พระเปิมวัดดอนแก้ว บ้านเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน

พระเปิมของวัดดอนแก้วเป็นพระกรุที่ได้รับความนิยม ที่มีชื่อเสียงชนิดหนึ่งของเมืองลำพูน ขุดพบครั้งแรกที่วัดดอนแก้ว ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน ซึ่งปัจจุบันบริเวณของวัดโบราณแห่งนี้ ได้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเทศบาลตำบลเวียงยองไปแล้ว การขุดหาพระเครื่องอย่างจริงจังเกิดขึ้นประมาณปี พ. ศ. 2485 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่บ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ในระหว่างสงครามอินโดจีน ตอนนั้นชาวบ้านชาวเมืองในจังหวัดลำพูน ต่างมีการตื่นตัวเสาะแสวงหาพระเครื่องต่างๆ ไว้เพื่อป้องกันตัวเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะได้มีการ ทำการขุดตรงบริเวณทรากเจดีย์เก่าแก่ ของวัดดอนแก้วแห่งนี้ การขุดพบพระกรุนานาชนิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากเช่น พระเปิม พระบาง พระคง พระลือหน้ามงคล พระเลี่ยง พระสาม พระสิบสอง พระสิบแปด พระป๋วย พระปลีกล้วย และพระชนิดอื่น ๆตลอดจนพระแผงต่าง ๆหลายพันองค์ มากมายจนต้องนำไปใส่ไว้ในตะกร้าขนาดใหญ่หลายสิบใบ ครั้งนั้น เจ้าจักรคำขจรศักดิ์เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย ได้มาเฝ้าดูการขุดด้วยตนเอง และได้นำพระเครื่องต่าง ๆที่ขุดได้ นำไปแจกจ่ายให้แก่บรรดาทหารหาญที่ประจำอยู่ ในเมืองลำพูนและมณฑลพายัพไว้เพื่อป้องกันตัว การขุดพบพระเครื่องต่าง ๆในบริเวณวัดดอนแก้วในครั้งนั้นเป็นครั้งสำคัญที่พระกรุ เช่นพระเปิม พระบาง พระสาม พระป๋วย ซึ่งมีมากในวัดนี้ ปรากฎออกมาให้ได้รู้เห็นเป็นประจักษ์แก่บรรดาผู้ที่นิยมสะสมพระกรุชุดสกุลลำพูนอันถือได้ว่าเป็นตำนานของการขุดพระเครื่องในเมืองลำพูนอย่างเป็นทางการครั้งหนึ่งมาจนถึงทุกวันนี้

หากเราจะย้อนรอยดูในตำนานหรือในพงศาวดารต่าง ๆที่เกี่ยวกับประวัติของเมืองลำพูนนั้นจะเห็นว่า วัดดอนแก้วนั้นเป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ของเมืองลำพูน ได้ทำการสถาปนาขึ้นมา ในปี พ.ศ1223 โดยวัดดอนแก้วนี้เป็นวัดหนึ่งในสี่ของ จตุรพุทธปราการพร้อมกับได้สร้างพุทธปฏิมาต่างบรรจุไว้ในแต่ละวัด อันได้แก่ วัดมหาวันทางทิศตะวันตกของเมืองมีพระรอด พระรอดหลวงเป็นพระหลัก วัดพระคงฤาษีทางทิศเหนือ โดยมีพระคง พระบางเป็นพระหลัก วัดประตูลี้ทางทิศใต้ โดยมีพระลือหน้ามงคล พระเลี่ยงเป็นพระหลัก ทางทิศตะวันออกคือวัดดอนแก้วนั้นมีพระ เปิม พระบาง พระสาม พระป๋วยเป็นพระหลัก ซึ่งพระต่าง ๆดังกล่าวก็ได้ปรากฎให้ได้พบเห็นในปัจจุบัน พระเปิมของวัดดอนแก้ว ถือได้ว่าเป็นพระต้นแบบของพระเปิมในที่แห่งอื่นเช่นพระเปิมของกรุวัดจามเทวี ซึ่งกู่ที่บรรจุพระเปิมวัดจามเทวีนั้นได้สร้างขึ้นภายหลังวัดดอนแก้วประมาณ 30 ปีคือสร้างขึ้นในปี พ. ศ. 1258

