พระลือโขงหรือพระจามเทวีเศรษฐีเรือนแก้วลำพูน


ปัจจุบันนี้ พระกรุของพระชุดสกุลลำพูนนั้นได้รับความสนใจจากบรรดาผู้ที่นิยมสะสมพระเครื่องกันอย่างแพร่หลาย และหนึ่งในยอดของพระกรุของเมืองโบราณอันเก่าแก่แห่งนี้นั้น หนีไม่พ้นไปจาก “พระลือโขง” ทั้งนี้นอกจากความงดงามอลังการ์ของศิลปะรวมทั้งพิมพ์ทรงขององค์พระแล้ว พระลือโขงก็ยังมีขนาดที่พอเหมาะที่จะนำไปเป็นพระองค์ประธาน ในสร้อยคออย่างน่าภาคภูมิใจและเหมาะสมยิ่ง โดยเฉพาะพุทธคุณอันสูงส่งและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความขลังขององค์พระที่เปี่ยมไปด้วย เมตตามหานิยม แคล้วคลาด อยู่รอดปลอดภัย รวมทั้งเรื่องของโชคลาภ การทำมาค้าขายทำมาค้าขึ้น อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจักษ์แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของหลายต่อหลายคน ซึ่งสิ่งทั้งหมดดังกล่าวนั้นยิ่งเพิ่มพูนความมีคุณค่าขององค์พระลือโขงนี้ให้เด่นเทียบเท่ากับพระรอดยอดพระเครื่องของวัดมหาวันลำพูนได้อย่างสง่างาม

พระลือโขงที่ขุดพบในเมืองลำพูนนั้น ขุดพบในหลายแห่งด้วยกัน แต่พระลือโขงที่เป็นยอดนิยมที่สุดนั้นคือพระลือโขงที่ขุดได้จากกู่เหล็ก บริเวณทุ่งกู่ล้านอำเภอเมืองลำพูน พระลือโขงจากกรุกู่เหล็กนี้ถือได้ว่า เป็นพระลือโขงที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบเป็นที่สุด เป็นสุดยอดของศิลปะหริภุญไชยที่เบ่งบานออกมาในเชิงชั้นของศิลปะอย่างเต็มที่ สืบเนื่องมาจากอิทธิพลของพุทธศิลป์ของพุทธมหายานที่เข้ามาเผยแพร่เจิดจำรัสในมหานครโบราณแห่งนี้พระลือโขงถือได้ว่า เป็นศิลปะหริภุญไชยแท้ ๆ ให้สังเกตพระพักตร์ที่อิ่มเอิบและเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาพระเศียรของพระลือโขง เปรียบเทียบได้กับพระเศียรของพระพุทธรูปประทับยืนในซุ้มของเจดีย์สุวรรณจังโกฎิ์หรือกู่กุด วัดจามเทวีลำพูนนั้น มีความเหมือนกันอย่างน่าประหลาด พระเศียรส่วนบนจะพองออก เม็ดพระศกเป็นตุ่มกลมเห็นขอบไรพระศกชัดเจน พระพักตร์เป็นแบบเหลี่ยม คางดูใหญ่ มีหู ตาปาก จมูกที่มีความคล้ายกันมากการห่มจีวรนั้นห่มแบบห่มดอง จีวรแนบติดกับลำตัว คิ้วเป็นรูปปีกกา ดวงตาเหลือบลงต่ำ ทั้งหมดดังกล่าวเป็นลักษณะที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะทวารวดี การประทับนั่งของพระลือโขงนั้นประทับนั่งบนฐานดอกบัวที่ทำเป็นบัวคว่ำบัวหงาย ใต้ฐานปูรองด้วยผ้าทิพย์ที่วาดเป็นวงกลม สองข้างขององค์พระเป็นลวดลายของดอกบัวประดับ ที่โค้งงอเข้าหากันเรียกว่าลายบัวเหงา ด้านบนของพระเศียรประดับด้วยซุ้มโขงที่เป็นรูปของกลีบบัวที่หันข้างเสียบขึ้นไปเป็นชั้นๆ ตัวซุ้มทำให้ยกนูนเด่นเป็นสง่าทำให้เห็นเป็นมิติที่งดงามยิ่งอันถือได้ว่าเป็นฝีมือของเชิงช่างชั้นสูงที่ทำได้อย่างงดงามอลังการ์ ส่วนของซุ้มด้านบนสุดที่โค้งแหลมขึ้นไป ทำเป็นลวดลายของดอกบัว ใบบัว ก้านบัวให้ชูช่อล้อเล่นอย่างมีชีวิตชีวาทำให้องค์พระงามเด่นเป็นสง่า การที่พระลือโขงและพระลือหน้ามงคลนำดอกบัว ก้านบัว ใบบัวมาเป็นลวดลายประดับในองค์พระนั้นเป็นเพราะอิทธิพลของพุทธศิลป์มหายานที่ถือกันว่า ดอกบัวนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าและบรรดาเหล่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเราจะพบเห็นได้ในพุทธศิลป์ของพุทธมหายานต่างๆมากมาย

