“ พระเครื่องชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะ ” ตอนที่ 1 โดยสำราญ กาญจนคูหา

“ เมื่อรู้ว่ามันหนัก ก็จงปล่อย วางมันลง อย่าแบกต่อไปเลย ”

ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่มีการนำเสนอเรื่องของพระเครื่องในชุดสกุลลำพูนที่ทำด้วยโลหะต่างๆ ที่ผู้เขียนได้เก็บรวบรวมเอาไว้ ที่ใช้เวลาเก็บสะสมมานานแสนนาน ถือได้ว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยเผยแพร่หรือตีพิมพ์ในที่ใดมาก่อน

เคยมีคำกล่าวว่า “ พระกรุชุดสกุลลำพูนนั้น มีแต่เนื้อดินเผา ไม่มีชนิดที่เป็นเนื้อโลหะ ” นั่นเป็นเพียงความคิดเห็น ของผู้คนในสมัยหนึ่งเท่านั้น บัดนี้ปริศนานั้น ได้ถูกไขออกให้ผู้ที่นิยมสะสมพระกรุในชุดสกุลลำพูนได้เข้าใจและรู้แจ้งสว่างไสวเห็นจริงยิ่งขึ้น จากการที่จะนำเสนอข้อมูลในครั้งนี้

ท่านตรียัมปวาย ให้ความเห็นไว้ในหนังสือ “ ปริอรรถาธิบาย แห่งพระเครื่องฯ ” เล่มที่ 3 ” เรื่องพระรอด ” ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2503 หน้า 142 ข้อ 4 ว่า “ พระเครื่องสกุลลพบุรี นิยมสร้างด้วยเนื้อชินและตะกั่วยิ่งกว่าเนื้อดินเผา ส่วนของหริภุญไชย(ลำพูน) มีเฉพาะเนื้อดินเผาประการเดียว ถ้าลพบุรีเป็นครูช่างพุทธปฎิมา เหตุใดเนื้อโลหะจึงไม่มีใช้ในการสร้างพระเครื่องในสกุลลำพูนบ้าง นอกจากพระดอยไซ ที่เป็นพระที่สร้างในสมัยอยุธยา (จะได้นำเรื่อราวของพระดอยไซที่มีทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะมาให้ชื่นชมและเข้าใจกันถึงยุคสมัยที่แท้ในโอกาสต่อไป)

ในหน้า 146 ข้อ 1 ของหนังสือเล่มเดียวกัน ได้เขียนว่า พระเครื่องเมืองลำพูนสร้างด้วยเนื้อดินเผาทั้งสิ้น สมจริงตามคำกล่าวของ “ ร้อยเอก หลวงบรรณยุทธชำนาญ ” ที่ว่า “ นอกจากเนื้อดินเผาดังกล่าวแล้ว ” ไม่เคยพบพระพิมพ์เนื้อโลหะที่ทำด้วยชินหรือเนื้อโลหะอย่างใดในจังหวัดนี้เลย (จากหนังสือ พระพิมพ์และเครื่องราง หน้า 6)

บัดนี้กาลเวลาผ่านมาถึงปี พ.ศ. 2554 จากการที่คนต่างถิ่นได้ให้ข้อมูลดังกล่าวไว้ เป็นเวลานานถึง 52ปี ปัจจุบันมีข้อมูลใหม่เกิดขึ้นโดยได้มีการขุดพบพระสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะต่างๆ รวมทั้งศิลปะวัตถุอื่นๆอีกมากมาย ที่เป็นเนื้อดินและเนื้อโลหะทั้งขนาดใหญ่และเล็กหลากหลายรูปแบบ ซึ่งผู้เขียนได้พยายามเก็บรวบรวมสะสมไว้เป็นเวลานานแสนนาน และจะทะยอยนำมาแสดงให้เห็นจะได้เป็นหลักฐาน ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลและเข้าใจถึงความสำคัญของอาณาจักร “ หริภุญไชย ” ในอดีตที่มีอายุยืนยาวมานานกว่าพันสามร้อยปี จะได้เข้าถึงความเป็นตัวตนอันแท้จริงของ บ้านเกิดเมืองนอนของเราให้ถูกต้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจและรู้ซึ้งในช่วยกันรักษา ศิลปะอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษของพวกเรา ได้ อุทิศทั้งแรงกายและแรงใจสร้างสรรไว้ให้พวกเราได้ชื่นชมกัน

