พระเปิมเป็นพระกรุในชุดสกุลลำพูนอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้คนต่างได้ให้ความนิยมและยอมรับกันอย่างกว้างขวางของเก๊ที่ทำเทียมก็มีออกมาให้เห็นหลายแบบหลายอย่าง ที่ห่างชั้นก็มี ที่พอจะใกล้เคียงก็มีให้ได้เห็น แต่หากเราได้เห็นพระเปิมที่เป็นของแท้และได้ศึกษา จำเนื้อจำพิมพ์ทรงได้ก็ไม่ใช่ของยากที่จะมีพระแท้ไว้ในความครอบครอง ช่วยให้เรารอดพ้นจากการถูกหลอกได้ เคยมีผู้ถามผู้เขียนว่าในปัจจุบัน พระกรุที่มีอายุเป็นพันปีอย่างเช่นพระชุดสกุลลำพูนชนิดที่สวยกริ๊บมีให้ได้เห็นไหม ผู้เขียนได้ตอบไปว่ามีซิ และมีให้เห็นจริงๆด้วย ทั้งนี้เพราะพระกรุ ที่สวยๆเหล่านั้นถูกเก็บไว้ในที่ดี การเสื่อมสภาพขององค์พระ ผิวพระ รายละเอียดต่างๆบนองค์พระ จึงถูกรักษาได้ไว้เป็นอย่างดีด้วยการห่อหุ้มด้วยทรายละเอียดหรือดินกรุที่แห้งไม่แฉะชื้น

สิ่งที่ห่อหุ้มองค์พระนั้นจะช่วยรักษาให้คงสภาพเดิมๆเอาไว้ เว้นเสียแต่ว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของ จะเอาขี้กรุคราบกรุออกจากองค์พระได้ดีแค่ไหน หากล้างหรือเอาออกไม่ดี ก็เท่ากับว่าพระองค์นั้นเกิดความเสียหายหมดความสมบูรณ์ และเสียความงามไป โดยความรู้เท่าไม่ถึงการได้ พระเปิมเป็นพระที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ พอที่จะนำขี้นเป็นพระองค์ประ ธานของพระชุดสกุลลำพูนเมื่อนำไปใส่สร้อยได้อย่างเหมาะสม

พระเปิมขุดพบในหลายกรุเช่นที่กรุเจดีย์ปทุมวดีในวัดพระธาตุหริภุญไชย หรือที่เรียกกันว่า กรุวัดพระธาตุ กรุวัดดอนแก้วซึ่งปัจจุบันกลายสภาพเป็นโรงเรียนประจำตำบลเวียงยองไปแล้ว กรุวัดจามเทวีลำพูน และกรุวัดบ้านก้องสบทาลำพูน

พระเปิมที่พบมีหลายพิมพ์และหลายขนาด พระเปิมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือพระเปิมกรุวัดพระธาตุ รองลงมาก็คือพระเปิมกรุวัดดอนแก้วและกรุวัดจามเทวี ส่วนพระเปิมของกรุวัดบ้านก้องเป็นพระเปิมในยุคหลังไม่ได้รับความนิยมหรือมีปรากฎในสนามแต่ก็ต้องบันทึกไว้เพื่อไม่ให้ตกหล่นและสูญหายไป

พระเปิมมีลวดลายของใบโพธิ์บนพื้นผนังขององค์พระเต็มพื้นที่ทั้งหมด องค์พระจะอวบอ้วนมีหูตาจมูกปากครบ เม็ดพระศกเป็นเม็ดกลมมีอุณาโลมอยู่ตรงกลางระหว่างคิ้ว คิ้วเป็นรูปปีกกา ดวงตาจะเป็นแหมือนเม็ดงาที่มองเหลือบต่ำ ใบหูดูโค้งมนใบหูยาวเห็นร่องหูอย่างชัดเจน พระเปิมครองจีวรแบบห่มคลุม

สมัยก่อนเขาจะเรียกพระเปิมว่าเป็นพระคอขาด เพราะดูช่วงคางกับอกจะห่างจากกันมาก แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื้อพระเปิมไม่หยาบหรือละเอียดมากนัก จะมีเนื้อที่เหมือนกับพระคง พระบางและพระซุ้มกอ เพราะมีเนื้อที่ใกล้เคียงกันกับพระซุ้มกอ จึงมีมือดีนำไปแกะเป็นพระซุ้มกอเพื่อขายเป็นการเพิ่มราคา เนื่องจากพระเปิมมีราคาถูกกว่าพระซุ้มกอมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตามพุทธคุณของพระเปิมนั้นผู้ที่เก็บสะสมก็อย่ามองข้ามเพราะเป็นพระที่มีพุทธคุณสูงเด่นทางเมตตาสูง ข่ามคงกันเขี้ยวงาได้ชะงัดนัก ความสวยงามและพุทธศิลป์ของพระเปิมก็ไม่เบาเลยทีเดียวน่าเก็บสะสมมาก