พระลือโขงที่มีการขุดพบนั้นมีอยู่หลายพิมพ์หลายขนาด มีความแตกต่างกันตามฝีมือและสถานที่ขุดพบ ซึ่งผู้เขียนจะไม่กล่าวถึง ในครั้งนี้จะได้นำพระลือโขงที่ได้รับการยอมรับกันว่าเป็นพระแท้และเป็นพระลือโขงพิมพ์นิยมที่มีความงดงามสมบูรณ์แบบมากที่สุด โดยเฉพาะพระลือโขงที่ขุดได้จากกู่เหล็กอันเป็นกรุยอดนิยม มาให้ท่านได้พิจารณาชมกันอย่างเต็มตาและจุใจทั้งหมดรวม สามพิมพ์ด้วยกัน ในแต่ละพิมพ์แต่ละสีนั้นจะมีความเด่นความด้อยแตกต่างกันอย่างไรนั้น ให้ท่านได้ตัดสินเอาเองว่าพระลือโขงองค์ไหน พิมพ์ใดจะเป็นมีความเป็นเลิศ มากกว่ากัน

ภาพที่ 1 พระลือโขงองค์นี้เป็นพระที่มีเนื้อหาเป็นสีชมพู เนื่องจากมีคราบกรุที่เป็นคราบของปูนขาวติดอยู่ จึงทำให้มองดูเป็นสีอ่อนไป องค์ประกอบของพระองค์นี้โดยรวมเรียกได้ว่ามีความงามและสมบูรณ์แบบ หน้า ตาหูปาก จมูก เม็ดพระศก นิ้วมือ เส้นจีวร สังฆาฏิ ลวดลายของดอกบัวบนซุ้มโขงชัดเจน แม้จะถูกคลุมไปด้วยคราบกรุ ก็ไม่ทำให้ด้อยความงามลงไป กลับเพิ่มความมีเสน่ห์ ขององค์พระให้ดูเข้มขลังมากขึ้น ด้านหลังคราบกรุบางกว่าด้านหน้า จึงเห็นเนื้อพระได้จะแจ้งและชัดเจนกว่า หลังดูเรียบไม่อูมนูนเหมือนกับพระชนิดอื่นใด ซึ่งส่วนใหญ่ด้านหลังของพระลือโขงจะเป็นเช่นนี้ พระองค์นี้มีความกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม. ส่วนของก้นฐานซึ่งเป็นส่วนที่หนาที่สุดหนา 1 1/2 ซ.ม. ส่วนบนที่เป็นส่วนที่บางที่สุด 1/2ซ.ม. ขุดได้ที่กรุกู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน เป็นพระที่ไม่ได้ผ่านการล้างเอาดินคราบกรุออกมาก จึงยังคงสภาพไว้ได้อย่างเดิมๆ

ภาพที่ 2 พระลือโขงองค์นี้มีสีเป็นสีดอกพิกุล มีความคมชัดในทุกสัดส่วน มองดูสวยงามน่าประทับใจมาก องค์พระและลวดลายที่ประดับนูนเด่นเป็นสง่า มองดูมีมิติ ประทับนั่งปางมารวิชัยสมาธิเพชร ลำตัวตั้งตรงเศียรเอียงไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย เป็นพิมพ์ที่วงการพระเครื่องให้ความนิยมและเรียกกันว่าพิมพ์เศียรเอียง พระลือโขงองค์นี้มีคราบกรุที่ติดไม่หนามาก แต่ก็มีให้เห็นติดบางๆในบางจุด และติดหนาในบางส่วน คราบกรุเป็นคราบของดินดำ ด้านหลังเรียบ มีคราบกรุของเดิมๆติดอยู่ คราบกรุของพระกรุทุกอย่างไม่ควรจะล้างออกจนหมด เพราะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุที่มีอายุเก่าแก่ทำให้มองดูแล้วเกิดความซึ้งและเพิ่มคุณค่าทางอารมณ์ให้มีความมั่นใจได้อีกชั้นหนึ่งอีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความมีอายุอันเก่าแก่ยาวนานขององค์พระได้อย่างแท้จริง ดังนั้นการล้างเอาคราบกรุที่ติดมาด้วยออกมากเกินไปจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย พระลือโขงองค์นี้ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 5 ซ.ม. ฐานส่วนที่หนาที่สุด 1 3/4 ซ.ม. ส่วนที่บางที่สุดข้างบน 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 3 พระลือโขงองค์นี้มีคราบกรุเป็นสีแดง ซึ่งจะมองเห็นคราบกรุที่ติดหนาอยู่ตรงส่วนของฐานทางด้านซ้าย ขององค์พระ ส่วนบริเวณอื่นๆนั้นคราบกรุติดอยู่พอประมาณเรียกว่าพองาม ถ้าดูอย่างเผินๆเหมือนกับว่าพระองค์นี้มีขนาดที่ใหญ่กว่าสององค์แรก แต่เมื่อนำเอาองค์จริงมาเทียบเคียงกันแล้วก็ไม่ได้ผิดกันเท่าไรเป็นพระที่จัดอยู่ในพิมพ์ที่เป็นบล๊อกเดียวกัน องค์ประกอบทุกอย่างเช่นลวดลาย ดอกบัว ก้านบัว ใบบัวของซุ้มโขง เศียรที่พองโตทางด้านบน หน้าตาหูปากจมูก จีวร สังฆาฏิ ลำแขน นิ้วมือตลอดจนเส้นสายรายละเอียดต่างๆงามพร้อมชัดเจน ความเก่าของเนื้อมีอยู่ในองค์พระ ด้านหลังจะเรียบ ตรงส่วนก้นฐานจะเป็นส่วนที่หนามาก พระลือโขงองค์นี้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเยี่ยม เป็นพระที่อยู่ในชั้นดินที่ลึก ซึ่งเป็นชั้นดินล่างสุดของกรุ ใต้พื้นดินชั้นนี้มีสภาพเป็นดินลูกรังสีแดงที่อ่อนตัวเพราะถูกน้ำใต้ดิน ท่วมขัง เนื่องจากองค์พระลือนี้เป็นพระที่ถูกเผาด้วยไฟแรง จึงมีความแข็งแกร่งของเนื้อพระอย่างเต็มที่ จึง คงสภาพเดิมๆไว้ได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งการหุ้มตัวของดินคราบกรุที่ช่วยป้องกันสภาพขององค์พระอีกชั้นหนึ่ง พระลือโขงสีแดงนี้มีความกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 3/4 ซ.ม. ความหนาตรงส่วนฐาน 1 1/4 ซ.ม. ส่วนบนที่บางที่สุด 1/4 ซ.ม. ขุดพบที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน

ภาพที่ 4 พระลือโขงองค์นี้เป็นพระที่ถูกเผาด้วยไฟที่มีความร้อนสูง จึงทำให้เนื้อหาขององค์พระมีผิวที่ตึงแข็งแกร่งไปทั้งองค์ เป็นพระเนื้อเขียวหินครกซึ่งเป็นที่นิยมกัน พระองค์นี้มีคราบกรุติดบางๆ คราบกรุเป็นดินสีแดงเหมือนกับพระลือโขงในภาพที่ 3. พระลือโขงองค์นี้ติดพิมพ์ชัดเจนในทุกสัดส่วน มีความงามที่องอาจโดดเด่นและดึงดูดสายตามาก ใบหน้าเชิดขึ้นเศียรเอียงเล็กน้อยพองาม เป็นความงดงามของศิลปะชั้นสูง มีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง พระพิมพ์ที่มีเนื้อเขียวแกร่งนั้นส่วนใหญ่ ล้างเอาขี้กรุออกได้ง่ายกว่าพระที่มีเนื้อเป็นสีธรรมดา เพราะความแกร่งของเนื้อนั้นทำให้เนื้อมีความหนาแน่นสูงเนื้อดินของพระประเภทเนื้อแกร่งจึงไม่ดูดน้ำ ผิวรอบๆองค์พระมีความตึงตัวทำให้คราบกรุและขี้กรุติดพอกได้แบบหลวมๆ อีกอย่างหนึ่ง พระที่มีความแกร่งเช่นนี้จะคงสภาพของรายละเอียดต่างๆได้เป็นอย่างดีจึงมีความสวยงามสมบูรณ์พร้อมอย่างน่าทึ่ง ในความชัดเจนของศิลปะและองค์ประกอบ ดังนั้นพระกรุที่มีเนื้อสีเขียวแกร่งแบบเนื้อหินครก จึงเป็นที่ต้องการของบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องกันอย่างแท้จริง
เพราะการที่มีพระกรุที่มีความงดงามสมบูรณ์แบบในทุกอย่างนั้น มีคุณค่าทางจิตใจ อันเป็นกำไรของชีวิตอย่างหนึ่ง ที่หาไม่ได้ง่ายนัก พระลือโขงองค์นี้มีขนาดความกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 3/4 ซ.ม. หนาสุตรงฐาน 2 1/2 ซ.ม.
บางสุดตรงส่วนบน 1/4 ซม ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน

 

ภาพที่ 5 พระลือโขงองค์นี้เป็นหนึ่งในห้า ของพระลือโขงชุดแรกที่นำมาเสนอแก่ท่าน ซึ่งทั้งห้าองค์เป็นพิมพ์เดียวกัน ความคมชัดในทุกสัดส่วน มีอย่างพร้อมมูล ไม่ว่าจะเป็นซุ้มโขง ลวดลายประดับต่างๆ เม็ดพระศกที่เป็นตุ่มกลมเล็กๆรอบพระเศียร มีหน้าตาแบบวางเฉยสงบนิ่ง เห็นหู ตา ปากจมูก การครองจีวรที่แนบสนิทกับลำตัว สังฆาฏิที่วางพาดลงมาจากบ่ามองเห็นชัดเจนของรายละเอียดต่างๆ การประทับนั่งอย่างตัวตรงคงมั่นไม่หวั่นไหวในสิ่งใดๆ มองดูแล้วเกิดความทึ่งในฝีมือเชิงช่างของคนโบราณที่สามารถสร้างสรรศิลปะกรรมชิ้นเล็กๆได้อย่างงดงามและลงตัว พระลือโขงองค์นี้ตรงส่วนปลาย บนจะมีลักษณะงองุ้มลงเล็กน้อย คงจะเป็นเพราะตอนยกออกจากพิมพ์ แต่ก็มีความแปลกไปอีกรูปแบบหนึ่งมองดูเผินๆคล้ายกับพระนาคปรก คราบกรุที่ติดกับองค์พระเป็นคราบของดินดำ เกาะติดแน่น มองเห็นราดำเกาะเป็นแห่งๆในหลายจุดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พระองค์นี้มีคราบกรุหนามากเพื่อความชัดเจนจะแจ้งจึงได้ทำการล้างเอาคราบกรุและขี้กรุออก แต่ก็ยังคงไว้ให้ได้เห็นเป็นประจักษ์ของความเก่าของเนื้อพระไว้ได้อย่างสมบูรณ์ พระลือโขงองค์นี้เป็นพระที่เนื้อเป็นสีพิกุล แต่ถูกห่อหุ้มด้วยคราบกรุที่เป็นสีเทาดำจึงมองไม่เห็นสีเนื้อในขององค์พระที่แท้จริงชัดเจนนัก มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนาตรงส่วนฐาน 1 1/2 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม. ส่วนบางสุดข้างบน 1/2 ซ.ม. ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน

พระลือโขงที่จะนำภาพมาเสนอให้ท่านได้เห็นต่อไปนี้เป็นพระลือโขงของพิมพ์ที่สอง ที่มีหน้าตาและความแตกต่างจากพิมพ์ที่หนึ่งอยู่บ้างแต่ก็เป็นเพียงส่วนของลักษณะใบหน้าที่มีรูปคางเป็นเหลี่ยมดูเข้มขลัง คล้ายขมึงทึง
ความงามและชัดเจนของพิมพ์ทรงเรียกได้ว่าเป็นเลิศ โดยเฉพาะเนื้อดินของพระลือโขงพิมพ์นี้แน่นมีความละเอียดของเนื้ออย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งเป็นพระที่มีน้ำหนักจับดูรู้สึกได้ สำหรับความงดงามและความเข้มขลังในพุทธคุณนั้นไม่ได้ผิดกันเลย ตรงก้นฐานของพระลือโขงพิมพ์นี้จะเต็มไม่บุ๋มลึกเหมือนกับก้นฐานของพระลือโขงพิมพ์ที่หนึ่ง สำหรับพิมพ์ทรงในส่วนอื่นๆนั้นไม่ผิดกัน

ภาพที่ 1 เป็นภาพพระลือโขงสีแดง มีรูปหน้าเป็นแบบสี่เหลี่ยม คางจะดูใหญ่ เห็นเม็ดพระศกเป็นตุ่มกลมเล็กๆแต่มีความชัดเจนดีมาก ดวงตาจะมองลงมาลักษณะเหลือบลงต่ำ คิ้วเป็นรูปปีกกา จมูกดูบานใหญ่ ปากเชิดขึ้นขเล็กน้อย เห็นใบหูยาวคมชัดมากทั้งสองข้าง ลวดลายของซุ้มโขงงดงามและชัดเจนดี องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยสมาธิเพชร แขนซ้ายวางทอดลงมาเป็นสามจังหวะ ฝ่ามือซ้ายจะวางแบมือบนหน้าตักอย่างเรียบร้อย มือขวาวางทอดลงมา ฝ่ามือขวาพาดลงบนเข่าขวา ฝ่ามือวางนิ้วมือจรดพื้นฐาน นิ้วหัวแม่มือกางออกเล็กน้อย ท่วงทีขององค์พระดูสงบเยือกเย็น มองดูงามด้วยศาสตร์และศิลป์อย่างลงตัว เป็นพุทธศิลป์ของหริภุญไชยที่เกิดจากอิทธิพลของศิลปะทวารวดีและพุทธศิลป์แบบมหายานอย่างเต็มตัว พระลือโขงองค์นี้ เป็นพระที่มีเนื้อแกร่ง
คราบกรุเป็นสีแดงเอิบอาบไปทั่วทุกจุด โดยเฉพาะตรงเข่าซ้าย จะเห็นคราบกรุของดินสีแดงเกาะติดอย่างแน่นหนา ด้านหลังขององค์พระเรียบและมีคราบกรุสีแดงติดอยู่เช่นกัน ที่ไม่ได้ล้างเอาคราบกรุออกหมด เพราะต้องการแสดงให้เห็นองค์พระในสภาพเดิมๆ จะได้รู้และเข้าใจว่าคราบกรุและองค์พระที่มีความงดงามและสมบูรณ์จริงๆนั้นจะต้องเป็นเช่นนี้ พระลือโขงพิมพ์นี้ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน เป็นพระที่ถูกเผาด้วยไฟที่
มีอุณหภูมิสูง เนื้อในขององค์พระจะเป็นแบบเขียวหินครก แต่สำหรับพระลือโขงองค์นี้จะมีคราบกรุสีแดงจับทั่วทั้งองค์ จึงนิยมเรียกพระที่มีเนื้อแบบนี้ว่าพระสีเขียวคราบแดง พระลือโขงองค์นี้มีความกว้าง 3 1/2 ซ.ม. สูง 5 ซ.ม. หนาที่สุดตรงก้นฐาน 1 1/2ซ.ม. ส่วนบางสุดข้างบน 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 2 เป็นพระลือโขงของพิมพ์ที่สอง ที่ถูกล้างเอาคราบกรุออกจนหมด จะเห็นเนื้อแท้ขององค์พระชัดเจนเป็นพระเนื้อแกร่งที่เป็นแบบเนื้อผ่านคือมีสองสีในองค์เดียวกัน ท่อนบนนั้นจะเป็นสีเขียวหินครก ส่วนด้านล่างจะเป็นสีแดง แต่ถึงอย่างไรพระลือโขงองค์นี้ก็เป็นพระที่มีเนื้อแข็งแกร่งตลอดทั้งองค์ หน้าตารูปลักษณ์ของพระลือโขงองค์นี้มีความคมชัดมาก พระชุดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพระที่มีเนื้อดินแน่นมีน้ำหนัก ดังนั้นคราบกรุจึงเอาออกได้ง่ายไม่ติดแน่นจนเกินไป และมี ความเรียบร้อยลงตัว ทุกอย่างติดพิมพ์อย่างพร้อมมูล จัดได้ว่าเป็นพระลือโขงที่สวยมากองค์หนึ่ง ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน เป็นพระลือโขงที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี จึงคงสภาพเดิมๆให้ได้เห็น มีความกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม. หนาตรงส่วนใต้ฐาน 1 1/2 ซ.ม. ส่วนบนที่บางสุด 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 3 เป็นพระลือโขงในชุดที่สองเป็นพระลือโขงที่งามสุดๆเป็นพระลือโขงเนื้อเขียวหินครก เนื้อขององค์พระเป็นเนื้อละเอียดมากมีคราบกรุสีแดงเกาะติดอยู่ทั่วทุกซอกทั้งองค์ของด้านหน้าคราบกรุนั้นติดพองามไม่แน่นมากจึงทำให้องค์พระดูเด่นมีมิติ สวยไปอีกแบบหนึ่ง หากจะล้างเอาคราบกรุออกจนหมดก็เกรงว่าจะดูจืดชืดไป จึงยังคงสภาพเดิมๆเอาไว้จะดีกว่า ด้านหลังคราบกรุติดบางๆทำให้เห็นเนื้อที่แท้จริงมีรอยนิ้วมือให้เห็นรางๆ ด้านหลังราบเรียบไม่นูนหนารายละเอียดต่างๆขององค์พระจะเห็นองค์ประกอบของลวดลายต่างๆ รวมทั้งพุทธศิลป์นั้นยอดเยี่ยม เส้นสายรายละเอียดต่างๆคมชัดดีมาก หน้าตาหูปากจมูกและเม็ดพระศกติดพิมพ์อย่างสวยงามชัดเจนไม่มีที่ติ เป็นพระลือโขงที่งดงามและสมบูรณ์แบบองค์หนึ่ง ที่จะหาพบองค์พระที่สวยแบบนี้ยากเป็นที่สุด พระลือโขงองค์นี้ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน ขนาดความกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 5 ซ.ม. ส่วนหนาสุดตรงก้นฐาน 1 1/2 ซ.ม. ส่วนที่บางสุดด้านบน 1/2 ซ.ม.