พระเครื่องในชุดสกุลลำพูนเคย ถูกสร้างขึ้นด้วยเนื้อโลหะหลายอย่างเช่น ทองคำ นาก เงิน สำริด ตะกั่ว ทองแดง ชินเงิน ชินตะกั่ว แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมทำการสร้างกันของคนในยุคสมัยโบราณ เนื่องจากในเวลานั้นโลหะธาตุต่างๆเป็นของหายาก กรรมวิธีในการถลุงแร่ การหลอมเหลวเพื่อนำมาใช้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากใช้เวลานาน เมื่อทำการหล่อเสร็จแล้ว ยังจะต้องมาทำการตกแต่งให้เรียบร้อย โดยเฉพาะวิธีการที่จะทำการหล่อองค์พุทธปฏิมาองค์เล็กๆนั้นจะยุ่งยากซับซ้อนกว่าการหล่อพระพุทธปฏิมาองค์ขนาดใหญ่ จึงปรากฎว่าพระพิมพ์ขนาดเ,ล็กที่ทำด้วยเนื้อโลหะมีปรากฎออกมาให้ได้พบเห็นน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย อนึ่งสำหรับการสร้างพระพุทธปฏิมาองค์เล็กๆที่เป็นเนื้อดินนั้น วิธีการและการทำพิมพ์ การกดพิมพ์พระทำได้ง่ายกว่า ให้รายละเอียดในองค์พระได้งดงามและชัดเจนกว่าชนิดโลหะ แม่พิมพ์ก็ทำง่าย การผลิตก็ทำได้จำนวนมาก ใช้เวลาในการทำน้อยและรวดเร็วกว่าการหล่อด้วยโลหะ ดินเหนียวที่จะนำมาสร้างก็หาง่ายเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นที่อยู่ จึงไม่มีปัญหาในการสร้าง ซึ่งก็เป็นจริงดังปรากฎให้เห็นจนทุกวันนี้ บริเวณของวัดมหาวันลำพูนและบริเวณที่ดินข้างเคียงโดยรอบวัดนั้นเป็นสถานที่แห่งแรกที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง เพราะณที่แห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดีอันสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของเมืองโบราณแห่งนี้ โบราณวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดในวัดมหาวันก็คือ “ องค์แม่พระรอด ” หรือ “ พระพุทธสิกขีปฏิมา ” ที่เป็นหนึ่งในสามของพระพุทธรูปสำคัญสามองค์ที่พระนางจามเทวีทรงอัญเชิญมาจากกรุงละโว้ก่อนจะเข้ามาครองราชย์ในนครหริภุญไชย ไว้เพื่อกราบไหว้สักการะบูชาและเป็นขวัญของบ้านเมือง อีกสิ่งหนึ่งที่จะลืมไม่ได้ก็คือ “ องค์พระประธาน ” ในวิหารที่มีความงดงามได้สัดส่วน เป็นองค์พระประธานที่สร้างขึ้นโดย “ พระเจ้าสรรพสิทธิ์องค์ธรรมมิกราช ผู้ครองเมืองหริภุญไชยลำดับที่ 30 ที่จะลืมไม่ได้และมีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ “ องค์พระรอด ” สุดยอดแห่งนิรันตราย ซึ่งเป็นพระเครื่ององค์เล็กๆเท่าปลายนิ้วก้อยที่มีอายุเก่าแก่และงดงามด้วยศาสตร์และศิลป์ที่วงการผู้นิยมสะสมพระเครื่องต่างให้การยอมรับ เพราะมีพระพุทธคุณอันศักดิ์สิทธิ์ยากที่จะหาพระพุทธปฏิมาองค์เล็กๆอื่นใดมาเทียบเคียงได้ ในสมัยก่อนหลายต่อหลายครั้งมีการขุดค้นเสาะหาพระรอดทุกพิมพ์เกือบทุกอนูของบริเวณพื้นที่ในวัดมหาวันเพื่อหาพระรอด จนไม่เหลือที่จุดใดให้ได้ขุดกันอีก แต่บรรดาผู้ที่ต้องการพระรอดต่างก็ไม่ย่อท้อ เมื่อบริเวณในวัดไม่มีที่ขุดต่างก็มองหาบริเวณโดยรอบนอกวัดที่เป็นบ้านพักอยู่อาศัยของชาวบ้านซึ่งกลายเป็นจุดที่หมายปองของมือขุดทั้งหลาย บริเวณดังกล่าวเคยเป็นอาณาบริเวณของวัดในสมัยโบราณซึ่งกว้างใหญ่กว่าบริเวณวัดในปัจจุบัน เวลานั้นอยู่ในระหว่างปีพ.ศ 2531- 2535 มีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ตรงกันข้ามด้านหลังของประตูทางเข้าวัดมหาวันทางทิศตะวันตกที่มีถนนซอยคั่นอยู่ เป็นที่ดินติดกับบ้านของ “ นายณรงค์ คำธิตา ” ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกันกับผู้เขียนปีพ.ศ 2501 ปัจจุบันเป็นที่บ้านของนายบุญผล จันทร์เรืองพี่เขยมือขุดค้นหาพระรอดขั้นเทพที่เคยขุดได้พระรอดพิมพ์ใหญ่ องค์สวยที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน บ้านที่สวนที่อยู่ติดกันนั้น เจ้าของเขาต้องการจะขาย นักนิยมพระผู้หนึ่งซึ่งพำนักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่รู้เข้าจึงรีบตกลงซื้อ เพราะสืบทราบว่าในบริเวณนั้นเป็นบริเวณที่เจดีย์เก่าแก่องค์เดิมของวัดสำคัญแห่งนี้ได้โค่นล้มและหักปลักพังลง โค่นพาดผ่านที่ดินผืนนี้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จะต้องมีพระรอดและพระต่างๆอยู่ณที่ตรงนั้น เมื่อตกลงซื้อขายเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เริ่มลงมือทำการขุดหาด้วยความมุ่งมั่น โชคดีเป็นของเขาจริงๆ มีการขุดพบพระสกุลลำพูนต่างๆมากมาย เช่นพระสิบสอง พระปลีกล้วย พระสิบแปด พระกวาง พระสิกขี พระสามสิบ พระซุ้มพุทธคยา พระงบน้ำอ้อย พระสาม พระซุ้ม กระรอกกระแต พระลือซุ้มนาค พระ ปาง แสดงธรรม พระปางเสด็จจากดาวดึงษ์ พระกลีบบัว เศียรพระพุทธรูปที่ทำด้วยดินเผาหลายขนาด พระพิมพ์เนื้อดินเผาขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า ” แม่พระรอด ” พระแผ่นลายดุนนูนแบบต่างๆที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆเรียงซ้อนกันเป็นตับ พระแผ่นลายดุนนูนนี้มีหลายรูปแบบมีทั้งที่เป็นแผ่นทองคำ เงิน สำริด ตะกั่ว ทองแดงบ้างก็ผุพังเป็นเศษธุลีตามอายุและกาลเวลา มีทั้งเบ้าหลอมโลหะที่ทำด้วยดินเผารวมทั้งพระเนื้อโลหะขนาดใหญ่เล็กมากมาย ที่แตกหักเสียหายเพราะการขุดค้นหาโดยไม่ได้ระมัดระวังก็มีมาก การขุดหาพระต่างๆในบริเวณนั้นเจ้าของไม่ได้ทำการขุดเอง ได้ว่าจ้างมือขุดที่เป็นชาวบ้านที่พอจะเชื่อใจและไว้ใจได้ในละแวกนั้น เมื่อขุดได้ของขึ้นมาก็ให้สินจ้างรางวัลตอบแทน พระต่างๆและศิลปะวัตถุที่ขุดได้เจ้าของได้นำไปเก็บไว้ที่บ้านของเขาในเมืองเชียงใหม่ บางชิ้นบางอันก็มอบให้แก่ทางวัด นอกจากนั้นก็มีบางส่วนที่เล็ดรอดออกมาขายให้แก่นักสะสมข้างนอก ที่เรียกกันว่า มีการดำน้ำออกมา จะไม่ขอกล่าว ถึงรายละเอียด ของการขุดหาให้มากความ สำคัญที่สุดในครั้งนี้คือการนำพระรอดของวัดมหาวันและพระกรุในชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะมาให้ท่านได้ชมและได้รู้จักเอาไว้

