พระรอดพิมพ์ตื้น มีลักษณะพิเศษดังนี้ องค์พระและผนังโพธิ์ที่อยู่โดยรอบจะไม่นูนลอยชัดเจนเหมือนกับพระรอดพิมพ์อื่น ๆ ฐานที่ประทับจะมี 3 ชั้น และดูตื้น ใต้ฐานจะมีก้นยื่นยาวออกไปเหมือนกับพิมพ์ใหญ่ ไม่มีเส้นใต้ฐานหรือเส้นผ้าทิพย์เหมือนพระรอดพิมพ์อื่น ๆ พอจะแยกออกเป็น 2 บล๊อค ตามความนิยมของวงการ กล่าวคือ พระรอดพิมพ์ตื้นชนิดมีพิมพ์แตกด้านซ้ายขององค์พระเป็น 3 ตัวหนอนและมีพิมพ์แตกทางด้านซ้ายขององค์พระเป็น 2 ตัวหนอน แต่เท่าที่พบเห็นบ่อยก็จะเป็นพระรอดพิมพ์ตื้นแบบ 2 ตัวหนอน รูปลักษณ์ขององค์พระจะมีส่วนเหมือนค่อนไปทางพิมพ์ใหญ่จึงถูกเรียกกันว่า “พิมพใหญ่ตื้น” ซึ่งดูจะเป็นชื่อที่เหมาะสมมาก

 
 

      ภาพที่ 1 พระรอดพิมพ์ตื้นสีพิกุลแบบพิมพ์ 2 ตัวหนอน เป็นพระกรุเก่าที่ผ่านการใช้ เนื้อขององค์พระละเอียดหนึกนุ่ม เป็นพระที่มีหน้าตา หู จมูก ปากพร้อม มีคราบกรุ ขี้กรุติดอยู่ รูปลักษณ์จะใกล้เคียงกับพระรอดพิมพ์ใหญ่

 
 

      ภาพที่ 2 เป็นพระรอดพิมพ์ตื้นสีค่อนข้างไปทางสีขาว เป็นพระรอดพิมพ์ 2 ตัวหนอนที่งามสมบูรณ์มาก เนื้อหาละเอียด ไม่มีขี้กรุปกคลุม พระรอดสีขาวนี้ออกจะหายากมากกว่าสีใด ๆ พระรอดองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บ ถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี จึงได้นำออกมาเสนอให้ได้ชมและศึกษาเป็นตัวอย่าง

 
 

      ภาพที่ 3 เป็นพระรอดดพิมพ์ตื้นสีที่ผู้คนได้ให้ความนิยมสูงสุดคือ สีเขียวหินครก พระรอดพิมพ์ตื้นองค์นี้เป็นพิมพ์ 2 ตัวหนอนที่งามสมบูรณ์พร้อม สีสันขององค์พระค่อนไปทางสีดำ มีเนื้อหาที่แข็งแกร่งมาก พูดได้ว่าขีดกระจกเป็นรอยได้เลยทีเดียว พุทธคุณของพระรอดพิมพ์ตื้นนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับพระรอดวัดมหาวันพิมพ์อื่น ๆ คือเมตตามหานิยม แคล้วคลาดอยู่รอดปลอดภัย ซึ่งก็เป็นที่ประจักษ์ชัดกับผู้ที่มีพระรอดอยู่ในการครอบครอง