พระเครื่องในชุดสกุลลำพูนที่จะกล่าวต่อไปคือ พระลือหน้ามงคล มีคำกล่าวเล่าขานของผู้เฒ่า ผู้แก่ของเมืองลำพูนว่า “ถ้าหากไม่มีพระรอดของวัดมหาวันให้ใช้พระลือหน้ามงคลแทน” คำกล่าวที่ว่านี้ถูกต้องอย่างไม่ผิดเลย เพราะเท่าที่ได้คุยกับผู้ที่มีพระลือหน้ามงคลไว้ในความครอบครอง ทุกคนต่างยืนยันและประจักษ์ถึงพุทธคุณทางแคล้วคลาด อยู่รอดปลอดภัย และเมตตามหานิยมสูงเด่นเช่นพระรอดของวัดมหาวัน พระลือหน้ามงคลขุดพบมากที่วัดประตูลี้และวัดกู่เหล็กบริเวณทุ่งกู่ล้านอำเภอ เมือง ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบที่เคยเป็นเนื้อที่ของวัดโบราณ ได้กลายเป็นหมุ่บ้านจัดสรรไปแล้ว ต่อๆไปจะพบหาพระลือหน้ามงคลหรือพระลือโขง จากกรุนี้จะเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง

พระลือหน้ามงคลได้รับความนิยมสูงสุดรองจากพระรอด พุทธคุณของพระลือเป็นที่ยอมรับกันโดยแท้ โดยเฉพาะบรรดาพ่อค้าวานิช ข้าราชการ ครูบาอาจารย์ ทหาร ตำรวจ พระลือหน้ามงคลมีอยู่หลายพิมพ์มีความแตกต่างของรายละเอียดอยู่บ้างต้องสังเกตุ ความแตกต่างนั้นคือ รายละเอียดของลวดลายของดอกบัวรอบๆองค์พระ สังเกตุให้ดีลวดลายประดับเป็นดอกบัวที่ประกอบไปด้วย ก้านบัว ใบบัวไม่ใช่เป็นใบโพธิ์หรือก้านโพธิ์เหมือนกับของพระคง พระเปิมพระบาง ดูกันให้ดีและละเอียดกันหน่อย ฐานที่ประทับ เป็นบัวคว่ำ บัวหงาย มองดูเผินๆเหมือนกับบัวเหลี่ยม

เรื่องของบัวประดับในองค์พระลือหน้ามงคลนี้ ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายมหายานที่ได้เข้ามาแพร่หลายในช่วงเวลานั้น ศิลปะในองค์พระจะเป็นตัวบ่งบอกถึงพุทธคุณที่เต็มไปด้วยความเมตตาบารมีโดยแท้ พระลือมีลักษณะพิมพ์ทรงคล้ายปลายนิ้วมือ ที่มีส่วนปลายมน มีขนาดใหญ่กว่าพระคง พระบางเล็กน้อย แต่มีขนาดย่อมกว่าพระเปิม องค์พระประทับนั่งบนฐานที่มีผ้าปูเป็นรูปครึ่งวงกลม องค์ที่ติดพิมพ์จะเห็นหน้าตาหูปากจมูกติดพิมพ์อย่างชัดเจน องค์พระห่มจีวรในลักษณะห่มดอง มีสังฆาฏิเล็กๆพาดลงมาจากไหล่ ลงมาเกือบจะถึงเอว เศียรพระจะมองดูโล้นไม่มีเม็ดพระศก มีกระจังหน้าดูท่าทางขึงขังและจริงจัง

 
 

     ภาพที่ 1 เป็นภาพพระลือหน้ามงคลสีขาว มีคราบกรุขึ้นพราวทั่วองค์พระ จะเห็นราดำปรากฏติดอยู่ทั่วทั้งองค์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีหน้าตาหูปากจมุกพร้อม พระลือองค์นี้หัวจะเอียงมาทางด้านซ้ายขององค์พระมีความงดงามสมบูรณ์ ร้อยเปอร์เซนต์

