พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมวัดประตูลี้ลำพูน (พระเลี่ยง)
มีลำนำ ค่าวเครือ ซึ่งเป็นบทกลอนโบราณพื้นบ้าน ที่กล่าวถึงการสร้างวัดสี่มุมเมืองของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ ผู้ครองนคร หริภุญไชย ตอนหนึ่งกล่าวถึงการสร้างวัดประตูลี้ที่มีการสร้างพระเลี่ยงเล็กพิมพ์นิยมขึ้นมา ว่าไว้อย่างน่าฟังดังนี้
ด้านศาสนา ศรัทธาเลื่อมใส ทรงพอพระทัย สร้างวัดขึ้นมา
วัดสี่มุมเมือง ทั้งสี่ทิศา ปราการพุทธา ฮักษาเมืองนี้
หื้อเป็นมิ่งขวัญ จาวเมืองสุขศรี กำลังใจ๋มี ต่อพุทธะท่าน
เป็นที่เคารพ ไหว้บูชากั๋น ทุกคนยึดมั่น ใฝ่หาความดี
บ้านเมืองเรียบร้อย มั่นคงเต็มที่ จาวเมืองเขามี ความสุขถ้วนหน้า
ตางหนวันออก ดอนแก้ว วัดป่า ชื่อเดิมมีว่า อรัญญิกรัมมะการาม
บรรจุพระเครื่อง พระเปิม พระสาม พระบางลือนาม พระป๋วย ก็มี
พระเจ้า ต๋นหลวง แป๋งไว้วัดนี้ เป็นหินแกะมี ฝีมืองามกั๋น
ส่วนตางหนใต้ สังฆาราม นั้น บ่ะ เดี่ยวฮ้องกั๋น วัดประตู๋ลี้
มี พระเหลี้ยมหน้อย แป๋งงามสุดที่ ศิลปะเปิ้นดี สุดยอดแต๊ว่า
เป็นคั่งองค์แทน เจ้าแม่ เปิ้นนา ลองเอาขึ้นมา แยงผ่อหื้อดี
ตั๊ดองค์กล๋างนั้น ทรงเครื่องเต็มที่ ซุ้มฉัตรเปิ้นมี อย่างกษัตรา
สององค์เคียงข้าง องค์กล๋างเหนือฟ้า ประดับประดา ฉัตรอยู่ตางบน
ซุ้มรัศมี โดยรอบตั๋วต๋น ประดับอยู่บน พระแท่นสองข้าง
ตางลุ่มพระแท่น เป็นรูปหัวช้าง ตั๊ดที่ตั๋วกล๋าง ปู้ก่ำงาเขียว
สองข้างช้างทรง สองแฝดแน่เชียว เฮาต้องเฉลียว ไยแป๋งมาอั้น
เป็นสัญญลักษณ์ หื้อหู้ไว้กั๋น พระเหลี้ยมหน้อยนั้น เปิ้นมีความนัย
อันความสำคัญ ของช้างมีไว้ พาหนะเจ้านาย เปิ้นจักต้องมี
หมู่คนจาวบ้าน บ่ มีช้างขี่ สำคัญคนที่ ชั้นสูงตะอั้น
ปอจะเห็นว่า สร้างพระเหลี้ยมนั้น เป็นเกียรติหื้อท่าน นางจ๋ามเทวี
บ่ มีที่ไหน พระงามอย่างอี้ สุดจะเปรียบมี พระเหลี้ยม หละปูน
พระเหลี้ยมเล็ก พิมพ์นิยม หรือที่เรียกกันในวงการพระเครื่องว่า พระเลี่ยง นั้น หากเรานำองค์พระที่ติดพิมพ์ชัดเจนและมีความสมบูรณ์ ไม่หักบิ่น ชำรุดขึ้นมาพิจารณาดูอย่างถ้วนถี่ ก็จะเห็นว่า พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม เป็นพระกรุที่มีศิลปะงดงามอลังการ์จริงๆ ชนิดที่ว่ายากจะหาพระกรุอื่นใดมาเปรียบเทียบเคียงได้ ศิลปะต่างๆในองค์พระเลี่ยง จัดได้ว่างดงามเยี่ยมยอด แสดงถึงภูมิปัญญา และอารมณ์ศิลปะของช่างศิลป์ ที่สามารถสร้างสรร พระที่มีความงามพร้อมเช่นนี้ขึ้นมาได้ ถือว่าเป็นยอดฝีมือขั้นเทพ เลยทีเดียว พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมนี้เป็นพระพิมพ์ที่มีเค้าแบบเหมือนกับพระพิมพ์ทางเมืองลพบุรี ซึ่งเมื่อทราบถึงความเกี่ยวพันระหว่างเมืองลพบุรีและลำพูนแล้ว ก็ไม่เป็นข้อสงสัยหรือกังขาใด ๆ
พระเหลี้ยมหรือพระเลี่ยงเล็กพิมพ์นิยม เป็นยอดพระกรุของวัดประตูลี้ที่ผู้ที่นิยมในพระกรุ ต่างได้ให้ความสำคัญและเสาะแสวงหากันอย่างแท้จริง แต่พระที่สวยและสมบูรณ์แบบนั้นเป็นของที่หายากในปัจจุบันไม่มีให้พบเห็นในสนามพระ นอกจากจะอยู่ในรังของนักสะสมเท่านั้น จากความหมายในลำนำ ค่าวเครือ ที่ได้กล่าวถึงการสร้างวัดสี่มุมเมืองขึ้นมาในเมือง หริภุญไชย เพื่อเป็น พุทธปราการ อันเป็นการทำให้ขวัญและกำลังใจและเป็นที่เคารพบูชาในพระพุทธศาสนา ของชาวบ้านชาวเมืองยุคนั้นให้มีความมั่งคงและเข้มแข็ง ในทางทิศตะวันออกได้สร้าง วัดดอนแก้ว บรรจุพระเครื่องต่างๆอาทิ พระเปิม พระสาม พระบาง พระป๋วย และสร้างพระพุทธรูปหินแกะองค์ใหญ่เป็นต้น ทางทิศเหนือให้สร้าง วัดพระคงฤาษี บรรจุพระคง พระบางไว้เป็นสัญญลักษณ์ของวัด ทางทิศตะวันตก สร้างวัดมหาวัน บรรจุพระรอด พระรอดหลวงเป็นสัญญลักษณ์ของวัด ทางทิศใต้สร้างวัดประตูลี้บรรจุพระลือหน้ามงคล พระลือโขง พระเลี่ยงหลวง พระเลี่ยงเล็กเป็นสัญญลักษณ์ของวัด ด้วยความงดงามในรายละเอียดต่างๆในองค์
