พระบาง

พระเครื่องชุดสกุลลำพูนอีกชนิดหนึ่งที่เป็นคู่อยู่เคียงกับพระคงมาตลอดนั้นก็คือ พระบาง หรือจะเรียกว่าพระบังก็ได้ หากจะมีคนถามว่าพระบางคือพระชนิดไหน คำตอบที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดก็คือ พระที่ไม่หนานั่นเอง ดูจะเป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อย แต่ก็คงไม่ว่ากัน ความเป็นจริงแล้วพระบางที่พบเห็นกันนั้นส่วนหลังขององค์พระ ตลอดจนส่วนอื่นๆจะดูงามเรียบร้อยไม่บิดงอบิดเบี้ยว

ด้านหลังขององค์พระจะดูเรียบร้อยไม่อูมหนา บิดงอเหมือนกับพระคง เป็นพระที่งามเรียบๆ จนมีคำกล่าวกันว่าพระบางเป็นพระที่มีเสน่ห์แรง เหมาะเป็นพระสำหรับให้ผู้หญิง พระบางมีลักษณะคล้ายกับพระคง องค์พระไม่ล่ำบึ๊กเหมือนพระคง แขนซ้ายจะไม่วางหักศอก 90 องศาแต่จะวางทำมุมเป็น 45 องศา ใบโพธ์ประดับรอบๆองค์พระจะดูห่างกว่าใบโพธิ์ประดับของพระคง ไม่ถี่ยิบจนเกินไป เม็ดบัวแก้วใต้ฐานของพระบางจะวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ดูโปร่งตามองเห็นเป็นเม็ดอย่างชัดเจน

องค์ที่ติดพิมพ์ชัดๆจะเห็นมีหน้าตาหูปากจมูกกระจุ๋มกระจิ๋มน่ารักดี จะเห็นรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความเมตตาบารมี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระบาง การครองจีวรของพระบางเป็นการครองจีวรแบบห่มคลุมเช่นเดียวกับพระคง

พุทธคุณของพระบางดีไปทางเมตตามหานิยม คนรักคนชอบและแคล้วคลาด เป็นพระแบบเย็นไม่บู้ดุดันเช่นพระคง หากจะกล่าวว่าพระคงเหมาะสำหรับผู้ชาย พระบางนั้นก็เหมาะสำหรับผู้หญิง ขุดพบมากที่วัดพระคงฤาษี วัดดอนแก้ว วัดประตูลี้และวัดกู่เหล็ก

พระบางที่ขุดพบในแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน จะมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาแยกแยะให้ได้เห็นกันต่อไป พระบางที่ขุดได้ที่วัดประตูลี้นั้นจะมีขนาดเล็กกว่าพระบางของกรุอื่นๆ ความสวยงามจะด้อยกว่า สำหรับพระบางที่ขุดได้ที่กู่เหล็กนั้นจะมีความงดงามและบอบบางที่สุด มีความแตกต่างกับพระบางของกรุอื่นๆโดยสิ้นเชิง

 
 

      ภาพที่ 1เป็นพระบางเนื้อสีเขียวหินครก เนื่องจากพระบางองค์นี้ ถูกเผาด้วยไฟแรงสูง จึงทำให้ดินหดตัวมาก ขนาดจะย่อมลงมานิดหนึ่ง จะมีเนื้อที่แข็งแกร่งพระที่มีเนื้อลักษณะนี้จะแกร่งมาก หากนำไปขีดกระจกจะเกิดเป็นรอยได้ ความงดงามและสมบูรณ์ของพระบางองค์นี้จัดได้ว่าเข้าขั้น มีขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 1/2 ซม. ส่วนหนา 3/4 ซม.

 
 

      ภาพที่ 2 เป็นพระบางสีแดงฐานสีเขียวหินครก เป็นพระเนื้อผ่าน จะเห็นขี้กรุซึ่งเป็นคราบของปูนขาวติดอยู่บางๆ เสน่ห์ของพระกรุนั้น นอกจากความงดงามและสมบูรณ์ขององค์พระแล้ว คราบกรุและขี้กรุที่ติดอยู่กับองค์พระนั้น ยัง ทำให้มีมิติที่เพิ่มความซึ้งและความขลังในความเป็นของโบราณได้เป็นอย่างดี ดังนั้นพระกรุจะมีเสน่ห์ได้โดยแท้ต้องมีเนื้อหาที่เก่า คราบกรุขี้กรุต้องมีเกาะติดอยู่จึงจะเรียกได้ว่า พระกรุที่งามโดยแท้จริง เมื่อเป็นอย่างที่ว่ามานี้ ผู้ที่มีพระกรุอยู่ในมือ โปรดได้นึกถึงคำกล่าวนี้เสมอ เมื่อท่านเก็บสะสมพระกรุจนเกิดความชำนาญก็จะรู้ว่านี่คือความจริง พระบางองค์นี้มีขนาดใหญ่กว่าพระบางในภาพที่ 1 มีขนาดความกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 2 3/4 ซม. หนา 1 ซม. มีหน้าตาพร้อมแถมด้วยรอยยิ้มอีกด้วย