ภาพที่ 4 พระลือโขงองค์นี้เป็นพระเนื้อเขียวที่มีความคมชัดในทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นซุ้มโขงและลวดลายประดับ
องค์พระดูสง่างามเห็นหน้าตาหูปากจมูก สังเกตเม็ดพระศกเป็นตุ่มกลมเม็ดเล็กๆเรียงทั่วเศียรที่คั่นด้วยกระจังหน้าที่ทำเป็นไรผมแบ่งกรอบหน้าได้อย่างลงตัว ด้วยสีเขียวและมีความเก่าแก่ของเนื้อที่ดูง่ายว่าเป็นพระแท้ ทำให้พระองค์นี้มีความเข้มขลังในองค์อย่างน่าประทับใจ หู ตา ปาก จมูก เส้นสังฆาฏิที่มองดูชัดเจนยิ่งเพิ่มคุณค่า
ขององค์พระอย่างยิ่ง คราบกรุเห็นอยู่อย่างบางๆไม่ติดแน่นทำให้พระลือโขงองค์นี้มีความงามที่เป็นธรรมชาติอย่างที่จะปฏิเสธไม่ได้เลย ขุดพบที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม. หนาสุดตรงส่วนฐาน 1 1/4 ซ.ม. ส่วนบางสุดตรงด้านบน 1/2 ซ,ม

 


ภาพที่ 5 พระลือโขงองค์นี้เป็นพระเนื้อเขียวหินครกที่มีคราบกรุเป็นสีแดงติดอยู่บริเวณด้านหน้าคราบกรุติดตามซอกต่างๆพอควร ทำให้องค์พระดูมีมิติ พระลือโขงองค์นี้ มีเนื้อที่เนียนละเอียด จัดได้ว่าเป็นพระที่งามสมบูรณ์มากองค์หนึ่งที่มีความชัดเจนในทุกจุดไม่ว่าเราจะมองดูในส่วนใด ใบหน้าดูอิ่มเอิบ มีแววแห่งความเมตตาอย่างเต็มเปี่ยม องค์พระดูสมบูรณ์อวบอ้วนได้สัดส่วน เม็ดพระศกเป็นตุ่มกลมเล็กทั่วทั้งเศียร หน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์ชัดเจน รวมทั้งเส้นสายรายละเอียดขององค์พระ ด้านหลังของ พระลือโขงองค์นี้คราบกรุติดอยู่อย่างบางๆ แสดงว่าเป็นพระที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ไม่มีส่วนตรงไหนชำรุดส่วนหลังจะอูมหนาไม่แบนราบเหมือนกับองค์อื่นๆ ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน มีความกว้าง 2 1/2 ซ.ม.สูง 4 1/2 ซ.ม. ส่วนหนาสุดใต้ฐาน 1 1/2 ซ.ม. ส่วนบางสุดด้านบน 1/2 ซ.ม.