พระเปิมที่พบวัดจามเทวีนั้นมีรูปแบบเป็นอย่างเดียวกับพระเปิมวัดดอนแก้ว เพียงแต่ว่าเนื้อดินของพระเปิมของกรุจามเทวีจะมีเนื้อดินที่หยาบและด้านหลังจะบางกว่าอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาในปี พ. ศ. 1600 พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์ลำดับที่ 31ซึ่งครองราชย์นับต่อเนื่องจากพระนางจามเทวีเป็นระยะเวลานานถึง 387ปี ได้สร้างพระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัย ขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระนางปทุมวดีพระมเหสีโปรดให้จำลองแบบเจดีย์สุวรรณจังโกฎิ์ มาสร้างเป็นเจดีย์รูปแบบเดียวกันแต่มีขนาดเล็กกว่าไว้ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระบรมธาตุเรียกกันในชั้นหลังว่าปทุมวดีเจดีย์บรรจุพระเปิมที่มีลักษณะเฉพาะตัวของศิลปะในยุคนั้นไว้ในพระเจดีย์แห่งนี้ จึงเป็นที่มาของพระเปิมกรุวัดพระธาตุในตอนหลัง พอจะสรุปได้ว่าพระเปิมของกรุวัดดอนแก้วนั้นเป็นพระกรุที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด รองลงมาก็เป็นพระเปิมของวัดจามเทวีและหลังสุดก็เป็นพระเปิมของวัดพระธาตุในกรุปทุมวดี ถึงแม้จะมีความแตกต่างของอายุการสร้าง พระเปิมของทั้งสามแห่งนี้ก็มีพุทธคุณสูงยิ่งในทางข่ามคงกระพันชาตรี เป็นที่เชื่อมั่นและประจักษ์แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของที่มีไว้ติดตัวเพื่อคุ้มกันภัยร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะพุทธศิลป์ที่มีความงดงามและโดดเด่นเป็นผลดีทางจิตใจ ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของเกิดความสบายใจในยามเฝ้ามอง อันเป็นคุณลักษณะหนึ่งของพระกรุของเมืองโบราณแห่งนี้ ที่มีไว้ให้ชื่นชมกันด้วยความภาคภูมิใจ

ในครั้งนี้ผู้เขียนได้นำเอาพระเปิมของกรุวัดดอนแก้วลำพูนมานำเสนอต่อท่านให้ได้ชื่นชมกันกับความเก่าแก่ งดงามและมีคุณค่าของพุทธศิลป์ ให้ท่านได้เห็นอย่างเต็มอิ่มเพื่อเป็นคำตอบว่าพระเปิมที่เป็นพระกรุอันเก่าแก่ที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบอย่างลงตัวนั้นเป็นเช่นไร

ภาพที่ 1 พระเปิมวัดดอนแก้วสีเนื้อแก่ค่อนไปทางสีพิกุล มีคราบกรุเป็นสีดำสีแดงติดอยู่พอประมาณ องค์พระมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ด้านหลังอูมหนามีเนื้อเกินค่อนลงไปทางใต้ฐานล่าง หน้าตาหูปากจมูกติดชัดเจน รวมทั้งลวดลายของบัวสลับฟันปลาด้านล่างสุด ดวงตาของพระเปิมนี้จะยาวรี คิ้วเป็นรูปปีกกาไม่หนามากจนเกินงาม ห่มจีวรในลักษณะของการห่มคลุม จีวรจะแนบเนื้อ เห็นนิ้วมือขวาแตะอยู่กับพื้นที่ประทับชัดเจนสี่นิ้ว นิ้วหัวแม่มือกางออก ตามแบบฉบับของศิลปะหริภุญชัย ผ้าทิพย์เป็นรูปครึ่งวงกลมภายใต้ขาที่ขัดสมาธิ ภายในมีขีดเล็กๆอยู่ 7 ขีด อันเป็นสัญญลักษณ์ของพระเปิม มีขนาดกว้าง 2 3/4 ซ.ม สูง 4 1/4 ซ.ม.หนา 1 1/4 ซ.ม.ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 2 พระเปิม สีเขียวหินครกเนื้อแกร่งเพราะถูกไฟเผาด้วยแรงสูง มีคราบกรุที่เป็นสีแดงเกาะอยู่ตามซอกต่าง ๆขององค์พระ พระเปิมองค์นี้ด้านหลังไม่อูมหนา มีส่วนคล้ายกับด้านหลังของพระเปิมกรุวัดจามเทวี ซึ่งบางคนเห็นด้านหลังของพระเปิมแบบนี้ก็ตีเหมาเอาว่าเป็นของกรุวัดจามเทวีซึ่งไม่ใช่ เนื่องจากถูกไฟเผาด้วยอุณหภูมิสูงการหดตัวของเนื้อดินมีมาก จึงทำให้พระเปิมองค์นี้ดูมีขนาดเล็กลงมา มีความกว้าง 2 1/4 ซ.ม.สูง 3 3/4 ซ.ม.หนา 3/4 ซ.ม. แต่ความคมชัดของพิมพ์ทรงและลวดลายต่าง ๆเต็มร้อยเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบเป็นที่สุดของพระเนื้อนิยมองค์นี้ ขุดพบที่วัดดอนแก้ว ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 3 พระเปิมองค์นี้มีเนื้อเป็นสีชมพูแดงที่ติดพิมพ์ชัดเจนดีมาก ไม่บิ่นหรือชำรุดในส่วนใด โพธิ์ประดับงามเรียบร้อย จุดลับ จุดเด่นนั้นเห็นชัดเจนดี การห่มคลุมที่แนบเนื้อทำให้เห็นหัวนมทั้งสองเป็นตุ่มแม็ดกลมเล็กๆ เส้นจีวรที่อยู่ใต้ส่วนคอลงมาเป็นเส้นชัดเจน การประทับนั่งดูท่าทีเมินเฉยอย่างสงบเยือกเย็น ดวงตาทั้งสองมองลงเหลือบต่ำดูงามซึ้งอย่างสงบ พระเปิมองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 1/4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.ขุดพบที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 4 พระเปิมสีเขียวเนื้อแกร่งสีค่อนไปทางน้ำตาลอมดำ บางคนเรียกสีนี้ว่าสียาอมโบตัน พระเปิมองค์นี้เป็นพระเปิมอีกพิมพ์หนึ่งที่มีความแตกต่างจากพระเปิมสององค์แรก เป็นพิมพ์ที่มีส่วนเหมือนกับพระเปิมกรุวัดพระธาตุ เพียงแต่ว่าพระเปิมของกรุวัดดอนแก้วพิมพ์นี้จะมีหน้าตาที่ดุดันขึงขังกว่า ทางด้านหลังขององค์พระจะอูมหนาเหมือนกับของกรุวัดพระธาตุ ลวดลายต่าง ๆของใบโพธิ์ ก้านโพธิ์ตลอดจนเส้นสายรายละเอียดต่าง ๆรวมทั้งลวดลายของบัวสลับฟันปลาด้านล่างของฐานมีความคมชัดดีมาก ให้ท่านลองสังเกตุดู คิ้วจะหนา ตาจะโปนเห็นอุณาโลมเป็นเม็ดกลมกลางระหว่างคิ้ว เนื้อของพระเปิมองค์นี้แข็งแกร่งมาก หากลองเคาะกระจกฟังดูจะเป็นเสียงที่ดังกังวานเป็นเสียงที่บ่งบอกถึงความแกร่งของเนื้อพระ พระเปิมพิมพ์นี้พบเห็นน้อย จัดได้ว่าเป็นพิมพ์ที่หายากพิมพ์หนึ่ง มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. ขุดพบที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 5 พระเปิมวัดดอนแก้วสีชมพูแดง ที่มีเนื้อดินที่ถูกไฟเผาแรงปานกลาง จึงมีสภาพขององค์พระในลักษณะเดิม ๆที่เรียกได้ว่ามีขนาดพอดี เนื้อดินไม่หดตัวมาก ความคมชัดของพิมพ์ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สมบูรณ์ องค์พระงามเรียบร้อยไม่หักบิ่นในที่ใด คราบกรุติดอยู่เบาบางทำให้ลวดลายต่าง ๆดูเด่นชัดขึ้น ด้านหลังไม่นูนหนามากไม่บิดเบี้ยว เป็นพระเก่าเก็บที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีไม่ถูกนำไปใช้ จึงคงสภาพเดิมๆไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ความเก่าของเนื้อพระฟ้องอยู่ในตัวเป็นอย่างดี มีขนาดกว้าง2 1/2 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมือง ลำพูน

