พระเครื่องชุดสกุลลำพูนลำดับต่อไป ที่จะพูดถึงก็คือพระลบ อันที่จริงชื่อของพระชนิดนี้ที่เรียกกันว่าพระลบ ก็เป็นชื่อที่ถูกต้องลงตัวอย่างดีแล้ว แต่ก็มีผู้ที่เรียกเพี้ยนเปลี่ยนเป็น พระรบ ซึ่งก็ไม่ตรงกับรูปลักษณ์และข้อเท็จจริง รวมทั้งพุทธคุณขององค์พระลบ คำว่าพระลบมีความหมายว่าพระเครื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการลบล้างอาถรรพ์ที่เกิดขึ้น เมื่อครั้งขุนหลวงวิลังคะเจ้าแห่งลัวะ พุ่งสะเหน้าหรือหอกมาตกที่ชายขอบของเมืองหริภุญไชย เพื่อเป็นการข่มขวัญพระนางจามเทวีให้ยอมแพ้แก่ตน

ภายหลังขุนหลวงวิลังคะสู้ปัญญาของฝ่ายเมืองลำพูนไม่ได้ ก็มีความเสียใจ ฆ่าตัวตายโดยพุ่งหอกขึ้นฟ้าแล้วแอ่นอกรับหอกที่พุ่งตกลงมา และถึงแก่ความตายในที่สุด พระนางจามเทวีทราบความเกิดความเสียใจที่เหตุการณ์เป็นเช่นนั้นจึงโปรดให้สร้างเจดีย์ หรือกู่ใกล้บริเวณที่หอกของขุนหลวงวิลังคะตกลงมาเป็นหนองน้ำใหญ่ โปรดให้สร้างพระเครื่องเนื้อดินเผาที่เรียกกันต่อมาว่าพระลบบรรจุไว้ในเจดีย์นั้น ต่อมาชาวบ้านชาวเมืองลำพูนก็เรียกสถานที่นี้ว่า กู่พระลบ ปัจจุบันนี้กู่พระลบยังมีร่องรอยให้ได้เห็น แต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจที่จะอนุรักษ์สถานที่ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของเมืองให้ได้เห็นเป็นรูปธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง กู่พระลบ นี้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาวันลำพูน

พระลบมีหลายแบบหลายพิมพ์ ในครั้งนี้จะนำมาเสนอให้ท่านได้รู้จักและเห็นกัน 3 พิมพ์ก่อน หากมีโอกาสและมีผู้ที่ให้ความสนใจใคร่รู้ เราค่อยว่ากัน มีผู้คนมากมายได้เข้าใจผิดและคิดว่าพระลบลำพูนนั้นจะต้องมีสีแดงก่ำทุกองค์ เท่าที่ผู้เขียนได้พบเห็นและคลุกคลีกับพระชุดสกุลลำพูนมานานแสนนาน ได้พบเห็นแล้วว่าพระลบนั้นก็มีสีต่างๆหลายหลากสีเช่นเดียวกับพระเนื้อดินเผาทั่วไป เพียงแต่ว่า เราจะพบเห็นพระลบเนื้อสีแดงมากกว่าพระลบสีอื่นๆ พระลบนั้นมีพุทธคุณสูงเยี่ยมที่บรรดาผู้คนมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย มีพุทธคุณทางด้านข่ามคงกระพันชาตรีแถมยังสามารถทำเป็นน้ำมนต์ในงานพิธีต่างๆ ทั้งในงานขึ้นบ้านใหม่หรืองานมงคลต่างๆ นอกจากนี้แล้วยังสามารถนำไปลบล้างอาถรรพ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างยอดเยี่ยม

ในสมัยก่อนใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ขับไล่ภูตผีปีศาจที่มารบกวนและทำร้ายชาวบ้านได้อย่างชะงัดจนเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสมัยนั้น พระลบจึงเป็นพระกรุโบราณของเมืองลำพูนชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าควรแก่การแสวงหาและเก็บสะสม ปัจจุบันพระลบออกจะหายากพอสมควร ของปลอมที่ทำขึ้นมาหลอกขายก็มีให้ได้พบเห็น แต่เนื้อหาพิมพ์ทรงก็มีความแตกต่างกันมา ก ดังนั้นผู้ที่ต้องการเก็บสะสม ควรจะศึกษาจากผู้รู้หรือหาเช่ากับคนที่พอจะไว้ใจได้ก็จะไม่ผิดหวังและเสียความรู้สึก

 
 