พระเลี่ยงเล็กพิมพ์นืยมซึ่งหากเรานำมาพิจารณาให้ดีในความหมายของลวดลายและองค์ประกอบของพุทธศิลป์ในองค์พระที่แปลกแตกต่างและมีความงดงามกว่าพระพิมพ์อื่นใดในพระชุดสกุลลำพูน พอจะอนุมานได้ว่า การสร้างพระเลี่ยงเล็กพิมพ์นิยมขึ้นมานั้น เป็นความตั้งใจสร้าง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความเป็นกษัตรีย์ ของพระนางจามเทวี ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นข้อสังเกตหลายประการ โดยพิจารณา จากรูปลักษณะของศิลปะในองค์พระซึ่งมีความแตกต่างจากพระพิมพ์ทั้งหลายทั้งปวง ที่ได้ถูกสร้างขึ้นในยุคเดียวกัน เป็นต้นว่า องค์พระตรงกลางที่เป็นองค์ประธานนั้นทรงเครื่องแบบพระมหากษัตริย์ อีกทั้งมีฉัตรอันเป็นเครื่องประดับยศชั้นสูงอยู่ข้างบน สองข้างของพระองค์กลาง ไม่ใช่เป็นไปของลักษณะเดียรถีย์ตามที่ว่ากันไว้ มีลักษณะขององค์พระกุมารสององค์มากกว่า การประทับนั่งก็นั่งอยู่ในท่ามหาราชลีลา สังเกตดูตรงรอบเศียรองค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนั้นจะมีซุ้มรัศมีโดยรอบเศียร เหนือเศียรขึ้นไป ก็เป็นฉัตรประดับทั้งสองด้าน แสดงให้เห็นว่าเป็นการประดับเกียรติแก่เจ้านายที่เป็นเชื้อพระวงค์ ชั้นสูง
ส่วนตรงฐานชั้นล่างถัดลงไป ทำเป็นหัวช้างซึ่งเป็นเครื่องประดับยศที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือในสมัยโบราณนั้น ช้างจะมีไว้สำหรับเจ้านายชั้นสูง หรือบรรดาข้าราชการที่มียศตำแหน่งเท่านั้น คนธรรมดาสามัญ ไม่มีสิ่งเหล่านี้ และในเวลานั้นช้างเผือกคู่บารมีก็ได้เข้ามาสู่พระนครคือ ช้างปู้ก่ำงาเขียว จึงเป็นการเหมาะอย่างยิ่งที่จะประกาศเกียรติคุณแห่งพระนางและราชโอรสแฝดให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทวยประชาราษฎร์ทั้งปวง ด้วยเหตุดังกล่าว พระเลี่ยงเล็กพิมพ์นิยมนี้น่าจะมีความหมายถึง พระนางจามเทวีและองค์ราชบุตรฝาแฝด ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
พระเลี่ยงขึ้นอยู่หลายกรุ หลายแห่ง แต่สุดยอดของพระเลี่ยงก็คือกรุของวัดประตูลี้นั่นเอง สำหรับเรื่องพิมพ์ทรงของพระเลี่ยงนั้นมีกันหลายพิมพ์ และมีหลายขนาด ลวดลายหรือความแตกต่างก็มีให้ได้เห็นในแต่ละแบบและแต่ละชนิด ในครั้งนี้จะขอพูดถึงพระเลี่ยงพิมพ์นิยมกันก่อน สำหรับพิมพ์อื่นๆหากมีโอกาสก็จะนำมาเสนอต่อไป พระเลี่ยงพิมพ์นิยมนั้นมีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด รายละเอียดของพิมพ์ทรงก็มีแตกต่างกันบ้าง
แต่ภาพโดยรวมก็ จะคล้ายคลึงกัน จะมีแตกต่างบ้างก็คือฝีมือเชิงช่างในแต่ละบล๊อกเท่านั้น เป็นที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งก็คือ ตรงส่วนที่เป็นปลายแหลมของพระเลี่ยงนั้น จะชำรุดและแตกหักเสียหายเป็นส่วนใหญ่ เพราะตรงปลายที่แหลมจะยาวและมีขนาดเล็กมาก จึงเป็นการยากที่จะต้องระมัดระวังในเวลาที่ทำการขุดหาซึ่งจะมีผลเสียหายเกิดขึ้นถ้าหากไม่ ระวังในการขุดให้ดี ดังนั้นการที่จะพบเห็นพระเลี่ยงที่มีความงามและสมบูรณ์พร้อมจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีให้ได้พบเห็นเลย ผู้เขียนจึงได้นำองค์พระที่สมบูรณ์และงามพร้อมพอที่จะเป็นต้นแบบของพระเลี่ยงแท้ๆมาเสนอให้ได้ชื่นชมกัน จะได้รู้ว่า พระเลี่ยงที่สมบูรณ์พร้อมมีความงดงามและน่าเก็บสะสมไว้แค่ไหน