 
 
     

ภาพที่ 1 เป็นพระเปิมเนื้อแกร่งสีน้ำตาล บางคนว่าเป็นสีแบบยาอมโบตัน เป็นพระเปิมของกรุวัดพระธาตุ ที่มีความคมของเส้นสายรายละเอียดต่างๆ กิ่งโพธิ์ ก้านและใบโพธิ์จะงามพลิ้ว สังเกตุตรงฐานล่างสุดจะปรากฎลวดลายที่เป็นลายสลับฟันปลาเส้นเล็กๆ ทำเป็นรูปสามเหลี่ยม และในสามเหลี่ยมจะมีเม็ดบัวกลมๆประดับอยู่อย่างเป็นระเบียบและมีศิลปะดูงามตา องค์พระประทับนั่งอยู่บนฐาน ใต้ที่ประทับจะเห็นผ้าทิพย์ปูอยู่เป็นรูปครึ่งวงกลม ภายในผ้าทิพย์จะเป็นขีดเล็กๆ ขีดอย่างมีศิลปะไม่แข็งกระด้างดูน่ารักและเป็นจุดสังเกตุแห่งหนึ่งที่ของเก๊ทำไม่เหมือน ใบโพธิ์ที่ติดอยู่กับก้านและกิ่งจะดูอ่อนช้อยพลิ้วไหวราวกับต้องลม สังเกตุใบโพธิ์ จะมีรูปลักษณะคล้ายกับหัวของลูกธนูที่มีปลายแหลม ใบโพธิ์ของพระเปิมค่อนข้างจะถี่ยิบมากกว่าใบโพธิ์ของพระคงและพระบาง ประดับอยู่เต็มพื้นผนังรอบๆองค์พระ ดูแทบจะไม่มีช่องว่างให้เห็นเลย พระเปิมที่งดงามและสมบูรณ์พร้อมมีเนื้อที่แข็งแกร่งออกจะพบได้ยากมากในปัจจุบัน หากใครมีพระเปิมสวยๆถือได้ว่าเป็นของรักของหวงอย่างหนึ่งเลยทีเดียว พระเปิมองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 1/2ซม. สูง 3 3/4 ซม. หนา 3 3/4ซม. ด้านหลังจะอูมหนาแต่จะมีความเรียบร้อยกว่าพระเปิมกรุใดๆ

 
 

     ภาพที่ 2 เป็นพระเปิมที่มีสีขาว พระเปิมองค์นี้เป็นพระกรุเดียวกันกับพระองค์ที่ 1 โดยส่วนใหญ่พระกรุลำพูนที่มีสีขาวเช่นนี้จะพบเห็นน้อยมาก เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีให้ได้เห็นเลยทีเดียว ยิ่งเป็นพระที่มีความงดงามและสมบูรณ์พร้อมไม่หักไม่บิ่นยิ่งพบหายาก เนื้อของพระเปิมองค์นี้ดูนวลเนียน จนบางคนบอกว่าน่าจะเป็นพระเปิมของวัดมหาวันกรุพระรอด ซึ่งตามความเป็นจริงพระเปิมไม่มีขึ้นที่วัดมหาวันเลย จะมีก็เพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นพระฝากกรุ เพราะแต่ละวัดของเมืองลำพูนในสมัยโบราณต่างก็จะสร้างและมีพระที่เป็นสัญญลักษณ์ของตนเองเท่านั้น เช่นวัดพระคงฤาษี ก็จะมีพระคงพระบางเป็นหลัก วัดมหาวันก็จะมีพระรอด พระรอดหลวง วัดดอนแก้วก็จะมีพระบาง พระเปิม พระสามดอนแก้ว พระป๋วย วัดประตูลี้ก็จะมีพระลือหน้ามงคล พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม พระเหลี้ยมหลวง พระเหลี้ยมหม้อ พระลือโขง พระลือซุ้มนาค วัดกู่เหล็กก็จะมีพระลือโขง พระลือหน้ามงคล พระบางเป็นต้น ขอให้ท่านที่เป็นคนต่างถิ่นได้โปรดเข้าใจ จะได้ไม่คลาดเคลื่อนสำหรับพระเปิมองค์นี้มีขนาดกว้าง 2 1/2 ซม. สูง 4 ซม. หนา 1 ซม.

