ประวัติวัดมหาวันลำพูนและพระรอดลำพูน ตอนที่ 1

วันมหาวัน จังหวัดลำพูนนั้นใช่ว่าจะมีความสำคัญเพราะเพียงแค่มีพระรอดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือวัดแห่งนี้เคยเป็นพระอารามหลวงของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัยวัดมหาวันนั้นก็เหมือนกับสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี่ที่จะหาความแน่นอนจีรังยั่งยืนอะไรไม่ได้ บางครั้งวัดนี้ก็เจริญรุ่งเรื่องอย่างเต็มที่สุดขีด แต่บางครั้งก็ตกต่ำจนทั่วบริเวณต้องรกร้างกลายกลับเป็นป่าดงพงชัฏไปในยุคที่บ้านเมืองเกิดการศึกสงคราม วัดมหาวันได้ถูกทิ้งรกร้างไปนานจนผู้คนเกือบจะลืม ถาวรวัตถุโบราณสถานตลอดจนโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้ถูกธรรมชาติกัดกร่อน หักโค่นแตกหักเสียหาย ปรักหักพังจมลงอยู่ใต้พื้นดิน จะมีให้เหลือก็เพียงแค่เนินดินสูงของวิหาร เจดีย์ถูกปกคลุมไปด้วยเถาวัลย์ต้นไม้ใบหญ้าเห็นเป็นตะคุ่มอยู่

ตามหลักฐานจากตำนานได้กล่าวไว้ว่า เจดีย์แห่งวัดมหาวันองค์นี้ก็คือสถานที่ที่มีการบรรจุพระรอดไว้ เมื่อมีการปรักหักพังลงจนกลายเป็นเนินดินใหญ่และจากการนำเอาเศษอิฐดินหิน กากปูนจากเนินดินแห่งนี้ไปถมหลุมบ่อทั่วบริเวณวัด พระรอดที่มีปนอยู่จึงได้กระจัดกระจายไปทั่วทิศต่าง ๆ รอบ ๆ บริเวณ ครั้งนั้นมีการขุดค้นพบยอดเจดีย์ที่ทำด้วยศิลาแลงอีกทั้งรูปปูนปั้น ตลอดจนมีผู้ขุดได้พบพระรอดและพระเครื่องต่าง ๆ มากมายหลายอย่างในทางด้านทิศตะวันตกของวัดจึงสันนิษฐานกันได้ว่า เจดีย์คงจะหักโค่นพังลงไปในทางทิศนั้นแน่นอน ในสมัยก่อนพื้นที่รอบ ๆ บริเวณวัดมหาวันเต็มไปด้วยหลุมบ่อสูง ๆ ต่ำ ๆ พื้นที่ไม่เรียบ เมื่อมีการบุรณะวัดได้มีการนำเอาเศษอิฐ กากปูน ดิน หินจากซากเจดีย์ซากวิหารไปถมบริเวณที่สูง ๆ ต่ำ ๆ เหล่านั้น พระรอดและพระเครื่องต่าง ๆ ที่ปะปนอยู่กับเศษอิฐ ดิน หินเหล่านั้นก็มีการกะจะดกระจายไปทั่วด้วยเหตุนี้ เพราะเมื่อก่นอยังไม่มีใครเสาะแสวงหาพระเครื่องเฉกเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านผู้คนต่างไม่ได้ให้ความสนใจที่จะเก็บรักษาพระเครื่องไว้ โบราณวัตถุเหล่านั้นจึงจมอยู่ใต้พื้นดิน จนกระทั่งได้มีการขุดค้นหากันในยุคหลังซึ่งมีการตื่นตัวเสาะแสวงหากันมากขึ้น พื้นที่ทั่วไปรอบ ๆ บริเวณวัดก็มีการขุดกันซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อหาพระรอด แต่ในระยะหลัง ๆ ก็ขุดค้นหาได้ยากมากจนเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่พบอะไรเลยในบริเวณวัด หากจะมีก็จะเหลือยู่ก็บริเวณที่มีสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุตั้งอยู่บริเวณถนนรอบ ๆ วัดด้านนอกและบริเวณบ้านของผู้คนที่อยู่อาศัยโดยรอบที่ในอดีตเคยเป็นบริเวณของวัดในสมัยโบราณเท่านั้นที่ยังไม่มีการขุดค้นอย่างแท้จริง ประจักษ์พยานของความเป็นวัดเก่าแก่โบราณจริง ๆ ก็คือ ได้มีการขุดพบพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วย “ หินศิลาดำ ” หรือ “ กาฬศิลา ” ซึ่งในตำนานชินกาลมาลินีได้เรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “ พระพุทธสิกขีปฏิมากร ” หรือ “ พระศิลาดำ ” ที่พระนางจามเทวีได้ทรงอาราธนาจากเมืองละโว้ขณะเสด็จมาครองหริภุญชัยนคร พระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดกว้าง 18 นิ้ว สูง 34 นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารบนแท่นแก้วหน้าองค์พระประธานของวัดมหาวัน พุธทศิลป์เป็นศิลปสมัยทวาราวดีปางสมาธิ พระหัตถ์และพระบาทแบะออกตามแบบอย่างของศิลปะสมัยทวาราวดีแท้ ๆ ชาวบ้านต่างเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “ แม่พระรอด ” หรือ “ พระรอดหลวง ” จึงนับได้ว่าพระพุทธรูปหินศิลาดำองค์นี้เป็นพระพุทธรูปโบราณที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองและคู่วัดมหาวันมาโดยตลอด นอกจากแม่พระรอดในวิหารนี้แล้วองค์พระประธานของวัดมหาวันนั้นก็เป็นพระประธานที่เชื่อกันว่า พระเจ้าสรรพสิทธิ์ ธรรมิกราช กษัตริย์ลำดับที่ 30 ผู้ครองแคว้นหริภุญชัยนครเป็นผู้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 1620 พระพุทธรูปพระองค์ประธานองค์นี้มีพระพุทธลักษณะงดงามมากและเป็นศิลปหริภุญชัยบริสุทธิ์ในยุคแห่งความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ท่านผู้อ่านลองเข้าไปสังเกตและพิจารณาดูให้ดี ก็จะเห็นตามนี้