ก่อนอื่นนั้นจะให้ได้เห็นถึงความเก่าแก่ของพระรอดเนื้อโลหะพิมพ์ต่างๆที่มีคราบกรุคราบของผิวไฟ สนิมของเนื้อที่โลหะติดอยู่กับองค์พระเปรียบเทียบกับพระเนื้อดินว่าแตกต่างกันเช่นไร การสันนิษฐานและคาดเดาถึงกรรมวิธีของการหล่อในสมัยนั้นว่าทกันอย่างไร จะได้เป็นหลักฐานให้เห็นว่ามีการทำพระพิมพ์ต่างๆเป็นเนื้อโลหะขึ้นมาในเมืองลำพูนนี้จริงๆ ถึงแม้ว่าการหล่อพระในสมัยนั้นเทคนิคของการหล่อหลอมโลหะรวมทั้งส่วนผสมของเนื้อโลหะซึ่งต้องใช้ไฟเผาสูง ช่างที่ทำไม่มีความชำนาญพอ พระสกุลลำพูนเนื้อโลหะที่ทำขึ้นมา ในตอนนั้นจึงไม่คมชัดและสวยงามเท่าที่ควร แต่ก็ได้ให้รายละเอียดต่างๆไว้บนพระพุทธปฏิมาองค์เล็กๆว่าเป็นพระแบบไหนและพิมพ์ใด หรือบางทีก็อาจจะมีองค์พระเนื้อโลหะที่งดงามสมบูรณ์แบบปรากฎอยู่ณที่แห่งหนไหนก็ได้ เพียงแต่เรายังหาไม่เจอะเจอองค์พระที่งดงามเหล่านั้นเท่านั้น

ภาพที่ 1 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์ต้อแผงโลหะที่ใช้กรรมวิธีหล่อพระแบบหยอดลงบนแม่พิมพ์ที่ทำด้วยดินเผา

เป็นวิธีการแบบง่ายๆ การหล่อพระในยุคสมัยนั้นถือกันยังขาดความชำนาญ ไม่มีเทคนิคที่ดีพอ รูปลักษณะขององค์พระที่ทำขึ้นมาจึงขาดความสวยงามและขาดความละเอียดละออไม่คมชัดเท่าที่ควร การหล่อองค์พระในแบบที่เห็นนั้น คงจะทำพิมพ์หล่อพระในแบบคล้ายถาดขนมครกที่มีลักษณะเป็นแบบถาดหลุมมีขอบโดยรอบเพื่อป้องกันมิให้น้ำโลหะที่หลอมเหลวล้น ออกมาในตอนเทพิมพ์ ก่อนอื่นเขาจะทำแม่พิมพ์โดยการกดพิมพ์องค์พระ พ่อพิมพ์ ที่ทำเตรียมไว้กด ลงบนถาดที่ทำด้วยดินเหนียวให้เรียงรายกันไปบนถาดดินที่ทำเตรียมไว้ จากนั้นก็จะนำแม่พิมพ์ที่ได้ไปเผาให้สุกและแข็งตัว เมื่อได้แม่พิมพ์ตามความต้องการ ก็จัดการหลอมละลายโลหะชนิดที่เตรียมไว้ เมื่อโลหะหลอมละลายเข้ากันดี ก็ตักหยอดลงบนแม่พิมพ์ที่วางราบกับพื้น ทิ้งไว้จนโลหะนั้นเย็นและแข็งตัว เมื่อโลหะแข็งตัวดีก็จัดการกลับด้านของแม่พิมพ์ค่อยๆ กระเทาะเอาพระที่หล่อเสร็จออกจากแม่พิมพ์ วิธีการก็แล้วเสร็จไปขั้นตอนหนึ่ง เนื่องจากเป็นการหยอดโลหะที่เป็นของเหลวและมีความความร้อนสูง การคาดคะเณคงกะไม่ถูก น้ำโลหะ อาจจะล้นองค์พระออกมา องค์พระจึง ถูกน้ำโลหะที่หลอมเหลว ประสาน ติดกันเป็นแพเมื่อเย็นลง ดังในภาพที่เห็น จากนั้นก็นำพระเนื้อโลหะที่ได้ไป ตัด ตกแต่งแบ่งออกเป็นองค์ๆให้เรียบร้อยและสวยงาม ก็เป็นอันได้พระพิมพ์ที่เป็นเนื้อโลหะตามที่ต้องการ การทำพระเนื้อโลหะในสมัยนั้นคงจะเป็นการทำพระในยุคแรกๆด้วยแรงบุญแรงศรัทธาและความตั้งใจโดยแท้ ภายหลังก็ต้องเลิกรากันไป เหตุเพราะความยุ่งยากของขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งโลหะเป็นของหายากแหล่งวัตถุดิบมีน้อย สู้การทำพระพิมพ์เนื้อดินจะดีกว่า ซึ่งการทำพระพิมพ์เนื้อดินนั้นง่าย การแต่งองค์พระให้มีรายละเอียดที่คมชัดและสามารถทำได้ดีและทำขึ้นมาคราวละมากๆได้ การจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบแต่งเติมแก้ไขก็ทำได้ง่ายตามความต้องการ วิธีการก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน พระพิมพ์ของเมืองลำพูนจึงปรากฎให้เห็นเป็นเนื้อดินเผาเป็นส่วนใหญ่