พระเลี่ยงเป็นพระเนื้อดินเผา ขนาดกลาง ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป มีกันหลายสีตามสภาพของเนื้อดินที่ถูกเผา เช่น สีแดง สีขาว สีเนื้อ สีเทา สีดำ สีเขียวหินครก เป็นต้น พระเลี่ยงนั้นมีทั้งชนิดเนื้อหยาบ และเนื้อละเอียด สีของพระเลี่ยงที่ให้รายละเอียดมากที่สุดก็คือสีเขียวหินครก ทั้งนี้เป็นเพราะพระเลี่ยงสีนี้จะถูกไฟเผาในอุณหภูมิสูง จึงทำให้เนื้อขององค์พระแข็งแกร่งมาก การคงสภาพเดิมๆจึงมีมากกว่าพระในสีอื่นๆแม้ว่าจะจมอยู่ในน้ำหรือดินโคลนชนิดใดก็ตาม ความแข็งแกร่งของเนื้อหินครกนี้ จะคงความสมบูรณ์ของรายละเอียดขององค์พระได้เป็นอย่างดีพระเลี่ยงของกรูวัดประตูลี้ส่วนใหญ่มีเนื้อที่ค่อนข้างจะหยาบ แต่ที่เป็นเนื้อละเอียดก็มีให้ได้เห็นเช่นเดียวกับพระลือหน้ามงคล ซึ่งเป็นพระกรุเดียวกัน
เราจะมา พูดถึงส่วนต่างๆของพระเลี่ยงพิมพ์นิยมว่าจะมีลักษณะเช่นใด
1. พระเลี่ยงเป็นพระที่ทรงสวมมงกุฏ ทรงเทริดขนนก ที่บ่งบอกถึงความเป็นพุทธมหายานไว้อย่างเต็มตัว เป็นพระเครื่องที่มีรายละเอียดโดยรวมที่ไม่เหมือนพระชนิดอื่นๆที่มีขนาดเดียวกันและเป็นพระกรุที่มีอายุยาวนับพันปี
2. มงกุฎที่สวมใส่ ของพระเลี่ยงเล็กพิมพ์นิยมนี้ จะมีความแตกต่างของแต่ละพิมพ์ ซึ่งจะต้องสังเกตพระในแต่ละองค์ ก็จะเห็นความแตกต่างนั้นๆ ลักษณะของมงกุฎเป็นแบบมีกลีบ 3. กลีบแบบเดียวกับมงกุฎของพระสิบสอง ดูแปลกตาและสวยงามดี
3.วงหน้าขององค์พระจะยาวตรงส่วนคางจะแหลมนิดๆพองามสมลักษณะ ภาพโดยรวมเมื่อมีมงกุฎสวมอยู่ ก็ดูสง่าเหมาะสมกับความเป็นพระพิมพ์อันล้ำค่า
4. พระเลี่ยงมีดวงตาที่กลม โต นูนสูงออกมา ดวงตาเป็นตาเนื้อ แม้องค์พระจะมีขนาดเล็กแต่ก็ได้ให้รายละเอียดในทุกส่วนได้อย่างน่าทึ่งในฝีมือของเชิงช่างชั้นสูงได้เป็นอย่างยิ่ง
5 . หูทั้งสองข้างของพระเลี่ยงประดับด้วยกุณฑล คือต่างหู ที่ยาวห้อยย้อยลงมาพาดตรงบ่าอย่างแนบเนียนกลายเป็นส่วนหนึ่งของลายประดับได้อย่างน่านิยม ความละเอียดของฝีมือนั้นทำให้เราได้เห็นแม้กระทั่งร่องของกุณฑลเป็นร่องยาวอย่างน่ารัก
6.ส่วนที่เป็นหน้าอกของพระเลี่ยงซึ่งเป็นพระแบบทรงเครื่อง อย่างกษัตริย์นั้น มีกรองศอหรือสร้อยคอประดับอยู่อย่างเห็นได้ชัด ตรงไหล่ซ้ายและขวา จะมองเห็นส่วนปลายของต่างหูที่ห้อยลงมาพาดบ่าทั้งสอง เป็นส่วนประกอบให้ลวดลายบนหน้าอกดูเด่นยิ่งขึ้นมีความลงตัวในส่วนนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ
7. ลำองค์หรือลำตัว ของพระเลี่ยงนั้นงามได้สัดส่วนดี เรียกได้ว่าสมส่วนด้วยประการทั้งปวง ลักษณะเป็นรูปตัววี ซึ่งพระแท้ของศิลปะหริภุญไชยจะมี ความเป็นเอกในเรื่องโครงสร้างให้ลองพิจารณาพระชนิดอื่นประกอบด้วยก็จะมีความเข้าใจในแง่นี้
8.ส่วนท้องของพระเลี่ยง ไม่ป่องและไม่เรียบแบนจนเกินไป ไม่ปรากฎรอยของสะดือ ตรงส่วนท้องนี้จะมีเส้นเล็กๆพาดยาว แสดงถึงขอบของสบง หรือเครื่องนุ่งห่มส่วนล่าง
9 .หน้าตักหรือพระเพลา งามเหมาะพอตัว มีสัดส่วนที่ดี ประทับนั่งในท่าสมาธิเพชร เท้าขวาทับเท้าซ้าย
10. ส่วนแขนหรือพระพาหา แขนขวาขององค์พระ กางออกจากลำตัวเล็กน้อย วางทอดตัวลงมาจากบ่าขวา พาดลงมาตรงบริเวณเข่าขวา ฝ่ามือจะแบออก นิ้วจะแตะกับพื้นบัลลังก์ แขนซ้ายขององค์พระ วางทอดลงมาจากไหล่ซ้าย ลำแขนจะกางออกจากองค์พระเล็กน้อย วางทอดลงมา เป็นจังหวะ 3.จังหวะ วางพาดลงบนหน้าตัก
เช่นเดียวกับการวางแขนของพระรอด ฝ่ามือจะแบออกวางอยู่ตรงเหนือ ส้นเท้าซ้ายที่โผล่ให้เห็น ตรงกลางของลำแขนซ้าย จะเห็นชายจีวร วางพาดลงมายังส่วนของหน้าขาซ้ายด้านใน
11.ส่วนฐานที่ประทับนั่งนั้น ทำขึ้นมาด้วยความปราณีตบรรจง มองดูสวยงามและแปลกตากว่าฐานของพระชนิดอื่นใดองค์พระเลี่ยงไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่โตอะไรมากนัก แต่เส้นสายรายละเอียดในองค์พระนั้นมีมากมายและงดงามอย่างน่าทึ่ง แสดงถึงความทุ่มเทเพื่อจะสร้างพระเลี่ยงนี้ให้เป็นสุดยอดของพระเครื่องโดยแท้จริง