ในช่วงหลัง ๆ เพราะการศึกสงครามจากกองทัพพม่า วัดมหาวันก็ได้ถูกทิ้งรกร้างเรื่อยมาตามสภาพของบ้านเมือง จนในปี พ.ศ. 2365 ได้มีพระภิกษุ สามเณรมาจำพรรษาจึงค่อย ๆ ได้รับการพัฒนาโดยพระคุณท่านอินทรส ภิกขุ เป็นเจ้าอาวาสได้ชักชวนศรัทธาประชาชนให้มาช่วยกันแผ้วถางป่าบริเวณวัดให้พอมีที่อยู่อาศัย แต่ก็ยังเป็นป่ารกชัฏที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยร่มครึ้ม ในปี พ.ศ. 2373 พระคุณท่านอริยภังโส ภิกขุ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบมา แต่วัดมหาวันก็ยังมีที่รกร้างอยู่อีกมาก เนื่องด้วยบริเวณวัดกว้างขวางมาก และเต็มไปด้วยป่าไม้สีเสียด อีกทั้งยังมีบริเวณที่เป็นหลุมเป็นบ่ออีกมาก วัดมหาวันช่วงนี้จึงยังไม่เจริญเท่าที่ควร พ.ศ. 2394 พระคุณท่านครูบาอุปนันท์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้ทำการชักชวนศรัทธาญาติโยม โดยเฉพาะแม่อุ้ยเฮือนคำ เป็นแม่งานนำชาวบ้านช่วยกันแผ้วถางปรับพื้นที่ของวัดให้ราบเรียบ ที่ลุ่มก็นำเอาเศษอิฐ กากปูนมาถม ที่ดอนก็แผ้วถางให้เตียน สภาพของวัดก็ดูเจริญหูเจริญตาขึ้น ท่านได้ทำการพัฒนาวัดโดยได้ทำการก่อสร้างอุโบสถ วิหาร ศาลาบาตร ได้ก่อสร้างกำแพงโดยรอบวัดให้มีเขตเป็นสัดส่วนและในครั้งนี้ เศษอิฐ กากปูน กองเนินดินของเจดีย์ วิหาร โบราณวัตถุที่ล่มสลายแตกหักลงก็ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการทับถมบริเวณที่ลุ่มโดยทั่วบริเวณวัด วัดมหาวันก็กลับฟื้นคืนสู่ความเจริญอีกครั้ง วัดมหาวันในยุคของพระคุณท่านครูบาอุปนันท์นั้นมีความเจริญรุ่งเรื่องมากทั้งในด้านความเจริญทางวัตถุและความเจริญทางการศึกษา