แผ่นพระที่ติดกันเป็นแพดังที่เห็นในภาพนั้นคือพระรอดพิมพ์ต้อของวัดมหาวัน ที่เป็นการหล่อแบบโบราณชองยุคต้นๆนานมาแล้ว ไม่ใช่เป็นของที่ทำกันขึ้นใหม่ในปัจจุบัน เป็นพระแผงในสภาพเดิมๆที่เก็บรักษาไว้เพื่อให้เป็นหลักฐานในการเรียนรู้ แผ่นพระรอดพิมพ์ต้อนี้ขุดได้บริเวณหลังวัดมหาวันดังกล่าวข้างต้น เป็นพระรอดพิมพ์ต้อที่ถูกพิมพ์ทุกองค์ ลักษณะขององค์พระต้อ เตี้ยล่ำ มีโพธิ์คู่อยู่แถวเดียวเป็นเนื้อทองเหลืองผสมตะกั่ววทั้งหมดนับได้ 13องค์ ความยาว 8 นิ้ว กว้าง 5 นิ้ว หนัก 150 กรัม

ภาพที่ 2 เป็นภาพด้านหลังของพระพิมพ์ต้อในภาพที่ 1 ที่แสดงให้เห็นถึงเนื้อโลหะที่ไม่รวมตัวและประสานกัน ดีพอ จะเห็นรอยเป็นเส้นๆของการเกาะติดของน้ำโลหะประสานที่แข็งตัวขึ้นใมีสภาพที่สมบูรณ์ เดิมๆให้เห็นเพื่อพิจารณากันต่อไป

ภาพที่ 3 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์ต้อและพระรอดพิมพ์ใหญ่เนื้อโลหะ พระพิมพ์แผ่นนี้มีพระรอดพิมพ์ต้ออยู่ 6 องค์ พระรอดพิมพ์ใหญ่ 1 องค์อยู่ตรงด้านล่างขวามือ พระรอดพิมพ์ใหญ่ปรากฎเส้นพิมพ์แตกให้เห็นชัดเจนองค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานสี่ชั้น ปรากฎหน้าตาให้เห็นลางๆปลายหูขวาขององค์พระตวัดเป็นเงี่ยงขอเบ็ด นับใบโพธิ์ก้านก้านโพธิ์ถูกต้องตามพิมพ์ของพระรอดพิมพ์ใหญ่นิยม ขนาดองค์พระจะใหญ่กว่าพิมพ์ต้อตามแบบของพระเนื้อดินคือกว้าง1 1/2ซ.ม สูง 2 ? ซ.ม ส่วนพิมพ์ต้อ กว้าง 1 1/4ซ.ม สูง2ซ.ม น้ำหนัก 85กรัม

ภาพที่ 4เป็นด้านหลังของพระรอดแผ่นพิมพ์ต้อในภาพที่ 3 ที่ติดกันเป็นแพให้ดูกันอย่างจะแจ้งให้ท่านลองมองภาพนี้ให้ดี ถือได้ว่าเป็นการมองภาพในแง่ของศิลปะที่เป็นแบบธรรมชาติสร้างสรรค์ ภาพโดยรวมจะเป็นคล้ายกับผู้ชายเจ้ายศคนหนึ่งกำลังอุ้มลูกหรือเด็กน้อย ชูขึ้นอย่างลิงโลดใจพระพิมพ์แผ่นนี้มีความยาว 5 1/2นิ้วความกว้าง 3 นิ้ว