ฐานของพระเลี่ยงแบ่งออกเป็นสามชั้น ฐานชั้นบนจะมีอยู่สองแบบ คือแบบที่หนึ่งจะเป็นแบบฐานบัวเม็ดกลมซึ่งเป็นฐานที่มีบัวลูกแก้วเป็นตัวประดับที่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ เรียงรายกันทั้งบนและล่างตลอดแนวของฐานที่ประทับ ซึ่งจะแยกเป็นลักษณะของพระเลี่ยงพิมพ์หนึ่ง ส่วนฐานที่ประทับอีกแบบหนึ่งนั้นคือพระเลี่ยงแบบฐานเป็นลักษณะบัวเหลี่ยมที่วางซ้อนกันทั้งบนและล่างตลอดแนวของฐาน นี่ก็เป็นพระเลี่ยงอีกพิมพ์หนึ่ง
ฐานชั้นที่สอง ซึ่งเป็นฐานชั้นตรงกลาง ฐานชั้นนี้มีความแปลกและมีความหมายสำคัญที่บ่งบอกถึงสถานะภาพขององค์พระที่ประทับนั่งอยู่เหนือขึ้นไป ว่าอยู่ในฐานะที่สูงส่ง ถึงชั้นของพระมหากษัตรืย์เลยทีเดียว ฐานชั้นนี้ทำเป็นรูปหัวช้าง เรียงกันถึงสามหัว ระหว่างหัวช้างแต่ละหัวนั้นจะถูกคั่นด้วยช่องเล็กๆ ที่อยู่ลึกลงไป สองช่อง ในแต่ละช่องให้สังเกตดูก็จะเห็น มีขีดเล็กๆ 2 ขีดรวมสองช่องก็ จะเป็น 4 ขีด ขีดที่มีอยู่ในแต่ละช่องนั้น จะไม่ขีดจนเต็มเนื้อที่ แต่จะเป็นขีดที่ยาวเพียง 3/4 ฃองช่อง ด้านล่างจะเป็นรอยบุ๋มลึกลงไป จึงทำให้ขีดที่มีอยู่ดูลอยตัวขึ้นมาด้านบนดูมีมิติ ขีดทั้งสองนั้นก็คือ หูช้าง ของหัวช้างทั้งสามนั่นเอง ให้พิจารณาดู หัวช้างตรงกลางจะมีสองหูคือทางซ้ายและขวา ที่เหลือคือใบหูของหัวช้างทางด้านซ้ายและทางขวา หัวช้างทั้งสามหัวของ พระเลี่ยงองค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจน จะเห็น ตะพองหัว ตา หู งวง งา ครบถ้วน งวงช้างทางด้านขวานั้นจะม้วนงวงไปทางด้านขวา หัวช้างทางด้านซ้าย จะม้วนงวงไปทางด้านซ้าย สำหรับหัวช้างตรงกลางจะม้วนงวงไปทางด้านซ้าย เป็นจุดสังเกตจุดหนึ่งของพระเลี่ยงเล็กพิมพ์นิยม
ฐานชั้นที่สาม เป็นฐานรองรับฐานด้านบน เป็นการทำให้องค์พระมีความลงตัวและเรียบร้อยไม่ขัดต่อสายตาฐานชั้นนี้ทำเป็นเส้นที่ไม่นูนหนามาก แต่ก็มีความเหมาะสมดีไม่น่าเกลียด ถัดจากฐานชั้นนี้ก็จะเป็นก้นฐานที่พับขึ้นมาทางด้านหน้าใกล้เคียงกันฐานของพระรอด
12 .บังสูรย์หรือซุ้มรัศมีของพระเลี่ยง ดูงามเด่นเป็นสง่าและมีความชัดเจนกว่าพระชนิดอื่นใด ช่างศิลป์ได้ทำเป็นรูปกลีบบัวปลายแหลม เส้นซุ้มรัศมีนี้จะเป็นเส้นที่เล็กแหลมคมงดงามดูมีมิติ เริ่มต้นจากตรงริมสุดของหัวไหล่ทั้งสองข้าง โค้งขึ้นไปจรดกับซุ้มด้านบนสุด เหนือยอดมงกุฎที่เป็นยอดปลายแหลม การโค้งขึ้นไปของเส้นซุ้มรัศมีนี้ ทั้งสองด้านได้สัดส่วนสวยงาม ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป สังเกตตรงส่วนของปลายมงกุฎที่แหลม จะอยู่ตรงจุดที่พอดีกับปลายแหลมของซุ้ม ทำให้ดูไม่ขัดตา เพราะเส้นซุ้มมีความชัดเจนดี จึงทำให้เศียรของพระดูโดดเด่นและงดงามยิ่ง
13. เหนือขึ้นไปด้านบนของซุ้มรัศมี จะทำเป็นฉัตร 5.ชั้น ฉัตรนี้เป็นของสูงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีคุณูประการต่อเหล่าปวงประชา เรียกว่าเป็นฉัตรยอด คือเศวตรฉัตรเหนือบัลลังก์
14.ฉัตรที่อยู่ถัดลงมาคือฉัตรกลาง จะเห็นอยู่ตรงสองข้างของซุ้มรัศมีที่อยู่ด้านข้างตรงแนวของมงกุฎ ฉัตรนี้เริ่มจากส่วนบนของปลายยอดฉัตรล่าง โค้งไปตามแนวของเส้นบังสูรย์ ส่วนปลายของฉัตรกลางนี้จรดกับชั้นล่างสุดของฉัตรยอด รูปร่างของฉัตรชั้นกลางนี้ทำเป็นลวดลายกลมๆเล็กๆวางเรียงขึ้นไปข้างละสามอัน ถัดขึ้นไปจะเป็นส่วนปลายที่ทำเป็นสามเหลี่ยมก้นมนปลายแหลม ทั้งสองด้านทำเป็นแบบเดียวกันคือให้มองดูลงตัวเหมาะสม ที่ต้องทำเช่นนี้เป็นเพราะเนื้อที่มีจำกัด และเนื้อที่ตรงส่วนนี้แคบมาก จึงต้องประดิษฐ์คิดทำให้ดูดี ส่วนตรงปลายบนจะมีลักษณะเรียวแหลม แสดงให้เห็นเป็นส่วนของยอดฉัตร พิจารณาอย่างละเอียดจะเห็นความคมชัดของลวดลายของฉัตรชั้นนี้ ซึ่งตรงจุดนี้ของปลอมจะเบลอไม่มีความชัดเจนและมีความเทอะทะ เป็นจุดสังเกตอีกจุดหนึ่ง
