนาม พระรอดพิมพ์ตื้นจะมีลวดลายของโพธิ์ประดับโดยรอบองค์พระเพียงแถวเดียว ไม่มีโพธิ์ที่อยู่คู่กันให้ได้เห็นแม้เพียงคู่เดียว องค์พระก็ดูตื้นไม่คมเด่นชัดเท่าที่ควร แต่ความเก่าของเนื้อและพุทธคุณอันสูงเด่นก็ไม่ทำให้เกิดความด้อย กลับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระรอดพิมพ์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากในความต้องการของคนเรา พระรอดเนื้อโลหะพิมพ์ตื้นองค์นี้มีขนาด กว้าง1 1/2ซ.ม หนา 1ซงม สูง3ซ.ม น้ำหนัก25กรัม ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 10 พระรอดพิมพ์ตื้นเนื้อดินละเอียด เป็นเนื้อแก่ว่านเพราะเห็นความนวลเนียนของเนื้อได้อย่างชัดเจน มีคราบกรุสีขาวนวลติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆบางๆ องค์พระดูมีขนาดใหญ่ เป็นพระรอดพิมพ์ตื้นอีกบล๊อกหนึ่งที่ไม่ปรากฎให้ได้พบเห็นกันบ่อยนัก ลวดลายประดับตลอดจนจุดสังเกตุต่างๆ มีให้ได้รู้ว่าเป็นพระรอดพิมพ์ตื้นแน่นอน ให้ท่านขยายดูในรายละเอียดขององค์พระก็จะรู้แน่ชัดว่าพระรอดองค์นี้มีเนื้อเก่าแท้แน่นอน ขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน กว้าง 1 1/2 ซม. สูง 3 ซม. หนา 1 ซม.

ภาพที่ 11 พระรอดพิทพ์ตื้นเนื้อโลหะแก่ทองคำ เป็นเนื้อทองสีดอกบวบ ที่งามสมบูรณ์ไปอีกแบบหนึ่ง คราบกรุเป็นคราบของปูนขาวติดอยู่บางๆทำให้องค์พระดูดีมีมิติและมีเสน่ห์ของความขลังปรากฎ ขนาดกว้าง1 1/4 ซม. หนา3/4 ซม. สูง2 1/2 ซม. ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน น้ำหนัก 10 กรัม

ภาพที่ 12 พระรอดพิมพ์ตื้นเนื้อดินเผาแก่ว่านสีชมพูแดง พระรอดพิมพ์ตื้นองค์นี้จัดได้ว่าอยู่ในสภาพเดิมๆ เพราะคราบกรุที่เป็นคราบปูนขาวยังติดอยู่เกือบทั้งองค์ จะเอาขี้กรุออกก็เพียงแค่ส่วนหน้าและตรงอกนิดหน่อย องค์พระสมบูรณ์ไม่หักบิ่นในส่วนใดขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน กว้าง 1 1/2 ซม. สูง2 1/2ซ.ม หนา 1ซ.ม เป็นพระรอดพิมพ์ตื้นแบบที่ไม่ปรากฎให้พบเห็นบ่อยนัก


ภาพที่ 13 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์ตื้นที่เป็นเนื้อโลหะตะกั่วผสมทองแดง ที่ดูงามแปลกไปอีกแบบหนึ่ง มีความชัดเจนว่าเป็นพระรอดพิมพ์ตื้นอย่างจะแจ้ง มีขนาดกว้าง1 1/2ซงม หนา 3/4 ซม. สูง 2 3/4 ซม. องค์พระไม่มีคราบกรุติดอยู่เลยมองดูงามเรียบๆน้ำหนัก 15กรัมขุดได้ที่วัดมหาวันลำพูน


ภาพที่ 14 เป็นพระรอดพิมพ์ตื้นเนื้อแดงอมชมพูที่มีหน้าตาให้ได้เห็นครบถ้วน องค์พระแบนราบเรียบ คราบกรุติดอยู่บางๆ เนื้อดินละเอียดดูนวลตา จุดสังเกตุมีให้เห็นพร้อม พิมพ์แตกตรงข้างหูซ้ายเห็นเป็นเส้นบางเบาเล็กๆเท่าเส้นผมวางพาดผ่าน ขุดได้ในวัดมหาวันลำพูน มีขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. หนา 1 ซม. สูง 2 3/4 ซม.

“อ่านให้ได้รู้ ดูเพื่อการศึกษา ประดับเอาไว้เป็นปัญญา อันสรรพวิชา ก็จะเข้ามาหา ตัวเราเอง”