ภาพที่ 5 เป็นก้อนโลหะที่หลอมด้วยโลหะตะกั่ว มองไม่เห็นว่าเป็นพระอะไร ขุดได้ในที่แห่งเดียวกัน มีน้ำหนัก 110 กรัม ให้สังเกตุคราบกรุและขี้กรุเดิมๆที่เป็นดินเกาะติดแน่น ล้างออกยากจึงคงไว้ในสภาพเดิมๆ ก้อนโลหะนี้กว้าง 3 ? นิ้ว ยาว 31/2 นิ้ว ขุดได้ในบริเวณเดียวกันที่หลังวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 6 เป็นภาพพระลบพิมพ์ฐานสามชั้นจำนวน 5 องค์ จะเห็นได้ว่าการหล่อหลอมเนื้อโลหะไม่ดีเท่าที่ควร องค์พระจึงออกมาไม่สวยงามและชัดเจนพอ ภาพนี้ออกจะดูยาก มีความหนาและมีน้ำหนัก มาก การตกแต่งทำได้ยาก จึงถูกทิ้งไว้ให้อยู่ในสภาพที่เห็น น้ำหนักมีถึง 120 กรัม ขุดได้ในบริเวณหลังวัดมหาวันในที่แห่งเดียวกันความ กว้าง 2 ? นิ้ว ยาว 3 นิ้ว ภาพของพระลบพิมพ์ที่สวยงามที่ทำด้วยเนื้อโลหะผสมแบบต่างๆ จะนำมาแสดงให้ชมในโอกาสต่อไป ขอได้ติดตาม

ภาพที่ 7 เป็นภาพของพระซุ้มพุทธคยาเนื้อดินเผาที่มีความงดงามและสมบูรณ์ทุกประการ ถือเป็นพระขนาดใหญ่ที่มีพุทธศิลป์งดงามมากองค์หนึ่ง ไม่หักบิ่นหรือชำรุดในส่วนใดๆ องค์พระมีหน้าตา หู ปากจมูกชัดเจน เม็ดพระศกเห็นเป็นตุ่มเล็กๆดวงตาเหลือบลงต่ำ ประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานบัวเม็ดสองชั้น ภายในซุ้มที่มีลวดลายประดับอย่างงดงาม สองข้างขององค์พระประดับด้วยสถูปเจดีย์ทั้งขนาดใหญ่เล็กจำนวนเท่ากันอย่างลงตัว เป็นพุทธศิลป์แบบปาละที่ปรากฎให้ได้เห็นในเมืองลำพูนแห่งนี้มีขนาดความกว้าง 4 นิ้ว สูง 5 นิ้ว หนา 3/4 นิ้ว น้ำหนัก 195 กรัม ขุดได้ บริเวณหลังวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 8 เป็นภาพของแผ่นลายดุนนูนที่ทำด้วยโลหะทองแดงตีเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปกดทับกับองค์จริงของพระซุ้มพุทธคยาค่อยๆทำการดุน เคาะ ต้อง แต่ง ตี ลงบนแผ่นทองแดงจนเข้ารูป และมีความงดงามชัดเจน เป็นการทำถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาของคนในสมัยนั้น ซึงเขาจะทำองค์พระขึ้นมาด้วยแรงศรัทธาอย่างมุ่งมั่นแท้จริง ดังนั้นพระกรุทุกองค์จึงปรากฏว่ามีพระพุทธคุณที่สูง แผ่นลายดุนนูนนี้เป็นพุทธศิลป์อย่างหนึ่งของพระพิมพ์เนื้อโลหะที่มีอยู่ในนครโบราณอันเก่าแก่แห่งนี้อย่างที่จะคัดค้านไม่ได้เลย นอกจากนี้แล้วยังมีพระแผ่นเนื้อเงิน ทองคำ สำริดและเนื้อตะกั่วอยู่ด้วย พระแผ่นองค์นี้มีขนาดกว้าง 3 3/4 นิ้ว สูง 4 1/2 นิ้วน้ำหนัก 5 กรัมขุดพบในที่แห่งเดียวกันกับพระซุ้มพุทธคยาเนื้อดิน คือบริเวณหลังวัดมหาวันลำพูน

ภาพที่ 9 เป็นพระทรงเครื่องสวมมงกุฎแบบทรงเทริดขนนก ประดับด้วยเครื่องทรงมีกุณฑล ทับทรวงสวมทับจีวรที่ห่มในลักษณะห่มดองมีสังฆาฏิพาดบ่าปลายผ้าสังฆาฏิเป็น แบบปลายตัดที่เรียบง่ายเป็นพระทรงเครื่องเนื้อโลหะสำริดสนิมเขียวที่มีความคมชัดและงดงามสมบูรณ์ยิ่งอยู่ในสภาพเดิมๆไม่ได้ทำการล้างหรือขัดเอาผิวพระออกเลย องค์พระประทับนั่งในท่าของปางมารวิชัย เป็นพุทธศิลป์ในแบบของพุทธมหายานผสมผสานกับศิลปะทวารวดีร่วมกับศิลปะละโว้ สังเกตุได้จาก คิ้วเป็นรูปปีกกา ปากหนา ตาโปน ใบหูยาวใหญ่ มือใหญ่ เท้าใหญ่ที่เป็นเค้าเงื่อนของพุทธศิลป์แบบทวารวดี การวางเท้าและวางมือจะแบะออกใกล้เคียงกับพระสิกขีปฏิมาในวิหารวัดมหาวัน การหล่อนั้นเป็นการหล่อแบบหน้าเดียว ขุดพบที่กู่เหล็กทุ่งกู่ล้านอำเภอเมืองลำพูนมีขนาดกว้าง 3 นิ้ว สูง 5 นิ้ว น้ำหนัก 215 กรัม เป็นพระพุทธรูปของยุคต้นๆที่พบในเมืองลำพูนแห่งนี้