พระคุณท่านครูบาอุปนันท์ ท่านเป็นนักปราชญ์และผู้รู้อย่างแท้จริง โดยท่านได้จารึกพระคัมภีร์ททางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ มากมายเช่น ทสนิบาต วีสตินิบาต จตุกนิบาต บาลีไวยากรณ์ พระธรรมบท ยกศัพท์มงคลทีปนี สารัตถปทีปนี สมันตปาสาทิกและพระคัมภีร์อื่น ๆ อีกมากมาย ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในหอพระไตรปิฎกของวัดมหาวันทั้งหมด ซึ่งเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นว่า การศึกษาในยุคของพระคุณท่านครูบาอุปนันท์นั้นเจริญยิ่ง นอกจากนี้ท่านครูบายังได้เป็นเจ้าศรัทธาสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นไว้ ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ซึ่งอยู่เบื้องหน้าของวัด ใกล้ ๆ กับสิงห์ยืนตัวใหญ่ทั้งคู่ในบริเวณอาณาเขตคณะหลวง สิ้นค่าก่อสร้างในเวลานั้น 800 บาท พุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้สวยงามมาก ได้มีเจ้าอาวาสปกครองวัดมหาวันสืบกันต่อมาอีกมากมายหลายรูป คือ ท่านครูบาเป็ง ท่านครูบาฟู พระวินัยธรกี ญาณวิจาโร ในปี พ.ศ. 2494 พระมหาชุมพล ชุตินธโร (รุนรักษา) หรือพระเดชพระคุณท่านเจ้าพระญาณมงคล ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบมา วัดมหาวันก็ก้าวเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรื่องอย่างเต็มที่อีกครั้ง ในยุคสมัยของท่านนี้ พระรอดยอดแห่งพระเครื่องของเมืองลำพูนก็ได้เผยแพร่ชื่อเสียงขจรกำจายเกริกไกนไปทั่ววงการของพระเครื่องทั่วทั้งประเทศโดยมีท่านตรียัมปวาย เป็นผู้บุกเบิกโดยได้เผยแพร่ชื่อเสียงจนพระรอดเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศในเวลาต่อมา อันถือได้ว่า พระรอดลำพูนเป็นหนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ยิ่งกว่าพระเครื่องอื่นใดในประเทศไทย พระเดชพระคุณพระญาณมงคลเป็นผู้ที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับพระเครื่องชุดสกุลลำพูนในทุก ๆ อย่างรู้ประวัติความเป็นมาของเมืองลำพูนอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง คุณเชียร ธีระศานต์ ผู้เชี่ยวชาญพระเครื่องเมืองเหนือก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับความรู้ เรื่องราวของพระเครื่องชุดสกุลลำพูนจากท่าน แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็ยอมรับในความเป็นเอกทัคคะของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระญาณมงคลด้วยความเคารพยิ่ง

