พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม พระเหลี้ยม ตามภาษาท้องถิ่นเขาเรียกกันเช่นนี้ หมายถึงพระกรุที่มีรูปลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งคำว่าเหลี้ยมหมายความว่าแหลม ดังนั้นคำว่าพระเหลี้ยมจึงมีความหมายว่าพระกรุที่มีลักษณะปลายแหลม ซึ่งก็ตรงกับความเป็นจริงขององค์พระ

ส่วนคำว่าเลี่ยงหรือที่เรียกกันไปว่าพระเลี่ยงตามที่ผุ้ที่นิยมพระในส่วนกลางเรียกพระชนิดนี้กันนั้น เขาไปเหมาเอาเป็นเรื่องของพระพุทธคุณขององค์พระ ที่หมายความว่าหากใครมีพระชนิดนี้ในความครอบครอง ภัยร้ายต่างๆจะหลีกเลี่ยงไม่กล้าเข้ามา ซึ่งหากจะคิดกันในแง่นี้ก็คงไม่ผิดกติกา พอจะอนุโลมกันไปได้อย่างไม่น่าจะขัดข้องกัน สำหรับพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมนี้ กรุที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือพระกรุวัดประตูลี้ ซึ่งพระจะขึ้นจากที่นี่มากที่สุดและเป็นพระที่มีความงดงามอลังการ์มากกว่าพระเหลี้ยมที่ขึ้นจากที่ใด เท่าที่ได้พบเห็นและพิจารณาอย่างดีและเต็มที่

ถือได้ว่าพระเหลี้ยมของกรุประตูลี้นี้มีความสมบูรณ์แบบทั้งความงามและองค์ประกอบของพุทธศิลป์ถึงขั้นเทพเลยก็ว่าได้ องค์พระประทับอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมขนาดเล็กที่พอดีและเหมาะเจาะ ประดับไปด้วยลวดลายต่างๆ องค์พระทรงมงกุฎมี กุลฑล ทับทรวง รัดแขนพร้อม ประทับนั่งในท่าปางมารวิชัย บนฐานที่มีทั้งแบบบัวกลมและบัวเหลี่ยม มีซุ้มรัศมีโดยรอบเป็นรูปของกลีบบัวปลายแหลมขึ้นไปจรดด้านบน ซึ่งประกอบไปด้วยฉัตรห้าชั้น อันหมายถึงความเป็นกษัตราธิราชเจ้า สองข้างของพระองค์ประธานของพระเหลี้ยมพิมพ์นี้มีพระกุมารฝาแฝดประทับอยู่สองข้างเคียงคู่กัน

องค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนจะเห็นมีวงรัศมีรอบเศียรทั้งสององค์ ซึ่งก็มีความหมายถึงผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ นอกจากนี้เหนือเศียรขึ้นไปเราสังเกตุดูก็จะเห็นรูปฉัตรสี่ชั้นอยู่ด้านบน ล่างสุดใต้ฐานประทับจะเป็นรูปของช้างพลายสามเชือกประดับอยู่ มีความหมายถึงความเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจชั้นสูงจึงจะมีช้างมาเป็นสัญญลักษณ์ประดับพระบารมีได้

หัวช้างเชือกตรงกลางนั้นหมายถึง .ช้างปู้ก่ำงาเขียว ช้างเผือกงาดำคู่บุญบารมีของพระนางจามเทวีประดับอยู่ สองข้างเป็นช้างประจำพระองค์ของพระกุมารทั้งสองแต่ละองค์ ริมสุดมีลวดลายประดับจากด้านล่างริมฐาน จนถึงปลายแหลมด้านบน หากจะพิจารณาดูแล้วแทบจะหาเนื้อที่ว่างในพระเหลี้ยมเล็กไม่มีเลย พระองค์ประธานที่ประทับนั่ง จะมีหน้าตาหูปากจมูกอย่างเด่นชัด

พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นี้พอจะอนุมานได้ว่า คงจะเป็นการสร้างขึ้นมา เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ของงานเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์เป็นจอมนางกษัตรีย์หริภุญไชย อันหมายความถึงเปรียบเสมือนเป็นองค์แทนของเจ้าแม่จามเทวี ซึ่งไม่เห็นจะมีพระเครื่องหรือพระแบบอื่นใดจะมีรูปลักษณ์เช่นนี้ เหตุผลดังกล่าวขอให้ท่านมองดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนคิดและพิจารณาดูเอาเถิดว่าเป็นความจริงดังที่ผู้เขียนว่าไว้หรือไม่ เท่าที่ผู้เขียนได้เก็บสะสมพระกรุต่างๆมามากมายก็ไม่เห็นว่าจะมีพระกรุที่ไหนอื่นใดจะมีลวดลายและรายละเอียดงดงามเทียบเท่าพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมนี้เลย

นอกจากจะพบพระเหลี้ยมที่วัดประตูลี้แล้ว ยังขุดพบได้ในวัดแห่งอื่นเช่นที่วัดดอยติ วัดดอนแก้ว วัดพระคงฤาษี และบริเวณเมืองเก่าของเวียงกุมกามซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหริภุญไชย แต่พุทธศิลป์และความงดงามสู้พระเหลี้ยมของกรุวัดประตูลี้ไม่ได้เลย

 
 

     ภาพที่ 1 เป็นพระเหลี้ยมเล็กสีเขียวหินครก ที่มีสีเข้มเกือบจะดำของวัดประตูลี้ พระเหลี้ยมองค์นี้มีความสมบูรณ์ไม่บิ่นหรือแตกหักลบเลือนตรงไหนเลย เนื้อหาพิมพ์ทรงเส้นสายรายละเอียดต่างๆติดพิมพ์อย่างชัดเจน เป็นองค์หนึ่งที่มีความงดงามพร้อมชนิดที่ว่าไม่มีที่ติ เนื้อดินของพระเหลี้ยมองค์นี้แข็งแกร่งมาก ลองนำไปวางบนกระจกจะเกิดเสียงดังแกร๊กๆ อันเป็นสัญญาณที่บอกถึงความแกร่งของเนื้อพระ ฐานของพระเป็นแบบบัวเหลี่ยม มีขนาดกว้าง 2 ซม. สูง 4 ซม. ส่วนหนา 1 1/4 ซม.