ต่อจากนี้จะเป็นภาพของพระลือโขงอีกพิมพ์หนึ่งที่หาดูได้ยากเป็นพิมพ์ที่ 3 รูปลักษณ์ของพระลือโขงพิมพ์นี้มีความแตกต่างกับพระลือโขงทั้งสองพิมพ์ข้างต้น ในส่วนของพิมพ์และรูปหน้า องค์ประกอบอย่างอื่นนั้นไม่แตกต่างกัน ทั้งสัญญลักษณ์ ลวดลายต่างๆของซุ้มโขงนั้นเหมือนกัน แสดงให้เห็นถึงฝีมือเชิงช่างเป็นคนละคนถิอเป็นธรรมดาของการสร้างพระพิมพ์ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ย่อมจะมีความแตกต่างของฝีมือในเชิงช่างกันไปแต่รูปลักษณ์โดยรวมนั้นกำหนดให้เป็นแบบเดียวกัน สำคัญที่สุดฝีมือของช่างนั้นต้องเข้าขั้นยอดเยี่ยมจึงจะทำเป็นพิมพ์ที่เหมือนๆกันขึ้นมาได้ ในส่วนของพิมพ์ที่ 3นี้รูปหน้าขององค์พระจะดูอ่อนหวานและมีความงดงามของใบหน้าไม่ดุดัน มีใบหน้าที่คล้ายไปทางพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ขุดพบที่อำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนด้านกว้างของพิมพ์นั้นจะกว้างและบานออกทางด้านข้างเป็นข้อสังเกตที่ชี้ให้เห็นให้ท่านได้พิจารณาดู ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ขึ้นไปตรวจงานบูรณะพระธาตุหริภุญชัยจังหวัดลำพูน กลับมาแล้วได้ให้อาจารย์ เขียน ยิ้มศิริ มาถามข้าพเจ้าว่า “เคยสังเกตพบอิทธิพลศิลปะศรีวิชัยในลำพูนหรือไม่” ท่านไปเห็นมาแล้วและเกิดความแปลกใจที่ศิลปะทางทะเลใต้ได้ขึ้นไปถึงภาคเหนือ ข้าพจึงไปพบและเรียนให้ทราบว่า เคยพบหลายชิ้นแม้ในพระพิมพ์ก็มีร่องรอย ท่านก็ให้คำแนะนำ ควรร่วมมือกับอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ทำการค้นคว้าเป็นแนวความรู้ (จาก สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน. อ.มานิตวัลลิโภดม.) เท่าที่ผู้เขียนได้เก็บรวบรวมศิลปะวัตถุต่างๆที่ขุดได้ในเมืองลำพูนพบว่ามีมากมายหลายชิ้นที่เป็นศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะศรีวิชัยและศิลปะทวารวดีคิดว่าต่อไปจะนำออกมาเผยแพร่ให้ได้รู้ได้เห็นว่า ศิลปะวัตถุนั้นๆมีรูปแบบเช่นไร