     ภาพที่1 เป็นพระลบพิมพ์ตรีศูรย์หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งคือตรีรัตนะเป็นพระลบพิมพ์ที่แปลก ไม่ค่อยมีให้เห็นกันจึงได้นำมาเผยแพร่ให้ได้รู้ได้เห็น เนื้อหา ค่อนข้างหยาบมีสีเป็นสีดำ คราบกรุที่ติดอยู่มีสีขาวเป็นคราบของน้ำปูนขาว ไม่ได้ล้างออก เพื่อให้ได้เห็นสภาพเดิมๆ ตรีรัตนะเป็นสัญญลักษณ์ อย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ธรรมิกราชผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียที่มีความเคารพนับถือและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมุ่งมั่น เป็นที่น่าแปลกที่มีการค้นพบสัญญลักษณ์อันเก่าแก่แต่ครั้งกระโน้นปรากฎในองค์พระชนิดนี้ของเมืองลำพูน ชาวบ้านท้องถิ่นเขาเรียกพระลบพิมพ์นี้ว่า พระลบพิมพ์ตรีศูรย์ หรือพระลบพิมพ์สามง่าม ซึ่งมีความแตกต่างจากพระลบพิมพ์อื่นๆ ยังมีพระลบอีกพิมพ์หนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกันคือพระลบพิมพ์ตัวขอม ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาเสนอให้ได้ชมในโอกาสต่อไป พระลบตรีรัตนะองค์นี้ เป็นพระลบที่มีความงดงามสมบูรณ์มากไม่บิ่นหรือชำรุด พุทธคุณสูงส่งดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

 
 

     ภาพที่ 2 พระลบพิมพ์ฐานสามชั้น เป็นพระลบเนื้อหยาบสีดำ มีคราบกรุสีแดงติดอยู่ พระลบพิมพ์นี้จะพบเห็นกันค่อนข้างบ่อย เป็นพระลบที่มีสีแปลกออกไปจากพระลบสีแดงก่ำ มีความสมบูรณ์ขนาดกระทัดรัด เนื้อขององค์พระค่อนข้างจะหยาบ ตามแบบฉบับของพระกรุนี้ จริงๆแล้วพระลบนั้นจะมีทั้งเนื้อละเอียดและหยาบให้ได้เห็นกัน สำหรับพระลบที่เป็นพระเนื้อหยาบนั้นจะมีเม็ดแร่สีทับทิมขึ้นพราวทั่วองค์พระ ชนิดเนื้อละเอียดนั้นจะไม่มีเม็ดแร่ วิธีการดูนั้น ให้สังเกตุเนื้อหาพิมพ์ทรงขององค์พระ คราบกรุ ขี้กรุ เป็นสำคัญ พระลบหรือพระกรุที่เป็นของโบราณของแท้ เมื่อได้จับต้องมองดู เราจะเกิดความรู้สึกสะดุดตาความเก่าแก่ของเนื้อหา พุทธศิลป์ที่งดงามจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ประทับใจเกิดขึ้นยังมีองค์ประกอบอย่างอื่นๆ ซึ่งผู้ที่มีความชำนาญและนิยมสะสมพระกรุโบราณจะเข้าใจได้ดี

 
 

      ภาพที่ 3 พระลบพิมพ์ตัวอักษรจีน พระลบพิมพ์นี้เป็นพระลบพิมพ์ที่มีลักษณะแปลกที่สุดของพระชุดสกุลลำพูน เชียร ธีรศานต์ ปรมาจารย์พระเครื่องผู้หนึ่งได้ให้ความสังเกตุ ในเรื่องของอักษรภาพ และได้เรียกพระลบพิมพ์นี้ว่า พระลบพิมพ์ตัวอักษรจีน จึงเป็นที่มาของชื่อดังกล่าว เนื้อหาค่อนข้างหยาบ มีคราบกรุเป็นดินสีแดงติดอยู่ตามซอก ทำให้มองเห็นองค์พระอย่างชัดเจน มีพบน้อยไม่ค่อยปรากฎในสนามพระ คนรุ่นใหม่จะไม่รู้จักสึสันมีหลายสีเช่น สีแดงก่ำ สีเทาดำ สีพิกุลพระลบองค์นี้มีความกว้าง 2 ซม. สูง 3 ซม. หนา 1 ซม.

 
 

      ภาพที่ 4 พระลบพิมพ์ตรีรัตนะ เป็นพระลบสีแดงก่ำ องค์สมบูรณ์งามพร้อม พระลบพิมพ์นี้มีขี้กรุเป็นเ ม็ดแร่ติดอยู่ พระลบองค์นี้มีขนาดค่อนข้าง ใหญ่ที่ติดพิมพ์ชัดเจนดีมาก มีความกว้าง 2 ซม. สูง 3 ซม. หนา 1 ซม.

 
 

      ภาพที่ 5 พระลบพิมพ์ฐานสามชั้น พระลบองค์นี้เป็นพระลบที่มีขนาดที่เป็นมาตรฐาน องค์พระสมบูรณ์ถือได้ว่าเป็นพิมพ์นิยมจะเห็นได้ว่ามีสีแตกต่างกับพระลบภามที่ 2 ซึ่งเป็นพระพิมพ์เดียวกันมีขนาดสูง3 1/2 ซม. กว้าง 2 ซม. หนา 1 ซม.