ท่านเจ้าคุณพระญาณมงคล ได้เล่าถึงเรื่องราวของพระรอดว่า เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาพระเครื่องชุดสกุลลำพูน ประวัติความเป็นมานั้น เป็นพระพิมพ์ที่ทำขึ้นในสมัยของพระนางเจ้าจามเทวี ซึ่งมีปรากฏในตำนานว่า พระสุกกทันตฤาษีและวาสุเทพฤาษีที่มีกำลังฤทธิ์ จำนวน 108 คน ประกอบพิธีสร้างพระพิมพ์ชุดสกุลลำพูนขึ้นมา โดยเอาดินจากใจกลางทวีปทั้ง 5 เอาไว้และรากไม้ที่ทำเป็นยาได้ถึง 1000 ชนิด ว่ายา 1000 ชนิด นำมาบดผสมกันให้ละเอียด แล้วปลุกเสกด้วยเวทมนต์พระคาถาต่าง ๆ อันศักดิ์สิทธิ์พร้อมของฤาษีทั้ง 108 ตนนั้นทำเป็นพระรอดขึ้นมา เพื่อไว้แจกจ่ายแก่ประชาชนและขุนทหารเพื่อคุ้มครองรักษาชีวิตตนในยามศึกสงครามและเก็บไว้ในที่สูงเพื่อสักการะบูชา ส่วนหนึ่งเก็บบรรจุไว้ในองค์เจดีย์แห่งวัดนี้

ลักษณะทั่วไปพระรอด พระรอดเป็นพระเครื่องปางมารวิชัย มีฐานอยู่ใต้ที่ประทับ มีผ้าปูนั่งเป็นเส้นขนาดเล็กเท่าเส้นผมรองรับปูไว้บนฐาน เบื้องหลังแห่งองค์พระนั้นมีลวดลายประดับเป็นลวดลายกระจังที่ชาวบ้านพื้นเมืองเหนือเรียกกันว่าใบโพธิ์ เพราะมีลักษณะคล้ายใบโพธิ์กับก้านใบโพธิ์ประดับอยู่ แม้จะเป็นพระเครื่องที่มีขนาดเล็กมาก ใบหน้าขององค์พระก็จะประกฏว่ามีตา คิ้ว ปาก จมูก คล้ายกับธรรมชาติของคนเป็นที่สุด การประทับนั่งขององค์พระ นั่งอย่างสง่าผึ่งผายสมลักษณะแห่งพระผู้พิชิตมาร หูทั้งสองข้างแห่งองค์พระยาวลงมาเกือบจะจรดบ่าทั้งสองข้าง เป็นศิลปะในพระเครื่ององค์เล็กที่สุดที่เต็มไปด้วยศาสตร์แห่งศิลป์โดยแท้ ด้านหลังขององค์พระไม่มีลวดลายอะไร นอกจากลายนิ้วมือของผู้กดพิมพ์ เนื้อของพระเป็นดินเหนียวทั้งหมด นูนบ้าง แบนบ้าง ราบเรียบบ้าง หนา บาง บิด เบี้ยว ไม่เท่ากัน บางองค์ก็ประณีตบรรจงสวยงามบางองค์ก็บิดงอไม่ได้สมบูรณ์และสวยงามไปทุก ๆ องค์ ทั้งนี้เพราะพรที่ทำขึ้นมีจำนวนมากมายมหาศาล มีคนช่วยกันทำมากหน้าหลายตาหลายแบบพิมพ์หลายฝีมือ

จากรายละเอียดทั้งหมดนี้ได้นำมาจากหนังสือ รวมสุดยอดพระเครื่องเมืองลำพูน ซึ่งจากที่ท่านได้อ่านเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของหนังสือเท่านั้น โดยทางผู้เขียนจะนำเอาบทความที่มีคุณค่าแบบนี้มาให้ท่านผู้อ่านมาได้ศึกษากันในโอกาสต่อไป