ภาพที่ 10 เป็นพระทรงเทริดขนนกอีกองค์หนึ่ง ที่มีความงดงามและคมชัดในทุกสัดส่วน เป็นพระแบบเดียวกันกับองค์พระของภาพที่ 9 พระองค์นี้ทำด้วยดินเผา มีสีเป็นสีแดงมองเห็นคราบกรุเป็นปูนขาวติดอยู่เกือบทั่วทั้งองค์ ซึ่งเป็นคราบกรุเดิมๆ เพื่อให้ได้เห็นสภาพที่แท้จริงขององค์พระและผิวพระว่าเป็นอย่างไร ความเก่าแก่ของอายุนั้นคงไม่ต้องกล่าวถึง ให้ท่านได้พิจารณาอย่างถ้วนถี่ก็พอจะตัดสินกันได้ องค์พระทำเป็นแบบเต็มองค์แตกต่างกับองค์ที่เป็นเนื้อโลหะข้างต้น มีขนาดกว้าง 2 3/4 นิ้ว หนา 1 นิ้ว สูง 4 นิ้ว ขุดพบที่กู่เหล็กบริเวณทุ่งกู่ล้าน อำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 11 เป็นพระทรงมงกุฎแบบเทริดขนนกทรงเครื่องคล้ายกันกับองค์พระในภาพที่ 9 จะมีความแตกต่าง ก็คือมีใบหน้าและรูปลักษณ์ที่อ่อนโยน เป็นพุทธศิลป์ของหริภุญไชยที่คลี่คลายเป็นของตัวเองแล้ว สังเกตุได้จากการประทับนั่งในปางมารวิชัย การวางมือและวางเท้าเป็นลักษณะแบบธรรมดา ไม่ได้แบะออกเหมือนกับองค์พระในภาพที่ 9 องค์พระมีใบหน้าที่ดูอิ่มเอิบ อ่อนโยนไม่เข้มที่มองขมึงทึง ดุดัน เป็นพระเนื้อโลหะสนิมเขียว มีคราบไขขาวและคราบกรุที่เป็นดินและเม็ดทรายติดอยู่เกือบทั่วองค์พระ เพื่อให้ได้เห็นในสภาพเดิมๆและความเก่าแก่ของเนื้อว่าสมกับอายุการสร้างหรือไม่ พระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดกว้าง 3 นิ้ว สูง 5 นิ้ว มีน้ำหนัก 215 กรัม เป็นการหล่อแบบหน้าเดียว ขุดพบที่บริเวณหลังวัดมหาวันอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 12 เป็นภาพของพระทรงมงกุฎแบบเทริดขนนก ที่ทำเป็นแผ่นลายดุนนูนเนื้อทองคำ มีศิลปะลักษณะเป็นแบบเดียวกับองค์พระในภาพที่ 11 จะเห็นความปลั่งของเนื้อทองชัดเจน พระแผ่นลายดุนนูนนี้จะวางซ้อนทับกันเป็นตั้งๆมีหลายเนื้อ มีเนื้อทองคำ ทองสำริด ทองจังโกฏิ์ ทองแดง ทองเหลือง เนื้อเงิน เป็นต้น หลายองค์ในจำนวนนั้นผุพังแตกหักเสียหายไปอย่างน่าเสยดายตามกาลเวลาที่ผ่านไปอันเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ได้นำมาให้เห็น ก็เพื่อจะให้รู้ว่พระเนื้อโลหะที่ทำขึ้นในเมืองลำพูนนั้นมีขึ้นมาอย่างแท้จริง ดังปรากฎตามหลักฐานที่นำมาแสดงไว้ พระแผ่นลายดุนนูนนี้กว้าง 31/2 นิ้ว สูง 41/2 นิ้วขุดพบที่บริเวณหลังวัดมหาวัน อำเภอเมืองลำพูน น้ำหนัก 5 กรัม

ภาพที่ 13 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเนื้อโลหะสำริดแก่ทอง ที่สวยงามและสมบูรณ์แบบองค์หนึ่งที่เป็นพุทธศิลป์แบบศิลปะทวารวดีในยุคต้น ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะคุปตะของอินเดีย สังเกตุได้จากพระเศียรที่มีเม็ดพระศกใหญ่ คิ้วหนาเป็นรูปปีกกา ปากหนา ตาโปน จมูกบาน ดวงตาเหลือบลงต่ำ มีไรพระมัสสุหรือบที่างคน เรียกกันว่าพรายปากปรากฎให้เห็นชัดเจนในพระพุทธรูปของยุคนี้ การห่มจีวรห่มในลักษณะของการห่มคลุมแบบเดียวกันกับพระคงของวัดพระคงฤาษี จีวรรัดรูปแนบติดกับลำตัว มือและเท้าจะวางแบะออกเหมือนกับพระพุทธสิกขีปฏิมาหรือแม่พระรอดของวัดมหาวัน จัดเป็นพุทธศิลป์ในยุคเดียวกัน พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธลักษณะที่คล้ายกับพระคงอาจจะเป็นพระต้นแบบของพระคงในเวลาต่อมา ขุดพบที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูน พระแบบเดียวกันนี้ที่ขุดได้มีเนื้อเป็นโลหะต่างๆหลายชนิดเช่นเนื้อเงิน เนื้อตะกั่ว เนื้อสำริดแก่ทอง เนื้อดินและที่เป็นแผ่นลายดุนนูนก็มีปรากฎ ขนาดกว้าง 1 3/4 นิ้ว สูง 3 1/4 นิ้ว เป็นพระเนื้อโลหะที่ทำการหล่อแบบหน้าเดียว น้ำหนัก 60 กรัม พระพุทธรูปแบบเดียวกันนี้บางองค์มีการตกแต่งเครื่องทรงเช่นสร้อยถนิมพิมพาพรรณอย่างสวยงามซึ่งเป็นพุทธศิลป์อีกแบบหนึ่งที่แตกรูปแบบออกไป

ภาพที่ 14 เป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีแบบเดียวกันกับพระในภาพที่ 13 ทำด้วยเนื้อดินเผา นอกจากจะเป็นลักษณะนี้แล้วยังมีรูปแบบอื่นที่งามแปลกออกไป คือแบบที่มีการตกแต่งเครื่องทรงที่ประดับกับองค์พระเพื่อให้สวยงามยิ่งขึ้นตามความคิดของผู้สร้างสรร เนื้อดินจะมีหลายหลากสีเช่นเดียวกันกับพระพิมพ์ขนาดเล็กเช่นสีพิกุล สีเทา สีแดง สีเทาดำ สีเขียวหินครก สำหรับพระพุทธปฏิมาองค์เนื้อดินนี้ ความคมชัดนั้นอาจจะสู้พระแบบที่เป็นเนื้อโลหะที่แสดงไว้ไม่ได้ แต่สภาพของเนื้อพระ ที่มีความเก่าแก่ของอายุและคราบกรุที่ติดแน่นทำให้เกิดความรู้สึกได้อย่างแท้จริงว่า ” ใช่ ” เป็นของแท้แน่นอน พระพิมพ์องค์นี้ขุดได้ที่วัดพระคงฤาษีอำเภอเมืองลำพูนมีขนาด กว้าง 1 1/2 นิ้ว สูง 3 นิ้ว หนา 1/2 นิ้ว

ภาพที่ 15 พระซุ้มกระรอกกระแต เนื้อโลหะชินเงิน พระพิมพ์องค์นี้มีพุทธศิลป์ที่งดงามอย่างมีชีวิตชีวา มีลวดลายต่างๆประดับรอบองค์พระอย่างสวยงามยิ่ง เป็นฝีมือเชิงช่างชั้นสูง สังเกตุบนซุ้มของกิ่งไม้บนที่ประทับขององค์พระ มีกระรอก กระแต วิ่งเล่นไล่กันอยู่อย่างเริงร่า องค์พระประธานตรงกลางประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานดอกบัวทรงมงกุฎและมีเครื่องประดับสร้อยถนิมพิมพาพรรณเต็มองค์ สองข้างเป็นพระสาวกซ้ายขวานั่งอยู่บนดอกบัวในท่าสมาธิภายใต้ซุ้ม ที่เป็นพญานาคแผ่พังพานเหนือเศียรคุ้มเกล้า กันภัยและให้ความร่มเย็น พุทธศิลป์ของพระซุ้มกระรอกกระแตนี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพุทธมหายานและศิลปะละโว้ ขุดพบในที่หลายแห่งในเมืองลำพูนและลพบุรี ในเมืองลำพูนมีการขุดพบพระพิมพ์ชนิดนี้หลายแห่ง มีทั้งเนื้อโลหะที่เป็นชินเงิน ชินตะกั่วเนื้อสำริดสนิมแดง สนิมไขมากมาย และเป็นเนื้อดินเผาหลากสี พระซุ้มกระรอกกระแตองค์นี้ขุดได้ที่วัดพระบาทดอยไซอำเภอเมืองลำพูน มีหลายองค์ทีแตกหักเสียหายเพราะความเก่าแก่ของอายุ เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง การขุดพบพระพิมพ์เนื้อโลหะที่มีอายุเก่าแก่และมีศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะของลพบุรีและศิลปะของพุทธมหายานที่วัดดอยไซแห่งนี้เป็นการบ่งบอกถึงว่าพระพิมพ์เนื้อโลหะที่ขุดได้นั้น จะต้องมีอายุเกินกว่าที่จะอยู่แค่เพียงแค่สมัยอยุธยา ดังที่ว่าไว้ในข้างต้นอย่างแน่นอน และพระพิมพ์ที่ขุดพบในที่แห่งนี้เป็นพุทธศิลป์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นพุทธศิลป์ของ “ หริภุญไชย ” ซึ่งได้พัฒนาและคลี่คลายขึ้นมาเป็นของตนเองเต็มที่แล้ว พระพิมพ์องค์นี้มีขนาดกว้าง 2 3/4 นิ้วสูง 3 1/2 นิ้ว มีน้ำหนัก 80 กรัม

ภาพที่16 พระซุ้มกระรอกกระแตเนื้อดินเผา พระพิมพ์องค์นี้มีเนื้อดินที่ละเอียดและมีความเก่าแก่ตามลักษณะของพุทธศิลป์เมืองหริภุญไชยอย่างเห็นได้ชัด ด้านหลังอูมหนาพองาม องค์พระสมบูรณ์ไม่ชำรุดหรือหักบิ่นในส่วนใด พระซุ้มกระรอกกระแตเนื้อดินเผาขุดพบมากในมืองลำพูนโดยเฉพาะที่วัดมหาวัน วัดประตูลี้ วัดดอนแก้ว วัดดอยไซ ความเก่าแก่ของเนื้อและพุทธศิลป์ที่มีความงดงามฟ้องอยู่ในตัวอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นศิลปะชั้นครูอยู่แล้ว หลายต่อหลายคนคงจะไม่รู้และคาดคิดว่าจะมีพระพิมพ์ที่สวยงามและสมบูรณ์แบบที่สุดนี้ในเมืองลำพูนของเรา แต่ก็ได้นำมาแสดงให้ได้เห็นเป็นขวัญตา พระซุ้มกระรอกกระแตองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 นิ้วสูง 3 นิ้วหนา 1/2 นิ้ว