ภาพที่ 1 ของพระลือโขงพิมพ์ที่ 3 มีความชัดเจนทั่งทั้งองค์พระทั้งหน้าตาที่งดงาม ลวดลายที่ประดับประดาในส่วนต่างๆที่ทำได้อย่างปราณีต เส้นสายรายละเอียดต่างๆสวยงามพริ้วไหวไม่มีที่ติใบหน้าดูอ่อนหวาน เม็ดพระศกเห็นเป็นตุ่มกลมชัดเจนดีเส้นใบหูดูเรียวงาม ประทับนั่งอย่างสง่าการครองจีวรแนบกับลำตัว เส้นขอบจีวรและเส้นสังฆาฏิคมชัดไม่เหมือนกับของเก๊ที่ทำเลียนแบบ ตราบกรุเป็นคราบของดินแดงติดอยู่พอประมาณทำให้ดูมีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง ด้านหลังเรียบเป็นลักษณะของพระลือโขงมีคราบกรุติดอยู่ให้เห็น พระลือโขงองค์นี้เป็นพระเนื้อเขียวแกร่งเป็นองค์หนึ่งที่สมบูรณ์เต็มร้อย ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน มีขนาดกว้าง 2 3/4 ซ.ม. สูง 5 ซ.ม. ส่วนหนาตรงก้นฐาน 1 1/2 ซ.ม. ส่วนบางสุดด้านบน 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 2 ของพิมพ์ที่ 3 พระลือโขงองค์นี้มีสภาพเต็มร้อย คราบกรุเป็นดินดำธรรมดาเป็นคราบกรุเดิมๆไม่ได้ล้างออก เนื่องจากเป็นพระเนื้อเขียวหินครกที่งามสมบูรณ์แบบ การติดพิมพ์จึงให้รายละเอียดต่างๆได้คมชัดยิ่ง สังเกตองค์พระมีหน้าตาที่สงบนิ่วางเฉยไม่สนใจในทุกสิ่งดวงตาเหลือบลงต่ำ พระลือโขงองค์นี้ ประทับนั่งวด้สัดส่วนที่ลงตัวเป็นอย่างดี พิจารณาดูอย่างละเอียดมีความงามซึ้งในศิลปะที่เรียกได้ว่าสุดยอดจริงๆ ด้านหลังดูเรียบร้อยมีคราบกรุให้เห็นพองาม ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน ความกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 1/2 ซ.ม. ส่วนหนาสุดตรงก้นฐาน 1 1/2 ซ.ม. บางสุดด้านบน 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 3 เป็นพระลือโขงที่มีเนื้อเป็นสีเขียวหินครกคราบแดง เป็นพระลือโขงอีกองค์หนึ่งที่มีความงดงามเป็นเลิศที่สามารถพูดได้ว่า หนึ่งไม่มีสองหรือเป็นรองใครเลย เนื่องจากเป็นพระที่ถูกเผาไฟในอุณหภูมิที่สูงจึงทำให้เนื้อพระมีความแข็งแก่งมาก ทั้งการนวดดินให้มีความเหนียวและไม่มีส่วนผสมของกรวดทรายเลยจึงทำให้การเผาออกมาไม่เสียหายทำให้เนื้อขององค์พระมีความละเอียดหนึกนุ่มในสายตาเกิดความงามและเรียบร้อย ไม่มีแตกหักในส่วนใดพระที่ได้ออกมาจึงเป็นพระที่งดงามสมบูรณ์เต็มร้อย ด้านหลังเรียบจะนูนอยู่นิดก็ตรงส่วนก้นฐานที่บุ๋มหยักลึกลงไป ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของพระลือโขงแท้ มีคราบกรุที่เป็นดินดำและแดงติดอยู่ให้เห็นเป็นความงามอย่างหนึ่งที่ทำให้ดูไม่จืดตา พระลือโขงองค์นี้ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูนมีความกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 4 3/4 ซ.ม. ส่วนหนาสุดตรงก้นฐาน 1 1/2 ซ.ม. ส่วนบบางสุดด้านบน 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 4 พระลือโขงองค์นี้เป็นพระลือโขงเนื้อเขียวที่งามเรียบร้อยอีกองค์หนึ่ง ใบหน้าเป็นเหลี่ยม คิ้วเป็นรูปปีกกา เม็ดพระศกเป็นตุ่มนูนมีขอบไรพระศก วาดเป็นแนวแบ่งกรอบหน้าอย่างชัดเจนจมูกบานปากแบะดวงตาเหลือบลงต่ำ ใบหูสองข้างยาวลงมาเกือบถึงบ่า ครองจีวรแบบห่มดองเห็นขอบจีวรและสังฆาฏิชัดเจน ลักษณะของการห่มจีวรจะแนบเนื้อ ที่กล่าวมานี้เป็นลักษณะของศิลปะที่เป็นอิทธิพลของทวารวดี ส่วนซุ้มด้านบนที่ทำเป็นรูปของดอกบัวใบบัวก้านบัวกลีบบัวและส่วนตรงฐานที่ประทับนั่งก็เป็นบัวคว่ำบัวหงาย แม้กระทั่งด้านข้างคของพระทั้งสองด้านก็ทำเป็นช่อของบัวก้านประดับอยู่อย่างสวยงามทำให้องค์พระลือโขงมองดูโดดเด่นเป็นสง่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอิทธิพลพุทธศิลป์มหายานที่เข้ามามีส่วนร่วมให้ผู้คนในยุคนั้นยอมรับนับถือกันพระลือโขงองค์นี้ขุดได้ที่กู่เหล็กอำเภอเมืองลำพูน มีความกว้าง 2 1/2 ซ.ม. สูง 5 ซ.ม. หนาสุดตรงก้นฐาน 1 1/2 ซ.ม. บางสุดตรงส่วนบน 1/2 ซ.ม.

ภาพที่ 5 เป็นภาพสุดท้ายของพระลือโขงพิมพ์ที่ 3 ความเข้มขลังของสีผิวแห่งองค์พระมองดูน่าประทับใจมาก ปัจจุบันมีผู้ทำพระลือโขงปลอมออกมาในหลายรูปแบบขอให้ท่านผู้อ่านดูและสังเกตพิจารณาให้ดี พยายามศึกษาจากพระแท้แม้ว่าจะเห็นเพียงแต่ในรูปที่มีการยอมรับของวงการพระเครื่อง มีมากมายหลายคนถามผู้เขียนว่า พระต่างๆที่เป็นพระแท้ๆที่สวยงามพร้อมในทุกๆประการมีความคมชัดทั้งพิมพ์ทรงนั้นจะมีให้เห็นจริงๆอย่างที่ได้นำมาเสนอให้เห็นหรือไม่ ผู้เขียนขอตอบว่ามีจริง ๆ ว่าแต่เราจะรู้และเข้าใจหรือไม่ว่านั่นเป็นของแท้หรือของปลอม สิ่งเหล่านี้มันเป็นเหตุเป็นผลที่เราจะต้องศึกษาและใฝ่หาด้วยตัวเราเอง ไม่มีอะไรยากเกินไปถ้าหากเราจะศึกษาและทำจริงๆ พระลือโขงองค์นี้เป็นพระเนื้อเขียวหินครก คราบกรุติดอยู่บางๆ ด้านหลังเห็นลายนิ้วมือติดอยู่ หลังจะแบนราบตรงส่วนก้นฐานหนา ก้นฐานมีรอยหยักของการยกเอาองค์พระออกจากแม่พิมพ์ความงดงามคมชัดของพระลือโขงองค์นี้ สมบูรณ์งามพร้อมหน้าตาหูปากจมูกและองค์ประกอบทุกส่วนติดพิมพ์อย่างชัดเจนถือเป็นองค์ครูได้ด้วยประการทั้งปวง พระลือโขงองค์นี้ขุดได้ที่กู่เหล็กลำพูนมีความกว้าง 2 1/2 ซ.ม. หนา 1 1/2 ซ.ม. สูง 4 3/4 ซ.ม. ส่วนที่บางที่สุดด้านบน 1/2 ซ.ม.