 
 

     ภาพที่ 2 พระลือหน้ามงคลสีแดง ชมพูที่มีความงดงามและสมบูรณ์เป็นเลิศ พระลือองค์นี้เป็นอีกพิมพ์หนึ่งที่ไม่มีปรากฎภาพในที่แห่งใด องค์พระจะอวบอ้วนกว่าพระลือในภาพที่ 1 มีคราบกรุ ราดำเกาะติดอยู่ทั่วองค์ ความคมชัดจัดได้ว่างามมาก

 
 

      ภาพที่ 3 พระลือหน้ามงคลสีแดงสดพระลือพิมพ์นี้เป็นพระลือที่อยู่ในชั้นดินสีแดงที่เป็นดินลูกรังสีแดงจะแตกต่างกับพระลือของภาพที่1 และภาพที่2เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ทั้งขนาด รูปร่างและลวดลายประดับ พระลือพิมพ์นี้ถือได้ว่าเป็นพิมพ์นิยมความงดงามสมบูรณ์ถือว่าเป็นเอก

 
 

      ภาพที่ 4 พระลือหน้ามงคลสีเขียวจัดคราบแดง เป็นพระลือเนื้อแกร่งที่แข็งมากความงามและสมบูรณ์จัดได้ว่าเป็นหนึ่ง เป็นพระที่ถูกไฟเผาจัด จนมีสีดังที่เห็น นอกจากสีสันที่ดูแปลกแล้วหน้าตาขององค์พระก็ติดพิมพ์อย่างชัดเจนจึงเป็นพระกรุที่น่าสนใจองค์หนึ่ง

 
 

      ภาพที่5 พระลือหน้ามงคลสีขาว พระลือสีนี้จัดได้ว่าเป็นสีที่หายากองค์พระงามสมบูรณ์เป็นพระที่อยู่ในที่ดี คืออยู่ในชั้นทรายที่มีความแห้ง จึงไม่ถูกทำลายหรือการรบกวนของความชื้นที่จะทำให้เนื้อพระยุ่ย หรือผุกร่อนได้ ไม่มีคราบกรุหรือราดำติดอยู่ให้เห็น เป็นพระลือที่มีเนื้อสะอาด ทำให้เกิดความสงสัยว่าจะมีพระที่งามสมบูรณ์เช่นนี้หลงเหลือให้เห็นจนถึงปัจจุบันหรือ เพราะอายุขององค์พระนับเป็นพันปี แต่ที่นำมาแสดงให้ชมก็เป็นสิ่งยืนยันได้ว่ามีจริง

 
 

      ภาพที่ 6 พระลือหน้ามงคลสีเขียวคราบแดง พระลือองค์นี้เป็นพระลือพิมพ์เดียวกับพระลือ พระลือองค์นี้เป็นพระลือพิมพ์เดียวกับพระลือในภาพที่3 ให้สังเกตุตรงลวดลายรอบๆองค์พระรวมทั้งเส้นซุ้ม ถึงแม้ว่าพระลือแต่ละบล๊อคจะมีความแตกต่างกันบ้างแต่ พุทธคุณและความงดงามในศิลปะของพระเครื่องเมืองลำพูนก็มีอยู่พร้อม ความเก่าแก่ของความเป็นพระกรุโบราณ ก็ยังทรงคุณค่าควรแก่การเก็บรักษา และเป็นที่ต้องการใฝ่หาของผู้ที่นิยมสะสมกัน พระกรุโบราณของเมืองลำพูนยังมีอีกมาก เป็นพระที่งามสมบูรณ์ด้วยศาสตร์และศิลป์ ผู้คนไม่ค่อยได้พบเห็นและหาดูชมยาก หากมีโอกาส ผู้เขียนจะนำมา ให้ชมต่อไป