15. ฉัตรล่างนั้นจะเริ่มจาก เหนือซุ้มรัศมีของพระกุมารขึ้นไป เป็นลักษณะของฉัตร สี่ชั้นทั้งสองข้าง ในบางพิมพ์ก็มีเพียงสามชั้นแตกต่างกันไป ฉัตรที่อยู่ด้านบนสุดของฉัตรกลุ่มนี้จะมีส่วนปลายแหลมมีความคมและชัดเจนดี
16.วงนอกของฉัตร จะมีเส้นเป็นขอบปริมณฑล เป็นเส้นเล็กๆที่กั้นส่วนของฉัตรไว้ภายใน เป็นเส้นนูนที่มีความชัดเจนมาก เส้นนี้จะเดิ นรอบฉัตรด้านนอก วิ่งขึ้นไปจรดปลายแหลมส่วนบนสุด หากเส้นนี้ใหญ่ ไม่คมชัดมีลักษณะเหมือนหวายผ่าซีก ให้ตัดสินว่าไม่ใช่ของแท้
17. นอกจากจะมีเส้นขอบปริมณฑลแล้ว โดยรอบของเส้นขอบปริมณฑล ยังทำลวดลายเป็นเม็ดบัวเล็กๆเรียงรายขึ้นไปโดยรอบจะเรียกว่าบัวเม็ดไข่ปลาอีกชั้นหนึ่ง ลวดลายของบัวเม็ดไข่ปลาที่เรียงรายขึ้นไปทั้งสองด้านดังกล่าวทำอย่างงามเรียบร้อยเสมอกันหมด ตั้งแต่ส่วนล่างริมขอบสุดของฐานไปจนถึงปลายแหลมด้านบน ทั้งสองข้างจะทำเหมือนกัน เป็นความตั้งใจของฝีมือเชิงช่าง ที่มีความคิดในการประดิษฐ์ลวดลายใส่ไว้ในองค์พระปฏิมาขนาดเล็กได้อย่างน่าทึ่งและน่าประทับใจ
18.สองข้างขององค์พระที่เป็นองค์ประธานนั้น จะเป็นพระกุมารตัวน้อยๆนั่งชันเข่าในท่าที่สบาย เหนือเศียรขององค์กุมารทั้งสององค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนจะเห็นซุ้มรัศมีประดับโดยรอบ แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีบุญ และเหนือซุ้มรัศมีขึ้นไปก็จะเป็นฉัตรประดับอยู่ แสดงถึงสถานะของผู้ที่ประทับนั่งอยู่ ณ ที่นั้นว่าอยู่ในสถานะใดมี ความสำคัญระดับไหน ให้ท่านตั้งข้อสังเกตดู
ภาพของพระเลี่ยงที่นำมาเสนอให้ท่านได้ชมนี้เป็นพระเลี่ยงที่มีตวามงามสมบูรณ์พร้อม มีความคมชัดของพิมพ์ไม่หักบิ่นหรือลบเลือนตรงส่วนใด จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในบางส่วน แต่ก็จัดได้ว่าเป็นพิมพ์นิยมที่หาดูได้ยากยิ่ง ในการอธิบายภาพ ผู้เขียนขออนุญาตเรียกพระเลี่ยงตามสำเนียงของภาษาท้องถิ่นว่า พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม เพื่อให้สำเนียงของภาษาท้อง ถิ่นคงอยู่เป็นที่รู้จักกันต่อไป
 |
 |
ภาพที่ 1. เป็นพระเหลี้ยมเล็กสีขาว พระเหลี้ยมองค์นี้อยู่ในสภาพเดิมๆ คราบกรุติดบางๆทำให้เห็นผิวขององค์พระชัดเจน ราดำติดไปทั่ว สังเกตดูเป็นราดำธรรมชาติไม่ใช่เอาสีดำมาแต้มแต่งหรือสลัดปัดแต่งเข้าใส่ คราบกรุและราดำติดทั้งด้านหน้าด้านหลังตามซอกต่างๆ ช่วยทำให้องค์พระดูขลังและมีเสน่ห์ พระเหลี้ยมองค์นี้ขุดได้นานแล้ว ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี จึงมีสภาพที่สวยงามและสมบูรณ์พร้อมดังที่ได้เห็น ลวดลายต่างๆในองค์พระมีความชัดเจนรวมทั้งหน้า ตาหูปากจมูก มงกุฎ สร้อยคอกำไรแขน โดยเฉพาะตรงส่วนของกุณฑลหรือต่างหูนั้นจะเห็นเป็นร่องเล็กๆคมชัดทั้งสองข้าง ฐานที่ประทับของพระเหลี้ยมองค์นี้เป็นแบบฐานบัวเหลี่ยม ใต้ฐานจะเห็นหัวช้างสามหัว เป็นหัวช้างที่มีความคมชัดดีมาก สังเกตดูฉัตรที่อยู่ข้างบน มีองค์ประกอบที่ครบถ้วนทำให้มีความลงตัวกันอย่างเรียบร้อย พระองค์นี้ขุดได้ที่วัดประตูลี้ มีขนาดค่อนข้างเขื่อง กว้าง 2 ซ.ม สูง 4 ซ.ม หนาสุคตรงส่วนฐาน 1 1/2 ซ.ม มีเนื้อค่อนข้างหยาบ อันเป็นลักษณะเฉพาะของพระเหลี้ยมกรุวัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน
 |
 |