 
 

      ภาพที่ 3 เป็นภาพของพระบางสีดำคราบสีขาว ท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดทราบว่าพระกรุเนื้อดินเผานั้นจะมีสีที่แตกต่างกันออกไปตามเนื้อดิน การเผาใกล้ไฟหรือไกลไฟ ซึ่งหมายถึงความร้อนของอุณหภูมิที่ต่างกันก็ทำให้เกิดความแตกต่างของสีขององค์พระได้ แต่พระที่มีสีดำก็เป็นพระที่มีน้อยและพบหาได้ยาก ซึ่งหลายคนก็บอกกันว่าเป็นสีที่หายาก จึงเป็นที่ต้องการของบรรดาเซียนพระ ความจริงสีดำของพระกรุนั้นเป็นสีที่ทำให้เนื้ออ่อนตัว เป็นพระเนื้อไม่แกร่ง เป็นการเผาที่ไฟไม่แรงเต็มที่เช่นเดียวกับการเผาถ่านไม้ ในเมื่อพระสีดำไม่แกร่งพอ ถึงแม้ว่าระหว่างการสร้างจะมีพระสีดำเกิดขึ้น แต่กาลเวลาและความไม่แน่นอนเกิดขึ้น การชำรุดทรุดโทรมของโบราณสถาน การเกิดฝนตกและน้ำท่วม ทำให้พระถูกแช่อยู่ในน้ำ เมื่อนับเวลาเป็นร้อยหรือพันปี ก็ทำให้เนื้อพระที่ไม่แกร่งจริง เปื่อยยุ่ยละลายกลายเป็นดินไป นอกจากว่าพระอยู่ในที่แห้งมีดินหรือทรายหุ้มอยู่ก็ยังคงสภาพเดิมๆเอาไว้ได้ ท่านเจ้าคุณพระญาณมงคลเอดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวันลำพูน ท่านได้เล่าว่าแม้กระทั่งเวลาได้พระรอดขึ้นมาใหม่ๆนั้นไม่ให้ล้างในทันทีทันใด ให้เอาผึ่งแดดผึ่งลมไว้อย่างน้อยที่สุด 15 วัน จึงค่อยนำพระมาล้างจึงจะคงสภาพเดิมๆของพระได้ ทั้งนี้เป็นเพราะแรกๆที่ขุดได้พระขึ้นมาดินยังไม่เซ็ทตัวดี หากเอาลงน้ำทันทีองค์พระก็จะแตกลุ่ยไปได้ แต่ถ้าหากเป็นพระสีอื่นที่เป็นการเผาสุกดีก็ไม่มีปัญหาเพียงแต่ว่าเวลาจะล้างหรือทำความสะอาดก็ให้ระมัดระวังให้ดีเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าวพระกรุที่เป็นพระสีดำจึงไม่ค่อยจะได้พบเห็นพระบางสีดำองค์นี้มีขนาดกว้าง 1 1/2 ซม. สูง 3 ซม. หนา 1 1/4 ซม.

 
 

      ภาพที่ 4 เป็นภาพของพระบางสีชมพูที่งามสะอาดตา มีเนื้อที่นวลเนียนหนึกนุ่ม เป็นพระที่งดงามทั้งพิมพ์ทรงและเนื้อ มีหน้าตาหูปากจมูกที่งดงาม สังเกตุโดยรอบขององค์พระจะเป็นขอบที่เสมอกันอีกชั้นหนึ่ง พระบางที่นำมาแสดงได้ชมกันทั้ง 4 องค์ได้จากวัดดอนแก้วลำพูน พระองค์ที่ 4 นี้มีขนาดความกว้าง 1 3/4 ซม. สูง 3 ซม. หนา 1 1/4 ซม.