 
 

     ภาพที่ 2 เป็นพระสีขาว จะมองเห็นคราบกรุที่เป็นราดำ ติดอยู่ทั่วทั้งองค์พระ หน้าตาหูปากจมูกจะติดพิมพ์ชัดเจน มีความงดงามของเส้นสายรายละเอียดต่างๆที่เรียกได้ว่างามพร้อม พระเหลี้ยมองค์นี้เป็นพิมพ์เดียวกันกับองค์ที่ 1เพียงแต่จะมีสีแตกต่างกันเท่านั้นถือได้ว่าเป็นบล๊อกหนึ่งที่มีความแตกต่างจากองค์อื่นที่ท่านจะต้องใช้ความสังเกตุดู พระเหลี้ยมองค์นี้มีขนาดความกว้าง 2 1/2 ซม. สูง 4 1/4 ซม. หนา 1 1/4 ซม.

 
 

      ภาพที่ 3 เป็นพระเหลี้ยมอีกพิมพ์หนึ่งมีเนื้อเป็นสีเขียวหินครก เป็นพระเนื้อแกร่ง มีคราบกรุสีแดงติดอยู่องค์พระติดพิมพ์ชัดเจนดีมาก ส่วนใหญ่ของพระที่มีเนื้อแกร่งแบบนี้จะเป็นพระที่งามสมบูรณ์ซึ่งเนื้อดินก็มีส่วนเป็นอย่างมาก ที่ช่วยรักษาสภาพได้เป็นอย่างดี มีขนาดกว้าง 2 ซม. สูง 4 1/2 ซม. หนา 1 1/2 ซม.

 
 

      ภาพที่ 4 เป็นพระเหลี้ยมสีพิกุล ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นพระเหลี้ยมอีกบล๊อกหนึ่ง มีหน้าตาพร้อม มงกุฎที่สวมจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป องค์ประกอบส่วนอื่นๆก็ไม่มีอะไรแตกต่างกัน มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซม. สูง 4 1/4 ซม. หนา 1 1/2 ซม.

 
 

      ภาพที่ 5 เป็นพระเหลี้ยมสีเขียวคราบแดง ความงามและความสมบูรณ์มีพร้อม ไม่บี่นไม่หักชำรุดตรงส่วนใด เป็นพระเนื้อแกร่งที่มีเนื้ อค่อนข้างหยาบ ตรงก้นฐานจะเป็นรอยบุ๋มลึกเ ข้าไป ซึ่งเกิดจากการกดของนิ้วตอน ยกพระออกจากแม่พิมพ์พระองค์ นี้มีขนาดกว้าง 2 1/4 ซม. สูง 4 ซม. หนา 1 ซม.

 
 

      ภาพที่ 6 เป็นพระเหลี้ยมเล็กสีพิกุล เป็นพระเหลี้ยมอีกพิมพ์หนึ่งที่มีเม็ดบัวตรงฐานประทับนั่งเป็นเม็ดกลม ดวงตาขององค์พระจะกลมโตดูงดงามแปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง พระเหลี้ยมพิมพ์ นี้ ไม่ค่อยจะพบเห็น เป็นพิมพ์หนึ่งที่หายาก ไม่มีปรากฎในสนามพระ โดยเฉพาะองค์สวยๆที่งดงามเช่นนี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เรียกได้ว่าไม่มีให้ได้เห็นเลย จึงได้นำมาให้ท่านได้รู้จัก ความงามสมบูรณ์นั้นเต็มร้อย พระเหลี้ยมองค์นี้กว้าง 2 1/4 ซม. สูง 4 ซม. หนา 1 1/4 ซม.

 
 

      ภาพที่ 7 เป็นพระเหลี้ยมเล็กฐานเป็นเม็ดบัวกลมอีกองค์องค์หนึ่ง มีสีเป็นสีเขียวอ่อนซึ่งเป็นสีที่งามแปลกมาก ความสมบูรณ์งดงามขององค์พระที่มีหน้าตาหูปากจมูกครบถ้วนนั้นมีเสน่ห์ยิ่ง ความงามเรียบร้อยของเนื้อที่มีสีสันแปลกตาทำให้มีมิติหนึ่งที่ทำให้เกิดความซึ้งดูไม่เบื่อ หากใช้แว่นขยายส่องดูเนื้อ ยิ่งจะทำให้เกิดความประทับใจมากยิ่งขึ้น ความเก่าแก่ของเนื้อ ความงามของพุทธศิลป์นั้นมีอยู่ในพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยมอย่างครบครัน บวกกับพุทธานุภาพเข้มขลังด้วยพลังแห่งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดอยู่รอดปลอดภัย ยิ่งทำให้องค์พระมีคุณค่ามาก พระเหลี้ยมเล็กเป็นพระกรุแห่งความร่มเย็นของเมืองลำพูน ยากที่จะหาพระกรุอื่นใดมาเทียบเคียงได้ นับได้ว่ามีคุณค่าอย่างมหาศาล ที่บรรพชนคนโบราณ ได้สร้างสรรมอบให้เป็นความภาคภูมิใจของลูกหลานชาวลำพูนโดยแท้