ภาพที่ 2 พระเหลี้ยมสีเขียวหินครกที่มีคราบกรุเป็นคราบสีแดงเป็นพระพิมพ์เดียวกันกับพระเหลี้ยมองค์ที่ หนึ่ง.ความงดงามและสมบูรณ์ถือได้ว่ายอดเยี่ยม เนื้อขององค์พระนั้นแข็งแกร่งรายละเอียดต่างๆติดพิมพ์อย่างชัดเจน หากจะมีการจัดอันดับกันพระเหลี้ยมองค์นี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งไม่เป็นสองรองใครเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเนื้อและความคมชัดในทุกๆจุด พระเหลี้ยมเล็กองค์นี้ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม สูง 4 ซ.ม ส่วนหนาสุดตรงฐาน1 ซ.ม
 |
 |
ภาพที่ 3 เป็นพระเหลี้ยมเล็กพืมพ์นิยมสีพิกุล คราบกรุเป็นสีแดง ให้รายละเอียดต่าง ๆในองค์พระชัดเจนดีมากมีราดำที่เป็นธรรมชาติติดอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้มีความซึ้งของอายุที่มีมานานนับเป็นพันปีขึ้นไป ศิลปะนั้นมีอิทธิพลของพุทธศิลป์มหายานรวมทั้งศิลปะทวารวดีและขอมซึ่งได้รับต่อเนื่องจากเมืองลพบุรีที่เป็นต้นเค้าของแม่แบบศิลปะต่าง ๆ ไม่ได้มีศิลปะของพุกามเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งรูปแบบและองค์ประกอบแห่งศิลป์เลย ลองพิจารณาเปรียบเทียบได้จากศิลปะของ พระแปด หรือที่ชาวท้องถิ่นลำพูนเรียกว่า พระสิบสอง ซึ่งก็มีการขุดพบให้เห็นในเมืองลพบุรี จะมีความเหมือนที่ใกล้เคียงกันรวมทั้งพุทธศิลป์ที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัวที่ช่างหริภุญไชยได้รังสรรขึ้นมา ลองพิจารณาดูให้ดีก็จะรู้ว่าเป็นอย่างไร พระเหลี้ยมเล็กองค์นี้ขุดพบที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูนเป็นพระที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีจึงมีสภาพที่ยอดเยี่ยมให้ได้เห็นเช่นนี้ มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 4 1/4 ซ.ม. ส่วนหนา 1 ซ.ม.
 |
 |
ภาพที่ 4 เป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมเนื้อเขียวหินครกที่มีคราบกรุเป็นสีแดงเกาะติดอยู่ตามซอกต่าง ๆ ขององค์พระทำให้ดูมีความโดดเด่นเป็นที่ยิ่ง พระเหลี้ยมเล็กทั้งสี่องค์นี้เป็นพระพิมพ์เดียวกัน คือเป็นพระเหลี้ยมที่มีฐานประทับเป็นรูปบัวเหลี่ยม พระสวย ๆและมีความงดงามสมบูรณ์แบบเช่นนี้หาชมได้ยากมากในปัจจุบันแต่ผู้เขียนก็ได้พยายามเสาะแสวงหามาให้ได้ชื่นชมกันเพื่อที่จะได้ให้รู้ว่าสุดยอดของพระกรุที่มีความสวยงามสมคุณค่าของเมืองลำพูนที่เก่าแก่และมีพระเครื่องมากมายหลายรูปแบบนั้นมีโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าทางศิลปะที่งดงามเหนือกว่าพระพิมพ์ของที่อื่นใดจะมาเทียบเท่าได้ พระเหลี้ยมองค์นี้ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม.สูง 4ซ.ม. หนา 1ซ.ม.
ต่อจากนี้ จะเป็นพระเหลี้ยมเล็กอีกพิมพ์หนึ่งที่มีฐานเป็น บัวเหลี่ยมเช่นกัน แต่จะมีความแตกต่างของพิมพ์ทรงและเส้นสายรายละเอียดอยู่บ้างให้ท่านลองสังเกตดูก็จะรู้ว่ามีส่วนแตกต่างณตรงจุดใด แต่เรื่องความสมบูรณ์แบบของเนื้อพระและพิมพ์ทรงรวมทั้งเส้นสายรายละเอียดต่าง ๆ นั้นเรียกได้ว่างดงามไม่มีที่ติและหาดูไม่ได้เลย
ภาพที่ 1 เป็นพระเหลี้ยมเนื้อเขียวหินครกที่งามสะอาดเรียบร้อย เนื้อหาขององค์พระเนียนหนึกนุ่ม เป็นพระที่มีเนื้อละเอียดมากกว่าพิมพ์แรก ด้วยเหตุที่เป็นพระเผาแกร่งและเนื้อละเอียด คราบกรุ ขี้กรุจึงล้างออกได้ง่ายแต่ก็ไม่ทำให้องค์พระด้อยความงดงามไป ความเก่าแก่ของเนื้อและศิลปะอันโดดเด่นก็เป็นตัวชี้วัดให้เราได้รู้ว่านี่คือของแท้แน่นอนไม่ผิดเพี้ยนไปไหน พระเหลี้ยมพิมพ์นี้มีหน้าเป็นรูปไข่ ดวงตากลมนูนโต ดูเด่นเป็นสง่าประทับเหนือฐานบัวเหลี่ยม ใต้ฐานบัลลังก์มีหัวช้างสามหัวประดับอยู่เห็นชัดเจนเป็นศิลปะที่ไม่เหมือนที่ใด พระเหลี้ยมองค์นี้ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 2 1/4ซ.ม.สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.