ภาพที่17 เป็นภาพของพระรอดพิมพ์พิเศษที่ท่านอาจจะแปลกตาแปลกใจ เพราะไม่เคยเห็นกันมาก่อน ด้วยเหตุที่พระรอดองค์นี้ไม่เหมือนกับพระรอดเนื้อดินที่คุ้นตาโดยทั่วไป เป็นพระรอดองค์ใหญ่อีกพิมพ์หนึ่งที่ทำด้วยเนื้อโลหะตะกั่วหุ้มด้วยทองคำ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ” พระเปียกทอง ” พระรอดพิมพ์พิเศษองค์นี้วางตั้งได้อย่างสบาย องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานประดับบัวสองชั้น ที่ดูแปลกออกไปกับฐานประทับของพระรอดเนื้อดินเผาพิมพ์นิยม รอบๆองค์พระมีใบโพธิ์ประดับโดยรอบเช่นเดียวกับพระรอดเนื้อดิน มีลักษณะของใบโพธิ์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็วางตำแหน่งของลวดลายถูกต้อง การห่มจีวรนั้นเป็นแบบห่มดองจะสังเกตุเห็นร่องจีวรที่พาดผ่านบนหน้าอก เป็นลักษณะแอ่ง ตกท้องช้างแบบเดียวกับพระรอดเนื้อดินเผา มีหน้าตาเห็นลางๆ สะดือเป็นเบ้าแบบหลุมขนมครก ฝีมือการหล่อพิมพ์นั้นแม้จะไม่คมชัดนัก แต่ด้วยความเก่าของเนื้อที่มีคราบกรุและขี้กรุเกาะติดแน่นล้างออกยาก จึงคงไว้ให้เห็นในสภาพเดิมๆไว้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษา พระรอดเนื้อโลหะองค์นี้เมื่อพิจารณาดูตำแหน่ง ใบโพธิ์ที่ประดับโดยรอบขององค์พระ จะวางไว้ในลักษณะแบบเดียวกันกับพระรอดเนื้อดินเผาพิมพ์นิยม ให้ลองพิจารณาเปรียบเทียบดู ก็จะเห็นเป็นดังที่ว่านี้ ขุดพบที่บริเวณที่ชาวบ้านที่เชื่อว่า เป็นที่องค์เจดีย์เก่าหักโค่นลงมามีขนาดกว้าง 1 1/4 นิ้วหนา 1/2 นิ้วสูง 2 นิ้วน้ำหนัก 110 กรัม องค์พระมีความงดงามและสมบูรณ์ ไม่หักบิ่นหรือชำรุดในส่วนใดอยู่ ในสภาพที่ดีและเรียบร้อยทุกประการ ที่ปรากฎมีอยู่เพียงไม่กี่องค์ แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่มีพระรอดแบบใกล้เคียงกันกับพระรอดเนื้อเปียกทององค์นี้ ที่ทำด้วยดินและมีการบรรจุกริ่งภายใน ด้านหลังอูมนูนหนามาก ผู้เขียนได้นำมาพิจารณาเนื้อหาพิมพ์ทรงดูปรากฎว่าเป้นของทำขึ้นมาใหม่ เนื้อดินก็ไม่ถึงยุค ดังนั้นในยุคนี้ทุกอย่างนั้นเร็วไวมากการจะเล่นสะสมพระกรุต่างๆจึงต้องมีความใฝ่รู้และติดตามข่าวสารให้ดี เพราะการเรียนรู้นั้นทำให้เรามีเปรียบกว่าคนอื่นที่คอยจ้องหาโอกาสเล่นงานเราได้ นั่นคือความจริงโดยแท้

ภาพที่ 18 เป็นด้านหลังของ พระรอดเนื้อโลหะเปียกทององค์ใหญ่ ซึ่งจะเห็นด้านหลังที่แบนราบเรียบ มองเห็นคราบกรุที่เป็นคราบของสนิมเหล็กในดิน เกาะติดแน่นล้างไม่ออก จึงคงสภาพเดิมๆเอาไว้ให้เห็นทั้งด้านหน้า ด้านหลังจะได้พิจารณาดู ได้ด้วยความมั่นใจ ขุดพบเพียงไม่กี่องค์บางองค์ก็ชำรุดแตกหักเสียหาย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายโบราณวัตถุที่เก่าแก่และสำคัญยิ่ง เคราะห์ดีที่ยังมีหลงเหลือให้ได้เห็นเป็นประจักษ์ว่าพระชุดสกุลลำพูนที่ทำด้วยเนื้อโลหะนั้นมีจริงๆ ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันได้ว่าเป็นเช่นนั้น เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพระกรุชุดสกุลลำพูนที่เป็นทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะยังมีอีกมากมาย ผู้เขียนจะได้นำมาเสนอบันทึกไว้และจะทะยอยลงในเว็บนี้ ขอให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามกันได้ในครั้งต่อไป

“เมื่อเราไม่มีพรสวรรค์ เราจะต้องหันเข้าไปหาพรแสวงอย่างจริงจัง ความสำเร็จจึงจะบังเกิดขึ้นได้”