 
 

      ภาพที่ 3 เป็นพระเปิมเนื้อสีแดงที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นพระเปิมอีกพิมพ์หนึ่งที่แตกต่างออกไป ขุดพบที่วัดดอนแก้ว ความงดงามสมบูรณ์มีอยู่พร้อมมูลให้ท่านได้เปรียบเทียบและสังเกตุความแตกต่างที่มีอยู่ก็จะเห็น ทั้งส่วนของหน้าตาและลวดลาย แต่ภาพลักษณ์โดยรวมก็บ่งชี้ถึงความเป็นพระเปิมได้ชัดแจ้ง ความแตกต่างนี้เป็นเพียงการบอกถึงว่าเป็นคนละบล๊อกคนละพิมพ์เท่านั้น ส่วนพุทธคุณก็เป็นแบบของพระเปิมที่แท้จริงนั่นเอง พระเปิมองค์นี้กว้าง 2 1/2 ซม. สูง 4 1/2 ซม. หนา 1 1/2 ซม. ด้านหลังจะอูมเล็กน้อย

 
 

      ภาพที่ 4 เป็นพระเปิมสีพิกุลที่มีรายละเอียดของใบโพธิ์ก้านโพธิ์ถี่ยิบ พระเปิมพิมพ์นี้มีความใกล้เคียงกับพระเปิมในภาพที่ 1 และภาพที่ 2 เป็นต้นแบบของพระเปิมที่มีอยู่ในกรุต่างๆของเมืองลำพูน พระเปิมพิมพ์นี้มีขนาดใหญ่ ด้านหลังอูมหนากว่าพระเปิมพิมพ์อื่นๆ สัดส่วนต่างๆขององค์พระดูสมบูรณ์ ล่ำสันบึกบึนมีความงดงามอย่างน่าทึ่ง เป็นพระเปิมกรุปทุมวดีวัดพระธาตุ เนื่องจากองค์พระอยู่ในที่ดี อากาศแห้ง ไม่ชื้นและไม่ได้อยู่ในดินในทราย จึงยังคงสภาพความสมบูรณ์ไว้ได้อย่างเต็มร้อย พระเปิมของกรุนี้จะมีลวดลายที่ถี่ยิบ แตกต่างกับพระเปิมกรุอื่นๆเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ลองพิจารณาดูก็จะเห็นเป็นเช่นนั้น พระเปิมองค์นี้มีความกว้าง 3 ซม. สูง 4 1/2 ซม. หนา 1 1/4 ซม.

 
 

      ภาพที่ 5 เป็นพระเปิมสีพิกุลของกรุวัดดอนแก้ว องค์พระงามสมบูรณ์ดี พระพิมพ์นี้ให้สังเกตุดู เศียรจะใหญ่กว่าพิมพ์อื่น จึงเป็นข้อสังเกตุจุดหนึ่ง โพธิ์จะดูใหญ่และไม่ถี่จนเกินไปนัก เข้าลักษณะของศิลปะคลี่คลาย พระเปิมองค์นี้มีความกว้าง 2 1/2 ซม. สูง 4 1/2 ซม. หนา 3/4 ซม. เรียกว่าด้านหลังไม่หนามาก

 
 

      ภาพที่ 6 เป็นพระเปิมเนื้อเขียวคราบเทา พระเปิมองค์นี้เป็นของวัดพระธาตุลำพูน เป็นพระขนาดใหญ่ ด้านหลังจะอูมหนามีน้ำหนัก เนื้อแน่นแข็งแกร่ง ความงามและความคมชัดนั้นเต็มร้อย เป็นพระตัวอย่างที่ดูเป็นแม่แบบได้เป็นอย่างดี พระกรุที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีนี้ ย่อมจะคงความงดงามและมีคุณค่าสูง เมื่อนำมาพิจารณาความงามและศิลปะในองค์พระแล้ว จะเกิดความซาบซึ้งและอิ่มเอมใจในความสามารถของช่างศิลป์ในยุคโบราณที่สามารถรังสรรผลงานแต่ละชิ้นออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ คุณค่าเหล่านี้มีอยู่ในพระกรุของเมืองลำพูนทุกชนิด พระเปิมองค์นี้กว้าง 3 ซม. สูง 4 1/2 ซม. หนา 1 ซม.