การกำหนดอายุของพระลือโขงนั้น จากการวิเคราะห์ พระพุทธรูปยืนฃองเจดีย์วัดกู่กุดหรือวัดจามเทวีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นศิลปะทวารวดีที่ยังเหลือเป็นวัตถุพยานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในเมืองลำพูน น. ณปากน้ำ กล่าวไว้ในหนังสือศิลปะโบราณในสยาม ในหัวข้อ “หริภุญชัย “มงกุฎแห่งล้านนา หน้า 335ว่า “พระพุทธรูปแบบหริภุญชัยเท่าที่พบมักเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่เช่น พระพุทธรูปยืนประจุในซุ้มเจดีย์เหลี่ยมวัดกู่กุด และเศียรพระพุทธรูปจากที่ต่างๆ มีทั้งปูนปั้นและพระดินเผา มีพระพักตร์แบบเดียวกับที่พบยังเมืองลพบุรี ณสถานที่ขุดพบสถูปสมัยทวารวดี แต่ส่วนละเอียดคือพระศกกับขอบไรพระศกเหมือนกับศิลปะอู่ทอง จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ศิลปะอู่ทองตอนต้นซึ่งสืบต่อจากศิลปะทวารวดีซึ่งมีที่มาจาก ละโว้เป็นปฐม โดยละโว้ส่งแบบแผนไปยังหริภุญไชยอีกต่อหนึ่ง พระพุทธรูปยืนที่วัดกู่กุด จะยืนลำตัวตรง พระชงฆ์ถ่างออกจากกันเล็กน้อย พระหัตถ์ขวายกขึ้นปางประทานอภัย ขอบจีวรส่วนบนเป็นเส้นโค้งคล้ายพระทวารวดี แต่ชายจีวรและชายสบงเป็นเส้นริ้ว รอยผ้าย่นทับกัน พระพุทธรูปยืนเป็นแบบห่มคลุมแนบเนื้อเหมือนทวารวดี ไม่มีสังฆาฏิและรัดประคต ดูผาดๆก็เหมือนพระทวารวดีทุกอย่าง แสดงว่าอิทธิพลทวารวดีสมัยปลาย อย่างไรก็ดีสรุปได้ว่าพระพุทธรูปวัดกู่กุดที่ลำพูนมีอิทธิพลศิลปะแบบแปรรูปซึ่งอยู่ในช่วงพ. ศ 1490—1508 รวมทั้งพระเศียรที่พองตรงส่วนบนด้วย บ่งว่าเป็นศิลปะที่อยู่ร่วมสมัยกัน เข้าใจว่าขอมจะเอาอย่างไปจากละโว้ เพราะสมัยนั้นพุทธมหายานที่ละโว้รุ่งเรืองกว่าขอมจึงพอจะสรุปอายุของพระพุทธรูปวัดกู่กุดลำพูนว่า มีอายุอยู่ระหว่าง พ. ศ . 1490 –1515 หรืออาจจะเก่ากว่านั้นเล็กน้อย

เมื่อได้ข้อสรุปเช่นนี้ ก็พอจะประมาณได้ว่าพระพุทธรูปของเจดีย์เหลี่ยมกู่กุดนี้มีอายุกว่าพันปีขึ้นไปเมื่อเรานำเอาเศียรของพระพุทธรูปของกู่กุดมาเทียบกับเศียรของพระลือโขง สังเกตพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปและของพระลือโขง จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันในหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นรูปพระพักตร์ เศียรที่พองตรงส่วนบน การห่มจีวรที่แนบเนื้อ ตลอดจนอิทธิพลของพุทธศิลป์มหายานที่มีอยู่ในองค์พระลือโขง จึงพอที่จะกล่าวถึงว่าพระลือโขงนั้นเป็นศิลปะที่อยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธรูปยืนประจุในซุ้มเจดีย์ เช่นกันเพราะเหตุเป็นศิลปะร่วมสมัย อายุของพระลือโขงก็ควรจะมีกว่าพันปีขึ้นไปเช่นเดียวกับพระพุทธรูปที่อยู่ในซุ้มเจดีย์ ไม่ใช่ 700หรือ 800ปีอย่างที่คาดเดากันเพราะรูปแบบของศิลปะที่ถ่ายทอดจากละโว้สู่หริภุญไชยก็เป็นตัวที่บ่งบอกเราได้อย่างถูกต้องและเป็นจริง