 |
 |
ภาพที่ 2 พระเหลี้ยมเล็กองค์นี้มีสีแดง คราบกรุติดตามซอกตื้น ลึก ทำให้องค์พระดูเด่นเป็นมิติที่งดงามเป็นพระเนื้อแกร่งที่เผาด้วยอุณหภูมิสูง เพราะเนื้อดินที่ถูกนวดและกรองอย่างดีจึงทำให้พระมีเนื้อที่แน่นการเกาะตัวของเนื้อพระเป็นไปอย่างดี องค์พระจึงไม่แตกร้าวหรือบิดเบี้ยวเป็นความสามารถของเชิงช่างที่เข้าใจในการปั้นและเผาได้อย่างเหมาะสม พระแต่ละองค์ที่ออกมาจึงมีความงดงามและเรียบร้อยดังที่เห็นพระเหลี้ยมเล็กองค์นี้ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน ขนาดกว้าง 2 1/4 ซ.ม. สูง 4ซ.ม. หนา1ซ.ม.ด้านหลังแบนราบ ตรงก้นฐานบุ๋มลึก คงจะเป็นตอนยกออกจากพิมพ์
ภาพที่ 3 พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมองค์นี้ ด้านหน้าจะอูมนูนเด่นขึ้นมาเล็กน้อย ด้านหลังก็เป็นเช่นเดียวกับด้านหน้า คงจะเป็นเพราะเนื้อดินมีมาก แต่ความงดงามคมชัดก็ไม่เบาเลยเนื้อจะเป็นแบบเขียวคราบแดง ซึ่งเป็นเนื้อที่มีความแกร่ง ด้านหลังเรียบร้อย คราบกรุนั้นติดในบางแห่งไม่ติดหนามาก ก้นฐานเป็นรอยบุ๋มหยักเข้าไปเหมือนกับองค์ที่สอง ความกว้าง 2ซ.ม. สูง 4ซ.ม. หนา 1ซ.ม.ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน
ภาพที่ 4 เป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม สีแดง พระองค์นี้คราบกรุแทบจะไม่มีให้เห็น เป็นพระที่สะอาดตามาก ด้านหลังนูนหนาเป็นรอยหยัก เห็นลายนิ้วมือชัดเจน ความงดงามและคมชัดนั้นเป็นหนึ่งไม่มีสองเลยทีเดียว เป็นพระที่ดูง่าย แทบจะไม่ต้องส่องกล้องก็รู้ได้ว่าเป็นพระแท้แน่นอน มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 4ซ.ม.หนา 1ซ.ม.ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน
พระเหลี้ยมพิมพ์นิยมนั้นมีหลาย พิมพ์และหลายบล๊อก ซึ่งหากว่าเป็นพระแท้ ก็จะไม่ผิดเพี้ยนกันมาก จะสังเกตจากเนื้อ คราบกรุ ความเก่าและศิลปะในองค์พระตลอดจนเส้นสายรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งจะต้องใช้ความละเอียดในการพิจารณา เราจะยึดหลักของการดูพระสวยและเป็นพิมพ์นิยมไว้ก่อนซึ่งปัจจุบันก็มีให้เห็นในสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มากมาย ต่อไปนี้จะเป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมอีกพิมพ์หนึ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อย เป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์ฐานเป็นบัวเม็ดกลมที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบ
 |
 |
ภาพที่ 1 เป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์ฐานบัวเม็ดกลมเนื้อแกร่งที่มีสีผ่านคือมีสีเขียวด้านบนและเป็นสีแดงด้านล่างแต่ก็มีความงดงามที่แปลกตาไปอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเราไม่สามารถทำขึ้นมาได้อย่างใจเราคิด ปัจจุบันพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมนี้ก็เป็นพระกรุที่หายากสุดๆไม่แพ้พระกรุลำพูนชนิดอื่นเช่นพระรอด พระลือ โขง พระลือหน้ามงคล หรือพระบาง ยิ่งชนิดที่สวยกริ๊บ อย่างที่ผู้เขียนได้นำมาแสดงให้ดูนี้ ยิ่งไม่ต้องพูดกัน เส้นสายรายละเอียดต่าง ๆของพระองค์นี้งามเป็นที่สุดความเก่าแก่ของเนื้อที่มองเห็นอย่างชัดเจน ด้านหลังอูมนูนเล็กน้อยเป็นสีผ่านที่ดูงดงามแปลกตาและมีเสน่ห์ ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.
 |
 |
ภาพที่ 2 เป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม สีเขียวหินครก ที่มีคราบกรุติดอย่างเบาบาง ความคมชัดในทุกสัดส่วนไม่ต้องพูดถึง ความงดงามและอลังการ์ทั้งพิมพ์ทรงและรูปลักษณ์ต่าง ๆเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งไม่มีสองเลยทีเดียว หากเราเอากล้องจับดูจะเห็นราดำที่เป็นธรรมชาติ ติดอยู่เป็นแห่ง ๆ ทำให้เพิ่มความมีเสน่ห์ขององค์พระให้ดูดียิ่งขึ้น ด้านหลังมีความเหี่ยวย่นของเนื้อชัดเจน มองดูแล้วเป็นความงดงามที่ซึ้งตาซึ้งใจของผู้ที่เข้าใจและมีศิลปะในหัวใจว่าเสน่ห์ของโบราณวัตถุนั้นมีอยู่ตรงจุดนี้นั่นเอง พระเหลี้ยมเล็กองค์นี้ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูนมีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 1/4ซ.ม.
 |
 |
ภาพที่ 3 พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมสีพิกุล พระเหลี้ยมสีนี้เป็นสีหนึ่งที่หาได้ยาก ยิ่งเป็นพระที่มีความงดงามและคมชัดสมบูรณ์แบบเช่นนี้ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึง เพราะพบเห็นได้น้อยหรือแทบจะไม่ได้เห็นเลย องค์พระชัดเจนในทุกส่วน ความสมบูรณ์เต็มร้อย ให้ท่านได้พิจารณาเอาเถิดว่าเป็นความจริงหรือไม่ ด้านหลังอูมนูนมีคราบของ สนิมเหล็กที่อยู่ปนกับน้ำใต้ดินติดอยู่บาง ๆพทำให้มองเห็นความเก่าของเนื้อซึ่งพระแท้จะเป็นแบบนี้ พระเหลี้ยมเล็กองค์นี้จัดได้ว่าเป็นพระที่สะอาดตาองค์หนึ่งขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูนมีขนาดกว้าง 2 1/4ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.