ภาพที่ 6 พระเปิมสีชมพูอ่อน เป็นพระที่งามสะอาดตา คราบกรุถูกล้างออกด้วยความปราณีต แต่องค์พระก็ยังคงไว้ซึ่งความคมชัดและงดงามและมีความเก่าในตัว เนื้อหานั้นเป็นเนื้อที่มีความละเอียด ดูนวลเนียนและหนึกนุ่มเมื่อส่องดูด้วยกล้องขยายจะเห็นความเนียนของเนื้อได้เป็นอย่างดี น่าเสียดายที่ถูกล้างคราบกรุทำให้เสียความเข้มขลังไปในความรู้สึก แต่ความคมชัดและเส้นสายรายละเอียดต่าง ๆก็มีให้ได้เห็นเป็นลักษณะเดิม ๆ ด้านหลังนั้นหนาค่อนข้างจะแบน พระเปิมองค์นี้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่ามีเนื้อที่แน่นจับต้องดูจะรู้สึก ความสมบูรณ์
เต็มร้อยกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.ขุดพบที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 7 เป็นพระเปิมเนื้อสีเขียวผ่านสีเนื้ออ่อน เป็นเนื้อดินที่มีความแกร่งเพราะถูกเผาด้วยไฟที่มีอุณหภูมิสูง พระเปิมองค์นี้มีเนื้อที่ค่อนข้างหยาบ เป็นพระเปิมพิมพ์เดียวกับพระเปิมของภาพที่ 4 ด้านหลังอูมนูนหนาองค์พระดูบึกบึนขึงขังสมกับคำนิยามของพุทธคุณที่กล่าวไว้ว่า “เสริมทนหนัก” เมื่อสำผัสองค์พระทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจในพุทธคุณจริง ๆ เพราะพุทธลักษณะและเนื้อหาที่แน่นมีน้ำหนักทำให้เกิดความเชื่อมั่น อย่างน่าประหลาดของความมหัศจรรย์ในพุทธคุณของพระกรุโบราณตามที่มีการกล่าวขานนั้น พระเปิมองค์นี้มีความกว้าง 2 3/4 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.ขุดพบที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 8 พระเปิมสีแดง เป็นพระเปิมอีกองค์หนึ่งที่มีขนาดใหญ่สมกับชื่อของพระเปิม เนื้อขององค์พระเป็นเนื้อที่มีความละเอียดปานกลาง พอ ๆกับพระคง พระบาง เรียกว่าเป็นเนื้อที่ อยู่ในเกณฑ์พอดี ในสมัยก่อนพระเปิมไม่มีราคาค่างวดอะไรมีคนนำเอาพระเปิมไปแกะเป็นพระซุ้มกอซึ่งเป็นพระที่มีราคาแพงกว่า จึงถือได้ว่าพระเปิมลำพูนนั้นมีเนื้อใกล้เคียงกับพระซุ้มกอเข้าไปโน่น ในเวลานั้นผู้คนไม่ค่อยจะรู้ซึ้งถึงพุทธคุณของพระเปิมจึงไม่ได้ให้ความสำคัญแก่พระเปิมมากนัก จึงทำให้ผู้คนมองข้ามพระกรุชนิดนี้ไป โดยหารู้ไม่ว่าพุทธคุณของพระเปิมนั้นมีอย่างรอบด้าน ทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรีมีอยู่พร้อม ภายหลังเมื่อทราบกัน พระเปิมก็เป็นพระที่ออกจะหายากไปแล้ว พระเปิมองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม .ขุดพบที่กรุวัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 9. พระเปิมองค์นี้มีความหนาและบึกบึนเหมือนกับพระเปิมองค์ที่ 1 .เป็นพระเปิมสีค่อนไปทางสีเนื้ออ่อน คราบกรุติดอยู่บาง ๆแต่ก็เห็นลวดลายต่าง ๆในองค์พระชัดเจนเป็นพระที่มีน้ำหนักด้านหลังจะอูมนูนหนา คราบกรุทางด้านหลังจะติดแน่นมองเห็นลายนิ้วมือของผู้กดพิมพ์ติดอยู่ ความงามและความสมบูรณ์ขององค์พระถือได้ว่าไม่เป็นรองใคร มีขนาดกว้าง 2 3/4 ซ.ม. หนา 1 1/2 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม.ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 10.พระเปิมสีแดงอีกองค์หนึ่ง ที่ถูกเผาด้วยไฟที่มีความร้อนสูง ทำให้เนื้อขององค์พระมีความแข็งแกร่ง ผิวที่ออกเป็นสีเขียวจึงปรากฎออกมาเป็นแห่งๆ โดยเฉพาะตรงพระเศียรจะมองเห็นชัดเจน พระเปิมองค์นี้มีเนื้อค่อนข้างจะละเอียด ความสมบูรณ์นั้นเต็มร้อย คราบกรุติดบางๆตามซอกต่างๆแต่ติดเพียงเล็กน้อย ด้านหลังไม่อูมหนามาก พองามอย่างเหมาะเจาะ ผิวขององค์พระดูเรียบร้อยเป็นพระต้นแบบได้องค์หนึ่งเลยทีเดียวเพื่อนำไปสำหรับดูเปรียบเทียบกับพระเปิมองค์อื่น ๆ มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม.ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 11 พระเปิมสีขาวนวล เป็นพระเปิมสีที่หายากและมีให้ได้เห็นน้อยที่สุด พระเปิมองค์นี้เป็นพระเปิมพิมพ์เดียวกับพระเปิมองค์ที่ 4 และองค์ที่ 7. ซึ่งคงจะเป็นต้นแบบของพระเปิมกรุปทุมวดีในวัดพระธาตุหริภุญชัย ความคมชัด งดงามในรายละเอียดต่าง ๆแทบจะไม่ต้องกล่าวถึง ทุกอย่างลงตัวอย่างสมบูรณ์อยู่ในตัวทุกประการเนื้อหาของพระเปิมองค์นี้มีความละเอียดนวลตาที่สุด มีน้ำหนักพอดีพองาม เป็นพระเปิมที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นนอย่างดี ลองพิจารณาและจำพิมพ์ให้แม่น ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 1/2 ซ.ม.ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 12 พระเปิมสีแดงที่งามเรียบร้อยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นพระเปิมที่มีขนาดกระทัดรัด ไม่ใหญ่มากเป็นพระเปิมที่ให้รายละเอียดต่างๆชัดเจนดี คราบกรุติดอย่างบางๆ ทำให้องค์พระดูเด่นเป็นสง่า พุทธคุณของพระเปิมนั้นถือกันว่ามีพุทธคุณทางข่ามคง คงกระพันชาตรี ในสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่นิยมกันโดยนำติดตัวเข้าป่าเข้าดอยเพราะเชื่อมั่นในพุทธคุณทางด้านกันงูเงี้ยวเขี้ยวขอได้ชะงัดนัก เรื่องโดนของหนักถาโถมทับเข้าใส่เช่นดิน หิน ต้นไม้ถล่มทับลงมา ก็เช่นกัน มีตัวอย่างเล่ากันว่า มีผู้ที่ถูกสุนัขตัวใหญ่กัดฟัดเข้าให้ จนเสื้อผ้าที่สวมใส่ขาดหลุดลุ่ย แต่ไม่เกิดบาดแผลใดๆ นอกจากเป็นรอยฟกช้ำเล็กน้อย น บางรายรถชนกันจนรถพังเสียหายไปทั้งคันแต่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต นั่นคือคำเล่าขานของพุทธคุณของพระเปิมลำพูน ซึ่งบางทีอาจจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ พระเปิมองค์นี้ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูนมีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม.หนา 1 ซ.ม.สูง 4 ซ.ม.

ภาพที่ 13 พระเปิมสีเขียวหินครกด้านหลังบางเนื้อแกร่ง สภาพงามเรียบร้อยด้วยประการทั้งปวง ด้านหลังของพระเปิมองค์นี้บางไม่นูนหนามีส่วนคล้ายกับพระเปิมของกรุวัดจามเทวีแต่ไม่ใช่ ซึ่งสังเกตได้จากการดูลักษณะขององค์พระและเนื้อดินที่มีความละเอียดกว่ารวมทั้งพิมพ์ทรงที่มีความแตกต่างกันในบางจุดบางแห่ง พระเปิมองค์นี้งามทั้งสีและงามทั้งเนื้อจึงเป็นที่ต้องการของนักสะสมพระที่มีความต้องการพระที่สมบูรณ์สวยงามจริง ๆ คราบกรุเป็นคราบสีแดงที่ทำให้องค์พระดูเด่นมากยิ่งขึ้น หากนำไปใส่ในตลับทองแล้วใส่ไว้ในสร้อยเข้าชุดกับพระองค์อื่นๆที่อยู่ในชุดสกุลลำพูนแล้วยิ่งจะเพิ่มคุณค่าในองค์พระให้สูงเด่นเป็นที่น่าอิจฉาในผู้ที่เป็นเจ้าของโดยแท้ พระเปิมเนื้อเขียวหินครกนี้ ผู้ที่นิยมสะสมพระกรุต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นพระที่มีเนื้อสวยแบบสู้แว่นซึ่งดูไม่เบื่อ ยิ่งพิศยิ่งงามตา เป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่งที่จะหาซื้อไม่ได้ด้วยเงิน พระเปิมองค์นี้ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.สูง 3 3/4 ซ.ม.

ภาพที่ 14 พระเปิมวัดดอนแก้วสีชมพูอ่อนอีกองค์หนึ่งที่มีขนาดพอดี ด้านหลังไม่อูมหนามาก ทรวดทรงองค์เอวงามเรียบร้อยน่าประทับใจ เป็นพระเก่าเก็บที่ไม่ได้ถูกใช้ จึงมีความสมบูรณ์ไม่สึกหรอหรือมีส่วนเสียหายใด ๆ เป็นพระที่มีเนื้อสะอาดอยู่ในสภาพเดิมๆ คราบกรุเป็นคราบสีขาวนวลติดอยู่อย่างเบาบาง องค์พระมีความพอดีและลงตัวในทุกอย่าง ปัจจุบันจะหาพระกรุที่มีสภาพแบบนี้ยากมาก พระกรุที่มีให้เห็นในสนามหรือตามที่ต่างๆไม่บิ่นก็ชำรุดเสียหาย หรือม่ายก็โดนใช้จนสึกหมดความงาม เอาอวดใครก็ไม่ได้ หากจะให้เลือกแล้วควรจะหาพระกรุแท้ๆที่มีความสวยงามสมบูรณ์แบบจะได้เปรียบกว่า อีกทั้งการเก็บสะสมพระที่สวยนั้นนับวันยิ่งจะเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง จะนำไปโชว์หรืออวดใครก็เต็มไปด้วยความภูมิใจและมั่นใจ โชว์ใครก็ไม่อายเขา โชว์ได้อย่างเต็มที่ ทุกวันนี้เงินทองนั้นยังพอมีโอกาสหากันได้ แต่พระกรุที่สวยงามสมบูรณ์จริงๆและเป็นพิมพ์นิยมนั้นหาพบได้ยากกว่า การมีพระกรุแท้ๆ สวยๆนั้นเป็นความสุขทางใจที่ทำให้ชีวิตเต็มเปี่ยมไปด้วยความรื่นรมย์ หรือว่าไม่จริง? พระอง์นี้มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1ซ.ม. สูง 4 ซ.ม.ขุดได้ที่วัดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 15 เป็นภาพสุดท้ายของพระเปิมกรุวัดดอนแก้ว ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าพระเปิมกรุนี้มีพิมพ์เป็นสองพิมพ์ดังที่ได้นำมาแสดงให้ได้เห็น สำหรับพระเปิมพิมพ์นี้เป็นพิมพ์ที่มีลักษณะดุดันเข้มขลัง ตาโตนูนโปนออกมาอย่างเห็นได้ชัด คิ้วหนา ปากแบะเม็ดพระศกใหญ่ อุณาโลมเม็ดกลมโตอยู่ตรงกลางระหว่างคิ้ว ลำตัวอวบอ้วน กิ่งโพธิ์ก้านโพธิ์ ใบโพธิ์พลิ้วไหวราวกับล้อลม เล่น ก้านใบดูอ่อนไหวสังเกตดูความโค้งของก้านใบและความละเอียดของรูปแบบศิลปะก็จะเห็นตามที่ผู้เขียนบอกกล่าว พระเปิมพิมพ์นี้มีพบที่กรุวัดพระธาตุในกรุปทุมวดีย์ด้วย ซึ่งคงจะนำไปเป็นแม่แบบแล้วปรับแต่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของพระเปิมกรุวัดพระธาตุ ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป พระเปิมองค์นี้มีคราบกรุติดอยู่ตามส่วนต่าง ๆค่อนข้างหนา แต่ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุที่ทำให้เราดูแล้วเกิดมิติ ผู้ที่ศึกษาเรื่องพระกรุในพระชุดสกุลลำพูนนั้นควรคำนึงถึงเรื่องเนื้อหาและคราบกรุที่มีความเก่าแก่สมกับอายุของพระ และจดจำไว้ให้ดีเพื่อที่จะได้เป็นแบบอย่างนำไปเปรียบเทียบกับพระชนิดเดียวกันเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสิน จงอย่าเล่นพระด้วยหู และอารมณ์คล้อยตาม ค่อยดูค่อยคิด ดูด้วยตาของเรา คิดด้วยตัวเราเอง หาตัวอย่างดีๆเพื่อศึกษา จำเนื้อจำพิมพืให้แม่น ตำรับตำราปัจจุบันมีอยู่มากมาย รวมทั้งรูปภาพพระที่ได้รับการรับรอง บางทีก็ต้องลงทุนทุ่มเท หาเช่าจากคนที่เชื่อถือและรับรองได้ การศึกษาและเอาใจใส่อย่างจริงจังทำให้เรามีโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าของพระแท้ที่ทำให้เราพอใจและไม่ผิดหวัง ไม่มีอะไรที่จะได้มาโดยง่าย และไม่มีอะไรที่เกินความสามารถหากเรามุ่งมั่นกับมันจริงๆ สำหรับพระเปิมองค์นี้ขุดได้ที่วัดดอนแก้ว ตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม. สูง 3 3/4ซ.ม. พระเปิมทั้ง 15 องค์ที่นำเสนอนี้เป็นพระที่ขุดได้จาก วัดดอนแก้วที่มีอายุการสร้างที่เก่าแก่ยืนยาวนานเป็นพระต้นแบบของพระเปิมกรุอื่นๆ หากมีโอกาสและมีผู้ที่สนใจใคร่รู้ใคร่เห็นพระกรุในชุดสกุลลำพูนที่งามสมบูรณ์ ในแบบพิมพ์ต่างๆผู้เขียนก็จะทะยอยนำมาเสนอเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะพระเปิมกรุวัดพระธาตุซึ่งไม่มีให้เห็นตามหนังสือหรือแผงพระทั่วไปทำให้มีการตีความออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริง โปรดได้ติดตาม.