 |
 |
ภาพที่ 4 เป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมสีเขียวคราบแดง มีเนื้อค่อนข้างหยาบ แต่ความคมชัดของทุกสัดส่วนไม่ว่าจะเป็นเครื่องทรง หูตา ปาก จมูก ลวดลายต่าง ๆ นั้นติดพิมพ์อย่างงดงามและชัดเจน เป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมองค์หนึ่งที่นำมาเป็นตัวอย่างแม่แบบได้อย่างไม่ต้องลังเลเลย คราบกรุติดองค์พระบาง ๆ ทำให้มีความเด่นชัดของความเก่า และทำให้ดูเด่นอย่างน่าสนใจ ราดำติดอยู่ทั่ว โดยเฉพาะด้านหลังยิ่งมองเห็นชัดเจน ด้านหลังของพระองค์นี้อูมนูนขึ้นมาเล็กน้อยพองาม พระองค์นี้ขุดได้ที่วัดประตูลี้อำเภอเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 ซ.ม.
ภาพต่อจากนี้จะเป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมอีกพิมพ์หนึ่งที่มีความงดงามชัดเจนในทุกจุด เนือดินของพระเป็นเนื้อที่ค่อนข้างจะหยาบตามแบบฉบับของพระเหลี้ยมที่ส่วนใหญ่จะมีเนื้อดินที่เป็นเช่นนี้ แต่ก็มีความงามที่น่าประทับใจในฝีมือของช่างศิลป์ที่ได้ให้รายละเอียดต่าง ๆอย่างเหมาะเจาะและดูดีมีเสน่ห์ พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นี้มีหน้าตาที่ดูเรียบร้อย คางไม่เป็นเป็นเหลี่ยม ตาเล็กไม่เป็นแบบตาโปน ท่วงท่าดูเข้มขลัง ฐานที่ประทับป์นฐานแบบบัวเหลี่ยม มีความแตกต่างจากพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมที่ได้นำเสนอก่อนหน้านี้อยู่บ้าง ให้ท่านลองสังเกตและพิจารณาเปรียบเทียบกับพระเหลี้ยมที่แสดงไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีความแตกต่างกันเช่นไร?
 |
 |
ภาพที่ 1 พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมเขียวหินครกฐานที่ประทับเป็นฐานแบบบัวเหลี่ยม มีคราบกรุเป็นดินสีเทาติดอยู่บาง ๆ ดวงตา เล็กดูงามเรียบร้อย มงกุฎที่สวมเศียรมองดูคล้ายกับมงกุฎของพระสิบสอง มีความแตกต่างจากพิมพ์ที่แสดงไว้เบื้องต้นอย่างเห็นได้ชัด พระเหลี้ยมเล็กองค์นี้เป็นอีกแบบหนึ่งที่เมีความงดงามและสมบูรณ์แบบ รายละเอียดต่าง ๆเห็นชัดเจน โดยเฉพาะเส้นขีดเล็กๆโดยรอบริมขอบขององค์พระนั้นเรียงกันเป็นแถวทั้งสองข้าง เป็นลวดลายประดับที่ทำให้องค์พระดูเด่น ซุ้มรัศมีรอบๆเศียรกุมารทั้งสองไม่มีให้เห็น ซึ่งก็ดูแปลกไปอีกอย่างหนึ่งขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 1/2ซ.ม. หนา 1 1/2ซ.ม.
ภาพที่ 2 เป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม สีพิกุลคราบแดงเนื้อแกร่ง ที่มีความงดงามเหมาะเจาะ ชัดเจนในทุกสัดส่วน ซึ่งพระเหลี้ยมพิมพ์นี้จะหาพบยากกว่าทุกพิมพ์ ความคมชัดทั้งเครื่องประดับ หน้าตา หู ปาก จมูก ทำให้องค์พระดูงามเด่นยิ่ง พระเหลี้ยมองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 1/4 ซ.ม. สูง 4ซ.ม. หนา1 1/2ซ.ม.ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน
ภาพที่ 3 เป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมอีกพิมพ์หนึ่งที่มีความงดงามสมบูรณ์แบบยิ่ง มีสีเป็นสีเขียวหินครก คราบกรุที่เป็นสีแดงติดอยู่บางๆทำให้องค์พระดูชัดเจนยิ่งขึ้น ดูมีมิติและสวยงามมาก พระชุดนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีเนื้อเกิน จึงทำให้มองเห็นไปว่ามีขนาดเล็กกว่าพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมอื่นๆ ขนาดกว้าง 2 1/2ซ.ม. สูง 4 1/2ซ.ม. หนา 1 1/2ซ.ม.ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยองอำเภอเมืองลำพูน
ภาพที่ 4 เป็นพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมสีเขียวเนื้อแกร่ง พระองค์นี้มีคราบกรุเป็นสีแดง ติดอยู่อย่างบางๆตามซอก จึงคงไว้ซึ่งความงดงามและสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี ด้านหลังอูมนูนเล็กน้อย องค์พระทั้งสี่องค์ดังกล่าวข้างต้นนั้นมีความสมบูรณ์ไม่หักบิ่นเป็นพระเก่าเก็บที่ถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี มีขนาดกว้าง 2 1/2ซ.ม. สูง 4 ซ.ม. หนา 1 1/2ซ.ม.ขุดได้ที่วัดดอนแก้วตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง ลำพูน
ยังมีเรื่องราวของ พระเหลี้ยมพิมพ์ต่าง ๆอีกมากมาย เช่น พระเหลี้ยมหลวง พระเหลี้ยมหม้อ พระเหลี้ยม ดอยติ พระเหลี้ยมวัดพระคง พระเหลี้ยมเวียงกุมกาม โอกาสต่อไปจะทะยอยนำมาเสนอให้ได้รู้ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับคนในรุ่นหลังใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ |